Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2545
สองทศวรรษเดอะมอลล์กรุ๊ป             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 

   
related stories

Siam Paragon The Pride of Bangkok
ศุภลักษณ์ อัมพุช ผู้หญิงที่เดอะมอลล์ขาดไม่ได้

   
search resources

เดอะมอลล์กรุ๊ป




บริษัทเดอะมอลล์กรุ๊ป ก้าวมายืนอยู่แถวหน้าของวงการค้าปลีกในเมืองไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยมูลค่าของยอดขายทั้งหมด 10 สาขา ทะลุหลัก 2 หมื่นล้านบาทมาหลายปี

รากของเดอะมอลล์ กรุ๊ป มาจากศุภชัย อัมพุช มังกรซ่อนกาย ผู้ซึ่งเก็บตัวเงียบใช้เวลาส่วนใหญ่เคลื่อนไหวแต่ในด้านลึก น้อยคนนักที่จะรู้จักมหาเศรษฐีตัวจริงของเมืองไทย ผู้เป็นเป็นต้นแบบ ในการคิดค้นรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมเมืองไทย

เรื่องราวความเป็นมาในชีวิตของเขา น้อยครั้งที่จะหลุดออกมาจากปาก ดังนั้นที่มาของตระกูลอัมพุช ดังต่อไปนี้ บางส่วน "ผู้จัดการ" ได้มาจากประไพ กันเขตต์ พี่สาวบุญธรรมของภรรยาคนแรกของเขา ที่เคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังเมื่อ 10 ปีก่อน (ศุภชัย อัมพุช จากเด็กนับขวดเหล้ามาเป็นเจ้าของอาณาจักรพันล้าน ฉบับก.ค. 2530) และบาง ส่วน มาจากคำบอกเล่าของศุภลักษณ์ อัมพุช บุตรสาวผู้เป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันสร้างอาณาจักรเดอะมอลล์

พ่อของศุภชัยอพยพมาจากเมืองจีน เป็นจีนแต้จิ๋วที่ใช้แซ่อื้อ เช่นเดียวกับตระกูลอื้อจือเหลียง ตัวเขาเองเกิดที่อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ โตและเรียนหนังสือจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะว่าไปแล้วฐานะของครอบครัวในเวลานั้นค่อนข้างดีทีเดียว เพราะพ่อแม่มีอาชีพเป็นยี่กงสีเหล้า หรือยี่ปั๊วประมูลการขายเหล้า ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้งเปิดโรงยาฝิ่นเป็นรายได้หลักอีกด้วย

โชคร้าย พ่อแม่ของเขาเสียชีวิตทั้งคู่ ตั้งแต่เขาเพิ่งแตกหนุ่ม ชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ช่วยเหลือตัวเองต้องเริ่มขึ้นนับตั้งแต่นั้น

ศุภชัยได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาอาศัยอยู่กับพี่สาวในซอยประสานมิตรต่อมาไป ทำงานเป็นเสมียนที่ร้านประไพสวัสดิ์ย่านพระโขนง ได้พบรัก และแต่งงานกับบุญเลี้ยง น้องสาวบุญธรรมของประไพเอง บนชั้นสองของตึกแถวที่พัก คือเรือนหอของคนทั้งคู่ โดยมีลูกชายหญิงทั้งหมด 5 คน

บุตรชายหญิงของศุภชัย และบุญเลี้ยง 5 คนคือ สุรัตน์, ศุภลักษณ์, กฤษณา, สุทธิพงษ์ และอัจฉรา ทั้งหมดมีอายุห่างกันคนละประมาณ 1-2 ปี

เมื่อมีลูกมากขึ้น ศุภชัยเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ที่จะเลี้ยงดูครอบครัวให้ดีกว่าเดิม ในที่สุดตัดสินใจกลับไปจังหวัดพิจิตรอีกครั้ง เพื่อเริ่มทำธุรกิจด้านโรงเหล้ากับนงลักษณ์ ภัทรประสิทธ์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน เพราะพี่ชายของพ่อศุภชัยคือ พี่ชาย ของพ่อนงลักษณ์

นงลักษณ์นั้นได้แต่งงานกับวิศาล ภัทรประสิทธิ์ ทั้งคู่มีหัวการค้าที่เก่งมาก ธุรกิจทางด้านโรงเหล้าแถบภาคเหนือทั้งหมดเป็นสัมปทานของกลุ่มนี้มาโดยตลอด

บุญเลี้ยง ภรรยาของศุภชัยเสียชีวิตไปตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ภรรยาใหม่ของเขาคนต่อมาคือ ประนอม พยาบาลสาวที่โรงพยาบาลศิริราช ที่คอยเป็นห่วงเป็นใย พ่อม่ายลูกติดเป็นพรวนคนนี้อยู่นั่นเอง

ศุภชัยมีลูกสาวกับประนอมอีก 2 คน คือ บุศราคัม และสันทนา ปัจจุบันทั้ง 7 คนได้เข้าร่วมทำงานกับเดอะมอลล์ทั้งสิ้น

ในปี 2507 ศุภชัยเริ่มเปลี่ยนอาชีพใหม่ โดยหันเหมาทำงานด้านธุรกิจบันเทิงด้วยการสร้างโรงหนังมือ 2 กับประไพ แย้มสอาด ผู้เป็นพี่สาว โรงหนังแรกชื่อเฉลิมรัตน์ ตรงข้ามตลาดพระโขนง และหลังจากนั้นในระยะเวลาเพียง 6-7 ปี เขาได้สร้างโรงหนังชั้น 2 มากถึง 7 โรง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่มพูลวรลักษณ์สร้างโรงหนังชั้น 2 ในย่านตลาดพลูและธนบุรี

ประมาณปี พ.ศ.2513 ธุรกิจโรงหนังชั้น 2 เริ่มแข่งขันกันหนักในขณะเดียวกัน พฤติกรรมของคนก็เริ่มเปลี่ยนไปดูโรงหนังชั้นหนึ่งที่มีเพิ่มขึ้นตามมา ธุรกิจใหม่ที่ศุภชัยตัดสินใจก้าวไปก็คือ ธุรกิจร้านอาหารและอาบอบนวดบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โดยร่วมทุนกับนงลักษณ์เช่นเคย

จากธุรกิจร้านอาหาร เขาตะลุยสร้างงานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และงานที่ไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อนเช่นแนนซี่อาบอบนวด, เมรี อาบอบนวด, วาเลนติโน, ฮูหยิน, บีวา ก็ทยอยขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรียงรายทั้งสองฝั่งถนนตั้งแต่แยกเอกมัยไปจนถึงคลองตัน จนในช่วงนั้น ถนนสายนี้ได้รับฉายาว่าถนนสายโลกีย์ และสำหรับนักเที่ยวด้วยกันแล้ว ชื่อเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้มากความ ส่วนศุภชัยนั้นกลายเป็นเจ้าพอในวงการบันเทิงอย่างแท้จริง แต่เป็นคนที่ทำงานทางด้านบันเทิง ที่ไม่กินเหล้า สูบบุหรี่ ชอบเก็บตัว เคยมีคนกล่าวว่า เขามีธุรกิจการค้ามากมาย แต่ไม่เคยมีใครเห็นหน้าเขา หรือถ้าเห็นหน้าก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร

เขาเป็นคนที่รักลูกรักเมียมาก ป้าประไพ กันเขตต์ เคยย้ำกับ "ผู้จัดการ" เพราะตลอดเวลาที่เขาเริ่มบุกเบิกธุรกิจใหม่ ลูกๆ ของเขาทั้ง 7 คน กำลังอยู่ในวัยเล่าเรียนทั้งสิ้น และเมื่อลูกเริ่มโตเป็นหนุ่มสาว ศุภชัยก็ต้องการที่จะเปลี่ยนแนวธุรกิจของเขาให้มั่นคงกว่าเดิม โดยปล่อยให้โครงการทั้งหมดที่เขาเป็นคนริเริ่มให้คนอื่นบริหารแทน

ธุรกิจใหม่ที่เขามองว่าน่าจะมีช่องทางคือ ศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้า ช่วงนั้นในเมืองไทยมีห้างสรรพสินค้าอยู่เพียงไม่กี่แห่งที่นิยมกันมากก็คือ ไดมารู กับเซ็นทรัล โรบินสัน อนุสาวรีย์ พาต้า อินทรา ส่วนศูนย์การค้าสยามเซ็นเเตอร์ ซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปี 2516 นั้น จับกลุ่มตลาดลูกค้าวัยรุ่นโดยเฉพาะ

ไดมารู และเซ็นทรัล ชิดลม คนแน่นทุกวัน ทั้งๆ ที่ไม่ต้องมีกลยุทธ์การขายเลย นานๆ จะมีการ Sale ขึ้นครั้งหนึ่ง โลเกชั่นน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดคือ สิ่งที่ศุภชัยคิดในตอนนั้น ดังนั้นเมื่อเขาไปได้ทำเลประมาณ 4 ไร่บนถนนราชดำริ ก็เลยตัดสินใจทำธุรกิจด้านนี้ทันที

25 มิถุนายน 2524 เดอะมอลล์ ราชดำริ ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของเดอะ มอลล์ กรุ๊ป ก็เกิดขึ้นจากการร่วมทุนของศุภชัยและนงลักษณ์ แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่มีเพียง 4 ไร่ ทำให้ทำได้เพียงห้าง เล็กๆ ประมาณ 8 พันตารางเมตรเท่านั้น

เดอะมอลล์ ราชดำริ เป็นเสมือนที่ซึ่งศุภชัย และลูกๆ คือ สุรัตน์, ศุภลักษณ์ และกฤษณา ใช้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ธุรกิจใหม่ของตระกูล จนกลายเป็นรากฐานสำคัญของประสบการณ์ ก่อนที่จะก้าวไปสู่บริษัทแถวหน้าในวงการค้าปลีกในเวลาต่อมา

ศุภลักษณ์ อัมพุช เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ยอมรับว่าโครงการแรก เป็นโครงการที่เหนื่อย และหนักที่สุด เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เป็นการเข้ามาทำงานครั้งแรก และยังเป็นโครงการ เล็กกว่าใครเพื่อน มียักษ์ใหญ่เกิดใหม่ประกบตลอด ต้องหาทางสู้ตลอดเวลา จำได้ไปตลอดชีวิตเลย"

ในสมัยที่เดอะมอลล์ราชดำริเกิด ขึ้น ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ที่มีอยู่ดูเหมือนจะไม่กระทบเท่าไรนัก ยอด ขายในช่วงแรกยังคงไปได้ดี จนกระทั่งโครงการมาบุญครอง นครแห่งศูนย์การค้าหินอ่อนขนาดใหญ่มหึมา เกิดขึ้นในย่านปทุมวันเมื่อปี 2528 และที่สำคัญกว่านั้นในช่วงเริ่มยุคทองของธุรกิจเรียลเอสเตท ในปี 2530 เจ้าสัวอุเทน เตชะไพบูลย์ ก็ได้ประกาศศักดาเช่าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฝั่งตรงข้ามเดอะมอลล์ สร้างศูนย์การค้าขนาดยักษ์ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ โดยตั้งใจจะให้เป็นเกียรติประวัติของตระกูลเตชะไพบูลย์

เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ มีพื้นที่ทั้งหมดถึง 350,000 ตารางเมตร มีห้างสรรพสินค้า ใหญ่ 2 รายคือ เซน และอิเซตัน ประกบอยู่ข้างในศูนย์ด้วย

ไม่ว่าจะพลิกค้นกลยุทธ์การขายอย่างไร ก็ไม่มีทางสู้ได้ ในที่สุดยักษ์เล็กอย่างเดอะมอลล์ก็ยอมถอย และปล่อยให้บริษัทนารายณ์ภัณฑ์ พาวิลเลี่ยน จำกัด เช่าเป็นศูนย์ศิลปหัตถกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในเวลาต่อมา

การถอยครั้งนี้เป็นการถอยไปเพื่อตั้งหลัก เพื่อการบุกครั้งใหญ่อย่างแท้จริง ทำเลใหม่ที่เดอะมอลล์ยึดเป็นหัวหาดในเวลาต่อมาคือ ย่านชานเมืองบนถนนรามคำแหง

ว่ากันว่า ศุภชัยได้แนวความคิดจากอเมริกา ที่พบว่าธุรกิจชอปปิ้งมอลล์ส่วนใหญ่นั้น นอกจากจะรวมตัวกันเป็นกระจุกย่านใจกลางเมืองแล้ว ยังสามารถสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อดักกำลังซื้อย่านชานเมืองได้ด้วย

มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ และกำลังซื้อของผู้คนในหมู่บ้านเสรี หัวหมาก คือ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สำคัญ ในขณะที่หลายคนยังเป็นห่วงว่าห้างชานเมืองอย่างเอเชี่ยน และห้างไดมารู พระโขนง ที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ปี 2526 ห้างเดอะมอลล์สาขาที่ 2 รามคำแหง ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับวางแผนสาขาที่ 3 ต่อในพื้นที่ฝั่งตรงกันข้ามถนนต่อทันที โดยเปิดบริการหลังจากนั้นเพียง 3 ปี เดอะมอลล์ทั้ง 2 แห่งต่อเชื่อมกันด้วยสะพานเลื่อนลอยฟ้า และในปี 2530 เดอะมอลล์ 4 ก็เกิดขึ้น

พื้นฐานทางด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ที่แข็งแกร่งในอดีต ได้ถูกดึงมาเป็นจุดขายที่ยิ่งใหญ่ด้วยการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร คือ One Stop Shopping Center เพราะที่นี่เพียบพร้อมไปด้วยศูนย์รวมความบันเทิง มีสนุ้กเกอร์คลับ โบว์ลิ่ง โรงภาพยนตร์และศูนย์อาหารนานาชนิดที่ทันสมัย ร้านอาหารที่มีชื่อในเวลานั้น เช่น โคคา สีฟ้า ลิตเติ้ล โฮม ตบเท้าเข้ามาอยู่อย่างพร้อมเพรียง ช่วยให้จุดนี้กลายเป็นย่านการค้าที่ครบวงจรอย่างแท้จริง

เดอะมอลล์เป็นผู้เปิดตำนานย่านค้าปลีก บนถนนสายนี้และสามารถยืนหยัดอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน ด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างไปจากคู่แข่ง เราคงไม่ลืมกันว่า พร้อมๆ กับที่เดอะมอลล์ 3 เปิดบริษัท ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจค้าปลีกอีกรายหนึ่งที่มีประวัติการทำธุรกิจยาวนานมากกว่าเดอะมอลล์ คือ ห้างเซ็นทรัล ก็มาเปิดสาขาที่หัวหมากเช่นกัน เช่นเดียวกับห้างเวลโก้ ห้างพาต้า ที่ตบเท้าเข้ามาขอเอี่ยวส่วนแบ่งตลาดด้วย แต่ในที่สุดเกือบทุกค่ายก็ต้องล่าทัพถอยกลับไป

เซ็นทรัลต้องพลาดท่าเสียแชมป์ให้แก่เดอะมอลล์ในย่านนี้ และทำให้ชื่อเสียงของเดอะมอลล์เริ่มเป็นที่ยอมรับในวงการค้าปลีกมากขึ้นทุกที

จะว่าไป ศุภชัยและลูกๆ ใช้เวลาในการสร้างแบรนด์ของตัวเอง นับจากการเปิดสาขาแรกเพียงประมาณ 10 ปีเท่านั้น ด้วยสไตล์การทำงานที่คิดเร็ว ทำเร็ว และชอบริเริ่มอะไรใหม่ๆ ของศุภชัย โดยปล่อยให้ลูกๆ บริหาร

หลังจากประสบความสำเร็จในสาขา 2, 3, 4, ในย่านรามคำแหง เดอะมอลล์ กรุ๊ป ก็ได้ยึดนโยบายเดิมคือยึดหัวหาดชานเมือง ในทำเลต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

วันที่ 11 สิงหาคม 2532 เดอะมอลล์ได้เปิดอภิมหาอาณาจักรศูนย์การค้าครบวงจรครั้งใหม่ ที่เดอะมอลล์สาขาท่าพระ ท่ามกลางความสนเท่ห์ของหลายๆ คน ว่าจะสามารถพัฒนาสวนมะพร้าวย่านฝั่ง ธนบุรี ให้กลายเป็นศูนย์การค้าที่พรั่งพร้อมไปได้อย่างไร เดอะมอลล์สาขา 5 มีความใหม่ที่แตกต่างไปด้วยแหล่งบันเทิง และมีสวนน้ำลอยฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย ภายในอาคารเดียวกันบนพื้นที่กว่า 150,000 ตารางเมตร

วันที่ 22 ธันวาคม 2534 เดอะมอลล์ 6 หรือเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ก็เปิดตัวขึ้น ในรูปแบบที่ครบวงจรเช่นเดียวกับเดอะมอลล์ 5

วันที่ 5 สิงหาคม 2537 เดอะมอลล์ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในวงการค้าปลีกในเมืองไทยอีกเมื่อเปิดอาณาจักร ศูนย์การค้าครบวงจรสองแห่งในสองมุมเมือง พร้อมกันคือ เดอะมอลล์ 7 สาขาบางแค และเดอะมอลล์ 8 สาขาบางกะปิ

ทั้งสองแห่งนี้รวมพื้นที่กว่า 600,000 ตารางเมตร และควรมีการบันทึกไว้อย่างยิ่งด้วยว่า เดอะมอลล์สาขาบางแคนั้น มีการทุ่มทุนอย่างมาก เพราะตอนนั้นยักษ์ใหญ่อย่างฟิวเจอร์พาร์คก็ได้ไปเปิดตัวแล้วที่บางแค

"เราเปิดทีหลัง ต้องทำให้ใหญ่กว่าเขา" ศุภลักษณ์ อัมพุช หัวเรือใหญ่ของสองโครงการนี้ กล่าวถึงแนวทางต่อสู้ อย่างเช่น สวนสนุกที่บางแค ตอนแรกการออกแบบให้บริษัท Local Group ก็เปลี่ยนเป็นบริษัทแลนด์มาร์ค จากอเมริกามาออกแบบใหม่หมด ยึดสไตล์ของดิสนีย์แลนด์เป็นต้นแบบ นอกจากดินแดนมหัศจรรย์ ยังมีสวนน้ำ สวนสนุก มีโรงภาพยนตร์ถึง 8 โรง มีโรงโบว์ลิ่ง 30 เลน ระบบคอมพิวเตอร์

ในวันเปิดตัว ศุภลักษณ์ทุ่มเงินจำนวนมหาศาล เพื่อลงทุนซื้อโชว์ ที่เรียกว่า อิมแมจิก้า เป็นโชว์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในดิสนีย์แลนด์ขณะนั้น โดยแสดงโชว์ม่านน้ำ มีเรื่องราวเหมือนเทพนิยาย พร้อมโชว์ภูเขาไฟระเบิด และยังมีน้ำตกจำลองในห้างที่สูงที่สุดในเมืองไทยด้วย

ทุกอย่างคือ ความแตกต่างที่จะส่งผลดึงคนให้เข้ามายังศูนย์การค้าเปิดใหม่ให้มากที่สุด เพราะคนที่เข้าไปไม่ได้เข้าไปเที่ยวอย่างเดียว แต่ต้องไปกิน และซื้อของด้วย

ความแปลกใหม่ต่างๆ ที่ถูกดึงมาใช้ในเดอะมอลล์แต่ละสาขา ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากนิสัยชอบเดินทางท่องเที่ยวของศุภลักษณ์ ที่พร้อมจะเปิดโลกทัศน์ของตัวเองให้กว้างไกล และสามารถปรับเปลี่ยนโครงการของตัวเองให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง

ความสำเร็จของเดอะมอลล์ สาขาท่าพระ และบางกะปิ ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่ปรามาสเดอะมอลล์ผู้มาทีหลังและดังกว่ากลุ่มนี้ไม่ได้อีกต่อไป

ในขณะเดียวกัน เดอะมอลล์ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง จากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนชันกลางมาตลอด เริ่มจับระดับกลุ่มลูกค้าที่กำลังซื้อสูงขึ้น และเคยเป็นลูกค้าเฉพาะที่สำคัญของห้างคู่แข่งอื่น

การเกิดขึ้นของโครงการ ดิเอ็มโพเรี่ยม ที่ร่วมทุนกับกลุ่มโสภณพนิช เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าเดอะมอลล์ต้องการสร้างภาพพจน์ใหม่

"เราต้องการให้ดิเอ็มโพเรี่ยม เป็น Hallmark ของเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" คือเป้าหมายที่วางไว้ของ ศุภลักษณ์ ผู้หญิงที่ชอบคิดการใหญ่คนนี้

ที่ผ่านมา เดอะมอลล์มักสร้างศูนย์การค้าโดยมีรีเทลเอ็นเตอร์เทนเมนต์เป็นจุดขาย แต่ที่ดิเอ็มโพเรี่ยมถูกกำหนดให้เป็นศูนย์การค้าที่โดดเด่นที่สุดในเอเชีย จุดขายครั้งใหม่จึงเป็นศูนย์รวมแบรนด์เนม เสื้อผ้าชั้นนำระดับโลกแทน ดังนั้นที่นี่จึงเป็นร้านค้ากลุ่มหน้าใหม่เกือบทั้งสิ้น

"คุณศุภลักษณ์เข้มงวดในการเลือก ลูกค้าเข้ามาในศูนย์แห่งนี้มากในเวลานั้น เพราะต้องการเอาร้านที่เป็นสุดยอดจริงๆ ทำให้บางครั้งเกิดกระทบกระทั่งกันบ้างกับร้านรายเดิมที่เคยตามกันมาจากสาขาอื่นๆ" แหล่งข่าวรายหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ร้านกลุ่มใหม่ของเดอะมอลล์เอ็มโพเรี่ยม เช่น หลุยส์ วิตตอง เทอรี่ มูลแกลล์ เวอร์ซาเซ่ ดีเคเอ็นวาย แฟรงค์จิวเวลลี่ เพนดูลัม

โครงการดิเอ็มโพเรี่ยม มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12 ไร่ 200,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคารสำนักงานสูง 38 ชั้น อาคารศูนย์การค้า 6 ชั้น พื้นที่ 36,000 ตารางเมตร โดยใช้ทีมออกแบบจากต่างประเทศคือ ปาล์มเมอร์ แอนด์เทอเนอร์ บริษัทอาร์ทีเคแอล จากอเมริกาเป็นผู้ออกแบบและวางผังศูนย์การค้า มูลค่าการก่อสร้าง 6,000 ล้านบาท

ดิเอ็มโพเรี่ยม สร้างเสร็จในปี 2540 ซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจพอดี เป็นการเกิดที่ผิดเวลา เพราะกำลังซื้อกำลังถดถอย แต่บทพิสูจน์บทหนึ่งที่ได้รับในเวลาต่อมาคือ สินค้าราคาแพงจริงๆ กลับไม่ได้รับผลกระทบมากมายอย่างที่คาด กลุ่มคนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งยังเป็นลูกค้าประจำ ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงโอกาสทองของนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเข้ามาชอปปิ้งในขณะที่ค่าเงินบาทลดลง และยิ่งเป็นห้างที่ติดลมบน เมื่อปีนั้นรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ และมีเส้นทางผ่านหน้าโครงการ โดยมีสถานีใหญ่พร้อมพงษ์ด้านหน้าเชื่อมต่อเข้าในโครงการ

รวมทั้งการคมนาคมไปยังใจกลางเมืองอื่นๆ เช่น สีลม และสยามสแควร์ สะดวกขึ้นอย่างมาก ด้วยอิทธิพลของโครงการขนส่งมวลชนนี้

ความยิ่งใหญ่ และความใหม่ของดิเอ็มโพเรี่ยม สร้างผลกระทบให้กับห้างชั้นสูงอย่างเช่น เกษรพลาซ่า และเพนนินซูล่า พอสมควรทีเดียว และเป็นเหมือนสปริงบอร์ดที่สำคัญในการก้าวขึ้นไปทำโครงการระดับชาติครั้งใหม่อีกด้วย

ปี 2543 เดอะมอลล์ก็ได้เปิดโครงการนำร่องโครงการใหญ่ในต่างจังหวัดแห่งแรก คือ เดอะมอลล์โคราช บนพื้นที่ 52 ไร่ เนื้อที่โครงการกว่า 200,000 ตารางเมตร แม้กำลังซื้อของคนจะถดถอย จนเดอะมอลล์โคราชต้องระดมกลยุทธ์ทุกรูปแบบเข้าไปกระหน่ำช่วย แต่ผู้บริหารก็หวังว่ารอเวลาอีกนิด ศูนย์การค้าครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแห่งนี้ก็คงไปได้สวยเหมือนสาขาอื่นๆ แน่นอน

ในเมื่อโครงการระดับภูมิภาค ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กไปแล้วสำหรับผู้บริหารของเดอะมอลล์กรุ๊ป เพราะงานชิ้นต่อไปของศุภลักษณ์นั้นคือ ความยิ่งใหญ่ระดับโลก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us