ชฎาทิพ จูตระกูล ผู้หญิงสวยท่าทางเหมือนคุณหนูคนนี้ มีเบื้องหลังในการทำงานที่แตกต่างจากภาพลักษณ์ภายนอกอย่างสิ้นเชิง
ความสามารถในการฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจของสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่
ให้ผ่านพ้นมาได้ ส่งผลให้เธอขึ้นสู่ทำเนียบนักบริหารมืออาชีพสตรีของเมืองไทยคนหนึ่งทีเดียว
เธอเป็นลูกสาวคนเดียว และเป็นลูกคนสุดท้องของพลโทเฉลิมชัย และแพทย์หญิงลัดดา
จารุวัสตร์ พี่ชายสองคนที่อายุห่างกันถึง 15 และ 10 ปี คือ ชาญชัย และชาลี
เป็นลูกสาวที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางอ้อมอกพ่อแม่ ในขณะที่พี่ชายทั้งสองไปศึกษาต่อต่างประเทศตั้งแต่เล็ก
ดังนั้นน่าจะได้รับการเลี้ยงดูแบบทะนุถนอมแบบลูกคนเดียวทั่วๆ ไป แต่เปล่าเลย
เพราะเธอมีคุณพ่อเป็นทหาร จึงมีวิธีการเลี้ยงที่ค่อนข้างดุดันพอสมควร
ชฎาทิพเคยเล่าไว้ในหนังสือแพรว ถึงวิธีการเลี้ยงของพ่อว่า
"เมื่อสักประมาณ 5 ขวบ เราใส่ห่วงชูชีพว่ายน้ำทุกอาทิตย์ วันหนึ่งพ่อเดินเข้ามาและบอกว่าต้องว่ายน้ำให้เป็น
แล้วจัดการถอดห่วงยางออก แล้วโยนเราไปกลางสระเลย ให้ว่ายเข้ามาเองไม่ต้องให้มีใครช่วย
แม่ยืนร้องไห้ คิดว่าจะแย่ ยังจำภาพที่ตัวเองจะจมน้ำแล้วตะกายมาจนถึงขอบสระ
ร้องไห้โกรธพ่อเสียไม่มี พ่อถามว่า หยุดร้องหรือยัง บอกว่ายัง เลยจับโยนลงสระอีก
2 ที วันนั้นว่ายเป็นเลย" กว่าจะเข้าใจว่าวิธีนี้ของผู้เป็นพ่อ เป็นเพราะต้องการให้ลูกสัมผัสกับปัญหา
และเรียนรู้ที่จะแก้ไขด้วยตนเองนั้นก็โตเป็นสาวและแอบร้องไห้ไปตั้งหลายครั้งแล้ว
โดยเข้าใจไปเองว่า พ่อไม่รัก"
เริ่มเรียนโรงเรียนประจำที่วัฒนาวิทยาลัย มีชื่อเสียงมากเรื่องความแก่นแก้วแบบไม่กลัวใคร
แต่โชคดีที่เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง และชอบทางด้านภาษามาก แต่เมื่อคุณพ่อแนะนำว่า
น่าจะเรียนทางด้านธุรกิจ ซึ่งหางานทำได้ง่ายกว่า เธอเลยเบนเข็มสอบเข้าคณะบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจบมัธยมศึกษาตอนปลาย
วิถีชีวิตและความเป็นมาของครอบครัวในวัยเด็กของศุภลักษณ์ และชฎาทิพ อาจจะต่างกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่เหมือนกันอย่างมากก็คือ เป็นคนหัวดีเรียนเก่ง และมีความมุ่งมั่นสูง
ชฎาทิพจบบัญชีมา แต่ไม่ชอบเป็นพนักงานบัญชีหรืองานธนาคาร กลับชอบทำงานทางด้านประกันภัยมากกว่า
ก็เลยไปเรียนต่อด้านประกันภัยที่ประเทศอังกฤษ ทั้งทำงานและฝึกงานด้านประกันภัยอยู่ที่อังกฤษ
4 ปี ตำแหน่งสุดท้ายของการทำงานที่อังกฤษก่อนกลับมาเมืองไทย คือ Far East
Treaty Division, Mercontile & General Reinsurance Co.Ltd., London
และมาเริ่มงานในตำแหน่งรักษาการผู้จัดการฝ่ายประกันภัยน้ำมันและก๊าซ บริษัททิพยประกันภัย
จำกัด ซึ่งสมัยหนึ่งคุณพ่อของเธอเคยเป็นประธานกรรมการบริษัทนี้
กำลังทำงานสนุกๆ ก็เจออุปสรรคด้านการเจ็บป่วยด้วยโรคเป็นฝีในไต ต้องหยุดงาน
รักษาตัวเลยต้องขอลาออกจากบริษัททิพยประกันภัย
หลังอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ชฎาทิพเริ่มชีวิตในการทำงานครั้งใหม่จากเงินเดือนครั้งล่าสุดเกือบ
2 หมื่นบาท มาเริ่มงานใหม่ที่บริษัท บางกอกคอนติเนนตอลโฮเต็ลส เมื่อปี 2529
ในตำแหน่งพนักงานบัญชี ของศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ รับเงินเดือนเพียง 4,500
บาท
"ไม่เคยคิดเลยว่าจะมาทำงานที่นี่ เพราะชอบทำงานด้านประกันภัยมาก แต่คุณพ่อก็ไม่ชอบให้ว่างอยู่เฉยๆ
ถ้าทำงานอย่างที่แป๋มเรียนมาก็สบายแล้ว ทำงานด้านอินชัวรันส์มีความสุขที่สุด
เพราะไม่ต้องปะทะใคร"
เรียกว่าเป็นการเริ่มทำงานในระดับต่ำสุด ทั้งๆ ที่เป็นพนักงานบัญชีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถ
และยังมีบิดาเป็นประธานบริษัทอีกด้วย
พลโทเฉลิมชัย จารุวัสตร์ ได้ให้ "โอกาส" ที่ลูกสาวไม่ต้องการนัก มาทำงานในบริษัทแห่งนี้
แต่เธอได้ใช้ "ความสามารถ" ของตนเองไต่เต้าไปจนถึงตำแหน่งสูงสุด คือกรรมการผู้จัดการ
บริษัทบางกอกคอนติเนนตอล โฮเต็ลสในเวลาอีก 10 ปีต่อมา
จากพนักงานบัญชี เธอได้ไปเริ่มงานใหม่ในฝ่ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นฝ่ายสำคัญอย่างมาก
สามารถเรียนรู้และทำความรู้จักบริษัทได้อย่างถ่องแท้ รู้ถึงปัญหาของลูกค้าที่เดินเข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้า
ในขณะเดียวกันก็เริ่มทำความรู้จักกับลูกค้าที่มาเช่าพื้นที่บริษัท เพื่อให้เข้าใจการทำธุรกิจของเขาเช่นเดียวกัน
ตลอดระยะเวลาของการทำงาน เธอพยายามเตือนตนเองและลูกค้าอยู่เสมอว่าเรากำลังทำงานบริการ
และเป็นการบริการทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งฝ่ายผู้เช่าศูนย์การค้า และฝ่ายของลูกค้าที่เข้ามาเดิน
คุณพ่อจะเป็นคนสำคัญที่ให้หลักการในชีวิตการทำงาน และคอยย้ำเช่นกันว่างานบริการจะต้องทำด้วยหัวใจ
การถูกบ่นว่า หรือถูกติเตียนจากลูกค้าหรือผู้เช่า เป็นเสมือนการสอนให้เราทำงานเป็น
เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา และหลักการในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เธอยึดถือตลอดมาในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์แต่ละครั้ง
"จริงๆ แล้วงานบริการลูกค้า ไม่ชอบเลย เพราะไหนจะลูกค้าของศูนย์ ไหนจะลูกค้าทั่วไป
ทำไปทำมาก็ชิน ไม่ว่ากัน แต่ที่ไม่ชอบเลยก็คือ เรื่องการให้สัมภาษณ์ การเจอนักข่าว
การเอาเรื่องราวของเราไปลง ไม่มีวันชิน ทุกครั้งที่เห็นหน้าเราในหนังสือพิมพ์
ก็จะรู้สึกบอกไม่ถูก โดยธรรมชาติของตัวเองไม่อยากเด่น เป็นข่าวประมาณนี้เราจะทำอะไรไม่เห็นจะต้องบอกใครเลย
แต่โดยอาชีพแล้ว มันก็ปิดตัวเองไม่ได้" ชฎาทิพระบายความรู้สึก ด้วยใบหน้ายังเปื้อนรอยยิ้ม
"อย่างวันนี้ต้องมีแถลงข่าว เอ้า! ถ้าไม่มาแล้ว มันจะเป็นอย่างไรล่ะ มันก็เลี่ยงไม่ได้
ขึ้นชื่อว่าเป็นหน้าที่ กล้ำกลืนฝืนใจแล้วก็ต้องทำ"
เพราะเป็นลูกทหาร ที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงมาอย่างคุณหนู และยังมาทำงานใกล้ชิดผู้เป็นพ่อ
ทำให้เธอถูกดุมากกว่า พนักงานทั่วไปเป็น 2 เท่า ถูกดุทั้งที่ทำงาน และยังมาต่อที่บ้าน
คำพูดที่ว่า เรียนจบปริญญาเมืองนอกมาได้อย่างไรถึงทำได้แค่นี้ ทำให้เกิดอาการ
"ฮึดสู้" ขึ้นมาทุกครั้ง
และคุณพ่อที่ว่าดุนักหนาแต่รักลูกสาวคนนี้อย่างมาก คือกุนซือ และตัวอย่างการทำงานที่เป็นแบบอย่าง
และหล่อหลอมเธอให้เข้มแข็งขึ้น
ปัจจุบัน พลโทเฉลิมชัย อายุ 85 ปี ยังคงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทบางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส
ยังมีสุขภาพที่แข็งแรง และมาทำงานที่ตึกสยามทาวเวอร์เกือบทุกวัน แต่ในขณะเดียวกันหากจะถามข่าวคราวของบริษัท
ก็จะบอกโบ้ยด้วยสีหน้ายิ้มและภาคภูมิใจว่า "ไปถามแป๋มเขาเถอะ เขาเก่ง"
ดูเหมือนว่า วันนี้เขาได้ส่งลูกสาวให้สู่จุดสูงสุดของการทำงานแล้ว และมีหน้าที่เพียงคอยเป็นที่ปรึกษา
และเฝ้าดูอย่างภาคภูมิใจเงียบๆ เท่านั้น
ชฎาทิพแต่งงานกับอภิชาติ จูตระกูล ลูกชายคนที่ 2 ของชนาทิพย์และโชติ จูตระกูล
ชนาทิพย์เป็นน้องสาวคนหนึ่งของบัญชา ล่ำซำ และคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ปัจจุบันอภิชาติเป็นประธานอำนวยการของบริษัทแสนสิริ
จำกัด (มหาชน) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มจากตระกูลล่ำซำ และจูตระกูล
เมื่อเดือนมีนาคม 2545 ที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ครบรอบ 10 ปีแห่งการแต่งงานของคนทั้งคู่
เป็นช่วง 10 ปีที่แต่งงานกับคนรักและแต่งกับงานพร้อมๆ กัน เพราะต่างประสบกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจมาอย่างโชกโชน
ซึ่งแสนสิริเองก็เจอปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาเดียวกันอย่างแสนสาหัส
โชคดีที่ต่อมาได้ร่วมทุนกับต่างชาติทำให้ผ่อนหนักเป็นเบาไปได้บ้าง และยังได้กำลังใจสำคัญจากทายาทตัวน้อยๆ
ลูกสาวคนเดียวที่กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 3 อีกด้วย
"ผู้จัดการ" ถามว่า ผู้หญิงทำงานอย่างเธอใช้วิธีการเลี้ยงลูกอย่างที่เคยได้รับมาจากคุณพ่อหรือเปล่า
ชฎาทิพตอบว่า เธอเลี้ยงแบบ "quality time" คือ บริหารเวลาที่อยู่ด้วยกันให้มีคุณภาพที่สุด
"ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป จะเลี้ยงลูกเหมือนสมัยพ่อแม่เลี้ยงเราคงไม่ได้แล้ว
เพียงแค่จะมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเลี้ยงลูก สิ่งที่วางไว้ก็คือ 1. ต้องการให้ลูกเป็นคนดี
ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง เฉลียวฉลาดแซงหน้าคนอื่น ไม่ใช่เลย อยากให้เป็นคนดี
พยายามสอนให้เขารู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ผิดชอบ ชั่วดี เป็นอย่างไร ต้องอธิบายให้เขาฟังเขาจะต้องรู้
ต้องแยกแยะให้ถูก เริ่มตั้งแต่เด็ก เพราะเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้คือรากแก้วของความเป็นคน
แป๋มเลี้ยงลูกจะใช้ quality time ใช้เวลาให้มีคุณภาพ หมายถึง ว่าแม้ภายใน
1 วัน แป๋มจะไม่มีเวลาอยู่กับลูกเหมือนแม่ท่านอื่นๆ แต่จะเจอเขาทุกเช้า และเจอเขาก่อนนอน
ช่วยเขาทำการบ้าน จะพยายามให้เขารู้ว่าเราอยู่ข้างๆ เขา ปัญหาของเด็กมันไม่มีอะไรมาก
มีเรื่องเรียนกับเรื่องเพื่อน ก่อนนอนจะเล่าให้แม่ฟัง เราจะคุยให้ฟังบนเตียง
หรือบางครั้งแป๋มจะคอยเล่าให้เขาฟังว่าแม่ทำอะไรมาบ้าง จะแลกเปลี่ยนกันเหมือนเพื่อน
เขาจะรู้เสมอว่าเวลาไม่เจอแม่ แม่ไปทำอะไรมา"
เมื่อพูดถึงลูก ชฎาทิพก็เหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ ที่จะมีเรื่องเล่าค่อนข้างเยอะ
และมีน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความรัก "อย่างช่วงนี้มีประชุมดึก เมื่อวานกลับไปถึงบ้านตอน
4 ทุ่ม ลูกนอนแล้ว แป๋มตื่นตี 5 ตอน 6 โมงเช้าจับมานั่งติวกันตั้งแต่ในรถ
จนถึงโรงเรียน"
"ส่วนสามี เขาก็เป็นคนสมัยใหม่ จะเข้ามามีความสัมพันธ์กับลูกได้ในเรื่องกิจกรรมที่สนุกสนานเสียมากกว่า
คุณแม่อาจจะสอนได้ในเรื่องที่จุกจิกหยุมหยิม แต่ถ้าเรื่องเฮฮา ก็จะเป็นหน้าที่ของคุณพ่อ
คือลูกสาว แป๋มจะชอบให้ออกกำลังกาย ดังนั้นในเรื่องกีฬาทุกชนิดจะให้คุณพ่อเขาเป็นคนจัดการในเรื่องว่ายน้ำ
ตีกอล์ฟ เราจะแบ่งกัน แต่ในเรื่องการเลี้ยงลูก เราจะตกลงกันว่าเราจะสอนกันคนละเรื่อง
เพราะถ้าพ่อแม่มาพูดซ้ำซากเหมือนกัน ก็คงไม่ดี แทนที่จะเชื่อเลยต่อต้านเสียเลย
ถ้าดุก็จะไม่ดุในเรื่องซ้ำกัน"
วันนี้ชฎาทิพ จูตระกูล ยังไม่ยอมหยุดอยู่กับที่ แต่ฉวยโอกาสสร้างโครงการใหญ่ที่จะเป็นความภูมิใจให้กับคนทั้งประเทศ
และเป็นโครงการที่เธอบอกว่าคงสุดยอดที่สุดในชีวิตของเธอแล้ว
"ช่วยๆ ลงข่าวกันให้หน่อยนะคะ ขอกำลังใจหน่อยค่ะ" คือลูกอ้อนสุดท้ายของผู้บริหารหญิงคนนี้
ก่อนที่จะลาจากกันในวันนั้น