หากว่าการวางแผน "คิดการใหญ่" ของผู้หญิง 2 คน จากสองตระกูลนี้ไม่ผิดพลาด
ประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2545 โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล โรงแรมระดับ
5 ดาว ที่อยู่คู่ใจกลางกรุงเทพฯ มานานถึง 37 ปีจะต้องถูกรื้อทิ้งเพื่อเตรียมสร้างโครงการใหม่
ที่ยิ่งใหญ่กว่าเก่า มูลค่า 6,000 ล้านบาท ภายใต้ชื่อ "Siam Paragon The
Pride of BangkoK"
เป็นปรากฏการณ์ทางด้านการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในเมืองไทย
หลังจากถูกพายุเศรษฐกิจกระหน่ำซัดตั้งแต่ปี 2540 และยังเป็นโครงการที่เกิดจากกระบวนการทางความคิดที่ตกผลึกอย่างเข้มของผู้หญิงไทย
2 คน ที่ต้องการให้ Siam Paragon เป็น Show Case ของทวีปเอเชีย ดังนั้นโครงการนี้จึงมีนัยที่สำคัญหลายอย่างคือ
1. เป็นความคิดใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการพัฒนาที่ดินเมืองไทย
เพราะมีเป้าหมายที่ไม่ได้แข่งขันกับโครงการอื่นๆ ในประเทศไทย แต่เป็นการเปิดฉากต่อสู้กับโครงการในระดับเอเชีย
โดยมีเป้าหมายลูกค้าและนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ
2. เป็นโครงการนำร่องของคนไทย เพื่อช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของชาติ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
3. เป็นโครงการที่ผู้สร้างจะต้องยึดมั่นอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องเป็นโครงการที่สง่างาม
และมีมาตรฐานสูงให้สมศักดิ์ศรีของที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของวังสระปทุม และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ
การผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์ธุรกิจ Retail Real Estate
ครั้งนี้ เกิดจากการร่วมทุนของ 2 องค์กรที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย คือ บริษัทบางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส
จำกัด (BIHC) ที่มีชฎาทิพ จูตระกูล เป็นกรรมการบริหาร และบริษัทเดอะมอลล์
กรุ๊ป จำกัด ผู้นำธุรกิจด้าน Retail Real Estate Development ของคนไทย โดยมีศุภลักษณ์
อัมพุช เป็นรองประธานอาวุโส
ผู้หญิงสองคนเป็นตัวแทนที่สำคัญจากสองตระกูล ที่มีบทบาทในวงการศูนย์การค้าที่น่าสนใจ
(อ่านประวัติของเธอทั้งคู่ในเรื่อง ชฎาทิพ จูตระกูล ผู้หญิงคนนี้ไม่ธรรมดา
และ ศุภลักษณ์ อัมพุช ผู้หญิงที่เดอะมอลล์ขาดไม่ได้)
จุดกำเนิดโครงการนี้ เกิดขึ้นจากมติในที่ประชุมของบริษัทบางกอกอินเตอร์คอนติ
เนนตอลโฮเต็ลส เมื่อปลายปี 2542 ที่ต้องการจะปรับปรุงโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนน
ตัล ซึ่งมีโครงสร้างเก่าและทรุดโทรมไปกับกาลเวลา แต่เมื่อเม็ดเงินในการปรับปรุงที่ออกมายอดสูงมาก
ก็สรุปกันว่าน่าจะเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่
ในที่สุด ผลของการศึกษาความเป็นไปได้ที่ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็ออกมาว่า
การสร้างโรงแรมใหม่ในพื้นที่เมือง 52 ไร่นี้ ควรจะประกอบไปด้วยส่วนอื่นๆ
ที่จะเกื้อกูลกับธุรกิจดั้งเดิมที่บริษัทมีอยู่แล้ว คือ โครงการสยามเซ็นเตอร์
และสยามดิสคัฟเวอรี่ นั่นคือ ควรจะมีศูนย์การค้าแห่งใหม่ ที่มีจุดขายแตกต่างไปจากเดิม
ศูนย์การค้าแห่งใหม่นี้จะทำเองหรือหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ ตอนนั้นทางผู้บริหารยังไม่ตัดสินใจ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทันทีที่มีข่าวออกไป ผู้ประกอบการหลายรายทั้งไทยและต่างประเทศก็ได้พยายามติดต่อเข้ามาขอร่วมทุน
แน่นอนที่ดินผืนใหญ่ 52 ไร่ใจกลางเมือง มีโครงการรถไฟฟ้าพาดผ่าน มีสถานีใหญ่
ซึ่งเป็นสถานีร่วมอยู่หน้าโครงการ มันหาไม่ได้อีกแล้วในเมืองไทย เป็นเรื่องที่นักลงทุนรู้ดี
และมั่นใจว่ามันเป็นทำเลที่คุ้มค่าในการลงทุนอย่างมาก
จากรายชื่อยาวเหยียดของบริษัทต่างๆ ที่สนใจ ถูกคณะกรรมการบริหารบริษัท
19 คนซึ่งมีทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ตัดให้เหลือเพียงไม่กี่บริษัท และในที่สุดก็มีมติเป็น
เอกฉันท์ ฟันธงลงที่เดอะมอลล์ กรุ๊ป
เดอะมอลล์ กรุ๊ป กับบริษัทบางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส ไม่เคยเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันมาก่อน
ผู้บริหารสองคน คือ ชฎาทิพกับศุภลักษณ์ อาจจะ รู้จักกันมานานเพราะอยู่ในวงการเดียวกัน
แต่ก็ไม่ได้สนิทสนมเป็นการส่วนตัว แต่ที่สำคัญทั้งสองแอบชื่นชมการทำงาน ระหว่างกันอย่างเงียบๆ
มานานแล้ว
ในวัย 47 ปี ศุภลักษณ์เป็นเหมือนศิษย์ผู้พี่ที่ชฎาทิพซึ่งมีอายุน้อยกว่า
5 ปี ต้องยอมรับว่า เคี่ยวกรำอยู่ในวงการธุรกิจด้านรีเทลมาอย่างโชกโชน เป็นผู้บุกเบิกทำเลใหม่ๆ
และคิดค้นกลยุทธ์ด้านการ ขายอย่างต่อเนื่องมานานถึง 20 ปี ขณะที่ ชฎาทิพวนเวียนอยู่แต่เพียงสยามดิสคัฟ
เวอรี่ และสยามเซ็นเตอร์เท่านั้น
วันหนึ่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลังจากทราบข่าวมาเพียงเลาๆ ว่าโรงแรมสยามฯ
จะปรับปรุงและสร้างศูนย์การค้าใหม่ ศุภลักษณ์ก็เคยเดินเข้าไปหาชฎาทิพ เมื่อพบกันในงานเลี้ยงงานหนึ่งและเกริ่นๆ
ตั้งแต่ตอนนั้นว่าทางเดอะมอลล์ กรุ๊ป สนใจ เป็นการคุยธุรกิจด้วยกันครั้งแรกของผู้หญิงสองคนนี้
แต่ต่างคนต่างก็รู้สึกว่า "ถูกคอ" และ "คุยกันรู้เรื่อง" แต่เมื่อทางบางกอกอินเตอร์คอนฯ
ยังอยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ เรื่องต่างๆ ก็เลยเงียบหายไป
ศุภลักษณ์ อัมพุช บอกว่าจุดที่เดอะมอลล์ กรุ๊ป ชนะใจกรรมการในวันตัดสินน่าจะมี
3 ประเด็น "คืออย่างแรกเลย เป็นเพราะเราตั้งใจจะทำที่นี่ให้ดีที่สุด ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยแต่เป็น
The Jewel of Asia เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย หมายถึงว่าเราจะทำอย่างไรให้ดีที่สุด
ให้เต็มความสามารถของคนไทย ไม่ให้น้อยหน้าประเทศเพื่อนบ้าน ตรงนี้น่าจะเป็นข้อแรกที่ทำให้เราชนะใจกรรมการ
2. เราคิดว่าความตั้งใจ และความทุ่มเทที่มีให้ดูจากโครงการอื่นๆ ของเราที่เคยมี
มาก่อน เพราะจริงๆ แล้วคุณชฎาทิพก็เป็นเอ็มดีอยู่ที่นี่และก็ดูแลเอง บริหารเองทั้งหมด
ของเราก็เหมือนกัน แม้จะเป็นโครงสร้างใหญ่ก็จริง แต่คนในระดับบริหารก็คงต้องลงมาลุยงานเองอย่างเต็มที่
ซึ่งเรื่องนี้คิดว่ากรรมการท่านก็ต้องมองเห็นและอย่างที่ 3 คงเป็นเพราะวัฒนธรรมการทำงานและ
vision ของแต่ละที่น่าจะไปด้วยกันได้"
ศุภลักษณ์อธิบายคำว่าวัฒนธรรมการทำงานที่เหมือนกันว่า ทั้งบางกอกอินเตอร์
คอนฯ และเดอะมอลล์ กรุ๊ป มีสไตล์การทำงานในลักษณะที่ไม่เอาเปรียบกัน เขาและเรา
ต้องเหมือนกัน ได้หรือเสีย เหมือนกันทุกอย่างต้อง Win Win
สิ่งที่เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้จากบริษัทบางกอกอินเตอร์คอนฯ คือ การเข้าไปมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ เพื่อสร้างโครงการที่เป็น "The Pride of
Bangkok" และบางกอกอินเตอร์คอนฯ ยังมีฐานการเงินที่แข็งแกร่ง จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการเงินทั้งสิ้น
โดยที่เดอะมอลล์ต้องเปิดใจกว้างพอ ที่จะยอมรับว่า หลังจากร่วมทุนกันแล้ว
โครงการใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นได้เอื้อกับธุรกิจเก่าของบริษัทบางกอกอินเตอร์คอนฯ
อย่างเต็มๆ
คงไม่มีปัญหา เพราะกลุ่มธุรกิจเก่าดั้งเดิมของเดอะมอลล์ส่วนใหญ่ ก็ยึดหัวหาดปั่นเม็ดเงินสร้างยอดขายอยู่ในย่านชานเมืองทั้งสิ้น
นอกจากโครงการ ดิเอ็มโพเรี่ยม สุขุมวิท เท่านั้น ที่ศุภลักษณ์มั่นใจว่ามีกลุ่มลูกค้าในย่านนั้นอยู่แล้ว
ในขณะเดียวกัน โครงการใหม่จะสร้างภาพพจน์ใหม่ให้กับเดอะมอลล์ กรุ๊ปอย่างมากมายเช่นกัน
และสิ่งที่บางกอกอินเตอร์คอนฯ จะได้จากเดอะมอลล์ กรุ๊ป ก็คือ strategic
partner ผู้ที่จะช่วยทำให้โปรเจกต์นี้มีศักยภาพและสำเร็จลงอย่างสมบูรณ์ จากประสบการณ์อันยาวนานกว่า
20 ปีของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่ได้ขยายเครือข่ายออกไปจนมีสาขาทั้งหมด ถึง 10
สาขา และสามารถไต่เพดานยอดขายสูงขึ้นเป็น 20,000 กว่าล้านบาทในปีที่ผ่านมา
จะว่าไปแล้วเดอะมอลล์ใช้ระยะเวลาในการเปิดตัวโดยเฉลี่ย 2 ปีต่อ 1 สาขา
และทุกครั้ง สาขาใหม่จะต้องยิ่งใหญ่กว่าเดิม คงจำกันได้ว่าเมื่อวันที่ 5
สิงหาคม 2537 เดอะมอลล์เปิด 2 สาขาพร้อมกันในวันเดียวกันด้วยซ้ำ คือ เดอะมอลล์สาขา
7 บางแค และสาขา 8 บางกะปิในพื้นที่โครงการทั้งหมดถึง 600,000 ตารางเมตร
รวมทั้งความสำเร็จของโครงการดิเอ็มโพเรี่ยม ที่มีบริษัท ซิตี้เรียลตี้
ของชาลี โสภณพนิช เป็นพันธมิตรบนถนนสุขุมวิทนั้น เปรียบเสมือนตัวสปริงบอร์ดที่ทำให้เดอะมอลล์
กรุ๊ป มั่นใจ และกล้ารับงานที่ใหญ่ขึ้น
ในที่สุด โครงการ Siam Paragon ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน
2544 ที่ผ่านมา โดยมีปณิธานสำคัญที่ผู้บริหารหญิง 2 คนนี้ท่องจำจนขึ้นใจว่า
1. เป็นการสร้างโครงการระดับโลก ให้เป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทย
2. เป็นโครงการที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย พร้อมกับอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ
(The Heritage of Thailand)
3. เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก ให้มาเยี่ยมชม เป็น Jewel of
Asia
4. ต้องเป็นโครงการที่สง่างามเพื่อให้สมศักดิ์ศรีของที่ดิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ
วังสระปทุม และ
5. ต้องเป็นโครงการที่ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศ
แน่นอนเป็นโจทย์สำคัญที่ท้าทายชฎาทิพ จูตระกูล และศุภลักษณ์ อัมพุช อย่างมาก
โครงการพัฒนาที่ดิน 52 ไร่ ใจกลางเมืองนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ
1. ส่วนหน้าที่ดินด้านติดถนนพระราม 1 ประมาณ 25 ไร่ จะเป็นที่ตั้งของโครงการ
The Siam Paragon
2. ที่ดินส่วนหลังอีก 20 ไร่ จะพัฒนาเป็นโรงแรม 5 ดาว ท่ามกลางสวนและพรรณไม้ต่างๆ
3. ที่ดินอีก 7 ไร่ จะจัดตกแต่งเป็น "Water & Garden Scape" ที่สวยงามเพื่อให้เป็น
Oasis of Bangkok พร้อมถนนล้อมรอบโครงการ
เมื่อรวมกับโครงการเดิมคือ สยาม เซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ อภิมหาอาณาจักรของศูนย์การค้า
แหล่งบันเทิง และโรงแรม ในพื้นที่ทั้งหมดนี้กว้างขวางถึง 72 ไร่ทีเดียว
ทันทีที่ได้พันธมิตรใหม่ ผู้หญิงสองคนนี้ก็เริ่มจับมือกันทำงาน และสิ่งแรกก็คือ
ตระเวนดูห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ด้วยกันเกือบทั่วโลก พร้อมกับไปติดต่อลูกค้า
แบรนด์เนมระดับโลกด้วยตัวเองหลายแห่งที่ต่างคนต่างศึกษามาก่อน เพราะก่อนที่จะตกลงร่วมกับ
Siam Paragon ทั้งคู่มีโครงการที่จะทำของตัวเองกันอยู่แล้ว
ทั้งคู่สรุปเหมือนกันว่า ไม่มีโครงการใดในโลกที่จะยึดเป็นโมเดล ให้กับโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นได้
เพราะโครงการ Siam Paragon ต้องประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญในเรื่องต่างๆ 4 เรื่องคือ
Culture, Nature, Life Style และ Fashion
"ห้างดีๆ ก็มีเช่น แฮร์รอด ในอังกฤษ แกลลอรี่ลาฟาแยตที่ฝรั่งเศส บางเซกชั่นของเขาทำได้ดีมาก
คือถ้าพูดถึงห้างสรรพสินค้าต้องเอนเอียงไปทางยุโรปมากกว่าอเมริกา เอเชียยากหน่อย
เทรนด์ของแฟชั่น เทรนด์ของการออกแบบ นี่มันก้าวไปไกลมาก ห้างสรรพสินค้าเขาสวยจริงๆ
เราไม่ได้พูดถึงศูนย์การค้านะคะ ศูนย์นี่อีกเรื่องหนึ่ง" ศุภลักษณ์อธิบาย
"อย่างตึกแฝดที่มาเลเซีย เขาก็มีห้างสรรพสินค้า มีอิเซตัน ก็ไม่ได้ดีนะ
มีขนาดกลาง ใหญ่จริง แต่ถ้าพูดถึงระดับแล้ว ไม่ใช่ระดับอย่างที่เราจะทำ เพราะจะต้องพิถีพิถันมากไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ
หรือการจัดหมวดหมู่ พยายามนะ พยายามมาก ที่จะออกมาให้ดีที่สุด" ชฎาทิพเสริม
หลังจากประกาศเปิดตัวโครงการไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 ในเดือนกุมภาพันธ์
2545 The Siam Paragon ก็เปิดตัวแนะนำบริษัทด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรม
ซึ่งบริษัทได้ใช้เงินว่าจ้างในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
เป็นการแถลงข่าวที่ทั้งคู่ภูมิใจนำเสนอมาก เพราะคนกลุ่มนี้ถูกคัดเลือกมา
เพื่อเป็นกองทัพสำคัญในการรังสรรค์โครงการนี้ให้เป็นจริง เป็น Show Case
ของเอเชีย
ทีมงานสถาปนิกทั้งหมดคือ บริษัท Wimberly Allison Tong & Goo, Inc.
(WATG) บริษัท RTKL International Ltd. ช่วยกันวาง Master Plan และงานสถาปัตย
กรรมทั้งหมด Jacqueline et Henri Bolffils ตกแต่งภายใน ในส่วนดีพาร์ตเมนต์สโตร์
บริษัท Bensley Design Studio & Bunnag Architects International Consultants
รับผิดชอบด้านภูมิสถาปัตย์ และ RDG Planning and Design ซึ่งเป็นบริษัทสถาปนิก
ของเมืองไทยที่จะร่วมดูในส่วนการออกแบบและรายละเอียดทั้งหมด (อ่านรายละเอียด
และผลงานของบริษัททั้งหมดในล้อมกรอบ)
สถาปนิกเหล่านี้เป็นเพียงกลุ่มแรกที่ได้เริ่มทำงานไปแล้ว และยังมีอีกหลายๆ
กลุ่มที่จะตามมา โดยเฉพาะทีมงานทางด้านไลท์ติ้ง
"เราตั้งใจมีโดมแก้วขนาดใหญ่ที่มีเสียง แสง สี เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหลือง
แดง เขียว เป็นส่วนหนึ่งทำให้โครงการสวยงาม และยังมีทีมงานทางด้าน special
effect ต่างๆ ที่กำลังคัดเลือกอยู่ อย่างเช่น น้ำพุที่สูงที่สุดในโลก น้ำตกที่สูงและใหญ่ที่สุด
ที่คนจะฮือฮาแน่นอน นอกจากนั้นจะมีส่วนที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเอนจิเนีย
และวิศวกรต่างๆ เช่น วิศวกรโครงสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย แต่มีฝีมือระดับโลก
ที่สำคัญคือทราฟิก เอนจิเนีย ที่ต้องระดมสมองเพื่อให้รถเข้าออกได้สะดวกที่สุด"
ในส่วนพื้นที่ศูนย์การค้าทั้งหมดในโครงการ Siam Paragon นั้นมีเนื้อที่ประมาณ
250,000-300,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย
1. ศูนย์รวมร้านค้าชั้นนำแนวหน้าของไทย และแบรนด์เนมชั้นนำระดับโลก ซึ่งจะประกอบไปด้วย
ศูนย์รวมอัญมณี ศูนย์รวมแฟชั่นแบรนด์เนม ศูนย์รวม ร้านค้าไลฟ์สไตล์ ศูนย์รวมเทคโนโลยี
และไอที ศูนย์ รวมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน และศูนย์ร้านอาหาร พื้นที่ส่วนนี้กำหนดไว้
40,000 ตารางเมตร
2. ห้างสรรพสินค้าระดับ hi-end 50,000 ตารางเมตร 3. กูเมต์มาร์เก็ต 8,000
ตารางเมตร 4. Auditorium 8,000 ตารางเมตร 5. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม 5,000 ตารางเมตร
6. โลกแห่งจินตนาการของเด็ก 5,000 ตารางเมตร 7. เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ศูนย์รวมความบันเทิง
25,000 ตารางเมตร 8. ที่จอดรถ 100,000 ตารางเมตร
จุดขายสำคัญส่วนหนึ่งที่โครงการกำหนดไว้ คือ แฟชั่น สินค้าแบรนด์เนมดังจากต่างประเทศ
เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นศูนย์รวมร้านค้าชั้นนำทั้งหมด ซึ่งจะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน
ผู้บริหารผู้หญิงสองคนนี้มั่นใจว่า สินค้าแบรนด์เนมยังเป็นสิ่งจำเป็นของนักท่องเที่ยว
และเป็นจุดสำคัญในการดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ และสร้างรายได้หลักให้ประเทศ
ชฎาทิพให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า
"เราต้องยอมรับว่าคนไทยเป็นคนที่มีรสนิยมมากทีเดียว คือให้ความสำคัญกับแฟชั่น
หรือเทรนด์ของโลก ดังนั้นวันนี้จึงช่วยไม่ได้ว่าคนไทยส่วนหนึ่งนิยมไปซื้อของต่างประเทศ
แต่ถ้าเราทำให้มีสินค้าหลากหลายในบ้านเรา ทั้งสินค้าพื้นเมือง และสินค้านำเข้า
ในราคาที่ถูกลงมา มันก็จะมีผลกับคนไทยเองและนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ซึ่งนอกจากเขาจะได้มาเที่ยวต่างจังหวัดที่มีทิวทัศน์สวยงาม
ชมวัดวาอาราม ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ แล้ว เขายังซื้อของแบรนด์เนมในราคาถูกได้ในกรุงเทพฯ
ด้วย ผลที่ตามมาก็คือ ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น กำแพงภาษีของสินค้านำเข้า
ทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือแม้แต่มาเลเซีย
ที่ลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยลงเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นสินค้าแบรนด์ดังของโลก
หากซื้อในเมืองไทยก็จะแพงกว่าถึง 30 เปอร์เซ็นต์
น่าจะเป็นปัญหาสำคัญของโครงการนี้เช่นกันว่า จะแข่งขายของกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร
เพราะในปัจจุบันแม้ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้น จะไม่มีศูนย์การค้า หรือห้างที่ทันสมัย
อย่างที่ Siam Paragon กำลังจะเป็นแต่ก็สามารถดึงคนเข้าประเทศเพื่อมาซื้อสินค้าปีละไม่น้อยเลย
ศุภลักษณ์ และชฎาทิพ มั่นใจว่าในอนาคตผู้บริหารประเทศเองก็ต้องมองเกมนี้ออกและยอมลดกำแพงภาษีลงมา
แม้ไม่ถึงศูนย์เปอร์เซ็นต์ก็ตาม และเมื่อถึงเวลานั้นธุรกิจในเรื่องค้าปลีก
ก็จะเป็นเค้กก้อนใหญ่ก้อนใหม่ของนักลงทุนชาวไทย ที่ไม่เคยได้รับมาก่อนทันทีเช่นกัน
แต่หากยังไม่เป็นอย่างที่พวกเธอคิด ก็คงเหลือแต่ความสามารถเฉพาะตัวโครงการจริงๆ
ที่เป็นส่วนสำคัญกับความสำเร็จ
และแนวทางหนึ่งที่มองไว้ก็คือ "เรา จะสร้างถนนตรงนี้ ตั้งแต่เอ็มโพเรี่ยม
ใน Siam Paragon ไปถึงศูนย์การค้ามาบุญครอง โอเคในสิงคโปร์คุณมีออร์ชาร์ด
โรด ในญี่ปุ่นคุณมีถนนกินซ่า ในเมืองไทยเมื่อก่อนเคยมีราชประสงค์ที่ขึ้นชื่อ
แต่ตอนนี้เราจะสร้าง retail of shopping paradise นี่คือการมองการณ์ไกลจริงๆ
ไม่ใช่มองแค่ ระดับในประเทศ"
นอกจากนั้นยังวางจุดขายให้เป็นศูนย์อัญมณีของโลก โดยกำหนดพื้นที่ไว้ไม่ต่ำกว่า
5,000 ตารางเมตร มีร้านค้าชั้นนำไม่ต่ำกว่า 20 ร้านในส่วนนี้ และยังมีส่วนย่อยๆ
อีกจำนวนหนึ่ง
เช่นเดียวกับการตั้งเป้าให้เป็นศูนย์อาหารขนาดใหญ่ในพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร
ศุภลักษณ์วาดฝันไว้ว่า ที่ศูนย์อาหารแห่งนี้จะรวบรวมร้านอาหารที่มีชื่อเข้ามา
และตกแต่งด้วยคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกัน
สำหรับการร่วมทุนจะแบ่งออกเป็น 2 บริษัท ดังนี้
1. บริษัท สยามพารากอนดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนที่รับผิดชอบการพัฒนาโครงการ
เดอะสยามพารากอน ทั้งในส่วนศูนย์การค้า และ ในส่วน Auditorium โดยมีชาญชัย
จารุวัสตร์ เป็นประธานกรรมการบริษัท ศุภลักษณ์ อัมพุช เป็นรองประธานกรรมการบริษัท
ชฎาทิพ จูตระกูล เป็นผู้บริหารสูงสุด (CEO)
ชาญชัย เป็นพี่ชายคนโตของชฎาทิพ มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารบริษัทบางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส
ตำแหน่งที่ผ่านมา เช่น เคยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทไอบีเอ็ม กรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รองประธานธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัท สยามพารากอนรีเทล จำกัด เป็นบริษัท ร่วมทุนที่รับผิดชอบการบริหารจัดการห้างสรรพสินค้า
โดยสุรัตน์ อัมพุช เป็นประธานกรรมการบริษัท ชฎาทิพ จูตระกูล รองประธานกรรมการบริษัท
โดยมีสุรัตน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทเดอะมอลล์ กรุ๊ป เป็นผู้บริหารสูงสุด
ส่วนเรื่องการเงินที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำโครงการนั้นสุรัตน์ อัมพุช จะเป็นคนคอยดูแล
ซึ่งได้มีการประมาณการไว้ว่า โครงการ 6,000 ล้านบาทนี้จะเป็นเงินกู้เพียง
20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเม็ดเงินก้อนใหญ่สุด ที่จะเอามาสูบฉีดหล่อเลี้ยงโครงการ
น่าจะได้มาจากค่าเช่าเซ้งพื้นที่ล่วงหน้า ซึ่งมีกำหนดเปิดขายประมาณเดือนมิถุนายน
2545
อัตราค่าเช่าที่ดินรายเดือนกลางเมืองแปลงนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากทีเดียว
ข้อมูลที่ "ผู้จัดการ" ได้มาจากกระทรวงพาณิชย์พบว่า
บริษัทบางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส มีสัญญาเช่าที่ดินกับสำนักงานทรัพย์สิน
เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2508 ถึงปี 2536 ค่าเช่าเดือนละ 84,204 บาท
ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2537 ทำสัญญาเช่าใหม่อีก 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19
มกราคม 2538 โดยมีอัตราค่าเช่าเดือนละ 1,124,242 สำหรับ 10 ปีแรก และจะมีการปรับปรุงให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงตามอัตราส่วนดัชนีผู้บริโภคของกระทรวงพาณิชย์
ซึ่งจะทำกันทุก 10 ปี
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 ได้มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่าที่ดิน
ดังนี้ 1. ค่าเช่าสำหรับอายุการเช่า 10 ปีแรก ตั้งแต่ 19 มกราคม 2538 ถึงวันที่
18 มกราคม 2548 แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าเช่าสำหรับอายุการเช่าตั้งแต่ 19
มกราคม 2538-30 กันยายน 2543 เดือนละ 1,124,241.81 ล้านบาท
และค่าเช่าสำหรับอายุการเช่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543-18 มกราคม 2548
เดือนละ 4 ล้านบาท
2. ค่าเช่าสำหรับอายุการเช่าใน 10 ปีที่ 2 คือตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม
2548-18 มกราคม 2558 จะมีการปรับปรุงค่าเช่า ณ วันที่ 18 มกราคม 2548 ตามดัชนีราคาผู้บริโภค
ของกระทรวงพาณิชย์ หรือเดือนละ 6,000,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
3. อายุการเช่าสำหรับ 10 ปีที่ 3 คือ 19 มกราคม 2558-18 มกราคม 2568 จะมีการปรับปรุงค่าเช่า
ณ วันที่ 19 มกราคม 2558 ตามดัชนีราคาผู้บริโภคของกระทรวงพาณิชย์ หรือเดือนละ
8,500,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
สำหรับผู้ถือหุ้นของบริษัทมีทั้งหมด 263 คน จำนวนหุ้นทั้งหมด 17,400,000
หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท (ที่มากระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนเมษายน 2544) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่
คือบริษัทอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส จำนวน 4.6 ล้านหุ้น กระทรวงการคลัง
3.5 ล้านหุ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ 2.3 ล้าน ทุนลัดดาวัลย์ 1.8 ล้านหุ้น ธนาคารกรุงเทพ
5 แสนหุ้นธนาคารกสิกรไทย 2.9 แสนหุ้น เอ็ม.บี.เค. พร็อพเพอร์ตี้แอนด์ดีเวลลอปเม้นท์
3.3 แสนหุ้น บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ 3.5 แสนหุ้น นอกจากนั้นจะเป็นการถือในชื่อบุคคล
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนักธุรกิจและผู้มีชื่อเสียงในวงสังคมชั้นสูงของเมืองไทย
หากตัวเลขการขอจองพื้นที่เป็นจริงตามที่ชฎาทิพและศุภลักษณ์ยืนยันว่า "ความมั่นใจเพิ่มขึ้นทุกนาทีเพราะจากวันแรกที่เราเปิดตัวไป
ก็มีโทรศัพท์กระหน่ำโทรเข้ามา ขอซื้อพื้นที่ทั้งไม่มีการเปิดให้มีการจอง"
สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากความมั่นใจในตัวผู้ประกอบการทั้งสองทีม ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงเวลาที่ดีเพราะธุรกิจหลายแห่งอาจต้องการพื้นที่ขยายสาขา
แต่ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาไม่มีโครงการใหม่เกิดขึ้นเลย
คำสัญญาสุดท้ายที่ผู้หญิงทั้งคู่ให้ไว้ก็คือ ความเป็นไทยจะต้องปรากฏชัดในโครงการนี้ไม่ว่าจะเป็น
Siam Paragon ที่อยู่ส่วนหน้า หรือโรงแรมที่อยู่ส่วนหลังก็ตาม และต้องเป็นโครงการที่คนทั้งประเทศต้องภูมิใจ
ระยะเวลาในการทำโครงการเพียง 3 ปี คงไม่ช้าเกินไปที่จะพิสูจน์ความสามารถของผู้หญิงสองคนนี้