|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2547
|
|
ใกล้คริสต์มาสเข้ามาทุกที หลายห้างที่อังกฤษได้ฤกษ์เริ่มหาพนักงานชั่วคราวมาคอยบริการลูกค้าที่เริ่มทยอยจับจ่ายหาซื้อของขวัญคริสต์มาสกันตั้งแต่เนิ่นๆ คนที่อยากหารายได้พิเศษ ไม่มีวันพลาดโอกาสทองของงานช่วงนี้แน่ ฉันเองต้องหาเงินมาจ่ายค่าเช่าบ้าน พอห้างแห่งหนึ่งเรียกตัวไปทำงาน ก็ยากที่จะปฏิเสธ
ห้างที่ฉันไปทำงานด้วยนี้ เป็นห้างสรรพสินค้าชื่อดังของอังกฤษ มีชื่อทางด้านขายสินค้าคุณภาพเยี่ยม และบริการประทับใจ โดยเฉพาะแผนกอาหารที่ขายแต่อาหารอร่อยดูน่ากินไปหมด ไม่ว่าจะเป็นคุกกี้ ชีสเค้ก ไก่ย่าง หรืออาหารกล่อง แต่ภาพพจน์โดยรวมของห้าง กลับกลายเป็นห้างยอดนิยมของคนวัยทองมากกว่าหนุ่มๆ สาวๆ หรือนักศึกษา เพราะราคาสินค้าที่แพงเกินงบของลูกค้าหลายกลุ่ม และเสื้อผ้าที่สไตล์ออกโบราณ ไม่โดนใจคนวัยทำงานกัน แถมแพงเสียอีก
แม้จะเป็นแค่พนักงานสต็อกสินค้าในแผนกอาหาร แต่ฉันก็ต้องไปเข้าอบรมฝึกการทำหน้าที่แคชเชียร์ ร่วมกับพนักงานแผนกอื่นเป็นเวลาตั้ง 2 วัน วันแรกเป็นปฐมนิเทศ ส่วนวันที่ 2 เป็นการฝึกใช้เครื่องเก็บเงิน (Till) ในวันแรก เจนนิเฟอร์ ผู้มีหน้าที่ฝึกพนักงานใหม่ออกมาต้อนรับพวกเราด้วยรอยยิ้มที่เป็นกันเอง เธอทำงานที่นี่มาตั้ง 17 ปีแล้ว ถ้าเป็นไปได้ ฉันจะยกตำแหน่งพนักงานดีเด่นให้เจนนิเฟอร์เลย เพราะทำหน้าที่เป็นตัวแทนห้างได้อย่างดีเยี่ยม เธอถามพวกเราหน้าใหม่ทั้ง 25 คนว่า คิดยังไงกับสินค้าของห้าง ถ้ามีโอกาสจะเอาความเห็นของเราไปปรับปรุงห้าง พวกเราวิจารณ์ ว่าเสื้อผ้าที่ทางห้างขายนั้นแพงไปหน่อย แต่เจนนิเฟอร์กลับออกตัวให้ห้างทันทีว่า เธอเองเคยไปซื้อเสื้อผ้าถูกๆ ของร้านอื่นใส่ดูแล้ว ไม่กี่วันก็ขาด สู้ของทางห้างไม่ได้ ใส่ได้เป็นปีๆ
นอกจากนี้ เธอยังย้ำไม่ให้พวกเรามาทำงานสาย โดยคำนวณให้ห้างเสร็จสรรพว่า ถ้าแต่ละคนมาสายคนละ 1 นาที ห้างมีพนักงานทั้งหมด 600 คน รวมก็เป็น 600 นาที หรือ 10 ชั่วโมง คูณด้วยค่าแรงประมาณ 5 ปอนด์ต่อชั่วโมง นั่นหมายความว่า ห้างจะขาดทุนวันละ 50 ปอนด์ หรือปีละ 18,250 ปอนด์ ถ้าทุกคนมา สาย แต่ฉันว่าคิดอย่างนี้เห็นแต่ประโยชน์ของห้างไปหน่อยหรือเปล่า เพราะพนักงานเองก็ไม่ได้อะไรจากการมาแต่เช้า เนื่องจากห้างไม่ได้จ่ายค่าล่วงเวลาให้เรา แต่จ่ายตามเวลางานเป๊ะๆ แถมเวลาพักก็ไม่คิดค่าแรงให้ด้วย ไปทำงาน 8 ชั่วโมง แต่ได้เงินแค่ 7 ชั่วโมง เพราะอีกครึ่งชั่วโมงเป็นพักกลางวัน ไม่นับในขณะที่ตอนที่ฉันไปทำงานคีย์ข้อมูลเข้าเครื่องให้กับกรมสรรพากร เขาคิดเวลาพักครึ่งชั่วโมง รวมไปในเงินเดือนให้ด้วย ลองคิดกันเล่นๆ ว่าถ้าแต่ละคนมาเข้างานก่อนเวลา 1 นาที นั่นก็หมายถึงกำไรที่ทางห้างจะได้จากพนักงาน เงินเดือนน้อยอย่างพวกเราไปแล้ว 18,250 ปอนด์เหมือนกัน!
อีกอย่างหลายคนก็มาทำงานก่อนเวลาอยู่แล้วอย่างน้อย 5-10 นาที ไม่ใช่แค่นาทีเดียว คิดเป็นกำไรให้ทางห้างแล้วตั้งเท่าไร แต่สวัสดิการที่ห้างให้แก่พนักงานกลับมีแค่กาแฟฟรี และส่วนลด 20% เมื่อซื้อสินค้าของห้างเอง ส่วนอาหารกลางวันซึ่งน่าจะเป็นสวัสดิการฟรีให้พนักงานนั้น พวกเราต้องจ่ายเอง เทียบกับโรงแรมหลายแห่งที่นี่ ซึ่งบริการอาหารกลางวันฟรีให้พนักงานของตน จริงๆ แล้วห้างก็ผลิตอาหารขายอยู่แล้ว ต้นทุนของพวกนี้ก็ไม่ได้มากมายอะไร น่าจะบริการอาหารฟรีให้พนักงาน การซื้อใจลูกจ้างด้วยน้ำใจ เล็กๆ น้อยๆ แลกกับการที่เขาจะทุ่มเททำงานให้กับบริษัท ไม่ใช่การลงทุนที่คุ้มค่าหรอกหรือ
เดี๋ยวนี้กิจการห้างร้านในอังกฤษ ไม่ว่าจะในธุรกิจไหน มักจะหันไปใช้นโยบายประหยัดเงินเดือนกันเกือบหมด (แม้แต่รัฐบาลเองก็ตาม!) โดยนิยมจ้างลูกจ้างชั่วคราวเป็นรายชั่วโมง แทนการจ้างพนักงานประจำกินเงินเดือน เพราะจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินประกันสังคม เงินบำนาญ หรือสวัสดิการอื่นๆ ที่พนักงานประจำได้ เพื่อนชาวอังกฤษที่ทำงานเป็นครูสอนภาษาในลอนดอนก็บ่นเหมือนกันว่า โรงเรียนที่เธอทำงานอยู่ด้วยนั้น ไม่ค่อยอยากจะจ้างชาวอังกฤษเป็นครูประจำสักเท่าไร แต่กลับชอบจ้างชาวออสเตรเลียที่มาอยู่อังกฤษ แบบทำงานไปเที่ยวไปแค่ช่วงสั้นๆ 6 เดือนเป็นครูแทน เพราะค่าแรงถูกกว่าและไม่มีข้อผูกมัดอะไร โรงเรียนก็ไม่ต้องจ่ายสวัสดิการจิปาถะต่างๆ ให้ ครูชาวอังกฤษเลยหางานทำได้ลำบาก ถ้าไม่ยอมรับเงินเดือนน้อยลงเป็นแค่ครูชั่วคราวแล้ว เขาก็ไม่ง้อ เพราะมีคนเข้าคิวรองานอีกตั้งเยอะ
วกมาเรื่องทำงานห้างต่อ ถึงจะมีหน้าที่แค่สต็อกสินค้า แต่พนักงานอย่างฉันยังถูกคาดหวังให้หาลูกค้าให้กับแผนกเครดิตการ์ดด้วย โดยไม่มีแรงจูงใจใดๆ ว่าถ้าหาลูกค้าได้แล้วจะมีรางวัลอะไรให้หรือเปล่า นอกจากนี้พวกเรายังถูกจับตาทุกฝีก้าวอีก ทั้งจากโทรทัศน์วงจรปิดที่ถูกแอบติดไว้ทั่วทั้งห้าง และจากการที่พนักงานต้องรูดบัตรประจำตัวทุกครั้งที่เดินเข้าออกจากหน้าร้านไปหลังร้าน ไม่ว่าจะไปเข้าห้องน้ำ ไป กินน้ำ ไปหาของให้ลูกค้าหลังร้าน หรือจะไปไหนก็ตาม ฝ่ายบริหารจะรู้หมดว่าเราอยู่ที่ไหน และจะเก็บข้อมูลพวกนี้ไว้เป็นบันทึกอีกด้วย เป็นการใช้พนักงานอย่างคุ้มค่าและป้องกันการขโมยของไปในตัว พวกเราเลยกลายเป็นแค่หุ่นยนต์ไป ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีสมองคิดเอง (เช่น ห้างย้ำให้พนักงาน Trust the Till! คือถ้ามีปัญหาอะไร ให้เราเชื่อและทำตามที่เครื่องเก็บเงินบอกไว้ก่อน อย่าเดาเอง เพราะเครื่องของเขานั้นรอบรู้ไปหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเครื่องที่ว่านั่นดีจริงๆ อย่างเช่น ในอังกฤษ เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ห้ามซื้อช็อกโกแลตที่มีเหล้าผสม หรือซื้อของมีคม ไม่ว่าจะเป็นมีดโกนหนวด กรรไกร ตะปู หรือชุดตัดเล็บ เพราะอาจมีกรรไกรแต่งเล็บรวมอยู่ ดังนั้นถ้าพนักงานสแกนบาร์โค้ดของสินค้า เช่น มีดเข้าเครื่อง เครื่องก็จะขึ้นข้อความให้พนักงานเช็กทันทีว่าลูกค้าอายุเกิน 16 ปีหรือเปล่า โดยวงเล็บให้เสร็จสรรพว่าต้องเกิดก่อนวันเดือนปีไหนถึงจะมีอายุเกิน 16) ดูๆ แล้ว ห้างทำตัวเหมือนกับเป็น "Big Brother" ที่คอย "always watching you." อย่างในหนังสือเรื่อง 1984 ของ George Orwell ยังไงยังงั้น
ถึงจะคาดหวังให้พนักงานชั่วคราวอย่างเราทำงานให้เขาอย่างเต็มที่ แต่ห้างกลับไม่ยอมให้ความหวังกับพวกเราว่าพอหมดสัญญาทำงาน 2 เดือนแล้ว เราจะมีโอกาสต่อสัญญาอีกหรือเปล่า เจนนิเฟอร์พูดแค่ว่า ถ้าพวกเราทำงานดี บางที "คริสต์มาสปีหน้า" อาจจะมีโอกาสมาร่วมงานกันอีก อ้าว!...แล้วที่เหลืออีก 11 เดือนกว่าจะถึงคริสต์มาสปีหน้าล่ะ เขาจะให้พวกเรา ไปทำอะไรกัน? คือบริษัทในยุค 2004 นี้ไม่ยอมจะแบกภาระด้านแรงงานเลย จ้างพนักงานชั่วคราว เพราะประหยัดค่าเงินเดือนและสวัสดิการ แถมยังเลิกจ้างได้อย่างง่ายๆ เพราะถือว่ายังเป็นช่วงลองงานอยู่ เมื่อไรต้องการคนงานก็แค่ลงประกาศ คนก็แห่มาสมัครกันแล้ว เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ไม่ว่าค่าจ้างจะถูกแค่ไหน ก็ต้องรับทำไว้ก่อน
วิจารณ์ห้างร้านบริษัทมาตั้งเยอะ ใครที่เป็นเจ้าของธุรกิจก็อย่าโกรธกันนะคะ เพราะนี่เป็นแค่ความเห็นของลูกจ้างคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้จะมาตำหนิคนทำธุรกิจหรือว่าใครเป็นการส่วนตัว อย่างที่มหาเศรษฐี Donald Trump พูดเอาไว้ในรายการ The Apprentice ของเขานั่นแหละค่ะว่า "It's nothing personal, it's just business."
|
|
|
|
|