|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2547
|
|
ลำน้ำสายประวัติศาสตร์ยังคงพลิ้วไหวเป็นระลอก สะท้อนกับแสงแดดวิบวับในยามบ่าย ห้วงเวลาที่ผ่านเลย ก่อให้เกิดตำนานบทใหม่ริมสองฝั่งแม่น้ำนี้บทแล้วบทเล่าไม่รู้จบ
เสน่ห์แห่งสายน้ำที่ร้อยรัดเชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีต กลายเป็นจุดขายครั้งสำคัญของโครงการบ้านจัดสรร "ลดาวัลย์ ณ เจ้าพระยา"
ค่ายใหญ่ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ตอกย้ำความสำเร็จอีกครั้ง ด้วยการพาลูกบ้านและสื่อมวลชนกลุ่มใหญ่ล่องเรือชมบรรยากาศความงามของบ้านเก่า วังโบราณ และความหลากหลายของวัฒนธรรมริมน้ำ โดยมีชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมสร้างอรรถรสเติมเต็มความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่หลายคนไม่เคยรู้ และปล่อยให้เรื่องราวดีๆ ผ่านเลยไปเหมือนสายน้ำ
จากท่าวังหน้า "ควีนอลิซาเบท" ล่องขึ้นไปทางทิศเหนือ การบรรยายเริ่มขึ้นเมื่อทุกคนเริ่มลิ้มรสอาหารจาก S&P ผ่านวังลดาวัลย์ ป้อมพระสุเมรุ ลำพูต้นใหญ่ริมน้ำ ท่าวาสุกรี วัดราชาธิวาส จากนั้นความสง่างามของสถาปัตยกรรมผสมระหว่างเรอแนสซองส์ กับบาโร้ก บนเนื้อที่หลายสิบไร่ของวังบางขุนพรหม ก็ผ่านเข้ามาในสายตา วังนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อพระราชทานสมเด็จ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ พระราชโอรสในพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี
ในปี 2475 คณะราษฎรเข้ายึดวังบางขุนพรหม และต่อมาได้ใช้เป็นที่ทำการกรมยุทธการทหารบก ก่อนจะเป็นที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทย
"มัสยิด" บางอ้อ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นอาคารชั้นเดียวสีครีม หน้าต่างสีฟ้า รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก บริเวณริมน้ำหน้ามัสยิดยังมีเรือนไม้สักแกะลวดลายละเอียดประณีต ที่เรียกว่าเรือนขนมปังขิง อีก 1 หลัง
ถัดไปเป็นบ้านขุนด่ำ (ขุนโยธาสมุทร อาดัม หรือด่ำ) หรือที่คนเฒ่าคนแก่เรียกว่า "บ้านเขียว" ทั้งๆ ที่ตัวบ้านเดิมทาสีชมพูอ่อน แต่เป็นเพราะเรียกตามสีเขียวของเรือโดยสาร ซึ่งเจ้าของบ้านดำเนินกิจการอยู่
บ้านเขียว ปลูกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดดเด่นด้วยลายขนมปังขิง ในบริเวณใกล้ๆ กันยังมีบ้านสวยๆ ของชาวมุสลิมที่เป็นพี่น้องกันอีกหลายหลัง
จากจุดนี้เรือได้ตีโค้งมุ่งหน้ากลับถนนเจริญกรุงพร้อมๆ กับภาพของสถาปัตยกรรมยุโรป ที่แม้จะเก่าซีดและดูทรุดโทรม แต่ยังไม่ทิ้งร่องรอยความสวยงามของ "บ้านบางยี่ขัน" ปรากฏขึ้น เดิมเคยเป็นบ้านของอำมาตย์เอกพระยาชลภูมิพานิชและ คุณหญิงส่วน อดีตข้าหลวงของพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ 5 ตัวตึกเป็นคอนกรีต 2 ชั้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวขนานไปกับลำน้ำเจ้าพระยา ด้านหน้าอาคารมีบันไดหินอ่อนขึ้นลงทั้งปีกซ้ายขวา ชั้นล่างทำเป็นช่องซุ้มโค้งอย่างตะวันตกหลายช่อง ที่ช่องลมประดับกระจกสีเป็นแฉกรัศมีพระอาทิตย์ครึ่งดวงและประดับลายฉลุไม้เป็นซุ้มเครือเถา บานประตูห้องโถงกลางฉลุไม้ทั้งแผ่น
อาคารหลังนี้มีโครงสร้างของฐานอาคารแบบโบราณ คือปูด้วยท่อนซุงขนาดใหญ่เป็นตาราง เพื่อกันการทรุดตัวของดินอ่อนริมน้ำ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการมูลนิธิมุสลิมกรุงเทพฯ วิทยาทาน
ใจกระหวัดไปถึง "โกโบริ" แห่งนิยายอมตะ "คู่กรรม" เมื่อเรือล่องผ่านสถานีรถไฟบางกอกน้อย สถานที่สำคัญในเรื่อง เลยเข้าไปย่านปากคลองตลาด งานศิลปะชิ้นใหญ่ในสนามหญ้าหน้าวังจักรพงษ์ยังคงโดดเด่น เสียดาย วันนั้นไม่เห็น "ฮิวโก้" จุลจักร จักรพงษ์ ดารานักร้องคนดัง ลูกชายของคุณหญิง นริศรา จักรพงษ์ เจ้าของวัง
ความวิจิตรของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม งดงามอยู่ท่ามกลางแสงแดด ก่อนที่เรือจะแล่นเข้าเขตความเจริญย่านถนนเจริญกรุง
"สถานทูตโปรตุเกส" เป็นสถานทูตของชาติตะวันตกที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ นับตั้งแต่เสียกรุงอยุธยาโปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยอีกครั้งในปี 2363 สมัยรัชกาลที่ 2 โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทาน บ้านที่องเชียงสือ กษัตริย์ที่ลี้ภัยการเมืองมาพึ่งไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นสถานที่ตั้งกงสุล
"ศุลกสถาน" หรือโรงภาษี สถานที่ที่เคยงดงามอย่างมากริมแม่น้ำเจ้าพระยาในอดีต ดังที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือ Bangkok Times Guide Book ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2433 ว่าเป็นสถานที่งดงามมากแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นใหม่ ในกรุงเทพฯ ภายในระยะเวลา 10 ปีที่ล่วงมา ตึกใหญ่นั้นมีสามชั้น นัยว่าเดิมใช้เป็นที่เต้นรำของกระทรวงการต่างประเทศ เครื่องประดับมีกระจกเงาแผ่นใหญ่ๆ โคมระย้าแก้ว รูปสีน้ำ
ต่อมาอาคารหลังนี้เป็นที่ทำการของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก และสถานีตำรวจน้ำ ตัวอาคารทรุดโทรมอย่างมาก และประมาณเดือนกันยายน 2547 ที่ผ่านมาได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง มหาเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองไทย
"สถานทูตฝรั่งเศส" เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2418 รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดิน และอาคารในเนื้อที่กว่า 4 ไร่ เป็นที่ตั้งกงสุล อาคารหลังนี้ใช้เป็นที่ตั้งของสถานทูตฝรั่งเศสมานานกว่า 100 ปี มีการบำรุงซ่อมแซมใหม่ในระหว่างปี 2502-2511
เช่นเดียวกับโรงแรมโอเรียนเต็ล ที่อยู่คู่มากับสังคมชั้นสูงของไทยมาเกือบ 130 ปี ด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาโร้ก ปูนปั้นรูปพระอาทิตย์กำลังตกปริ่มน้ำ ซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมปรากฏอยู่ตรงหน้าบันด้านหน้า ส่วนลวดลายขนมปังขิงตามช่องหน้าต่างภายในยังได้รับการดูแล อย่างสวยงาม แม้ว่ามีตึกใหม่เกิดขึ้นอีกหลายตึก แต่อาคารหลังนี้คือเสน่ห์ที่คอยดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกกลับมาเยือนครั้งแล้วครั้งเล่า
ใกล้กับอาคารเก่าโรงแรมโอเรียนเต็ล พบกับสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ของอดีตตึกที่ทำการของบริษัทอี๊สต์เอเชียติ๊กที่มีกรอบประตูหน้าต่างเป็นซุ้มโค้ง ผนังเหนือกรอบประตูหน้าต่างประดับด้วยปูนปั้น เป็นอีกตึกหนึ่งที่ปัจจุบันมีชื่อเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นเจ้าของ และเขาเคยมีความคิดว่าจะสร้างเป็นบูติกโฮเต็ลริมแม่น้ำที่สวยงามหรูหรา
เรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านสายตาไปอีกเรื่อยๆ จนกระทั่งเรือล่องผ่านสะพานสาทรไปเพียงชั่วครู่ ก็หยุดนิ่งความประทับใจที่ยังไม่ทันจาง ถูกตอกย้ำอีกครั้งกับภาพเบื้องหน้า โครงการ "สถาปัตยกรรม ลดาวัลย์ ณ เจ้าพระยา" สังคมเล็กๆ ในพื้นที่ 10 ไร่ ที่นำเอาสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 มาประยุกต์ใช้ อาทิ หลังคาทรงมนิลา มีส่วนตกแต่งที่ยอดจั่วเป็นรูปแบบเสากลึงปลายแหลม ประดับด้วยลวดลายคล้ายไม้ฉลุขนาบทั้ง 2 ด้านระเบียงไม้ และงานปูนปั้นประดับกรอบหน้าต่าง
เป็นโครงการที่สามารถทำกลยุทธ์การตลาดได้อย่างไม่เหมือนใคร จนไม่แปลกใจเลยว่า บ้านทั้ง 41 หลัง ราคา 15-31 ล้านบาท และบ้านเดี่ยว 2 หลัง ราคา 77 และ 88 ล้านบาท สามารถขายได้หมดภายในเวลา 2 เดือน โดยไม่ต้องเสียงบประมาณในการโฆษณาเลย
พระอาทิตย์กำลังลับขอบโค้งน้ำ สายลมยามเย็นพัดผ่านเข้ามาเอื่อยๆ พลันเสียงเพลงบรรเลง "เจ้าพระยา" "ขวัญเรียม" "ศรีนวล" ฯลฯ จากวงไหมไทยออร์เคสตราของ ดนู ฮันตระกูล ก็เริ่มขับกล่อม ก่อนจะจบงานอย่างประทับใจด้วยการจุดประทีปโคมไฟเป็นสัญญาณว่าตำนานบทใหม่ริมแม่น้ำสายนี้เริ่มขึ้นอีกครั้งแล้ว
งบประมาณที่ใช้ไปทั้งหมดในวันนั้น กว่า 1.5 ล้านบาท นับว่าคุ้มค่าทีเดียวสำหรับ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
|
|
|
|
|