ถวัลย์ ดัชนี "ช่างวาดรูปแห่งแผ่นดินล้านนา" ผู้อหังการด้วยผลงานภาพวาดราคาแพงระยับ ที่ชนชั้นสูงล้วนไขว่คว้าไปครอบครอง แต่ห่างหายจากการจัดแสดงผลงานเดี่ยวในเมืองไทยมานานกว่า 30 ปี
ในขณะที่ข่าวคราวเกี่ยวกับการแสดงผลงานของเขาไปปรากฏตามที่ต่างๆ ทุกมุมโลก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 ไปจนถึงวันที่ 11 มกราคม 2548 ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงเป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับผู้ที่ชื่นชอบงานของศิลปินคนนี้
เป็นงานใหญ่ที่สุดของหอศิลป์แห่งนี้ที่เคยจัดมา โดยใช้ พื้นที่ทั้งหมด 3 ชั้น กับผลงานทั้งหมดประมาณ 200 กว่าชิ้น เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นระหว่างปี 2544-ปัจจุบัน ประกอบด้วยภาพเขียนสี ภาพขาว-ดำลายเส้น จิตรกรรมแบบตะวันออก งานฝีแปรง และเป็นงานเครื่องประดับกว่า 40 ชิ้น จำนวน เก้าอี้และเขาสัตว์อีก 20 ชิ้น
"ไตรสูรย์" หมายถึง พระอาทิตย์ 3 ดวง เชื่อมโยงไปสู่แนวความคิดและการจัดแสดงผลงาน ที่แบ่งออกเป็น 3 ยุค ได้แก่
1. ยุคคลาสสิก เสนอผลงานเชิงอุดมคติ สะท้อนความรุ่งเรืองของอารยธรรมตะวันออก
2. ยุคดึกดำบรรพ์ หรือยุคล่าสัตว์ ภาพเขียนทั้งบนผ้าใบและกระดาษมีการแสดงออกของ ฝีแปรงอย่างฉับพลันรุนแรง แสดงให้เห็นถึงพลังของชีวิต ผ่านรูปทรงของสัตว์ป่าที่เป็นสัญลักษณ์ ของความเข้มแข็งและอำนาจ
3. ยุคสร้างอารยธรรม เป็นพัฒนาการที่เชื่อมระหว่างยุคดึกดำบรรพ์กับยุคอารยธรรมที่ผสมผสานระหว่างความประณีตกับพลังอำนาจอันเร้นลับแฝงด้วยคติของพุทธปรัชญา
ในชั้นนี้ยังได้มีการจัดวางเครื่องใช้ เช่น เตียง เขาหนังสัตว์ เครื่องประดับ โดยเฉพาะมีด ที่จินตนาการของศิลปินถูกถ่ายทอดผ่านลายเส้นสู่แผ่นเหล็ก กลายเป็นอาวุธที่งดงาม เขากวาง งาช้าง เขี้ยวหมูป่า เขี้ยวสิงโต เขาฮิปโปโปเตมัส เป็นด้าม ส่วนใบมีดทำจากเหล็กเนื้อดี
ตลอดระยะเวลา 3 เดือนนั้นยังจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ หมุนเวียนอย่างน่าสนใจ เช่น การฉาย VCD "บ้านดำ" ตำบล นางแล จังหวัดเชียงราย ภาพยนตร์ 16 มม. เกี่ยวกับถวัลย์ ดัชนี สารคดีจาก University of Melbourne การบรรยายโดยศิลปิน การเสวนา ดนตรี และการแสดง รวมทั้งการจำหน่ายเสื้อยืด และของที่ระลึกต่างๆ
ตัวเลขจากหอศิลป์ฯ เปิดเผยว่า เฉพาะเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้นมีจำนวนผู้เข้า ชมงานถึง 7,900 คน โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 20-40 ปี
งานของถวัลย์ ดัชนี เป็นทั้งที่ชื่นชม ศรัทธา และความตื่นตระหนกชิงชังของคนหลายต่อหลายคน ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขาหลายชิ้นมีขนาดใหญ่โตดุจอนุสาวรีย์ มีทั้งภาพมนุษย์ สัตว์ และมนุษย์ผสมสัตว์ที่ได้มาจากตำนานโบราณของไทยและฮินดู ที่ได้มาจากแหล่งอารยธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ทิเบต อินโดนีเซีย หรือยุโรป ภาพคน และสัตว์เหล่านี้มักมีรูปทรงที่กำยำเต็มไปด้วยพลังดุดัน ในโทนภาพขาวดำ ที่เน้นแสง และน้ำหนักเงา อันเป็นบุคลิกพิเศษในจิตรกรรมของเขา
ด้วยการตีความศาสนาพุทธและตำนานโบราณอย่างเสรีและแปลกพิสดาร ผลงานบางชิ้นจึงได้สร้างความโกรธเคืองแก่พวกหัวอนุรักษ์ จนถึงขั้นมีการบุกทำลายภาพ ของเขาในนิทรรศการเมื่อปี 2514 ด้วยข้อหาที่ว่าภาพของเขาหมิ่นศาสนาพุทธ
นอกจากชิ้นงานที่ไม่เหมือนใคร ยังมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองอีกหลายๆ เรื่อง
ทุกคนจะชินตากับเสื้อผ้าแบบพื้นบ้านภาคเหนือ ที่เป็นสีครามเข้ม หรือสีดอกรัก แต่บางครั้งอาจเป็นชุดหรูจากนาการ่า ที่นคร สัมพันธารักษ์ ออกแบบตัดเย็บให้ และ มักตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับที่ทำด้วยเขี้ยวเล็บของสัตว์ต่างๆ การพูดจาด้วยสำนวนโวหารที่เกินธรรมดา ทั้งศัพท์สูง และภาษากวีที่งดงามไพเราะ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน
เป็นศิลปินคนหนึ่งที่มีบรรดามหาเศรษฐีของไทยเป็นลูกค้ารายใหญ่ เช่น ตระกูลโสภณพนิช, เบญจรงคกุล, ศรีวิกรม์, นิมมานเหมินท์, ล่ำซำ, โอสถานุเคราะห์, อัษฎาธร, ก้องเกียรติ โอภาสวงการ, ธารินทร์ นิมมานเหมินท์, ประจิตร ยศสุนทร, นิรมล สุริยะสัตย์, สุขุม นวพันธ์, นักการเมือง อย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
ถวัลย์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ "ไฮคลาส" ฉบับหนึ่งว่า
"รูปของผมที่พอทนได้เป็นรูปที่ผมอายุเลย 35 ขึ้นแล้ว เพราะช่วงนั้นผมบรรลุนิติภาวะทาง ความคิด ผมขจัดอิทธิพลและคราบไคลของคนอื่น ได้เห็นถึงความลุ่มลึกในตัวเอง และปัจเจกภาพ ที่เป็นศักยภาพที่แท้จริง ในวัย 15-25 ปี ผมก็เขียนรูปมาอย่างหนัก แต่ว่าผมยังเปลื้องตาลี หรือไมเคิล แองเจโล ปิกัสโซ แวนก๊อก อะไร ไม่หลุด"
ปัจจุบัน ถวัลย์ ดัชนี ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านดำอำเภอนางแล จังหวัดเชียงราย ในพื้นที่ หลาย 10 ไร่ มีหมู่เรือนทั้งหมด 35 หลัง แต่ละหลังมีวิธีคิดของวัฒนธรรมที่ต่างกัน เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า
"ผมมีบ้านเฉพาะในกลุ่มนี้ 35 หลัง อยู่ในเมือง 2 หลัง อยู่ในกรุงเทพฯ 3 หลัง อยู่ที่เยอรมนี 3 หลัง ออสเตรเลีย 1 หลัง อเมริกา 1 หลัง ข้าวของและทรัพย์สมบัติที่มีในบ้านแต่ละหลัง เป็นเครื่องกระตุ้นความทรงจำ เป็นเครื่องลับจินตนาการที่เฉียบคม เป็นเรือที่ผมข้ามฟากและเอาวางไว้ให้แก่คนซึ่งยังข้ามฟากไม่ได้ ได้ดูว่า อันนี้ไงเล่าโคตรเหง้า"
ถวัลย์เป็นชาวเชียงราย เริ่มต้นเส้นทางศิลปะจากโรงเรียนเพาะช่าง (2498-2500) สู่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร (2500-2505) เป็นหนึ่งในศิษย์รุ่นท้ายๆ ก่อนศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จะเสียชีวิต ได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และ สุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลป อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
ในวัย 65 ปี เขาได้รับรางวัลและเกียรติคุณมากมาย เช่นได้รับคัดเลือกจากองค์การสหประชาชาติ ให้เป็นผู้แทนวัฒนธรรมทางศิลปะตะวันออก (ปี 2540) และในปี 2544 ได้รางวัลศิลปวัฒนธรรมแห่งอาเซียนจากประเทศญี่ปุ่น และในปีเดียวกันยังได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
|