|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2547
|
|
ถึงแม้ว่าในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลอยู่เป็นจำนวนมากแต่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของบางกอกเชน ฮอสปิทอล (KH) ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุนที่มองเห็นอนาคตของหุ้นกลุ่มนี้
KH แตกต่างจากโรงพยาบาลเอกชนรายอื่นๆ ตรงความหลากหลายที่มีอยู่ ทั้งในเรื่องของแหล่งรายได้ สาขาที่ตั้ง และกลุ่มลูกค้า เป็นความหลากหลายที่เกิดขึ้นจากการวางกลยุทธ์มาเป็นอย่างดี
KH ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน เมื่อนายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ผู้มีศักดิ์เป็นอาของ อนันต์ อัศวโภคิน ประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ซึ่งกำลังประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก
เป็นการเข้าไปดำเนินกิจการต่อจากเจ้าของเดิม และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค คล้ายๆ กับเป็นการเตรียมการว่าจะมีโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ในที่อื่นๆ ตามมา
กลยุทธ์การเข้าซื้อหุ้นในโรงพยาบาล อื่นยังคงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง เมื่อนายแพทย์เฉลิมได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัทสระบุรี เวชกิจ และบริษัทโรงพยาบาลรัตนาธิเบศร์ ควบคู่ไปกับการสร้างโรงพยาบาลขึ้นมาใหม่ ที่ประชาชื่นและสุขาภิบาล 3 จนทำให้ปัจจุบัน KH มีโรงพยาบาลในกลุ่มทั้งหมด 6 โรง แบ่งเป็น 3 โรง ในกรุงเทพฯ และอีก 3 โรง ในต่างจังหวัด
ซึ่งการมีโรงพยาบาลหลายๆ โรงอยู่ในกลุ่ม นำมาซึ่งข้อได้เปรียบในด้านการบริหาร
ประการแรก ทำให้เกิดเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุม สามารถส่งต่อคนไข้ไปให้โรงพยาบาลในเครือที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งในที่สุดเมื่อมองภาพรวมของทั้งกลุ่ม จะทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่า เกิดประสิทธิภาพมากกว่า
ประการต่อมา เป็นประโยชน์ที่เกิดจาก economy of scale จากจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองในเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง "เราสามารถประหยัดเงินได้ประมาณ 10% จากการจัดซื้อจากส่วนกลาง" นายแพทย์เฉลิมบอก
โครงสร้างรายได้ของ KH ยังถือเป็นจุดแข็ง เมื่อถือว่าเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าเงินสดและลูกค้าเหมาจ่ายโครงการรัฐ ในอัตราที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด ประมาณ 60 : 40
นับเป็นโรงพยาบาลที่รองรับลูกค้าเหมาจ่ายสูงสุดในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลพันธมิตรและคลินิกกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ
"ใครบอกว่ารับลูกค้าเหมาจ่ายจากภาครัฐไม่มีกำไร" นายแพทย์เฉลิมบอก พร้อมเสริมว่าเงินค่ารักษาภาครัฐก็สำรองให้ก่อนที่ลูกค้าจะเข้ามาทำการรักษา
ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ซึ่งข้อดีนี้มักจะไม่เด่นชัดเมื่อเศรษฐกิจยังดูสดใส แต่เมื่อใดที่เศรษฐกิจมีปัญหา KH ก็ จะสามารถลดอาการบาดเจ็บจากการลดลง ของรายได้ได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลเอกชนรายอื่นๆ
ทั้งนี้ KH ต้องยอมรับผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการปะปนของกลุ่มลูกค้า อาจทำให้การ position ตัวเองเป็นไปอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้น ซึ่งต่างจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือสมิติเวช ที่ position ตัวเองเพื่อลูกค้าระดับบนได้ชัดเจนกว่า
แต่ทิศทางการพัฒนาโรงพยาบาลในอนาคตอันใกล้ ก็คงจะไปในทิศทางเดียวกับที่ KH ดำเนินอยู่ เพื่อตอบรับกับการเปิดเสรีธุรกิจโรงพยาบาล ที่จะมาพร้อมกับผู้เล่นชาวต่างชาติที่มีเครือข่ายและการจัดการที่ดีกว่า
ปัจจุบัน KH กำลังศึกษาโครงการก่อสร้าง International Medical Excellence Center ในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับลูกค้าระดับบนและลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งได้เริ่มทำตลาดต่างประเทศไปบ้างแล้ว และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548
ถึงแม้ว่าราคาของ KH ยังไม่สามารถมาปิดเหนือราคาจองได้หลังจากทำการซื้อขายมาเป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ แต่หากมองในด้านปัจจัยพื้นฐาน PER ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่ที่ประมาณ 11 เท่า เมื่อเทียบกับของอุตสาหกรรมที่ประมาณ 22 กอปรกับแนวโน้มที่คนจะเริ่มหันมาใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้นตามทิศทางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เชื่อว่าธุรกิจของ KH ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก
|
|
|
|
|