พิธีลงนามในโครงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ระบบซอฟท์แวร์เอทีเอ็มของไทยพาณิชย์กับซิตี้แบงก์
เมื่อ 13 กันยายนที่ผ่านมาจัดเป็นความร่วมมือด้านเทคโนโลยีครั้งแรก ที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีกับธนาคารต่างชาติ
ความสำคัญของการลงนามครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องการซื้อขายซอฟท์แวร์เอทีเอ็ม
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีง่ายๆ ที่ไม่เกินขีดความสามารถของผู้นำด้านเทคโนโลยีในวงการธนาคารอย่างซิตี้แบงก์
แต่เป็นเรื่องของการลงนามในสัญญาหลักการ เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ระหว่างสองธนาคาร
ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ศิษย์เก่าซิตี้แบงก์ที่มะนิลา
เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า เดวิด เฮ็นดริกซ์ ผู้จัดการธนาคารซิตี้แบงก์
ประเทศไทย ได้กล่าวเชิญให้เดินทางไปชมศูนย์เทคโนโลยีของซิตี้แบงก์ที่นิวยอร์กและแคลิฟอร์เนีย
ซึ่งไทยพาณิชย์คงจะได้มีโอกาสไปสักวันหนึ่ง
"คำกล่าวเชิญของเฮ็นดริกซ์คงหมายถึง ความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีของทั้งสองธนาคารมากขึ้น
เราก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่จะร่วมกันในทำนองนี้ต่อไปในระยะยาว เรามีอะไรที่ต้องเรียนรู้จากเขาได้มาก"
บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายงานลูกค้าบุคคลกล่าวถึงรายละเอียดกับ
"ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "โครงการร่วมกันพัฒนานี้เป็นเรื่องของการฝึกอบรมทางเทคโนโลยี
โดยต่างฝ่ายต่างร่วมกันรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่าย โครงการย่อยที่เป็นรูปเป็นร่าง
ภายใต้สัญญาหลักการอันนี้ก็เกิดขึ้นมาแล้วหลังจากการประชุมร่วมกันที่พัทยา
คือ การแชร์ประสบการณ์ในระบบ Expert System ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อ"
Expert System เป็นโปรแกรมอันหนึ่งที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการตัดสินใจแทนคน
และทำงานได้เหมือนคน โปรแกรมนี้สามารถพัฒนาใช้ได้หลายอย่าง แต่ที่ไทยพาณิชย์จะนำมาใช้นั้นเป็นเรื่องของการวิเคราะห์สินเชื่อ
วิชิต อมรวิวัฒนสกุล ผู้จัดการฝ่ายระบบสารสนเทศเปิดเผยกัน "ผู้จัดการรายเดือน"
ว่า "เราเคยไปคุยกบทางซิตี้แบงก์นะว่าการวิเคราะห์สินเชื่อที่ทางเขาทำอยู่นั้นทำอย่างไร
อันหนึ่งก็คือในเรื่องของ Scoring System คือใส่ข้อมูลของลูกค้าคนหนึ่งเข้าไป
แล้วให้บอกว่าลูกค้าคนนี้ควรจะให้สินเชื่อหรือไม่ให้"
"ส่วน Expert System นั้นไม่ต้องมีข้อมูลครบ คือเหมือนสภาพความเป็นจริงในทุกวันนี้ที่เราจะเจอว่าข้อมูล
เราได้ไม่เต็มที่ แต่เราต้องตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ให้ใช่ไหม ไอ้นี่ทำได้เหมือนคนเลย
แล้วมันจะออกมาด้วยว่าอนุมัติให้นาย ก.คนนี้มีความเสี่ยงเท่าไหร่ๆ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ออกมาเลย
ซึ่งอันนี้ทำให้เราประหยัดงานไปได้เยอะมาก"
ความร่วมมือในเรื่องของ Expert System นี้วิชิตอธิบายว่า ซิตี้แบงก์ช่วยในเรื่องของหลักการในการวิเคราะห์สินเชื่อเท่านั้น
ซึ่งเรื่องหลักการนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก จะสอนคอมพิวเตอร์อย่างไร หลักการจะมีอะไรบ้าง
เราต้องดูตัวอย่าง แต่ในแง่รายละเอียดนั้น เราทำเอง เพราะแม้เราจะไปดูงานซิตี้แบงก์ที่ฮ่องกงมา
แต่สภาพมันแตกต่างกัน อย่างไรก็ดีหากซิตี้แบงก์มีระบบที่ใช้กับเราได้ เราอาจจะซื้อจากเข้าบ้าง
แต่ยังไม่ได้มีการพูดกันถึงข้อนี้
ไทยพาณิชย์นับเป็น ธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ผงาดอยู่แถวหน้าสุดของบรรดาธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย
ที่ล้วนแล้วแต่ computerized กันทุกแห่งแล้ว ในการพัฒนาคิดค้นซอฟท์แวร์ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมธนาคาร
และความร่วมมือกับซิตี้แบงก์ครั้งนี้ยังเป็นก้าวที่ล้ำหน้าออกมาในการเรียนรู้
เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีจากธนาคารชั้นนำของโลก
นั่นคือเป้าหมายที่แท้จริงของการขายซอฟท์แวร์เอทีเอ็มให้กับ ซิตี้แบงก์!
อย่างไรก็ดี ขณะที่ไทยพาณิชย์สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ได้
ในภายภาคหน้าทางซิตี้แบงก์เล่า การร้อยรัดความสัมพันธ์กับไทยพาณิชย์ครั้งนี้จะสร้างผลตอบแทนอะไรได้บ้าง?
ซอฟท์แวร์เอทีเอ็มที่ซิตี้แบงก์ซื้อมาในครั้งนี้จัดเป็นโปรแกรมง่ายๆ ที่ไม่ยากเย็นเกินขีดความสามารถที่จะพัฒนาขึ้นมาใช้เอง
แต่การที่ต้องใช้เวลาและเงินลงทุนจำนวนมาก เมื่อเทียบกับการซื้อจากไทยพาณิชย์
ทำให้ซิตี้แบงก์เลือกใช้วิธีอย่างหลังมากกว่า ผู้รู้แย้มว่าราคาซอฟท์แวร์ตัวนี้มากกว่าล้านบาท
แต่ถูกกว่าที่จะพัฒนาเองอย่างมากมายมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อซิตี้แบงก์สามารถนำไปติดตั้งใช้การได้ทันที
2 เครื่องที่สำนักงานบนถนนสาธร
วิชิตเล่าถึงที่มาของซอฟท์แวร์ตัวนี้ให้ "ผู้จัดการรายเดือน"
ฟังว่า "ไทยพาณิชย์เป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่ใช้เอทีเอ็มบนเครื่องมินิคอมพิวเตอร์มาก่อน
คือใช้กับซิสเต็ม 36 เราเคยใช้ที่ภาคใต้แล้วมันเล็กไป ต่อได้อย่างมากเพียง
8 สาขาเท่านั้น เราต้องการมากกว่าจึงเอาเครื่องเมนเฟรมไปเปลี่ยน แล้วเอาตัวนั้นมาเก็บไว้
ซึ่งเจ้าตัวนี้แหละที่เราขายให้ซิตี้แบงก์"
การที่ซิตี้แบงก์จะติดตั้งเครื่องเอทีเอ็มได้นั้น จำเป็นต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ซึ่งเบื้องหลังนั้นซิตี้แบงก์ขอเข้าร่วมพูลกับไทยพาณิชย์ แต่ติดขัดที่ว่าเครื่องเอทีเอ็มถูกมองว่าเป็น
"กึ่งสาขา" ซึ่งซิตี้แบงก์ในฐานะที่เป็นแบงก์ต่างชาติยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดสาขาได้มากกว่า
1 แห่ง ดังนั้นซิตี้แบงก์จึงทำได้เพียงขอติดตั้งเครื่องในสาขาที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวของตน
อย่างไรก็ดีแนวโน้มการลดความเข้มงวดในกฎระเบียบต่างๆ ที่ใช้ควบคุมธนาคารพาณิชย์
และระเบียบทางการเงินอื่นๆ ของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ รวมไปถึงนโยบายที่จะให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาได้อีกนั้น
ทำให้ซิตี้แบงก์ตั้งความหวังว่า จะได้รับการอนุมัติเรื่องการเพิ่มสาขา มากกว่า
1 แห่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน การเพิ่มสาขาเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวด สำหรับธนาคารที่มียุทธศาสตร์แบบ
retail banking อย่างซิตี้แบงก์ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญธนาคารพาณิชย์ย่านท่าพระอาทิตย์จึงตั้งข้อสังเกตว่า
เป็นไปได้ไหมที่ซิตี้แบงก์จะอาศัยเครือข่าย จากความร่วมมือกับไทยพาณิชย์ครั้งนี้ในการขยายตัวทางธุรกิจ
retail banking ของตน แต่จะด้วยวิธีไหน อย่างไรนั้น คงต้องสอบถามเอาจากมิสเตอร์เฮ็นดริกซ์
คนโตแห่งซิตี้แบงก์คนนั้นกระมัง!