|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2547
|
|
การช่วงชิงความนิยมของทีมเบสบอลแต่ละแห่ง นอกจากจะดำเนินไปท่ามกลางการสร้างให้เกิด Hero หรือ Super Star ประจำทีม เพื่อเป็นขวัญใจและดึงดูดความสนใจของผู้ชมแล้วการสร้างคุณค่าจากท้องถิ่นนิยม ก็เป็นปัจจัยที่หลายสโมสรให้ความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน
ผู้คนที่มีถิ่นฐานอยู่ในเขต Kansai ซึ่งครอบคลุมหัวเมืองใหญ่ทั้ง Osaka Kobe Kyoto Nara จำนวนมากกว่าร้อยละ 90 ถือว่าทีม Hanshin Tigers เป็นประหนึ่งตัวแทนแห่งความภาคภูมิใจของพวกเขาในการต่อสู้ขับเคี่ยวกับยอดทีมจากโตเกียว Yomiuri Giants และ Chunichi Dragons แห่ง Nagoya
การแข่งขันระหว่าง Hanshin Tigers Yomiuri Giants และ Chunichi Dragons ในแต่ละครั้งจึงมีผู้เข้า ชมในฐานะแฟนประจำ และขาจร อย่างล้นหลามเต็มความจุของสนามเกือบทุกครั้ง แม้ว่าจะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ให้ได้ชมก็ตาม
นอกจากนี้ความรู้สึกและบรรยากาศของการพบกันระหว่าง Hanshin Tigers และ Yomiuri Giants ยังดำเนินไปในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากการแข่งขันระหว่าง New York Yankee กับ Boston Red Sox ซึ่งถือเป็น archrival ใน Major League (MLB) ของสหรัฐอเมริกา ในอีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิกเท่าใดนัก
ขณะที่ Hiroshima Carp ซึ่งเป็นทีมที่จัดตั้งขึ้นในปี 1950 เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการร่วมแรงร่วมใจในการบูรณะเมือง หลังจากถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู รวมถึง Yokohama BayStars ล้วนยึดโยงอยู่กับท้องถิ่น นิยมอย่างยากที่จะแยกออก
แม้การเกิดขึ้นของสันทนาการด้านกีฬาชนิดอื่นโดยเฉพาะฟุตบอล J. League ที่เริ่มการแข่งขันในปี 1993 และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากกระแสฟุตบอลโลก 2002 ซึ่งญี่ปุ่นได้ร่วมเป็นเจ้าภาพ จะส่งผลให้เกิดความกังวลใจในเรื่องของจำนวนผู้เข้าชมอยู่บ้าง แต่พัฒนาการของทีมใน Central League ดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและมีรากฐานทางประวัติศาสตร์รองรับแน่นหนา จนทำให้ทีมใน Central League มีสภาพเป็นประหนึ่งสถาบันทางสังคมที่ดูดซับผู้คนในอาณาบริเวณแวดล้อมเข้ามาเป็นพลพรรคในสังกัด ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก และทำให้จำนวนผู้เข้าชมในสนาม แข่งขันยังอยู่ในระดับที่หลายฝ่ายพึงพอใจ
การย้ายถิ่นฐานของสโมสรใน Central League เพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากกลุ่มชนจึงไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนัก โดยทีมใน Central League ล้วนปักหลักและใช้สนามในฐานะทีมเหย้าแห่งเดิมเป็นเวลานาน จะมีก็เป็นเพียงการย้ายสนามเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดด้านดินฟ้าอากาศ จากเดิมที่เป็นสนามเปิด (Stadium) มา สู่สนามแบบมีหลังคาคลุม (Dome) ดังเช่นในกรณีของ Yomiuri Giants ที่ย้ายจาก Korakuen Stadium มาสู่ Tokyo Dome ในปี 1988 และส่งผลให้การสร้างสนามแบบใหม่นี้เป็นที่นิยมแพร่หลายในเวลาต่อมา รวมถึงในกรณีของ Chunichi Dragons ที่ย้ายจาก Nagoya Stadium มาสู่ Nagoya Dome ในปี 1997 ด้วย
ความเป็นไปของ Baseball ใน Central League จึงมีลักษณะที่มั่นคงและสอดแทรกสีสันความเข้มข้นของ การแข่งขันในแต่ละเกมเป็นด้านหลัก แต่เรื่องราวของทีมใน Pacific League ดูจะดำเนินไปด้วยความแตกต่าง อย่างสิ้นเชิงจากทีมใน Central League ที่เป็นคู่แข่งขันในการชิงความเป็นเลิศแห่งชาติใน Japan Series แม้เบสบอลจะเป็นกีฬายอดนิยมสำหรับชาวญี่ปุ่น และมีกลุ่มทุนมากหน้าหลายตาหมายปองที่จะแทรกตัวเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของทีม เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งทาง ตรงและโดยอ้อม แต่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ทีมจาก Pacific League ต่างประสบปัญหาจำนวนผู้คนที่เข้าชมในแต่ละสนามลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูจะเป็นปัญหาหลัก ที่บรรดาทีมใน Pacific League ต้องขบคิดหาทางแก้ ควบคู่กับความพยายามในการกอบกู้สถานการณ์ขาดทุน ทางธุรกิจไปในคราวเดียวกัน
ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เกิดขึ้นกับทีมใน Pacific League ก็คือช่วงเวลาก่อนหน้าทศวรรษที่ 1990 นั้นไม่มีทีมใดที่สามารถแสดงตัวเป็นตัวแทนของท้องถิ่นได้อย่างเด่นชัด อีกทั้งที่ตั้งของหลายทีมยังมีลักษณะกระจุก ตัว และซ้ำซ้อนกันอยู่ในที
ประเด็นดังกล่าวเห็นได้ชัดในกรณีของ Nankai Hawks Hankyu Braves และ Kintetsu Buffaloes ซึ่งล้วนแต่เป็นทีมที่ก่อตั้งโดยบรรษัทผู้ประกอบการรถไฟฟ้า เอกชน และมีที่ตั้งอยู่ใน Osaka หรือในเขตจังหวัด Hyogo
ปี 1989 นับเป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งไม่เฉพาะ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทีมเบสบอล ใน Pacific League เท่านั้น หากยังเป็นประหนึ่งดัชนีที่บ่งบอกทิศทางใหม่ๆ ในระบบธุรกิจของญี่ปุ่นไปด้วยพร้อมกัน เมื่อ Orix บรรษัท ที่ดำเนินกิจการด้านการเงินหลากหลายรูปแบบ เข้าซื้อสิทธิ franchise ทีมเบสบอล Hankyu Braves ซึ่งถือเป็นทีมที่มีประวัติการก่อตั้งยาวนานที่สุดของ Pacific League จาก Hankyu Dentetsu (Hankyu Electric Railway) ผู้ให้บริการรถไฟเอกชนแห่ง Osaka ในช่วงปลายปี 1988 ภายใต้เงื่อนไขในการดำรงชื่อ Braves และ การคงที่ตั้งของทีมไว้ใน Nishinomiya ในเขตจังหวัด Hyogo
แม้ว่าในเวลาต่อมา Orix จะย้ายที่ตั้งของทีมไปสู่ Kobe (จังหวัด Hyogo) พร้อมกับเปลี่ยนชื่อทีมเป็น Orix BlueWaves ในปี 1991 ก็ตาม
ในห้วงเวลาใกล้เคียงกับการเปลี่ยนแปลงสิทธิใน franchise ทีม Hankyu Braves การเข้าซื้อสิทธิในทีมเบสบอลอีกแห่งหนึ่งก็เกิดขึ้น เมื่อ Daiei ผู้ประกอบการเครือข่ายร้านค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น เข้าซื้อ franchise ของทีม Nankai Hawks จาก Nankai Electric Railway ผู้ให้บริการโครงข่ายรถไฟเอกชนที่มีฐานอยู่ใน Osaka อีกแห่งหนึ่ง พร้อม กับการย้ายฐานที่ตั้งของทีมไปสู่ Fukuoka หัวเมืองใหญ่ทางตอนล่างของประเทศและการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Fukuoka Daiei Hawks ที่ผนวกรวมเขตพื้นที่ตั้ง บริษัทที่เป็นเจ้าของ franchise และสัญลักษณ์ของทีม ซึ่งเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการตั้ง ชื่อทีมใน Pacific League ทันที
การย้ายสโมสรไปสู่สถานที่ตั้งแห่งใหม่ ดูจะเป็นทางออกและทางเลือกที่อุดมด้วยความหวังว่าจะสามารถ กระตุ้นและดึงดูดประชาชนในพื้นที่ให้เดินทางมาชมการแข่งขันในสนามมากขึ้น ซึ่งเรื่องราวความสำเร็จของ Fukuoka Daiei Hawks ในการเปิดตัวไปสู่ตลาดใหม่ให้กระจายไปสู่ส่วนภูมิภาค ที่ส่งผลให้ Fukuoka Daiei Hawks เป็นทีมที่มีสถิติผู้เข้าชมการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นทีมที่มีผู้เข้าชมสูงสุดใน Pacific League ในปัจจุบัน
ความสำเร็จของ Fukuoka Daiei Hawks กลาย เป็นโมเดลที่ทีมอื่นๆ ใน Pacific League ต่างเฝ้ามองและหาโอกาสในการดำเนินตาม แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Fukuoka Daiei Hawks มิใช่สิ่งที่จะผลิตซ้ำให้เกิดขึ้นกับทีมอื่นๆ ได้โดยง่าย
เพราะหลังจากที่ Orix BlueWave ย้ายที่ตั้งไปอยู่ Kobe ในปี 1991 จำนวนผู้ชมก็มิได้กระเตื้องขึ้นเท่าใดนัก กระทั่งในปี 1994 เมื่อ Ichiro Suzuki เริ่มฉายโชนทักษะการเล่นที่เยี่ยมยอด จำนวนผู้ชมจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และก้าวสู่จุดสูงสุด ในปี 1996 เมื่อ Orix BlueWave คว้าชัยชนะในการแข่งขัน Japan Series ก่อนที่จำนวนผู้ชมจะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นอีก หลังจาก Ichiro Suzuki ย้ายไปสู่สังกัดใหม่ Seattle Marines ทีมเบสบอลใน Major League สหรัฐอเมริกาในปี 2001 โดยจำนวนผู้เข้าชมเฉลี่ยของ Orix ในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับเพียง 2,925 คนต่อเกมเท่านั้น
ขณะที่ในกรณีของ Chiba Lotte Marines หลังจากย้ายทีมจาก Kawasaki มาสู่ Chiba ในปี 1992 อัตราผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากกว่า 28% ไปสู่ ระดับ 20,077 คนต่อเกม แต่ก็ไม่สามารถรักษาจำนวน ผู้เข้าชมให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยห้วงเวลาหลังจาก นั้นอัตราผู้เข้าชมก็อยู่ต่ำกว่า 18,000 คนต่อเกมเรื่อยมา
แม้การย้ายที่ตั้งของทีมต่างๆ ก่อนหน้านี้ จะสะท้อนให้เห็นว่ากรณีดังกล่าวมิใช่หลักประกันในจำนวน ผู้เข้าชมที่เพิ่มมากขึ้นตามที่คาดหวังไว้ แต่ในช่วงต้นปี 2004 ความเคลื่อนไหวเพื่อการย้ายที่ตั้งของทีมใน Pacific League ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง
Nippon Ham Fighters ซึ่งเดิมเป็นทีมอยู่ใน Tokyo และได้ร่วมใช้ Tokyo Dome เป็นสนามแข่งขันใน ฐานะทีมเหย้า เช่นเดียวกับ Yomiuri Giants แห่ง Central League ตัดสินใจย้ายทีมไปสู่เมือง Sapporo บนเกาะ Hokkaido ทางตอนเหนือสุดของประเทศ หลังจากต้องเผชิญกับจำนวนผู้เข้าชมลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา โดยการย้ายที่ตั้งนี้เป็นไปพร้อมกับการเปลี่ยนชื่อทีมเป็น Hokkaido Nippon Ham Fighters เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ในดินแดนห่างไกลนี้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของทีมเบสบอลแห่งนี้ร่วมกัน
การย้ายทีมเบสบอลไปตั้งอยู่ ใน Hokkaido ด้านหนึ่งนับเป็น การเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าครั้งใหญ่ของวงการเบสบอลในญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นการขยายให้เกิด circuit ของการแข่งขันเบสบอลระดับอาชีพที่ครอบ คลุมบริบทกว้างขวางทั้งประเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ในช่วงกลางปี 2004 การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ต้องบันทึก เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ Nippon Professional Baseball ก็เกิดขึ้น เมื่อ Orix BlueWave ประกาศควบรวมและผนึก franchise ทีมเบสบอลเข้ากับ Osaka Kintetsu Buffaloes ซึ่งกำลังประสบปัญหาทางการเงินจากธุรกิจทีมเบสบอลอย่างหนัก เพื่อสร้างให้เกิดทีมเบสบอลแห่งใหม่ในชื่อ Orix Buffaloes
แม้การควบรวม franchise จะไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ ในแวดวงเบสบอลของญี่ปุ่น เพราะในช่วงทศวรรษที่ 1940 และ 1950 การผนึกรวมทีมเบสบอลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สภาพดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศและผลกระทบ ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ NPB ก็อยู่ระหว่างการปรับแต่งและสร้างบรรทัดฐานขององค์กรให้มั่นคงเท่านั้น
นอกจากนี้ การควบรวมครั้งล่าสุดได้ส่งผลกระทบ ให้ดุลยภาพของจำนวนทีมใน Central League และ Pacific League ที่แบ่งสรรให้คงจำนวนทีมอยู่ที่ League ละ 6 ทีมมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 ต้องสูญเสียไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และติดตามมาด้วยภาวะสุญญากาศ ที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงทางเลือกของการรวมการแข่งขันให้เป็นระบบ League เดียว 10 ทีมอีกด้วย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มผู้บริหารของ NPB ซึ่งประกอบด้วยเจ้าของและผู้บริหารทีมเบสบอล ดำรงสถานะไม่แตกต่างจาก Exclusive Elites' Club ที่พยายาม ควบคุมจำนวนทีม และกีดกันกลุ่มทุนใหม่ๆ มิให้มีโอกาส เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมกีฬาชนิดนี้มากนัก ด้วยการสร้างเงื่อนไขค่าธรรมเนียมการเข้าเป็นสมาชิกที่สูงถึง 3 พันล้านเยนสำหรับการซื้อ franchise จากทีมที่มีอยู่เดิม และสูงถึง 6 พันล้านเยนในกรณีการสร้างทีม ด้วย franchise ใหม่ รวมถึงการห้ามทุนต่างสัญชาติเข้า มาครองสิทธิใน Franchise ทีมเบสบอลในญี่ปุ่นอย่างเด็ดขาด
ทางแพร่งระหว่างการยุบรวมให้เกิดการแข่งขันในระบบ League เดียว ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการควบรวม franchise ของทีมเบสบอลอีกแห่งหนึ่ง หรือการเปิดให้มีการสร้างทีม ภายใต้ franchisee รายใหม่ ซึ่งมีผู้พร้อมให้ความสนใจมากมาย เป็นกรณีที่กลุ่มผู้บริหารใน NPB ต้องใช้เวลาในการถกแถลงและพิจารณา อย่างหนักหน่วงนานกว่า 3 เดือน
ในที่สุด NPB เลือกที่จะให้มีการสร้างทีมเบสบอล ภายใต้สิทธิ franchise ใหม่ เพื่อเติมเต็มจำนวนทีมใน Pacific League ให้อยู่ในระดับ 6 ทีมต่อไป และนับเป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปีที่มีการให้สิทธิ franchise ทีมเบสบอลแห่งใหม่นี้
การเสนอตัวเพื่อรับสิทธิใน franchise ใหม่ ดำเนิน ไปโดยมี Livedoor ผู้ประกอบการ internet service provider ซึ่งได้เคยยื่นข้อเสนอเพื่อขอซื้อ Osaka Kintetsu Buffaloes มาก่อนหน้านี้ และ Rakuten ผู้ให้บริการ Internet shopping mall ขับเคี่ยวกันอย่างหนัก โดยต่าง เสนอที่จะมีที่ตั้งของทีมอยู่ในเมือง Sendai จังหวัด Miyagi ในเขต Tohoku หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยกันทั้งสองราย
แม้ว่า Rakuten จะเป็นฝ่ายที่ได้รับเลือกให้ครอบ ครองสิทธิ franchise ทีมเบสบอลแห่งใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบครึ่งศตวรรษ โดยมีประเด็นการพิจารณาอยู่ที่ศักยภาพและความสามารถทางการเงินเป็นด้านหลัก แต่ขณะเดียวกันรายละเอียดและทัศนะทางธุรกิจที่สะท้อนผ่านการตั้งชื่อทีมก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม
เพราะในขณะที่ Livedoor เสนอชื่อทีม Sendai Livedoor Phoenix ที่มีลักษณะจำกัดอยู่เฉพาะเขตเมือง Sendai ฝ่าย Rakuten ได้เสนอชื่อ Tohoku Rakuten Golden Eagles ที่ครอบคลุมผู้คนในจังหวัดใกล้เคียงทั้งภูมิภาคซึ่งประกอบด้วย Miyagi Fukushima Yama-gata Akita Aomori และ Iwate เข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน
กระนั้นก็ดี ชั้นเชิงทางธุรกิจ และการตลาด ที่บ่งชี้ ให้เห็นถึงความเข้าใจในปัญหาที่ทีมเบสบอลส่วนใหญ่กำลังประสบอยู่อย่างชัดเจนดังกล่าว อาจไม่ใช่ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ Tohoku Rakuten Golden Eagles จะเล็งผลเลิศได้โดยง่าย ซึ่งผู้บริหารของ Rakuten ดูจะตระหนักถึงความจริงแห่งชีวิตในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และได้ตั้งประมาณการขาดทุนในปีแรกสูงถึง 3-4 พันล้านเยน เลยทีเดียว
W.P. Kinsella เคยรจนาวลี "If you build it, he will come" ไว้ในหนังสือ "Shoeless Joe" ที่บอกเล่าเรื่องราวบางส่วนเกี่ยวกับเบสบอล และเป็นต้นร่างของภาพยนตร์เรื่อง "Field of Dreams" ที่โด่งดังในช่วงปี 1989 หวังเพียงแต่ว่าสนามแห่งความฝันของทีมเบสบอล ในญี่ปุ่นจะปรากฏภาพ ความฝันที่ดี และเป็นจริงในอนาคต
|
|
|
|
|