|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2547
|
|
หากความเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจลักษณ์ที่บ่งแสดงถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง การแข่งขันกีฬาเบสบอลอาชีพของญี่ปุ่น ที่มีพัฒนาการมานานกว่า 70 ปี กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างรุนแรงครั้งใหญ่ ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างไม่จำกัดเฉพาะกับแวดวงกีฬาเท่านั้น แต่เรื่องราวความเป็นไปของเบสบอลในญี่ปุ่น ยังบอกเล่าการเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคมและยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนญี่ปุ่นอีกด้านหนึ่งด้วย
การเกิดขึ้นของ The Great Japan Tokyo Baseball Club (Dai Nippon) ในฐานะสโมสรเบสบอล อาชีพแห่งแรกของญี่ปุ่น เมื่อปี 1934 ภายใต้ความคิดริเริ่มของ Matsutaro Shoriki เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ Yomiuri Shimbun นอกจากจะแสดงให้เห็นถึง pride and integrity ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญขององค์กรทางสังคมที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นยึดถือแล้ว กรณีดังกล่าวได้สะท้อนภาพการแข่งขันในเชิงธุรกิจที่อาศัยกิจกรรมกีฬามาเป็นเครื่องมืออย่างเด่นชัดที่สุด
เพราะขณะที่การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการสื่อ หนังสือพิมพ์ Yomiuri Shimbun และ Asahi Shimbun เพื่อการครองตำแหน่งหนังสือพิมพ์อันดับหนึ่งของประเทศ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น การเฉลิมฉลองโอกาสการก่อตั้ง Dai Nippon ของ Yomiuri Shimbun ด้วยการ นำทีมออกตระเวนแข่งขันกับทีมระดับกึ่งอาชีพ และทีมใน minor league ของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1935 พร้อมด้วยสถิติชนะ 93 นัดจากการลงแข่ง 102 นัด นับเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงของทั้ง Dai Nippon ในฐานะทีมเบสบอล และ Yomiuri Shimbun ที่สามารถขายข่าวเพื่อเพิ่มยอดการอ่านหนังสือพิมพ์
ภาพความสำเร็จของ Yomiuri Shimbun ที่เกิดขึ้นจาก Dai Nippon ในลักษณะที่เป็นปรากฏการณ์ข้าม คืน ทำให้ในปี 1936 ผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์รายอื่นๆ ทั้ง Asahi (Dai Tokyo : 1936) และ Chunichi (Nagoya Club : 1936) ต่างพยายามที่จะจำเริญรอยตามและผลิต ซ้ำ ภายใต้ความมุ่งหวังว่าทีมเบสบอลเหล่านี้จะช่วยเป็น กลไกผลักดันให้ยอดการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ขยายตัวสูงขึ้น ซึ่งดูเหมือนว่าสัมฤทธิผลที่คาดหมายไว้ของแต่ละ แห่งจะอยู่ในอัตราที่ลดหลั่นลงไป
การก่อตั้งทีมเบสบอลอาชีพของบรรดาสื่อสิ่งพิมพ์ เหล่านี้ในด้านหนึ่งอาจประเมินอย่างผิวเผิน ในฐานะที่เป็น sport marketing หรือ sport-related business แต่มิติที่ลึกซึ้งลงไปมากกว่านั้น อยู่ที่เบสบอลเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความทันสมัยแบบตะวันตก ที่ประชาชนทั่วไปสามารถจับต้องและเข้าไปมีส่วนร่วมได้โดยตรง ซึ่งเข้ากันได้ดีกับสื่อสิ่งพิมพ์ที่พยายามดำรงสถานะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือ change agent ในการส่งผ่านค่านิยมของยุคสมัย
ขณะเดียวกัน บริษัทผู้ประกอบการเส้นทางรถไฟ ต่างได้ร่วมเข้ามามีส่วนในการก่อตั้งทีมเบสบอลอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ Hanshin Railway (Osaka Tigers-Hanshin Tigers : 1936) Hankyu Railway (Hankyu : 1936) รวมถึง Nankai Railway (Nankai : 1938) โดยหวังว่าการเดินทางไปชมการแข่งขัน ที่สนามจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารบนเส้นทางที่แต่ละบริษัทให้บริการ
ทีมเบสบอลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 1936 ได้นำไปสู่การจัดตั้ง Nippon Professional Baseball (NPB) และเป็นการเริ่มศักราชของการแข่งขันเบสบอลในระบบ League อาชีพในประเทศญี่ปุ่น โดยมีทีมที่เข้า ร่วมการก่อตั้งประกอบด้วย Dai Nippon, Dai Tokyo, Nagoya Club, Osaka Tigers, Hankyu, Nagoya Golden Dolphines (1936-1940) และ Tokyo Senators (1936-1940)
ทั้งนี้ ในปฏิญญาการก่อตั้ง NPB นอกจากจะเป็น การวางโครงสร้าง กฎ กติกา มารยาท สำหรับการบริหาร และจัดการแข่งขันระหว่างสโมสรกีฬาอาชีพชนิดนี้แล้ว ยังระบุถึงการนำเบสบอลมาใช้ในการพัฒนาจิตใจแห่งชาติ และพันธะสัญญาที่จะสร้างกีฬาเบสบอลอาชีพของญี่ปุ่นให้เป็นเกมกีฬาระดับโลก รวมถึงการนำไปสู่การชิงความ เป็นเลิศระหว่างทีมจากญี่ปุ่น และทีมจากสหรัฐอเมริกาใน World Series ที่แท้จริงด้วย
ปฏิญญาดังกล่าวได้สะท้อนวิธีคิด และปรัชญาพื้นฐานทางสังคมของญี่ปุ่น ที่เน้นการรวมกลุ่ม (group harmony) ซึ่งแม้บรรษัทเอกชนแต่ละแห่งที่เป็นเจ้าของทีมเบสบอลอาชีพเหล่านี้ จะมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์และแข่งขันกันอย่างหนักในทางธุรกิจ แต่พวกเขาก็พร้อมจะรวมกลุ่มและร่วมมือร่วมใจเพื่อต่อสู่กับคู่แข่งขันจากภายนอก อย่างแข็งขัน
แม้จะวางเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่การเป็นคู่ต่อกรกับทีมจาก Major League ใน World Series แต่การแข่งขันเบสบอลอาชีพของญี่ปุ่นในยุคเริ่มแรกนี้ ยังมีลักษณะรวมศูนย์ และกระจุกตัวจำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ Tokyo-Nagoya-Osaka ตามถิ่นที่ตั้งของสโมสรเหล่านี้ที่มีอยู่เพียง 6-7 ทีมเท่านั้น ขณะที่ผลพวงของสงคราม โลกครั้งที่ 2 ที่ถาโถมเข้ากระหน่ำทุกภาคส่วนของญี่ปุ่นทั้งในเชิงการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ยังส่งผลให้ทีมเบสบอลหลายทีมต้องปิดตัวเองลงหรือยุบรวมเข้ากับทีมอื่นๆ และท่ามกลางกระแสชาตินิยมที่กำลังอยู่ในช่วงกระแสสูงในภาวะสงคราม การประกาศห้ามการใช้ชื่อทีม เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ทีมเบสบอลทุกแห่งต้องเปลี่ยนชื่อให้อยู่ในรูปของภาษาญี่ปุ่นด้วย
ยุคสมัยใหม่ของเบสบอลในญี่ปุ่น เริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง พร้อมกับการเข้ายึดครองและคงกำลังพลจากสหรัฐอเมริกาอยู่ในญี่ปุ่นเป็นเวลานาน เบสบอลกลับมาเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยบริษัทเอกชนหลายแห่งต่างจัดตั้งทีมเบสบอลขึ้นมาใหม่ ในด้านหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการคงอยู่ของธุรกิจและแสวงหาโอกาสในการขยายตัวไปสู่กิจการใหม่ๆ ดังเช่นในกรณีของ Taiyo Whales (1950) ที่เกิดขึ้นจากการก่อตั้งของบริษัทผู้ประกอบการประมง
ขณะที่ในกรณีของ Hiroshima Carp (1950) ซึ่งก่อตั้งโดย City of Hiroshima ทีมเบสบอลแห่งนี้ยังมีบทบาทในฐานะที่เป็นประหนึ่งสัญลักษณ์และศูนย์รวมของความร่วมมือร่วมใจในการบูรณะและสร้างเมืองขึ้นมา ใหม่เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี การปรากฏตัวของทีมเบสบอลแห่งใหม่ในช่วงหลังสงคราม ยังดำเนินไปในรูปแบบไม่แตกต่างจากช่วงเริ่มก่อตั้ง NPB มากนัก เมื่อสโมสรเกิดใหม่เหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตจากการก่อตั้งขึ้นของบริษัทผู้ประกอบการรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ Kintetsu Railway (Kintetsu Pearls : 1950) Nishitetsu Railway (Nishitetsu Clippers : 1950) หรือแม้กระทั่ง Japan National Railways (Kokutetsu Swallows : 1950) โดยมีสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง Mainichi (Mainichi Orions : 1950) เข้าร่วมในปรากฏการณ์นี้ด้วยเช่นกัน
จำนวนทีมที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การแข่งขันได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสมยิ่งขึ้นด้วยการแบ่งเป็นระบบ 2 League ประกอบด้วย Central League และ Pacific League โดยแต่ละ League มี 6 ทีม ซึ่งผู้ชนะของแต่ละ League จะเข้าไปชิงชนะเลิศแห่งชาติใน Japan Series
การเป็นเจ้าของทีมเบสบอลในช่วงเวลาดังกล่าว ดูจะเป็นเรื่องราวที่จำกัดอยู่เฉพาะสำหรับผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ และบริษัทผู้ให้บริการเส้นทางรถไฟเท่านั้น หากแต่รูปแบบและเป้าหมายในการก้าวเข้ามาดำเนินกิจกรรมทางกีฬานี้ ไม่ได้ขีดวงให้อยู่ในกรอบของการเพิ่มจำนวนผู้อ่านหรือการหวังให้เกิดการเดินทางบนเส้นทางรถไฟที่เปิดให้บริการเท่านั้น
ความได้เปรียบของการถือครองที่ดินจำนวนมหาศาลจากธุรกิจรถไฟ ส่งผลให้ผู้รับสัมปทานรถไฟแต่ละแห่งสามารถขยายธุรกิจรองรับกับการเป็นเจ้าของทีมเบสบอลได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุน สร้างโรงแรมเพื่อรองรับกับจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันใน แต่ละเมือง ซึ่งถือเป็นการ diversify ธุรกิจที่น่าสนใจยิ่ง
ภาพของ Hanshin Hotel และ Hankyu Hotel ที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางมหานคร Osaka เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งแม้จะก่อให้เกิดผลกระทบในวงจำกัด ด้วยเหตุที่ฐานทางธุรกิจของทั้งสองบริษัทตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ Kansai และบริเวณใกล้เคียงทางด้านตะวันตกของประเทศ แต่การขยายบริบททางธุรกิจดังกล่าวกลายเป็นรูปแบบทางธุรกิจที่เจ้าของทีมเบสบอลรายอื่นต่างให้ความสนใจ ขณะที่ช่องทางและโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างขึ้น ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนของบริษัทผู้ถือครองสิทธิ franchise ทีมเบสบอลในเวลาต่อมา
Yomiuri Land ซึ่งเป็นสวนสนุกหรือ amusement park ชานเมืองโตเกียวถูกสร้างขึ้นใกล้กับสนามฝึกซ้อมของทีม Yomiuri Giants เพื่อเป็นส่วนขยายทางธุรกิจรองรับกับกิจกรรมของทีม และสร้างเสริมบรรยากาศความคึกคักให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะโรยราไปตาม กาลเวลา
หากแต่รูปแบบของการจัดสร้าง amusement park ไว้เป็นแหล่งสันทนาการใกล้กับสนามเบสบอลหรือ ballpark ในลักษณะดังกล่าวได้รับการผลิตซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ Tokyo Dome City ที่ไม่เพียง แต่จะประกอบด้วยสนามเบสบอล และ amusement park เท่านั้น หากยังผนวกรวมโรงแรมและ shopping plaza เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ Yomiuri ได้ใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Yomiuri Shimbun หรือ Sports Hochi หนังสือพิมพ์กีฬาขนาด tabloid รวมถึง The Daily Yomiuri ในการประชาสัมพันธ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ Yomiuri Giants ซึ่งครองความยิ่งใหญ่ในฐานะทีมชนะเลิศใน Central League มากถึง 30 ครั้ง และเป็นแชมป์ใน Japan Series ถึง 20 ครั้ง อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ พร้อมกับการขยายตัวเข้าเป็นพันธมิตรกับสถานีโทรทัศน์ NTV (Nippon Television) และสถานีอื่นๆ เพื่อถ่ายทอดสดการแข่งขันของ Yomiuri Giants ทางโทรทัศน์ รวมถึงการเข้าเป็นเจ้าของช่อง G Plus ซึ่งแพร่ภาพผ่านระบบ cable TV ด้วย
อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ และรูปแบบทางธุรกิจ นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ทำให้การเป็นเจ้าของ franchise ทีมเบสบอล มิได้ เป็นเรื่องราวที่จำกัดและผูกขาดอยู่เฉพาะบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ และบริษัทผู้ให้บริการรถไฟ อีกต่อไป หากแต่ภาคอุตสาห-กรรมการผลิตอาหาร และผู้ประกอบการในกลุ่มค้าปลีก ต่างได้แทรกตัวเข้ามามีบทบาทในกีฬาชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 1969 บริษัท Lotte ผู้ผลิตขนมและอาหารหลาก หลาย เข้าซื้อสิทธิใน franchise ทีม Tokyo Orions (Mainichi Orions) ซึ่งเดิมเป็นของ Mainichi Shimbun พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น Lotte Orions
หลังจากนั้น Yakult บริษัทผู้ผลิตอาหารเครื่องดื่ม เพื่อสุขภาพ ได้เข้าซื้อทีม Atoms (Kokutetsu Swallows-Sankai Atoms) และเปลี่ยนชื่อทีมเป็น Yakult Swallows ในปี 1970 โดยทีม Atoms แห่งนี้ เป็นทีมที่เคยมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสิทธิจาก Japan National Railways มาสู่การครอบครองของ Sankai Shimbun บริษัทสิ่งพิมพ์ มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1965
กระแสของบรรษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ที่เข้ามามีบทบาทในการเข้ามาซื้อ franchise ทีมเบสบอลใน NPB ได้รับการเน้นย้ำอีกครั้งเมื่อ Nippon Ham บริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่นเข้าซื้อ Nittaku Home Flyers (Tokyo Senators) ในปี 1974 และเปลี่ยนชื่อเป็น Nippon Ham Fighters
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ที่ ได้เข้ามาเป็นเจ้าของ franchise ทีมเบสบอลเหล่านี้ ได้อาศัยผู้เล่นชั้นนำหรือดาวเด่นประจำทีม เป็น presenter ในสื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าที่มีอยู่ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง และในบางกรณีมีการตีพิมพ์ภาพของบุคคล เหล่านี้ลงบนหีบห่อของผลิตภัณฑ์ หรือตั้งชื่อสินค้าตามชื่อของผู้เล่นและผู้จัดการทีมด้วย
การเข้ามาของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม การผลิตดังกล่าว เป็นประหนึ่งจุดเปลี่ยนผ่านในเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญของกีฬาเบสบอล ที่แต่เดิมได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นตัวแทนค่านิยมแห่งความทันสมัย มาสู่พัฒนาการของกระบวนการผลิต ขณะเดียวกัน ยังเป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1970 ได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกันการปรากฏตัวขึ้นของ Seibu Corporation ในฐานะผู้เข้าซื้อ franchise ทีมเบสบอล Crown Lighter Lions (Nishitetsu Clippers) ในปี 1979 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Seibu Lions ดูจะเป็นกรณีการขยายธุรกิจที่เป็นไปอย่างผสมผสานและโดดเด่นอย่างมาก และมีส่วนทำให้โฉมหน้าของเกมการแข่งขันเบสบอล ใน Pacific League และ NPB ทั้งระบบเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย
เพราะเครือข่ายของ Seibu ในฐานะที่เป็น business conglomerate ขนาดใหญ่ มิได้จำกัดอยู่ที่การเป็นผู้ให้บริการในเส้นทางรถไฟ Seibu Lines ที่มีโครงข่ายเส้นทางกว้างขวางเท่านั้น หากแต่เครือข่ายทาง ธุรกิจของ Seibu ยังรวมถึงการเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรม Prince Hotel ที่มีกระจายอยู่ในทุกจังหวัด โดยในบางจังหวัดมี Prince Hotel มากกว่า 1 แห่ง ขณะที่ศูนย์สรรพสินค้า และ department store ในเครือของ Seibu ยังมีบทบาทในการเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าของทีมเบสบอล Seibu Lions อีกด้วย
ความสำเร็จของ Seibu Lions ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่นๆ ต่างเฝ้ามองและแสวงหาโอกาสที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของ franchise ทีมเบสบอลเพื่อเติมเต็มโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในปี 1989 การแทรกตัวเข้ามาของบรรษัทผู้ประกอบการค้าปลีกใน NPB ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ Daiei Inc. ผู้ประกอบการเครือข่าย department store เข้าซื้อ Nankai Hawks จาก Nankai Railway พร้อมกับการย้ายทีมจาก Osaka ไปสู่ที่ตั้งแห่งใหม่ใน Fukuoka ภายใต้ชื่อทีม Fukuoka Daiei Hawks
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน Oriental Leasing (Orix) ผู้ให้บริการด้านการเงินหลากหลายรูปแบบได้เข้าซื้อ Hankyu Braves จาก Hankyu Railway โดยเปลี่ยนชื่อ เป็น Orix Braves และ Orix BlueWave ในเวลาต่อมา
การเข้ามาของ Orix นับเป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่ของ NPB ในด้านหนึ่งเป็นเพราะรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ของ Orix ซึ่งถือเป็นธุรกิจในภาคการเงินและบริการ ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเจ้าของ franchise รายอื่นที่มีอยู่ใน NPB และกลายเป็นการจุดประกายให้กลุ่มธุรกิจบริการ หันมาให้ความสนใจและเฝ้ามองความเป็นไปของ Orix เพื่อเป็นตัวแบบสำหรับโอกาสในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ดี การเป็นเจ้าของ franchise ทีมเบสบอลในญี่ปุ่น มิได้เป็นธุรกิจจะ enerate รายได้ในระดับที่เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองในฐานะที่เป็น profit center ในลักษณะที่หน่วยธุรกิจที่ดีควรจะเป็น เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างผู้เล่นแต่ละรายที่มีมูลค่า มหาศาลแล้ว ผู้ประกอบการที่มุ่งหมายจะเข้ามาเป็นเจ้าของ franchise รายใหม่ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในระดับที่สูงถึง 3-6 พันล้านเยน ขณะที่รายได้จากบัตรผ่านประตูการเข้าชมในสนาม หรือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งผลประโยชน์จากแผ่นป้ายโฆษณาในสนามก็อยู่ในระดับที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้เลย
นอกจากนี้ รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของคน ญี่ปุ่น รวมถึงกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่ๆ ส่งผลให้จำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันเบสบอลใน ballpark ลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องควบคู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้เจ้าของ franchise ทีมเบสบอลหลายแห่งต้องดิ้นรนหาทางอยู่รอดจากผลของการขาดทุนสะสมทั้งในส่วนของการบริหาร ทีมเบสบอล และในส่วนของธุรกิจหลักด้วย
การได้แชมป์ Japan Series ของ Fukuoka Daiei Hawks ในปี 2003 กลายเป็นเรื่องราวที่ไร้ความหมาย เมื่อข้อเท็จจริงทางธุรกิจของ Daiei อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ จนต้องประกาศขายธุรกิจและยื่นเรื่องขอให้บรรษัท เพื่อการฟื้นฟูอุตสาหกรรม (Industrial Revitalization Corporation of Japan : IRCJ) เข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์
Daiei ต้องแยกส่วนธุรกิจโรงแรม Sea Hawks Park ใน Fukuoka ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจหลักออกขายให้กับ Colony Capital LLC กองทุนการเงินเพื่อการลงทุนจาก สหรัฐอเมริกา พร้อมกับต้องเสียสิทธิในการเก็บค่าเข้าชม การแข่งขันใน Fukuoka Dome รวมถึง secret deal อีกส่วนหนึ่งที่รวมถึงขาย franchise ทีมเบสบอลให้กับ Colony หรือให้กับผู้ซื้อรายใหม่ ภายใต้การยินยอมอนุมัติ จาก Colony ด้วย
ความจริงที่เจ็บปวดดังกล่าวถูกผลิตซ้ำในปี 2004 เมื่อ Seibu Lions คว้าแชมป์ Japan Series มาครอง ในขณะที่ Kokudo Corp. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่ม Seibu ประกาศที่จะยุติบทบาทใน NPB ด้วยการขาย franchise ทีมเบสบอล Seibu Lions ที่ระดับราคา 2-2.5 หมื่นล้านเยน หลังจากที่ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตของกลุ่ม ประสบกับปัญหาทางการเงินจากผลของภาวการณ์ ท่องเที่ยวที่ซบเซา ก่อนที่จะมีการออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว ในเวลาต่อมาก็ตาม
ขณะที่รายละเอียดของการดำเนินกิจการรถไฟ Seibu Railway ปรากฏข้อมูลที่เป็นเท็จ และมีแนวโน้มว่าอาจจะถูก delist ออกจากตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (TSE) หากพิจารณาพบว่าเป็นความผิดที่เกิดจากความตั้งใจที่จะบิดเบือนข้อมูล
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ Orix BlueWave ประกาศควบรวมทีมเบสบอลเข้ากับ Osaka Kintetsu Buffaloes ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก โดยการควบรวม franchise ในลักษณะเช่นนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ทศวรรษและมีผลทำให้ดุลยภาพของการแข่งขันในระบบ 2 League ของ NPB ถูกท้าทาย อย่างรุนแรง
ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังเป็น การพิสูจน์ทดสอบบทบาทนำของ Yomiuri ใน NPB อย่างชัดเจน และนับเป็นครั้งแรกที่ Yomiuri ต้องเล่นใน เกมที่พวกเขาไม่มีโอกาสกำหนดเลือก หลังจากที่ตลอด ระยะเวลาที่ผ่านมา Yomiuri Giants ได้แสดงอิทธิพลและอำนาจเหนือ franchisee รายอื่นในการจัดวางทิศทาง และระเบียบปฏิบัติภายใน NPB ด้วยการข่มขู่ว่าจะถอนตัวออกจาก NPB หากไม่ดำเนินการตามความประสงค์มาอย่างเนิ่นนาน
ความเปลี่ยนแปลงของ NPB ในปี 2004 ยังเป็นปรากฏการณ์ที่เปิดเผยให้เห็นศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นธุรกิจกระแสใหม่ ที่ดำเนินไปภายใต้นักธุรกิจคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีรากฐานผูกพันกับกิจกรรมทางธุรกิจในรูปแบบเดิม
การได้รับสิทธิใน franchise ทีมเบสบอลแห่งใหม่ โดย Rakuten ผู้ให้บริการ Internet shopping mall ภายใต้ชื่อทีม Tohoku Rakuten Golden Eagles หลังจากขับเคี่ยวอย่างหนักกับ Livedoor ผู้ประกอบการ internet service provider ซึ่งเป็นผู้เสนอขอรับสิทธิจาก NPB อีกราย ติดตามมาด้วย การเสนอตัวของ Softbank ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ Yahoo!BB ที่ประกาศจะเข้าซื้อหุ้นบางส่วนใน Fukuoka Daiei Hawks ด้วยเงินลงทุน 5 พันล้านเยน และอาจเพิ่ม เป็น 1-1.5 หมื่นล้านเยน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การได้รับสิทธิจากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขัน และสิทธิใน การถ่ายทอดการแข่งขันผ่านเครือข่าย broadband
ทั้งนี้ การรุกคืบเข้ามาใน NPB ของผู้ประกอบการ อินเทอร์เน็ตเหล่านี้ ดูเหมือนจะมิได้เป็นเพียงการแสวงหา โอกาสใหม่ๆ ภายใต้กฎกติกาแบบเดิม หากแต่พวกเขากำลังมีส่วนเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและรูปแบบของเกมเข้าสู่บริบทใหม่ ซึ่งเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจะดำเนินไปด้วยดีหรือร้ายอย่างไร
บางที สิ่งที่ Nippon Professional Baseball ต้องเผชิญอยู่ในช่วงที่จะก้าวสู่วาระครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้ง อาจกำลังพิสูจน์ความเชื่อที่ว่า สัมพันธภาพระหว่างบุคคลจะเริ่มถดถอยหน่ายแหนง และติดตามมา ด้วยเรื่องราวเลวร้ายหลังจากปีที่ 7 ของการอยู่ร่วมกันในแบบของ seven year itch
เพียงแต่ด้วยจำนวนผู้คนที่เกี่ยวข้องมากมายและ ระยะเวลาที่ยาวนานถึง 70 ปีเรื่องราวความเป็นไปขององค์กรแห่งนี้ จึงอุดมด้วยสีสัน ปัญหาอยู่ที่ว่าอนาคตของ NPB และกีฬาเบสบอลในญี่ปุ่น ต่อจากนี้จะดำเนินไปอย่างไร และใครจะเป็นผู้กำหนด
|
|
|
|
|