ธนาคารไทยพาณิชย์ทุ่มเงิน 168 ล้านบาทสร้างศูนย์ฝึกอบรมถาวรขึ้นที่ชลบุรี และทุ่มอีกร่วม
50 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงตกแต่งสาขาใหม่ทั่วประเทศ ความหมายคงไม่ได้อยู่ที่ธนาคารแห่งนี้ได้กลายเป็นธนาคารแห่งแรก
ที่มีศูนย์ฝึกอบรมถาวรที่ใหญ่พอๆ กับโรงแรมชั้นหนึ่ง หรือเกิดมีสีสันใหม่น่าใช้น่าลองในอาคารสถานที่ของสาขาขึ้นพร้อมๆ
กันทั่วประเทศ แต่จะมีอะไรอีกหละที่ให้ความหมายถึงกลยุทธ์และเป้าหมายที่ลึกลงไป
เกินกว่าจะมองเห็นด้วยภาพภายนอกดังกล่าว "ผู้จัดการ" เจาะลึกเรื่องนี้พร้อมๆ
กับมองไปข้างหน้า ถ้าจะบอกว่า "หวาดเสียว" แทนคู่แข่งจริงๆ คงจะไม่โอเวอร์จนเกินไปนัก
เช่นเดียวกับเมื่อ 6 ปีก่อนที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เป็นผู้บุกเบิกนำเครื่องเอทีเอ็มมาบริการลูกค้า
เป็นเจ้าแรกของวงการธนาคารไทย พร้อมๆ กับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ค่อนไปทางคัดค้านอย่างรุนแรงทั้งภาครัฐบาลและเอกชน
เพราะปัญหาของมันเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งตัวเลขการขาดดุลการค้า และการเข้ามาแทนแรงงานคนในระบบธนาคารของเจ้าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้
ที่สำคัญมันอาจจะใหม่เกินกว่าที่คู่แข่งบางรายจะรับได้ จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องมีมาตรการจำกัดการเปิดตู้เอทีเอ็มไว้ระยะหนึ่ง
แต่ตัวเลขเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเดิมนั้นอยู่ในระดับเพียง 50,000 ล้านบาท
ได้พุ่งขึ้นสูงเป็น 84,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดปี 2531 โดยเฉพาะในช่วงปี
2530 นั้นเพิ่มขึ้นสูงถึง 23% แม้ในปี 2528-2529 จะประสบปัญหาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลงจาก
13% เหลือเพียง 7.25% ขณะที่ระบบการขยายตัวของเงินฝากของระบบสูงเพียง 12%
แต่ไทยพาณิชย์ยังได้เงินฝากเพิ่มขึ้นถึง 19%
เมื่อระบบเอทีเอ็มและการบริการอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้งของระบบธนาคารค่อนข้างอยู่ตัวในปีนี้
เฉพาะครึ่งปี 2532 เงินฝากของธนาคารไทยพาณิชย์ยังเพิ่มขึ้นถึง 24% และสูงถึง
26% ถ้าคิดเอาเฉพาะเงินฝากในประเทศ
วันนี้ปรากฏว่าไม่มีธนาคารใดเลยที่ไม่มีเจ้าเครื่องเอทีเอ็มนี้ไว้บริการลูกค้า
แม้บางธนาคารจะทำเล็กน้อย เพื่อให้ได้ชื่อว่ามีเอทีเอ็มเหมือนกัน หรือเพราะความจำเป็นมันบีบบังคับให้ต้องทำอย่างนั้น
ที่สำคัญกว่านั้นในการเป็นผู้นำคอมพิวเตอร์ของธนาคารไทยพาณิชย์ คือความเป็นผู้นำซึ่งได้สร้างประโยชน์มหาศาลทั้งจากภาครัฐบาลและเอกชน
"การนำเครื่องเอทีเอ็มเข้ามาใช้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายของธนาคาร
เมื่อมีการออนไลน์ข้อมูลทั่วประเทศ เบื้องต้นนั้นให้ความสะดวกสบายแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ
และยังส่งผลให้ได้รับข้อมูลในด้านการตลาดเพื่อการตัดสินใจที่ฉับไวกว่าคนอื่น
และระยะต่อมาเราได้นำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาออกบริการใหม่ และพัฒนาสำหรับการใช้บริหารงานภายในอย่างต่อเนื่อง"
วิชิต อมรวิรัตนสกุล ผู้จัดการฝ่ายระบบสารสนเทศกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
อย่างเป็นระบบ
เขากล่าวว่าระบบคอมพิวเตอร์ของไทยพาณิชย์ขณะนี้มีความสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งในแง่ของความพร้อมที่จะพัฒนาบริการเสนอต่อลูกค้า
และในแง่การจัดเก็บและพัฒนาข้อมูลต่างๆ เพื่อการตัดสินใจของผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าหรือการตลาด
ข้อมูลด้านการเงินและการตรวจสอบ ตลอดทั้งข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งเฉพาะ แทบจะเรียกได้ว่าสามารถทราบความเคลื่อนไหวได้แบบวันต่อวัน
ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เรียกชำระทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอีกเมื่อต้นปี 2532 จำนวน
500 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมส่วนล้ำมูลค่าหุ้นเข้ามาอีก 1,600 ล้านบาท (จำหน่ายในราคา
420 บาทต่อหุ้น) ก็จะได้ทุนที่เพิ่มเข้ามาทั้งสิ้น 2,100 ล้านบาท และในปี
2534 ธนาคารจะเรียกชำระเพิ่มอีก 200 ล้านบาท ธนาคารจะมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น
2,000 ล้านบาทเมื่อสิ้นปีเดียวกัน หรืออาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้
"อันนี้ให้ความหมายอย่างยิ่งในการเตรียมตัวเพื่อขยายธุรกิจของธนาคาร"
นักการธนาคารคนหนึ่งให้ "ผู้จัดการ" ดูข้อมูลที่ได้มา
"ในปีนี้เราได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เปิดสาขาเพิ่มขึ้นเป็น
50 สาขาทั่วประเทศ จากปัจจุบันเรามีอยู่แล้ว 206 สาขา ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นของสาขาที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทยพาณิชย์
ในจำนวนที่เราได้รับอนุญาตนี้จะต้องเปิดทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี"
สมโภชน์ อินทรานุกูล ผู้จัดการฝ่ายกิจการสาขากล่าว
ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า เขาแบ่งทรัพยากรของธนาคารออกเป็น
3 ด้านอันได้แก่ หนึ่ง ทรัพยากรบุคคล สอง ทรัพยากรเครือข่ายหรือจุดขาย และสาม
ทรัพยากรระบบงานหรือเทคโนโลยี
เขากล่าวว่าสิ่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญมากที่สุดคือทรัพยากรบุคคล
แต่นั่นคงหมายถึงทรัพยากรในด้านอื่นๆ ของเขามีความสมบูรณ์อยู่แล้วด้วย โดยเฉพาะในเรื่องทุนที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีลักษณะพิเศษกว่าธนาคารอื่นๆ
ก็คือ ผู้ถือหุ้นกับผู้บริหารได้แยกส่วนออกจากกันโดยชัดเจน ทั้งในแง่โครงสร้างและการปฏิบัติจริง
อันเป็นลักษณะที่ทำให้ผู้บริหารมืออาชีพเกิดความคล่องตัวอย่างมากในการทำงาน
กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
เขาได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของธนาคารในการจัดงบประมาณ เพื่อการอบรมฝึกฝนพนักงานอย่างชนิดที่เรียกว่า
"ไม่จำกัดจำนวน" หลังจากที่เขาได้เสนอแผนงานนี้ขึ้นไปได้ไม่นานนัก
"เมื่อทุกอย่างพร้อมก็เพียงแต่ใส่แรงงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงเข้าไป
ผลผลิตก็จะออกมาเป็นเท่าทวีคูณ" กรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าวถึงเป้าประสงค์อย่างมีความหมาย
จะว่าไปแล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในการใช้บุคลากรระดับบริหารอย่างเห็นได้ชัดเจนใน
3 ปีที่ผ่านมา หรือจะเรียกว่าหลังจากที่ธารินทร์ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้ไม่นานนัก
ทั้งนี้เป็นที่รู้กันว่าเป็นผลพวงจากการมี vision ที่ยาวไกลของประจิตร ยศสุนทร
อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่คนก่อน ซึ่งปัจจุบันเป็นนายกกรรมการ
ประจิตรเป็นคนริเริ่มดึงเอาคนจากข้างนอกมาร่วมงานในระดับบริหารเมื่อประมาณปี
2516-2520 เขาได้ดึงเอาคนอย่างธารินทร์ นิมมานเหมินท์ มาจากซิตี้แบงก์เป็นคนแรก
เพื่อมาเป็นผู้จัดการฝ่ายการธนาคาร และขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในอีก
10 ปีต่อมา
หรืออย่างประกิต ประทีปะเสน, ชฎา วัฒนศิริธรรม, สมมาตร พูนภักดี หรือ ปภาอารยะ
สุวรรณเตมีย์ ก็ล้วนแต่ถูกดึงเข้ามาในรุ่นราวคราวเดียวกัน และเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารในปัจจุบัน
เมื่อธารินทร์ขึ้นเป็นรองผู้จัดการใหญ่ ก็เป็นยุคของเขาที่ประจิตรเปิดให้ดึงคนข้างนอกเข้ามาเพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาดวิ่นไป
ไม่ว่าจะเป็นโอฬาร ไชยประวัติ, บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ หรือ สถาพร ชินะจิตร
คนเหล่านี้มีอายุโดยเฉลี่ยระหว่าง 40-50 ปีเท่านั้น และถือว่าเป็นเลือดใหม่ที่ล้วนเป็นพลังสำคัญของธนาคารในปัจจุบัน
(โปรดดูตารางประกอบ)
ยุคนี้จึงเป็นยุคที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้ยึดครองอำนาจบริหารธนาคารอย่างเด็ดขาดสมบูรณ์แล้ว
ในยุคที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีอายุกว่า 80 ปี
ธารินทร์ได้นำเอาระบบการบริหารงานสมัยใหม่แบบอเมริกันเข้ามาใช้กับธนาคาร
ด้วยวิธีการไทยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป และด้วยบุคลิกส่วนตัวของธารินทร์ซึ่งเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน
ทำให้เขาประสบความสำเร็จค่อนข้างดี เกิดความขัดแย้งภายในน้อยมาก
มีการตั้งหน่วยฝึกอบรมและพัฒนาขึ้นในฝ่ายการพนักงานเมื่อประมาณปี 2522 ซึ่งต่อมาแยกหน่วยนี้ออกจากกันเป็นส่วนพัฒนาและประเมินผล
กับส่วนฝึกอบรมพนักงานในเวลาต่อมา จนปี 2528 ส่วนฝึกอบรมได้แยกตัวและยกฐานะขึ้นเป็นศูนย์ฝึกอบรม
หรือหลังจากที่ธารินทร์ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้เพียงปีเดียว
2528-2530 การฝึกอบรมเน้นหนักไปที่การเรียนรู้ทางด้านเทคนิคของสายงานต่างๆ
และเป็นการอบรมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ของธนาคารให้เป็น แม้จะมีการฝึกอบรมในด้านกลยุทธ์บ้างแต่ก็ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนนัก
"เมื่อก่อนนี้เราไม่ได้มุ่งไปที่จุดใดจุดหนึ่ง มีการนำวิทยากรข้างนอกเข้ามาบรรยายแต่ก็เป็นไปแบบคนละทิศคนละทางตามสไตล์ของแต่ละคน"
ประกิต ประทีปะเสน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ซึ่งดูแลสายงานการฝึกอบรมกล่าว
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการให้ทุนพนักงานไปเรียนต่อระยะสั้นและยาวทั้งในและต่างประเทศปีละ
4 คน มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ถึงกับเพียงพอต่อความต้องการของธนาคาร
โครงการมินิเอ็มบีเอ ก็เริ่มขึ้นในปี 2528 แต่ก็ยังเป็นลักษณะการเรียนรู้เฉพาะตัวและขาดทิศทางที่แน่นอน
"แต่ทางด้านเทคนิคเราแน่นมากแล้วขณะนี้" ประกิตกล่าว
ในปี 2530 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานกันครั้งใหญ่ๆ พร้อมๆ กับการอนุมัติแผนงานจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมถาวรขึ้นที่หาดตะวันรอน
ชลบุรี
โครงสร้างที่กำหนดขึ้นใหม่นั้นเป็นการแบ่งสายงานตามกลุ่มลูกค้าแต่ละประเภทเป็นตัวกำหนด
(โปรดดูตารางโครงสร้างองค์กรประกอบ) กล่าวกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการวางกลยุทธ์
โดยใช้การตลาดเป็นตัวนำของธารินทร์หลังจากเขาขึ้นรับตำแหน่งได้ 5 ปี
ธารินทร์มีความเชื่อว่ายิ่งบ้านเมืองพัฒนมากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อยๆ
อย่างเช่นปัจจุบันนี้ กลุ่มชนชั้นกลางจะเป็นกลุ่มคนมีอำนาจในการบริโภคมากขึ้น
และนับวันจะขยายจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตลาดนี้จึงเป็นตลาดที่จะใหญ่มากๆ ในความเห็นของเขา
เพราะฉะนั้นทิศทางในการขยายบริการของธนาคารจึงเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าบุคคล
ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารแรก ที่ยกฐานะงานลูกค้าบุคคลและลูกค้าเงินออมขึ้นมาใหญ่
เทียบเท่าสายงานลูกค้าธุรกิจ โดยให้เจ้าหน้าที่บริหารระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เป็นหัวหน้าดูแลอย่างใกล้ชิด
ซึ่งเดิมงานบริการลูกค้าบุคคลนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของงานสาขา หรือเป็นงาน ณ
จุดขายเท่านั้น
"กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ขยายตัวมากในระยะยาว ทั้งให้ผลตอบแทนดี
มีความเสี่ยงน้อย เพียงแต่ใครเข้าไปสู่กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้ก่อนก็จะได้เปรียบกว่าคนอื่น
ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปได้ผลดีนั้นคือ จะต้องมีคุณภาพในการบริการ มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินครบครัน
มีเทคโนโลยีบริการ มีคนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าสูง
และมีเครือข่ายกว้างขวางเพียงพอ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าว
และไทยพาณิชย์ก็ได้รุกเข้าไปแล้วหลายก้าว
ที่สำคัญคือก้าวต่อไปของไทยพาณิชย์ ซึ่งประกิตกล่าวว่าธุรกิจจะขยายตัวไปในทุกๆ
ด้านอย่างสมดุลกันทั้งด้านสินเชื่อบุคคล สินเชื่อพาณิชยกรรม สินเชื่ออุตสาหกรรม
และธุรกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งการปริวรรตเงินตรา แต่จะขยายออกไปด้วยความระมัดระวังเพื่อให้มีคุณภาพสูงที่สุด
โดยจับตามองอย่างใกล้ชิดในธุรกิจแต่ละประเภท และดูย่อยลงไปเป็นรายๆ ไม่ใช่จะเน้นหรือไม่เน้นจุดใดจุดหนึ่งเป็นการเฉพาะ
นักการธนาคารอาวุโสในวงการกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า โครงสร้างใหม่จะเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติการด้านการตลาดมากขึ้น
ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายธนาคารพยายามปรับโครงสร้างการบริหารของตนเอง ให้เหมือนกับของไทยพาณิชย์
"สายลูกค้าบุคคลและลูกค้าเงินออม ใช้สินเชื่อบุคคลและบริการธนาคารเป็นตัวนำในการบุกตลาด
ซึ่งจะได้มาทั้งเงินฝากและสินเชื่อรายย่อย โดยอาศัยเครือข่ายของฝ่ายกิจการสาขาและสำนักงานแลกเปลี่ยนเป็นจุดทำธุรกิจ
เสริมด้วยงานส่งเสริมธุรกิจ งานการตลาด ละเครือข่ายการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้ง
สายนี้นอกจากจะได้เงินออมเข้ามาจำนวนมากแล้ว ยังมีรายได้อีกอันหนึ่งซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์เริ่มจะเก็บเกี่ยวจากมันอย่างจริงจังในปีนี้
คือค่าธรรมเนียมบริการต่างๆ ไม่น้อยทีเดียว" นักการธนาคารคนเดียวกันกล่าว
จากประมาณการกำไรขาดทุนในแผน 5 ปีของไทยพาณิชย์นั้น กำหนดเป้าหมายรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยไว้สูงถึง
940 ล้านบาท ในปี 2532 ในขณะที่ปี 2527 ซึ่งเป็นปีแรกที่ธารินทร์ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และบูมอิเส็กทรอนิกส์แบงกิ้งปีแรก
ธนาคารมีรายได้ในด้านนี้เพียง 320 ล้านบาทเท่านั้นเอง และกำหนดเป้าหมายไว้
ณ สิ้นปี 2536 ธนาคารคาดว่า จะมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยนี้สูงถึง 1,313 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เพียงครึ่งปี 2532 ที่ผ่านมานี้ ไทยพาณิชย์ก็มีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยนี้สูงถึง
781 ล้านบาทซะแล้ว
ปี 2532 เป็นปีแรกที่ไทยพาณิชย์กำหนดเป้าหมายด้านเงินฝากให้กระโดดสู่ยอด
100,000 ล้านบาท แต่เพียงครึ่งปีเดียวกันนี้ตัวเลขรวมยอดเงินฝากของธนาคารได้พุ่งขึ้นถึง
95,495 ล้านบาทแล้วเช่นกัน จนถึงสิ้นปี 2536 ไทยพาณิชย์ตั้งเป้าหมายที่จะทำเงินฝากให้ได้ถึง
195,493 ล้านบาท ซึ่งถ้าอัตราเพิ่มจริงๆ ทะลุเป้าทุกปีเช่นนี้ คนในไทยพาณิชย์เชื่อว่าถ้ามันจะทะลุถึง
200,000 กว่าล้านบาทในปี 2536 นั้น ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อเลย
สายงานด้านลูกค้าบุคคลและลูกค้าเงินออมที่กล่าวมานี้ บรรณวิทย์ บุญญรัตน์
กับ พูนภักดี รองผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เป็นผู้ดูแล
สายธุรกิจข้ามชาติและธุรกิจขนาดใหญ่ และสายงานลูกค้าธุรกิจทั่วไป ซึ่งอยู่ในความดูแลของประกิต
ประทีปะเสน ได้ย่อยสายงานออกถี่ยิบ ถึงระดับหน่วยและกลุ่มกระจายออกไปค่อนข้างกว้างขวางควบคุมกลุ่มธุรกิจการค้าทุกกลุ่ม
(โปรดดูตารางโครงสร้างการบริหารประกอบ)
ไทยพาณิชย์มีเป้าหมายด้านสินเชื่อทะลุ 100,000 ล้านบาท ในปี 2533 และตั้งเป้าหมายไว้ในปี
2532 เพียง 91,000 กว่าล้านบาท แต่เพียงครึ่งปีนี้สินเชื่อรวมได้พุ่งขึ้นถึง
87,000 ล้านบาทแล้ว หรือเพิ่มขึ้นถึง 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สิ้นปี 2536 อันเป็นปีสิ้นสุดของแผน 5 ปี เป้าหมายสินเชื่อของไทยพาณิชย์ตั้งไว้
169,000 ล้านบาท
ในขณะที่ธนาคารมีเป้าหมายที่จะเพิ่มทุนเพียง 2 ครั้งจำนวนที่เพิ่ม 800 ล้านบาท
และรวมเงินทุนจดทะเบียน ณ สิ้นปี 2534 ถึง 2536 เพียง 2,000 ล้านบาท ธนาคารได้กำหนดอัตราการเติบโตของเงินกองทุนไว้จาก
7,820 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2532 เป็น 12,484 ล้านบาทเมื่อสิ้นสุดแผน 5 ปี อันหมายถึงการเติบโตอย่างมั่นคง
ด้วยการมีกำไรสะสมเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี
ในปี 2536 ธนาคารตั้งเป้ากำไรสะสมไว้ถึง 6,000 กว่าล้านบาท มากกว่าเงินทุนจดทะเบียน
3 เท่าตัวและเฉพาะปี 2536 นั้นเงินกำไรสะสมจะโตขึ้นถึงเกือบ 1,000 ล้านบาทเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี
2535
กำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นจากปี 2532 จำนวน 899 ล้านบาทเป็น 1,596 ล้านบาทเมื่อสิ้นสุดแผนงาน
ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตถึงเกือบ 100% ในระยะเวลาเพียง 5 ปี และให้ผลตอบแทนต่อหุ้นละ
52 บาทในปี 2532 เป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นๆ ละ 79 บาท ในปี 2536
แต่เป้าหมายในอนาคตตามแผน 5 ปีข้างต้นนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าหากคุณภาพของคนในแบงก์ไม่มีคุณภาพสูงพอ
และสิ่งนี้คือที่มาของการลงทุนพัฒนาคนมูลค่านับ 100 ล้านบาทของผู้บริหารระดับสูงในไทยพาณิชย์
ปีนี้เป็นปีที่มีการเปิดศูนย์ฝึกอบรมถาวรอย่างเป็นทางการ โดยตั้งบริษัท
ทธพ. ศูนย์ฝึกอบรม จำกัด ขึ้นมาถือครองทรัพย์สินและบริการงานฝึกอบรมทั้งหมดของธนาคารแยกออกไป
เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานด้านนี้ให้สูงขึ้น
ศูนย์แห่งนี้ประกอบด้วย อาคาร Sea view 4 ชั้น มีห้องพัก 58 ห้อง รวมทั้งห้องขนาดเดอลุกซ์
9 ห้อง ในบริเวณศูนย์ประกอบด้วยห้องอาหาร ซึ่งแบ่งออกเป็นค็อกเทลเลานจ์ 23
ที่นั่ง, คอฟฟี่ชอป 70 ที่นั่ง และลานอาหารเย็น 32 ที่นั่ง ห้องเกมมีโต๊ะสนุกเกอร์
1 โต๊ะ โต๊ะเกมอื่นๆ อีก 3 โต๊ะ สระว่ายน้ำขนาดใหญ่ 2 ส่วน สำหรับเด็กและผู้ใหญ่
สนามเทนนิส 2 สนาม กระดานวินเซิร์ฟ สนามฝึกกอล์ฟ และลู่วิ่งรอบๆ บริเวณ และมีบ้านพักรับรองอีก
4 หลังริมทะเล
ส่วนอาคารฝึกอบรมประกอบด้วยห้องประชุมขนาดใหญ่ขนาด 120 ที่นั่ง มีระบบโสตทัศนูปกรณ์
แสง สี เสียง สมบูรณ์แบบ อีกด้านหนึ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถกั้นแบ่งเป็นห้องประชุมเล็กขนาดความจุ
30 คนได้อีก 3 ห้อง บริเวณรอบๆ ห้องประชุมใหญ่มีห้องประชุมซอยเล็กขนาดความจะไม่เกิน
10 คนอีก 5 ห้อง รวมทุนทั้งค่าที่ดินและค่าก่อสร้างตกแต่ง 168 ล้านบาท
และปีนี้นี่เองเป็นปีที่ธนาคารใช้คำว่า "ปีสู่ความท้าทายแห่งความเปลี่ยนแปลง"
นั้น พิทยสัณห์ ศุภะพงษ์ ผู้จัดการศูนย์ฝึกอบรมและกรรมการผู้จัดการบริษัท
ทธพ. ศูนย์ฝึกอบรม จำกัด บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าเป็นปีแรกของธนาคารที่กล้าใช้คำนี้
นับแต่ปีนี้เป็นต้นไปจนถึงปี 2534 (ก.ค.2532-ก.ค.2534) ธนาคารมีเป้าหมายที่จะฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับบริหารภายใต้โครงการใหญ่
2 โครงการ คือ โครงการผู้นำเพื่ออนาคต และโครงการเพิ่มคุณค่าไทยพาณิชย์ ทั้ง
2 โครงการนี้ธนาคารซื้อหลักสูตรจากสถาบัน Wilson Learning Center แห่งสหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นสถาบันผู้เชี่ยวชาญในการค้นคว้าวิจัยศึกษางานการบริหารและการจัดการองค์การต่างๆ
ทั่วโลก เพื่อขายเป็นกรณีศึกษาและรับจ้างฝึกอบรมที่ใหญ่ที่สุด ไทยพาณิชย์ซื้อมาด้วยจำนวนเงินที่ไม่เปิดเผย
แต่แหล่งข่าวในวงการธุรกิจรับฝึกอบรมบอกว่า สถาบันนี้จะขยายลิขสิทธิ์หลักสูตรเป็นชุดด้วยเงินเป็นก้อนหลายล้านบาท
หลังจากนั้นจะทำการฝึกอบรมวิทยากรให้โดยคิดเป็นหัวอีกครั้งหนึ่ง วิทยากรที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วจะไปทำการฝึกอบรมเองภายใต้การควบคุมดูแลของตัวแทนสถาบัน
โดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายหัวจากผู้เข้าร่วมการอบรมอีกครั้งหนึ่ง เฉลี่ยประมาณหัวละ
4,000-5,000 บาทต่อการอบรมหนึ่งชุด
สำหรับเมืองไทยนอกจากบริษัทไอบีเอ็มแล้ว ในวงการธนาคารเห็นจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์เป็นแห่งแรก
แต่หลักสูตรที่ใช้ฝึกอบรมองค์กรที่มีธุรกิจต่างกัน หลักสูตรก็จะมีความแตกต่างกันออกไป
และในแต่ละปีจะมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่เรื่อยๆ
ตัวแทนในเมืองไทยได้แก่ บริษัทเมาติไดแมนชั่น (Multi Dimension) จำกัด ซึ่งมี
นพพร ไพรัชต์ เป็นกรรมการผู้จัดการและผู้ดูแลการฝึกอบรมของลูกค้า
"จะเรียกว่าศูนย์ฝึกอบรมของเราเป็นโรงเรียนสอน นายธนาคารแห่งแรกของประเทศก็ได้"
ปภา อารยะกล่าว
"โครงการผู้นำเพื่ออนาคต" เน้นกลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้ากลุ่มจนถึงผู้จัดการฝ่าย
ประมาณว่ามีทั้งหมด 400 คน เมื่อสิ้นสุดโครงการในอีก 3 ปีข้างหน้า เปิดเรียนรุ่นละ
35-40 คน โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะสร้างผู้นำสำรองไว้ทั้งในแง่ของการแทนงานและการขยายงาน
ซึ่งอย่างน้อยจะต้องเรียนรู้ในหลักสูตร 4 หลักสูตร หนึ่ง หลักสูตรการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ
(CHPT)
สอง หลักสูตรการจัดการสู่ความเป็นเลิศ (MFE) สาม หลักสูตรการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
(MIR) และสี่ หลักสูตรการผสานจุดประสงค์ (AWP) เจ้าหน้าที่เข้าอบรมในโครงการนี้ส่วนใหญ่อยู่ในวัยระหว่าง
30-40 ปี โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้ากลุ่มและผู้จัดการสาขานั้นมีจำนวนสูงถึง
300 กว่าคน
"คนเหล่านี้คืออนาคตขององค์การในระยะยาว" ผู้จัดการฝ่ายการพนักงานกล่าวเน้น
แม้จะไม่เน้นตรงๆ ถึงตำแหน่งต่างๆ ที่คนเหล่านี้จะต้องเข้าแทนคนที่จะเกษียณ
และตำแหน่งที่เกิดขึ้นใหม่อันเนื่องมาจากการขยายงานของธนาคาร
ส่วน "โครงการเพิ่มคุณค่าไทยพาณิชย์" นั้น เป้าหมายของโครงการตรงดิ่งไปที่การให้บริการลูกค้าโดยเฉพาะ
หรือจะเรียกว่าเรียนรู้ถึงกลยุทธ์ช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดก็ไม่ผิดนัก พนักงานเป้าหมายที่จะถูกคัดเลือกเข้าโครงการนี้คือ
ผู้จัดการสาขา ฝ่ายสินเชื่อ และเจ้าหน้าที่บริหารสาขาทั้งหลาย ที่ต้องสัมผัสกับลูกค้าเป็นประจำทุกวัน
โครงการนี้ประกอบด้วย 3 หลักสูตร คือ หนึ่ง Value Added Selling สอง Versatile
Seleperson Selling สาม Connrelor Selling
"เราอบรมตั้งแต่เรื่องบุคลิกภาพพื้นฐาน ซึ่งคนทำงานนานๆ มักจะลืม หรือไม่ได้สำรวจตัวเองเลย
มาทบทวนกันใหม่ สร้างมิติใหม่ในการให้บริการลูกค้า ไปจนถึงกลยุทธ์ด้านการตลาดในแง่มุมต่างๆ
เป้าหมายที่วางไว้พนักงานกลุ่มนี้ทั้งหมด 2,800 คน ภายใน 3 ปี แต่หลังจากนี้ก็จะต้องขยายออกไปสู่ส่วนงานอื่นๆ
ด้วย" พิทยสัณห์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
โครงการผู้นำเพื่ออนาคตนั้นคือ กลยุทธ์ในการสร้างประสิทธิภาพงาน ส่วนโครงการเพิ่มคุณค่าไทยพาณิชย์นั้นเป็นกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจ
ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นจะแสดงออกมาเป็นผลผลิตหรือกำไรสูงสุดเมื่อเทียบกับจำนวนพนักงาน
เครือข่าย และทุน
และบุคคลเหล่านี้จะถูกคัดเลือกเข้าฝึกอบรมให้เป็นวิทยากรกันเป็นทอดๆ โดยการอบรมวิทยากรในรุ่นหนึ่งๆ
จำกัดจำนวนเพียงรุ่นละ 5 คนเท่านั้น เพื่อให้ได้ผลมากที่สุดที่จะนำความรู้นั้นไปเผยแพร่ต่อไป
ข้อมูลผู้เข้ารับการอบรมในแต่ละโครงการจะถูกบรรจุเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์
เพื่อการประเมินผลและพัฒนาต่อไป กระทั่งเพื่อการคัดเลือกเข้ารับตำแหน่งหรือการใดๆ
ก็ตามในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของธนาคาร ผู้บริหารสามารใช้เวลาเพียงไม่ถึง
5 นาทีก็จะทำให้รู้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับคนๆ นั้น ทั้งจุดอ่อนที่จะต้องนำไปพัฒนาและจุดแข็งเพื่อการเรียกใช้งานให้เหมาะสม
"เพียงแต่กดรหัสเข้าไปในเครื่องก็จะบอกข้อมูลละเอียดตั้งแต่เรื่องส่วนตัวพื้นๆ
ข้อมูลเกี่ยวกับการฝึกอบรมและการประเมินผลในคราวนั้นๆ ค่าใช้จ่ายที่แบงก์ได้จ่ายไปสำหรับคนนั้นทั้งหมด
ตลาดทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินผลของผู้บังคับบัญชาของเขา รายงานทุกๆ
6 เดือน" ผู้จัดการฝ่ายการพนักงานเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"
ผู้จัดการฝ่ายการพนักงานกล่าวอีกว่า การอบรมนั้นคือการพัฒนาบุคลากรเป็นกลุ่มๆ
แต่สามารถสำหรับการพัฒนารายบุคคล ซึ่งส่วนพัฒนาและประเมินผลดูแลอยู่นั้น
ธนาคารได้นำระบบ supervision เข้ามาใช้ในปีนี้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาแต่ละชั้นแต่ละคนจะต้องถือปฏิบัติ
และก็ได้มีการอบรมการใช้ระบบนี้ไปแล้วเช่นกัน
"supervision" มีเทคนิคหรือเครื่องมืออยู่ 7 อย่างที่จะต้องใช้หรือทำก็คือ
หนึ่ง ปฐมนิเทศ สอง สอนงาน สาม ให้คำปรึกษา สี่ มอบหมายงาน ห้า ฝึกและเสริมสร้างประสบการณ์
หก การประชุม และ เจ็ด หมุนเวียนสับเปลี่ยนความรับผิดชอบ
การใช้เครื่องมือทั้ง 7 อย่างนี้กำหนดให้มีการประเมินผลทุกๆ 6 เดือน ซึ่งนอกจากจะดูที่ผลงานที่ออกมาแล้ว
ผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ในการประเมิน ตั้งแต่หัวหน้าหน่วยขึ้นไปจะต้องรายงานอย่างละเอียดตามทักษะในงาน
ทักษะที่อยู่ในตัวหรือความถนัดและประเมินจากทักษะการบริหาร ตลอดทั้งรายละเอียดในความพยายามแก้ไขเมื่อเจอว่าลูกน้องมีปัญหา
วันเวลาที่ได้พูดคุยกันในแต่ละครั้งในข้อบกพร่องต่างๆ จะต้องบันทึกโดยละเอียด
"supervision" จะเป็นการพัฒนาเป็นรายตัวจากผู้บังคับบัญชาซึ่งว่ากันเป็นชั้นๆ
ขึ้นไป
เพราะธารินทร์มีความเชื่อว่า คุณภาพของบุคลากรในระบบธนาคารเมืองไทยยังอ่อนแอมาก
ในด้านทักษะการบริหารทางการเงิน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบหลักสูตร
หรือการพัฒนาเป็นรายบุคคล เขาจึงเน้นมากที่การสร้างทักษะดังกล่าว
"หลักของเราก็คือว่า ถ้าลูกน้องเหลวถือว่าเป็นความผิดของนาย ซึ่งก็จะมีการพิจารณานายกันเป็นทอดๆ
ขึ้นไปเหมือนกัน รีวิวกันทุก 6 เดือนเพื่อความใกล้ชิดกับข้อมูล จะได้หาทางปรับปรุงได้ฉับพลัน"
ปภา รายะกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
การพัฒนาและประเมินผลเป็นรายบุคคล นอกจากเพื่อประโยชน์ในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง
และใช้ทรัพยากรบุคคลให้ตรงกับคุณสมบัติของเขาแล้ว ยังเป็นแนวทางในการกำหนดโครงการฝึกอบรมคราวต่อๆ
ไปของศูนย์ฝึกอบรม ซึ่งมีคณะกรรมการชุดหนึ่งดูแลอยู่ด้วย
"คณะกรรมการฝึกอบรมพนักงานจะทราบทันทีจากข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ว่าพนักงานของเขาแต่ละคนมีจุดอ่อนอะไร
เมื่อจัดออกมาเป็นกลุ่มๆ แล้วก็จัดการอบรมให้ความรู้เสริมเข้าไปในจุดนั้นๆ
หรือกระตุ้นให้เขาได้ทบทวนตัวเอง และจะเดินทางไปข้างหน้าอย่างไร รวมทั้งคนที่มีทักษะดีอยู่แล้ว
เราก็จะหาโครงการเสริมแก่เขาให้ดีขึ้นไปอีก" พิทยสัณห์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
การประเมินผลรายบุคคลไม่เกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนโดยตรง เพราะธนาคารไทยพาณิชย์ใช้ระบบการขึ้นเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์
โดยมอบให้สายงานต่างๆ แบ่งย่อยลงไปตามส่วน หน่วยและกลุ่มงานต่างๆ เป็นลำดับทั้งนี้โดยประเมินจากผลงานของทั้งกลุ่ม
"เราเชื่อว่าวิธีนี้จะเป็นกลไกอีกอันหนึ่งที่ผลักดันให้คนเห็นความสำคัญของการทำงานกันเป็นทีม
หรือกลุ่ม ฝ่ายการพนักงานเพียงรายงานในด้านสถิติต่างๆ ในการใช้งบประมาณเกี่ยวกับการพนักงาน
และอัตราของธนาคารทั้งระบบ ตลอดทั้งภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป ส่งให้ผู้บริหารพิจารณาประกอบกับผลประกอบการ
หรือผลกำไรของธนาคารที่จะจัดสรรว่าปีนี้จะเพิ่มเงินเดือนเท่าใด และสายงานหรือกลุ่มงานไหนมีผลงานดีที่สุด"
ผู้จัดการฝ่ายการพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์กล่าว
แท้ที่จริงก็คือ เครื่องมือในการกระจายอำนาจแก่ผู้บังคับบัญชาในแต่ละชั้น
พร้อมกับการมอบหมายความรับผิดชอบนั่นเอง
"ในด้านผลประโยชน์ของพนักงานแล้ว อัตราตอบแทนตามอัตราตลาดอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์นั้นต้องถือเป็นมาตรฐาน
แต่หากผลงานจากแรงงานดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นมากกว่าผลงานโดยเฉลี่ยของระบบแล้ว
ธนาคารจะต้องปรับปรุงมาตรฐานนั้นให้เพิ่มตามผลผลิตไปด้วย" ธารินทร์กล่าว
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประกาศปรับเงินเดือนขึ้นให้แก่พนักงานทุกคนเท่ากันจำนวน
225 บาท โดยให้มีผลหลังตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่
2 หลังจากปรับมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อต้นปี คนละ 300 บาท
พร้อมกันนี้ได้มีการปรับเงินเดือนครั้งนี้ ธนาคารได้ถือโอกาสปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ทั้งหมดด้วย
โดยเฉพาะการปรับอัตราเริ่มต้นในตำแหน่งต่างๆ ให้สูงขึ้น รวมไปถึงด้านสวัสดิการอาคารสงเคราะห์
เงินช่วยเหลือบุตร ค่าเช่าที่พัก และเงินเพิ่มพิเศษ
วุฒิปริญญาตรีอัตราเงินเดือนเริ่มต้น 4,225 บาท บรรจุแล้วได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษอีก
600 บาททุกปี โบนัสอีก 5 เดือน ฉะนั้นโดยเฉลี่ยพนักงานระดับนี้จะได้ค่าตอบแทนต่อเดือนเฉลี่ยประมาณ
6,000 กว่าบาท
ด้านสวัสดิการก็มีเงินกู้อาคารสงเคราะห์ให้ 60 เท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน
1,200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก 1% ผ่อนชำระนาน 25 ปี
เงินกู้แต่งงาน 10,000 ถึง 30,000 บาท ขึ้นอยู่กับระดับชั้นของพนักงาน การศึกษาบุตรเบิกได้ตามที่จ่ายจริง
ค่ารักษาพยาบาลจ่ายเต็มตามใบเสร็จ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนใหใช้มาตรฐานราคาของศิริราช
ตรวจสุขภาพประจำปีๆ ละ 2 ครั้ง เบี้ยกันดารสำหรับเจ้าหน้าที่สาขาต่างจังหวัดจำนวน
2,500 บาทสำหรับผู้จัดการ และ 1,300 บาทสำหรับพนักงานทั่วไป
ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่า ความสำเร็จจากการทุ่มเทเงินจำนวนมากลงไปกับการพัฒนาบุคลากร
ซึ่งเป็นการทุ่มทุนให้แก่ทรัพยากรที่ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่เห็นว่าสำคัญที่สุดของธนาคาร
ถ้าพิจารณาจากแผนงาน 5 ปี (2532-2536) ของธนาคารจะเห็นว่าไม่มีการตั้งเป้าหมายไว้สูงมากนัก
ค่อนข้างจะอนุรักษ์มากไปเสียด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นบางแห่ง (โปรดดูแผนงาน
5 ปี) แค่เพียงครึ่งปี 2532 ก็เห็นแล้วว่ามันโตกว่าที่ประมาณการไว้ซะแล้ว
ประกิต ประทีปะเสน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ซึ่งมีบทบาทสูงสุดในด้านสินเชื่อกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า การกำหนดแผน 5 ปีนั่นจะกำหนดให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
และการเติบโตของระบบธนาคารทั้งระบบ ก่อนที่จะมีการกำหนดจากการผลักดันภายในของธนาคาร
"ก็ต้องมีการอนุรักษ์ไว้เป็นการดีที่สุด" ประกิตย้ำ แม้จะเชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศในระยะ
2-3 ปีนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่น่าเป็นห่วง"
เขาย้ำว่า ธนาคารเน้นการขยายตลาดออกไปอย่างมีคุณ มีการจัดองค์กรให้เข้ากับบรรยากาศและลูกค้าของธนาคาร
"ถ้าจะวัดผลของการฝึกอบรมของเราออกมาให้เป็นตัวเลขนั้นคงลำบาก แต่เราเชื่อว่าการฝึกอบรมได้สร้างให้คนของเรามีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี
ขณะนี้เรารู้จากความรู้สึกที่เราได้สัมผัส พนักงานของเรามีทัศนคติที่ดีต่องาน
มีความกระตือรือร้น มีระบบการคิดระบบการทำงานร่วมกันเป็นทีม และรู้ถึงวิธีของการแข่งขันทางธุรกิจต่างกันเมื่อก่อนซึ่งทิศทางของเรายังไม่ค่อยชัดเจนนัก"
เขากล่าว
การเพิ่มคุณค่าของคนของธนาคารไทยพาณิชย์ บางคนวิเคราะห์ว่า เป็นการรักษาแผลและเตรียมก้าวกระโดดอีกครั้ง
หลังจากฝันร้ายอันเนื่องมาจากการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ก่อนเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อปี
2525-2527 ซึ่งปรากฏภายหลังว่ามีหนี้เสียเกิดขึ้นจำนวนมาก - ซึ่งก็ไม่ผิด
ประกิตยอมรับว่า การแก้ปัญหาหนี้เสียนั้นทำให้เหนื่อยมากยิ่งกว่าการทำธุรกิจเสียอีก
บางคนก็บอกว่า ปัญหาสมองไหลจะเกิดขึ้นกับไทยพาณิชย์แน่นอนในเวลาอันใกล้นี้
เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับกสิกรไทยมาแล้ว เพราะโครงสร้างอายุของผู้บริหารแต่ละระดบชิดกันมากจนยากที่จะขยับขยาย
ซึ่งผู้บริหารไทยพาณิชย์ก็ทราบปัญหานี้ดี เมื่อดูแนวโน้มจากแผนการฝึกอบรมนั้นดูจะเน้นใช้การตลาดนำการบริหารมากเอาการทีเดียว
เช่นเดียวกับคำกล่าวสนับสนุนของธารินทร์ถึงแนวโน้มที่มองเห็นนี้ว่า "เรื่องการตลาดเป็นหลัก
เสริมด้วยเรื่องบุคลากร ส่วนเรื่องยุทธวิธีสามารถต่อเติมเสริมแต่งเข้ามาได้เรื่อยๆ
เป็นเรื่องของการปฏิบัติ"
ปี 2534 ดูจะเป็นปีที่ให้ความหมายหลายอย่างสำหรับไทยพาณิชย์ ก่อนหน้านั้นจะมีผู้บริหารระดับสูงหลายคนเกษียณอายุ
จึงเป็นช่วงโอกาสให้มีการจัดกองทัพครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ว่ากันว่า โอฬาร
ไชยประวัติ จะเลื่อนขึ้นแทนที่ อุทิศ สุนทรานนท์ ในช่วงนี้ แล้ว ประกิต ประทีปเสน
จากผู้ช่วยสายสำคัญหลายสายก็จะขยับตามขึ้นไปแทนที่โอฬาร
วันนี้หลายคนเชื่อว่า บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการสายลูกค้าบุคคลจะขยับเข้าแทนที่ประกิตในช่วงนี้
บรรณวิทย์ไม่ใช่คนใหม่ในวงการแบงก์ เขาเคยทำงานกับฝ่ายคอมพิวเตอร์ในแบงก์กรุงเทพ
เขาคือเจ้าของโครงการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้งที่เสนอต่อผู้บริหารแบงก์กรุงเทพเมื่อหลายปีก่อน
แต่ทางผู้บริหารให้ชะลอโครงการไว้ก่อน โดยเฉพาะโครงการนำเครื่องเอทีเอ็มเข้ามาใช้ในเมืองไทย
เขารู้สึกผิดหวังมาก
วันหนึ่งเขาก็ได้พบกับ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งมีความคิดทางด้านนี้อยู่แล้ว
จึงชวนเข้ามาร่วมงานด้วย แล้วไทยพาณิชย์ก็กลายเป็นผู้นำทางด้านอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้งในเวลาเพียงไม่กี่ปีต่อมา
แม้บรรณวิทย์จะเติบโตมาจากสายคอมพิวเตอร์ แต่ในระยะ 2 ปีมานี้ ที่เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลฝ่ายสินเชื่อบุคคลก็ดังเป็นพลุแตก
ไม่แพ้กับยุคที่เขาบุกเบิกเรื่องเอทีเอ็มเมื่อหลายปีก่อน
มีคนจับมาวัดกันตรงๆ ระหว่าง บรรณวิทย์ กับ สรดิษ วิญญรัตน์ แห่งแบงก์กรุงเทพ
จากการห้ำหั่นกันในตลาดบัตรเครดิต "โพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง" กับบัตรเครดิต
"บัวหลวง" ในเครือข่ายที่ธนาคารกรุงเทพมากกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อเร็วๆ
นี้ บรรณวิทย์จับห้างสรรพสินค้าภูธร 33 แห่งทั่วประเทศเข้ามาเซ็นสัญญาร่วมกันขยายบัตรเครดิตและลดแลกแจกแถมแก่ผู้ซื้ออย่างมโหฬาร
แม้บางคนจะมองว่าการบุกของบรรณวิทย์นั้นเป็นแบบมวยวัด แต่ตัวเขาเองบอกว่า
บัตรเครดิตภายในประเทศอย่างโพธิ์เงิน-โพธิ์ทองนั้นเป็นบัตรของมวลชนส่วนใหญ่
การขยายตลาดจะต้องถึงลูกถึงคน
ใครๆ ก็รู้ดีว่า งานลุยอย่างนี้ บรรณวิทย์เขาถนัดมาก
2534 นอกจากทุนจดทะเบียนของไทยพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาท สาขาที่ได้รับอนุญาตให้เปิดจะแล้วเสร็จทั้ง
50 สาขา และจะมียอดสาขารวมกันทั่วประเทศถึง 250 สาขา ผู้นำเพื่ออนาคตที่เตรียมไว้
400 คน พนักงานระดับหัวหน้างานกว่า 2,800 คน จะกระจายกันอยู่ในสายงานต่างๆ
ทั่วทุกสาขา กองทุนทัพคนหนุ่มซึ่งกำลังอยู่ในวัย 40-50 ปีมีการขยับกันใหม่หลายคน
แล้วถ้า บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ เลื่อนเข้ามาแทน ประกิต ประทีปะเสน จริงๆ ก็เป็นเรื่องน่าหวาดเสียวแทนเหมือนกัน
"เราตั้งเป้าหมายว่าธนาคารของเราจะต้องมีขนาดสินทรัพย์เลื่อนอันดับเข้าไปอยู่
1 ใน 3 ของธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศให้ได้" คำพูดที่ธารินทร์ นิมมานเหมินท์
แอบพูดกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารนั้น อาจจะตัดเชือกกันในเร็วๆ นี้ก็ได้
ใครจะรู้