Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2547
วัลลภา ไตรโสรัส Generation ใหม่ "สิริวัฒนภักดี"             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 


   
www resources

CapitaLand Homepage

   
search resources

Capital Land
ที.ซี.ซี. แลนด์, บจก.
ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์, บจก.
เจริญ สิริวัฒนภักดี
วัลลภา ไตรโสรัส
Real Estate




วัลลภา ไตรโสรัส (สิริวัฒนภักดี) ลูกสาวคนที่สองของเจริญ คือผู้ที่ได้โอกาสครั้งใหญ่ ในการเข้าไปรับผิดชอบต่อยอดทรัพย์สินทางด้านที่ดินของตระกูลที่มีจำนวนมหาศาล โดยร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ "แคปปิตอล แลนด์" ที่มีรัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ประตูห้องรัตนโกสินทร์ ห้องชุดหรูบนชั้น 28 ของโรงแรมพลาซ่าแอทธินี เปิดออกมา ผู้หญิงร่างเล็กท่าทางสดใสคนหนึ่งก้าวออกมาทักทาย "ผู้จัดการ" อย่างอ่อนหวาน

เป็นครั้งแรกของวัลลภา ไตรโสรัส (สิริวัฒนภักดี) ที่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์พิเศษพร้อมสามีและลูกชาย-หญิง ซึ่งน่าจะมีนัยสำคัญสะท้อนไปถึงประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ "สิริวัฒนภักดี" ซึ่งถึงเวลาที่ต้องเปิดตัว generation ใหม่ของตระกูลให้ก้าวมาเป็นที่รู้จักในวงการธุรกิจมากขึ้น

วัลลภา อายุ 30 ปี เป็นลูกสาวคนที่สองของเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ที่ถูกวางบทบาทให้เป็นผู้ต่อยอดทรัพย์สินทางด้านอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ว่านอกจากการเป็น "ราชันย์" แห่งวงการน้ำเมาแล้ว เจริญคือ "ราชาที่ดิน" อีกคนหนึ่งของเมืองไทย ที่ดินมากมายในเมืองไทยล้วนแล้วแต่มีชื่อเขาเป็นเจ้าของ เช่น ที่ตั้งโครงการ โอ.พี.เพลส บนถนนเจริญกรุง อาคารเก่าอายุกว่า 100 ปี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา "อี๊สต์เอเชียติ๊ก" เจ้าของโรงแรมในเครืออิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค กว่า 10 โรงแรมที่ซื้อต่อมาจากอากร ฮุนตระกูล เจ้าของโครงการสนามกอล์ฟราชพฤกษ์, โรงแรมตะวันนารามาดา, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า, อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ บนถนนสาทร ฯลฯ

ทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาลของกลุ่ม ที.ซี.ซี. โฮลดิ้ง ซึ่งเกิดจากวิธีคิดของคนรุ่นพ่อที่จบการศึกษาเพียงแค่ชั้น ป.4 กำลังส่งต่อถึงคนรุ่นลูกที่มีวิธีคิดและการบริหารจัดการอย่างคนรุ่นใหม่

วัลลภาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การวางผังเมือง มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ที่ดินจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

หลังจบการศึกษาได้ไปหาประสบการณ์ด้วยการเป็นนักวิเคราะห์การเงิน (Analyse, Corporate Finance) ที่บริษัทเมอร์ริล ลินช์ (เอเชียแปซิฟิก) จำกัด ฮ่องกง เป็นเวลา 2 ปี

ปี 2544 กลับมารับหน้าที่กรรมการบริหาร บริษัทที.ซี.ซี.โฮลดิ้ง ก่อนขึ้นไปรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ใหญ่ บริษัท ที.ซี.ซี.แลนด์ ดูแลจัดระบบทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด รวมทั้งการก้าวเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทที่มีประสบการณ์ทางด้านพัฒนาที่ดินมาแล้วทั่วโลก อย่างแคปปิตอลแลนด์ เกิดบริษัทใหม่ขึ้นมาคือ ที.ซี.ซี. แคปปิตอลแลนด์ จำกัด โดยเธอนั่งอยู่ในตำแหน่งกรรมการบริหาร

วิธีคิดและการหล่อหลอมบ่มเพาะการใช้ชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ของคนรุ่นที่ 2 คนนี้จึงน่าสนใจทีเดียว

วัลลภามีพี่สาว 1 คน น้องสาว 1 คน และน้องชาย อีก 2 คน "อายุไล่เลี่ยกันและอยู่ด้วยกันมาตลอด ทำให้เราค่อนข้างสนิทกันมากตั้งแต่เด็ก จะแยกจากกันบ้างก็ช่วงเรียนหนังสือ และแถวๆ บ้านก็ยังมีญาติๆ ทำให้เป็นครอบครัวใหญ่ที่ค่อนข้างอบอุ่น" เธอเล่าย้อนอดีตในวัยเด็กให้ฟังด้วยน้ำเสียงอ่อนๆ ภาพของเธอในวันนี้เป็นคนที่มีบุคลิกคล่องแคล่ว มั่นใจอย่างคนรุ่นใหม่ แต่มีท่าทีและคำพูดที่แฝงไปด้วยความอ่อนน้อม

เป็นลูกสาวคนหนึ่งของเจริญและคุณหญิงวรรณา ที่เรียนเก่งมาก เริ่มเรียนชั้นประถมที่อัสสัมชัญบางรัก ก่อน ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน และจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยรางวัลเกียรติยศ และยังคว้าเกียรตินิยมในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย

"แม่มักสอนให้ประหยัด ให้ใช้เงินเกี่ยวกับการเรียน และสุขภาพ จำได้ว่าของเล่นหรือของฟุ่มเฟือยเมื่อสมัยเล็กๆ คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยซื้อให้ ได้มาบ้างเพราะพวกญาติซื้อให้มากกว่า" เธอเล่าต่อ

การทำธุรกิจแบบครอบครัวทำให้เธอเห็นการทำงานของบิดามารดามาโดยตลอด ได้ฟังผู้ใหญ่ประชุม และคุยกันที่บ้าน และบ่อยครั้งในการดูงานด้านสุราในต่างประเทศของเจริญ เขามักจะเอาลูกๆ ไปด้วยเสมอ

การได้เห็นภาพพ่อแม่ทำงานหนักในวัยเด็ก อาจเป็นสิ่งที่ซึมลึกลงไปในจิตใจของลูกๆ ทุกคน จนเกิดความรู้สึกว่าเมื่อโตขึ้น เรียนจบ ต้องมาช่วยงานที่บ้าน ทั้งๆ ที่ พ่อแม่ไม่ได้ตีกรอบชัดเจนว่า ต้องเรียนในสาขาวิชาที่กลับมาช่วยงานที่บ้านได้เท่านั้น

"ตอนตัดสินใจเลือกเรียนด้านสถาปัตยกรรม เพราะชอบทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ ไม่ได้คิดว่าจบแล้วจะมาช่วยงานด้านพัฒนาที่ดิน เพราะในตอนนั้นคุณพ่อเองก็คงยังไม่มีแผนเรื่องที่ดินชัดเจน เพียงแต่ว่าที่บ้านทำธุรกิจอุตสาหกรรม การซื้อที่ดินเป็นเรื่องจำเป็น ถือว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่ความคิดว่าต้องกลับไปทำงานที่บ้าน เริ่มชัดเจนขึ้นตอนมาศึกษาต่อระดับปริญญาโท ซึ่งคุณพ่อก็แนะนำว่าน่าจะเรียนทางด้านบริหาร ด้านเศรษฐศาสตร์"

หลังจบปริญญาตรีที่เมืองไทย เธอได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานที่บ้านเกี่ยวกับเรื่องโครงการต่างๆ ที่กำลังพัฒนา รวมทั้งช่วยจัดระบบการเก็บโฉนด เอกสารต่างๆ ด้านที่ดิน ให้เป็นหมวดหมู่ไม่ให้กระจัดกระจายอย่างที่เคยเป็นอยู่

ส่วนการกลับมารับผิดชอบโครงการพัฒนาที่ดินของครอบครัวอย่างเต็มตัวครั้งนี้ เธอยังมีโสมพัฒน์ ไตรโสรัส ผู้เป็นสามี เข้ามาช่วยเป็นกำลังสำคัญในการทำงานด้วย

อดีตการเรียนและการทำงานของคนทั้งคู่แทบจะไม่แตกต่างกันเลย โสมพัฒน์อายุมากกว่าวัลลภา 3 ปี ได้รางวัลเรียนดีเกียรติยศจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลในระดับมัธยม ก่อนไปศึกษาต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาโท 2 ใบจากคณะเศรษฐศาสตร์การวางผังเมือง มหาวิทยาลัยลอนดอน และปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ที่ดินจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

ปี 2537 โสมพัฒน์เข้าไปทำงานกับบริษัท ที.ซี.ซี.โฮลดิ้ง เป็นครั้งแรกทางด้านดูแลทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีที่ดิน ตึกแถวเก่า อพาร์ตเมนต์ต่างๆ ดูว่าจะทำอย่างไรให้ได้อัตราค่าที่พักสูงขึ้น รวมทั้งช่วยในด้านการปรับปรุงโรงแรม หลังจากนั้นจึงได้ไปทำงานในตำแหน่งเดียวกับวัลลภา ที่เมอร์ริล ลินช์ และไปเป็นนักวิเคราะห์การลงทุนที่บริษัท Metlife Invesment Asia ในฮ่องกง ก่อนกลับมานั่งตำแหน่งกรรมการบริหารที่ ที.ซี.ซี.โฮลดิ้ง, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที.ซี.ซี.แลนด์ และเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี.ซี.แคปปิตอลแลนด์ จำกัด

เจริญมีที่ดินมากก็จริง แต่ทั้งลูกสาวกับลูกเขยยืนยันว่า เขาเป็นคนที่มีความจำดีมาก ที่ดินทุกแปลงจำได้ และมีการลงบันทึกไว้หมดว่าซื้อเมื่อไร จากใคร สาเหตุที่ซื้อเพราะอะไร ทุกแปลงมีเรื่องราวเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

"คุณเจริญจะมีวิธีคิดตั้งแต่การซื้อที่ดินแล้วว่า จะซื้อที่ดินแปลงไหน ซื้อมาแล้วสามารถนำไปพัฒนาเป็นอะไรบ้างในอนาคต รวมทั้งวิธีการรวมที่ต่อกันเป็นผืนกว้างๆ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงการใหญ่ ซึ่งวิธีการคิดนี้มักจะเอา มาถ่ายทอดให้ผู้บริหารฟัง โดยที่ผมกับคุณวัลลภาซึมซับวิธีคิดในการซื้อที่ดินของคุณพ่อมานานนับ 10 ปี"

"หัวสมองคุณพ่อเหมือนลิ้นชักที่พอเปิดออกมาก็จะมีข้อมูลไหลออกมา แต่ตอนหลังทุกอย่างง่ายขึ้นเพราะจัดเข้าระบบหมด" วัลลภากล่าวเสริม

เมื่อทุกอย่างเป็นระบบ การมองหาผู้ร่วมทุนก็ได้เกิดขึ้น ปัจจุบันในธุรกิจทางด้านที่ดินจะมีโครงสร้างชัดเจนว่าหากซื้อที่ดินจะเป็นหน้าที่ของ ที.ซี.ซี.แลนด์ แต่ถ้าเป็นแคปปิตอลแลนด์จะลงทุนเพื่อพัฒนาเลยไป

"อำนาจในการตัดสินใจ เรามีบอร์ดหลายระดับ พ่อแม่นั่งอยู่ในบอร์ดของกรรมการ เรามีบอร์ดบริหารที่มีผู้บริหารของกลุ่ม ที.ซี.ซี.กับแคปปิตอลแลนด์นั่งอยู่ บอร์ดจัดการก็มีดิฉัน คุณโสมพัฒน์ และคุณเฉิน เหลียน ปัง (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัทที.ซี.ซี.แคปปิตอลแลนด์) เพียง 3 คน อำนาจในการตัดสินใจก็จะอยู่ที่บอร์ดจัดการ ส่วนในเรื่องนโยบายหรือการจัดการที่สูงขึ้นไป ก็จะเข้าบอร์ดกรรมการ ในธุรกิจอสังหาฯ คุณพ่อเป็นแค่ที่ปรึกษามากกว่า แต่ในสายธุรกิจโฮลดิ้งการเงินหรือลงทุนที่พี่น้องคนอื่นๆ ดูอยู่ คุณพ่ออาจจะเป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดกว่าหน่อย เพราะแนวทางในการทำธุรกิจอาจยังไม่ชัดเจนเท่า" วัลลภาอธิบายเพิ่มเติม

บริษัทมากมายใน ที.ซี.ซี.โฮลดิ้ง ซึ่งมี 5 ธุรกิจหลัก คือ กลุ่มเบียร์ กลุ่มสุรา กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มลงทุนและการเงิน ปัจจุบันกำลังปรับโครงสร้างใหม่ให้เป็นหมวดหมู่ชัดเจน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่มอุตสาหกรรมกับอสังหาริมทรัพย์

เหตุผลสำคัญเพราะต้องเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และอีกเหตุผลหนึ่งคือน่าจะถึงเวลาแล้วในการเตรียมผ่องถ่ายภาระสู่ Generation ที่ 2 ซึ่งปัจจุบันลูกๆ ทั้ง 5 คน จบการศึกษาหมดแล้ว และกำลังถูกบ่มเพาะในเรื่องธุรกิจที่แต่ละคนถนัด ยกเว้นลูกชายคนเล็ก ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอนด้าน MIS

การเลี้ยงลูกคือความสำเร็จอย่างหนึ่งของเจริญและคุณหญิงวรรณา ลูกสาวคนโตของครอบครัว "อาทินันท์" จบปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทด้านการบริหารจากมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา และมีปริญญาโทธุรกิจระหว่างประเทศจาก Imperial College ประเทศอังกฤษ พ่วงมาอีกใบ

ฐาปนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญา โทสาขาบริหารธุรกิจหรือเอ็มบีเอ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

ฐาปนีจบปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จาก Massachusetts Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ปณตจบการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน และกำลังศึกษาต่อทางด้าน MIS ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน

"คุณอาทินันท์จะช่วยดูในเรื่องการลงทุน และบริหารการเงินต่างๆ ในส่วนตัวแล้วพี่เขาจะชอบในเรื่องการดีไซน์และการตกแต่ง ส่วนคุณฐาปนช่วยคุณพ่อดูแลในเรื่องเครื่องดื่ม คุณฐาปนีเข้ามาดูในส่วนของ ที.ซี.ซี.โฮลดิ้ง เรื่องการเงิน บัญชี และบุคคล ส่วนคุณปณตชอบเรื่องคอมพิวเตอร์ ก็ดูในเรื่องการวางระบบไอทีของทั้งกลุ่ม ตอนนี้ไปเรียนต่อด้าน MIS เป็นโปรแกรมหนึ่งที่ดีมาก เขาอยากไปเรียนเพิ่มเติม" วัลลภาเล่าถึงพี่น้องแต่ละคน ด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความภูมิใจ

ทุกวันนี้ทุกคนอยู่รวมกันที่บ้านหลังใหญ่เนื้อที่ประมาณ 3-4 ไร่บนถนนสุริวงศ์ เยื้องกับอาคารที.ซี.ซี. ด้านหน้าจะเป็นบ้านเก่าอายุเกือบ 100 ปี เคยเป็นของธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเจริญใช้เป็นบ้านรับรอง และเป็นที่ประชุมของบริษัทต่างๆ ในเครือ ส่วนพื้นที่ด้านหลังสร้างขึ้นใหม่สูง 10 ชั้น เป็นบ้านที่ลูกๆ แต่ละคนอาศัยอยู่คนละชั้น

"ก็เข้ามาช่วยวางผังบ้านสุริวงศ์หลังที่อยู่อาศัยของครอบครัวในปัจจุบัน ช่วยดูแปลนทั้งหมด ตั้งแต่คอนเซ็ปต์ และแปลนของบ้านว่าจะมีอะไรบ้าง ทั้ง land scape และดีไซน์ โดยมีคุณอาทินันท์ช่วยดูเรื่องเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งภายใน"

ด้วยภาระมากมายที่รับผิดชอบ จึงได้กำหนดให้ทุกวันเสาร์ต้นเดือน เป็นวันพร้อมหน้าพร้อมตาของครอบครัว ปัจจุบันเพิ่มสมาชิกใหม่ "น้องตั้น" และ "น้องแตม" หลานชายและหลานสาวคู่แรกของตระกูล โดยมีฐาปนีเป็นเสมือนเลขา คอยตามสมาชิก และกำหนดวาระ ในการพูดคุยและปรึกษาเรื่องต่างๆ ของครอบครัว

แต่ที่แน่นอนทุกวันเสาร์ต้นปี ทุกคนจะไปรวมตัวกันที่ห้องพระของบ้าน เพื่อร่วมพิธีทางศาสนา ซึ่งเจริญให้ความสำคัญมาก

บทบาทของนักบริหารของวัลลภาเริ่มต้นอย่างเข้มข้นไปพร้อมๆ กับบทบาทของ "แม่" ลูกชายคนโตของเธอ อายุเพียงแค่ขวบเศษ ส่วนลูกสาวอายุประมาณ 4-5 เดือน การแบ่งเวลาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก

"มีเวลาว่างก็จะหนีลูกไปตีกอล์ฟกัน 2 คน ไปกันตั้งแต่เช้า ตีแค่ 9 หลุม รีบกลับมาก่อนลูกตื่น หรือไปตอน กลางวันที่เขาหลับกลางวัน ขับรถขึ้นทางด่วนจากสุริวงศ์ ลงตรงวิภาวดีใช้เวลาขับรถเพียง 20 นาที ตีกอล์ฟประมาณชั่วโมงครึ่ง ใช้เวลาทั้งหมดไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่เดี๋ยวนี้ไปตอนเย็นเพราะว่าลูกคนโตสามารถไปด้วย โดยให้ไปวิ่งเล่นที่ข้างสนาม หรือถ้าต่างจังหวัดเต็มที่ตอนนี้ไปได้แค่ทะเลที่สมุย หรือภูเก็ต ค้างคืนเดียว เพราะห่วงลูก"

เธอบอกว่าในครอบครัวคนจีนอย่างเธอ สุภาษิตสอนใจมีมากมาย โดยคุณพ่อได้มาจากคุณปู่คุณย่า คุณแม่ได้มาจากคุณตาคุณยาย ทั้งหมดถูกถ่ายทอดมาถึงเธอและพี่น้องทุกคน และลูกของเธอก็จะได้รับคำสอนเหล่านั้นด้วย

"อดทนแล้วจะสำเร็จ" "เสียสละพ้นภัย" "เงียบอรหันต์" "ร่าเริงอายุยืน" "สุขภาพเป็นของเราเอง เงินทอง เป็นของคนอื่น" "อำนาจเป็นของชั่วคราว ชื่อเสียงและเกียรติยศเป็นสิ่งยั่งยืนตลอดกาล" เป็นคติที่ทายาททุกคนของเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็กๆ

ก่อนจากกันวันนั้น วัลลภาต้องแวะกลับไปส่งลูกที่บ้าน ส่วนสามีขึ้นไปประชุมงานกับทีมงานต่อที่โรงแรม

"ไหว้คนต้องก้มหัวลงมานะลูก ...หนูต้องทานคุกกี้ชิ้นนี้ให้หมดนะ ห้ามขว้างทิ้ง เสียของ" เสียงมารดาสอนหลานชายคนเดียวของเจ้าสัวเจริญ และคุณหญิงวรรณา ยังคงแว่วๆ ตามมา   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us