Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2547
"Thai" Oil Hunter             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 

   
related stories

"พื้นที่ปกติทุกแห่ง เราทำได้หมด"
"ที่โอมานเขาให้เครดิตเรามาก"
Learning from Partner ก้าวกระโดดของ ปตท.สผ.

   
www resources

โฮมเพจ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.)

   
search resources

ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.), บมจ.
โททาล เอ็กส์โพลเรชั่น แอนด์ โปรดักส์ชั่น
ไทยเชลล์ เอ็กซพลอเรชั่น แอนด์ โปรดักชั่น
มารุต มฤคทัต
Energy




ในบทบาทนักไล่ล่าหาน้ำมัน ปตท.สผ.ในฐานะบริษัทน้ำมันแห่งชาติของไทยใช้ยุทธวิธีเรียนรู้จาก partner ในการยกระดับตัวเอง จนทำให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ข้ามชาติหลายรายให้การยอมรับได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่ ปตท.สผ.เพิ่งมีอายุได้ไม่ถึง 20 ปีเท่านั้น

ภาพลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระราชทานชื่อพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมของโครงการบงกช และอาทิตย์ว่า "พื้นที่ปิโตรเลียม นวมินทร์" ซึ่งถูกประดับไว้บนฝาผนังห้องรับรอง บนชั้น 7 อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ดูจะเป็นสิ่งตอกย้ำภารกิจอันสำคัญยิ่งของปตท.สผ. ที่คนในวงการค้าน้ำมันทั่วโลกต่างรับรู้กันแล้วว่าเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

"เราไปขอพระราชทานนามของแหล่งผลิตทางตอนใต้ของอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซบงกช และแหล่งอาทิตย์ที่เราเป็นผู้ดำเนินการ ท่านก็ทรงพระราชทานนามมาให้เมื่อปี 2544 ซึ่งพวกเราถือว่าเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง" มารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. บอกกับ "ผู้จัดการ"

แม้การเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการ (operator) ผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งบงกชเมื่อปี 2541 มิใช่ปฐมบทในภารกิจของ ปตท.สผ. แต่การได้เป็น operator ของแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่น ให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติรายนี้ กล้าที่จะออกไปกระโดดโลดแล่นในสนามใหญ่ของการขุดเจาะ สำรวจ แสวงหา และผลิตน้ำมัน ในแหล่งสัมปทานอื่นๆ ทั่วโลก นอกเหนือจากพื้นที่ภายในประเทศไทย

เป็นการออกไปเล่นบทบาทนายพรานที่ตามล่าหาน้ำมันทั่วโลกด้วยตัวเอง ทั้งที่บริษัทนี้เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาได้เพียง 10 ปีเศษ

ปตท.สผ.ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2528 ด้วยภารกิจเฉพาะหน้า คือการเป็นตัวแทนภาครัฐในรูปแบบของบริษัทจำกัด ที่เข้าไปร่วมถือหุ้น 25% ในบริษัทไทยเชลล์ เอ็กซพลอเรชั่น แอนด์ โปรดักส์ชั่น ผู้ดำเนินงานในแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ กิ่งอำเภอลานกระบือ (สถานะในขณะนั้น) จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งไทยเชลล์ฯ ได้รับสัมปทานจากกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2522

"ต้องเรียกว่าเป็นวิสัยทัศน์ของผู้ใหญ่สมัยนั้น โดยเฉพาะท่านอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พิสุทธิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ซึ่งท่านเห็นว่ากิจกรรมสำรวจปิโตรเลียม หรือกิจกรรมที่ทำในเรื่องน้ำมัน ถึงแม้จะมี ความเสี่ยงสูง แต่ว่าบางครั้งก็มีกำไรสูง เพราะฉะนั้นในเงื่อนไขสัมปทานที่ได้ให้กับบริษัทฝรั่ง รวมทั้งที่ได้ให้กับบริษัทเชลล์ไปด้วย มีข้อกำหนดอยู่ข้อหนึ่งเลยว่า ถ้าเผื่อสำรวจไปแล้วพบน้ำมัน ขอให้รัฐมีสิทธิ เข้าไปร่วมลงทุนด้วย เป็นขั้นเป็นตอนไป เริ่มจาก 25% หลังจากเริ่มผลิตแล้ว ตอนนั้นพอเชลล์พบน้ำมัน เราก็เข้าไปดูเงื่อนไขนี้ เราก็ขอเข้าไปในนามของรัฐ ตอนนั้นความ จริงขอเข้าไปในนามของ ปตท.ใหญ่ แต่บังเอิญข้อกำหนดตามกฏหมาย หรือตามเงื่อนไขสัมปทานกำหนดให้เป็นบริษัท ต้องเป็นบริษัทเข้าไปก็เลยต้องตั้งเป็นบริษัท ปตท.สผ.ขึ้นมา แล้วเราก็เข้าไป ก็เป็นจุดเริ่มต้น" มารุตเล่า

การก่อกำเนิดขึ้นของ ปตท.สผ. เกิดขึ้นหลังจากประเทศไทยเพิ่งเริ่มตื่นตัวในเรื่อง การจัดหาพลังงานมาใช้ในประเทศได้เพียง 10 กว่าปี หลังจากมีการตราพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ปี 2514 ที่เปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย

แต่แรงกดดันที่ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งจัดหาแหล่งปิโตรเลียมสำหรับนำมาใช้ภายในประเทศ น่าจะมาจากวิกฤติการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกครั้งแรกที่เกิดขึ้นในปี 2517 ทำให้ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งจัดหาแหล่งพลังงานเข้ามาใช้เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้า

การประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติครั้งที่ 1/2519 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2519 ที่มีธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน ถือเป็นการประชุมที่กำหนดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญต่อการก่อกำเนิดของ ปตท.สผ. เพราะหัวข้อหลักที่จะประชุม ในวันนั้นเป็นการพิจารณาข้อเสนอแนะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เรื่องโครงการ ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานปรมาณู เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า

แต่ประธานในที่ประชุมได้ให้กรมทรัพยากรธรณีชี้แจงความคืบหน้าของการสำรวจ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปรากฏว่ามีความคืบหน้าไปมาก เพราะบริษัทยูเนี่ยนออยล์แห่งประเทศไทย (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นยูโนแคล) ผู้รับสัมปทานได้พบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในปริมาณมากพอแก่การให้ความสนใจ ที่ประชุมจึงได้ให้เลื่อนการพิจารณาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานปรมาณูออกไปก่อน

"การตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาโครงการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานปรมาณู (ซึ่งจักต้องจัดซื้อจากต่างประเทศ) ไปอีก 6 เดือน ในวันที่ 30 ธันวาคม 2519 นั้น ได้ช่วยให้กิจการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติกับน้ำมันดิบ (ซึ่งเรียกสั้นๆ รวมกันว่า "กิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม") ซึ่งเป็นการพัฒนาทรัพยากรธรณี ซึ่งมีอยู่แล้วภายในประเทศ ได้มีโอกาสแจ้งเกิดมาถึงทุกวันนี้ เป็นเวลายาวนานเกือบ 30 ปีแล้ว" พิสุทธิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และอดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระหว่างปี 2522-2525 เขียนบันทึกไว้ในเอกสาร "ความเป็นมาของแหล่งน้ำมันสิริกิติ์"

การค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (แหล่งเอราวัณ) ของบริษัทยูโนแคล ส่งผลต่อมาให้รัฐบาลต้องจัดตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย (อ.ก.ธ.) ขึ้น เพื่อเป็นผู้วางท่อนำก๊าซจากปากหลุมที่ยูโนแคลขุดขึ้นได้ มาใช้ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ต่อมาในวันที่ 29 ธันวาคม 2521 ได้มีการสถาปนาการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ขึ้น โดยการรวมกิจการกันระหว่าง อ.ก.ธ. กับองค์การเชื้อเพลิง กระทรวงกลาโหม (ปั๊มสามทหาร) เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรซึ่งจะเข้ามารับผิดชอบกิจการด้านปิโตรเลียมในประเทศไทยอย่างครบวงจร

ส่วนบริษัทไทยเชลล์ เอ็กซพลอเรชั่น แอนด์ โปรดักส์ชั่น จัดตั้งขึ้นในปี 2522 จากการเชิญชวนของกระทรวงอุตสาหกรรมในยุคนั้นเช่นกัน ให้เป็นผู้เข้ามาสำรวจหาแหล่ง ปิโตรเลียมบนบก ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พร้อมกับบริษัทเอสโซ่ เอ็กซพลอเรชั่น ที่ได้เข้ามาสำรวจในพื้นที่ภาคอีสาน

หลังจากไทยเชลล์สามารถขุดพบแหล่งน้ำมันดิบแห่งแรก ที่กิ่งอำเภอลานกระบือ ในวันที่ 11 สิงหาคม 2524 จึงเป็นที่มาของ การเข้าไปร่วมทุน และถือกำเนิดขึ้นของปตท.สผ.ในอีก 4 ปีถัดมา

แหล่งน้ำมันดังกล่าว ต่อมาได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถว่า "แหล่งสิริกิติ์" ตามพระนามของพระองค์ ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในปัจจุบัน ปตท.สผ.ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัทไทยเชลล์ฯ และเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท ปตท. สผ.สยาม

แต่การเข้าไปร่วมถือหุ้นเพียง 25% อย่างเดียว คงไม่สามารถทำให้ ปตท.สผ. สามารถก้าวขึ้นไปเป็นบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันได้เต็มรูปแบบเหมือนทุกวันนี้

"อันนี้ต้องยกเครดิตให้กับท่านพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ให้นโยบายว่า ปตท.สผ.จะต้องดูดซับความรู้ทางด้านเทคโนโลยีในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากผู้ร่วมทุนมาให้ได้มากที่สุด" แหล่งข่าวใน ปตท. สผ.ผู้หนึ่งเล่า

การเข้าไปร่วมถือหุ้นในแหล่งน้ำมัน สิริกิติ์ จึงเป็นโอกาสที่เปิดให้ ปตท.สผ. สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีในการสำรวจทางธรณีวิทยา เพื่อหาแหล่งน้ำมันในดิน ตลอดจนการขุดเจาะเพื่อนำน้ำมันที่สำรวจ พบขึ้นมาใช้ และเป็นการเปิดรูปแบบการเร่งพัฒนาธุรกิจครั้งใหญ่ โดยการเรียนรู้จากผู้ร่วมทุน ซึ่ง ปตท.สผ.นำมาใช้ จนสามารถก้าวออกไปโลดแล่นในแหล่งสัมปทานน้ำมันในต่างประเทศได้ในภายหลัง

จากจุดเริ่มต้นในการเข้าไปร่วมถือหุ้นในแหล่งสิริกิติ์ กับบริษัทไทยเชลล์ฯ ปตท.สผ.ได้เข้าไปร่วมถือหุ้นในแหล่งน้ำพอง กับบริษัทเอสโซ่ เอ็กซพลอเรชั่น ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น แต่แหล่งนี้ดูจะมีศักยภาพด้อยกว่าแหล่งสิริกิติ์

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ ปตท.สผ.เกิดขึ้นในปี 2531 เมื่อบริษัทเท็กซัส แปซิฟิก บริษัทน้ำมันจากสหรัฐอเมริกา ต้องการคืนสัมปทานการสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งบงกช ซึ่งเป็นแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย อยู่ห่างจากชายฝั่งจังหวัดสงขลาไป 203 กิโลเมตร คณะ รัฐมนตรีขณะนั้นได้มอบหมายให้ ปตท.สผ.เข้าไปเป็นแกนนำในการพัฒนาโครงการนี้ต่อจากเท็กซัส แปซิฟิก

หลังจากรับภารกิจดังกล่าวเข้ามา เป้าหมายของ ปตท.สผ.ต้องการจะเป็นผู้ดำเนิน การ (operator) โครงการนี้อย่างเต็มตัว แต่ติดขัดที่ยังไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ เพียงพอ ปตท.สผ.จึงต้องชักชวนบริษัทโททาล (Total) จากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย โดยมีเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าโททาลจะต้องฝึกฝนคนของ ปตท.สผ.ให้สามารถเป็น operator ในแหล่งนี้ได้ภายใน 5 ปี หลังจากวันแรกที่เริ่มนำก๊าซขึ้นมาใช้

"ตอนนั้น ผู้บริหารของ ปตท.สผ.ก็ฟันธงไปเลยว่า 5 ปีหลังจากเริ่มผลิต ไม่ว่าเราจะพร้อมหรือไม่พร้อม เราจะดำเนินการแล้ว ยูเป็นผู้ถือหุ้นเฉยๆ ตอนแรกเขาก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่าจะทำได้หรือเปล่า แต่เราก็ยื่นคำขาดบอกว่าเราจะเสี่ยง ก็ฟันธงกันอย่างนั้นเลย พอโททาลรู้อย่างนั้น เขาก็เห็นว่าไม่ได้แล้ว หากเราไม่พร้อมแล้วเราเข้า ไปดำเนินการนี่ ถ้าเจ๊งเขาก็เจ๊งด้วย เพราะฉะนั้นก็เลยมีการเตรียมการที่จะเทรนพวกเราอย่างมโหฬาร" มารุตเล่า

ปตท.สผ.ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนในการพัฒนาแหล่งบงกช เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2533 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียง 5 ปี หลังจากเริ่มจัดตั้งบริษัทและเข้าไปร่วมถือหุ้นในแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ โดยในแหล่งบงกช นอกจากโททาล แล้ว ปตท.สผ.ยังได้ชวนบริษัท บริติชแก๊ส (BP) ของอังกฤษและ บริษัทสแตทออยล์ (STATOIL) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของนอร์เวย์ เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย แต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่าโททาล

แหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งนี้เริ่มผลิตได้ครั้งแรกในวันที่ 15 กรกฎาคม 2536 ดังนั้น ภารกิจ ของโททาลจึงจำเป็นต้องเร่งฝึก ฝนคนของ ปตท.สผ.ให้พร้อมรับการเข้าไปเป็น operator ในแหล่งนี้ให้ทันภายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2541

"เราเอาแผนองค์กรมาดูว่าพอเริ่มผลิตแล้วจะต้องมีบุคลากรด้านไหนบ้าง แล้วเราก็เตรียมบุคลากรประมาณ 20 กว่า คน ที่กำหนดเป็น key position แล้ว key position พวกนี้ เราทำแผนพัฒนาเฉพาะตัวขึ้นมา เป็นแผนของแต่ละคนเลย แล้ว ส่งพวกเขาเข้าไปทำงานกับโททาลเลย ส่ง ออกไปเลย ออกไปทำงานต่างประเทศ ไป อยู่ตะวันออกกลางบ้าง ไปอยู่ทะเลเหนือบ้าง อยู่อินโดนีเซีย ทุกที่ อเบอร์ดีน สกอตแลนด์ ก็แล้วแต่ที่โททาลเขามีออเปอเรชั่นใหญ่ๆ โดยที่เรามีเงื่อนไขว่าพวกนี้ไม่ใช่ไปดูงาน ไม่ใช่ไปเรียน แต่ต้องเอาไปใส่ในองค์กรของเขาเลย แล้วก็มีการโปรโมตขึ้นมาเป็นขั้นเป็นตอน"

Key position จำนวนกว่า 20 คนของ ปตท.สผ.กระจายกันออกไปทำงานตามไซต์งานของโททาลทั่วโลกตั้งแต่ปี 2533 โดยแต่ละคนต้องทำงานเหมือนเป็นพนักงานของโททาลตั้งแต่ 2-6 ปีตามลักษณะเฉพาะของแต่ละงาน

"อันนี้ผมว่าเป็นโปรแกรมที่จะเรียกว่า turn around คนของเราก็ได้ เพราะว่าถ้าเกิดเราไปนั่งเรียน หรือเดินตามเฉยๆ จะไม่มีความมั่นใจ จะทำไม่ได้ แต่พวกเรากลับมา ถึงปี 1998 ที่เรารับเป็น operator ทุกคนกลับมาหมด แล้วก็เข้าไปสวมบทบาท ก็สามารถจะ run งานกันไปได้"

วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เป็นวันที่ ปตท.สผ.เข้าไปรับช่วงการเป็น operator ในแหล่งบงกชต่อจากโททาล และเป็นการรับช่วงงานก่อนกำหนดถึง 15 วัน

แม้ว่าการเข้าไปเป็น operator ในแหล่งบงกชของ ปตท.สผ.โดยผ่านการเทรนอย่างหนักของโททาล ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ ปตท.สผ.สามารถก้าวขึ้นชั้นมาเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติได้อย่างครบวงจร แต่จุดหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงได้ คือการเข้าไปเป็น operator ในแหล่งน้ำมัน PTTEP 1 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพราะที่นี่ เปรียบเสมือนกับเวทีขนาดเล็กที่ให้ ปตท. สผ.ได้ฝึกฝนความชำนาญในภาคปฏิบัติจริง ก่อนที่จะกระโดดออกไปโลดแล่นในต่างประเทศ

PTTEP 1 เป็นแหล่งน้ำมันดิบบนบก ที่บริษัทบีพี ปิโตรเลียมดีเวลลอปเมนท์ได้รับสัมปทานจากรัฐตั้งแต่ปี 2528 พื้นที่สัมปทานครอบคลุมพื้นที่ 9.04 ตารางกิโลเมตร ในจังหวัดสุพรรณบุรีและนครปฐม แม้ว่าบีพีจะค้นพบน้ำมันแล้ว แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก ไม่จูงใจในการลงทุน ปตท.สผ.จึงได้ซื้อกิจการของบีพีมาดำเนินการต่อในปี 2536 โดย ปตท.สผ.สวมบทบาทเป็นทั้งผู้สำรวจ พัฒนา และผลิตน้ำมันจากแหล่งนี้ โดยเริ่มผลิตครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2536

ปตท.สผ.ได้อาศัยเทคโนโลยีที่ได้เรียนรู้จากการเข้าไปร่วมถือหุ้นในบริษัทไทยเชลล์ ในแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ เป็นเวลากว่า 7 ปี มาใช้ในการดำเนินงานในแหล่ง PTTEP 1 ดังนั้นหากจะถามว่าโครงการใดที่ ปตท.สผ.ได้รับบทบาทเป็น operator อย่างเต็มตัวเป็นแห่งแรก คำตอบก็คงต้องเป็นที่โครงการนี้

ปัจจุบันแหล่ง PTTEP 1 สามารถผลิตน้ำมันดิบขึ้นมาใช้ได้วันละ 620 บาร์เรล และจากการสำรวจ ปตท.สผ.ยังได้ค้นพบแหล่งน้ำมันเพิ่มเติมอีกในบริเวณใกล้เคียง ในตำบลสวนแตง อำเภอเมือง สุพรรณบุรี ซึ่งได้ตั้งชื่อว่าแหล่งสังฆจาย

จากจุดเริ่มต้นที่แหล่งสิริกิติ์กับบริษัทไทยเชลล์ มาได้ทดสอบภาคปฏิบัติจริงที่แหล่ง PTTEP 1 สำหรับการเป็นผู้สำรวจและผลิตในแหล่งน้ำมันบนบก ต่อด้วยการเข้ามาเป็น operator ในแหล่งบงกช โดยได้รับการถ่ายทอด know-how จากโททาล ได้หล่อหลอมความพร้อมให้กับ ปตท.สผ.ในการสวมบทบาทเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติอย่างเต็มตัว

ผนวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจของ ประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพาน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เป็นแหล่ง พลังงานหลักของประเทศ รัฐบาลไทยจึงได้มีการเร่งสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในความร่วมมือสำรวจหาทรัพยากร น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้ภาย ในประเทศ โดยมอบหมายให้ ปตท.สผ. เป็นหัวหอก

ในปี 2537 คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ปตท.สผ.เข้าร่วมลงทุนสำรวจและพัฒนาก๊าซธรรมชาติในแหล่งยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะ ประเทศพม่า ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 25.5% โดยผู้ที่เป็น operator คือโททาล ต่อมาในปี 2539 คณะรัฐมนตรีได้ให้ ปตท. สผ.เข้าร่วมลงทุนในแหล่งก๊าซเยตากุน ประเทศพม่าเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง โดยถือหุ้น 19.32% มีปิโตรนาส บริษัทน้ำมันแห่งชาติของมาเลเซีย เป็น operator

ในปี 2539 รัฐบาลไทยได้มีข้อตกลงกับรัฐบาลมาเลเซียในการร่วมพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนระหว่าง 2 ประเทศ อันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ JDA (Malaysia-Thailand Joint Development Area) ซึ่งจะมีการแบ่งผลประโยชน์กันฝ่ายละ 50 : 50

ปตท.สผ.รับบทบาทเป็นผู้ร่วมดำเนินการในโครงการนี้ ร่วมกับปิโตรนาส ของมาเลเซีย

ปี 2546 เป็นปีที่ ปตท.สผ.ขยายตัวออกไปยังต่างประเทศมากที่สุด โดยได้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศเวียดนาม โอมาน และแอลจีเรีย

ส่วนในปีนี้ยังได้พื้นที่สัมปทานเพิ่มในประเทศพม่า และแหล่ง JDA "ในพม่า เรียกได้ว่าตอนนี้เราเป็นบริษัทได้รับสัมปทานมากที่สุด" มารุตยืนยัน

กลางเดือนธันวาคมนี้ ปตท.สผ. คาดว่าจะเริ่มเจาะหลุมเพื่อผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่แปลง 44 ในประเทศโอมานซึ่งก๊าซธรรมชาติที่ได้จากแหล่งนี้ จะถูกส่งป้อนเข้าไปยังท่อที่ต่อตรงจากประเทศโอมานไปขายยังประเทศดูไบ แต่เป้าประสงค์หลักของการลงทุนในโอมาน ปตท.สผ.ตั้งใจว่าจะสำรวจหาแหล่งน้ำมัน

ส่วนที่เวียดนาม พื้นที่ในแปลงสัมปทานที่ 16-1 อยู่ระหว่างการสำรวจหาก๊าซธรรมชาติ แต่ในแปลงสัมปทานที่ 9-2 ได้สำรวจพบแหล่งน้ำมันแล้ว แต่เป็นแหล่ง น้ำมันซึ่งอยู่ในหินอัคนี ที่พบได้ไม่บ่อยมาก นัก พื้นที่นี้จึงอยู่ระหว่างการประเมินผลทางวิชาการว่าจะสามารถนำน้ำมันดังกล่าว ขึ้นมาใช้ได้อย่างไร

ส่วนที่แอลจีเรียยังอยู่ในกระบวน การสำรวจทางธรณีวิทยาเบื้องต้นเพื่อหาแหล่งน้ำมัน ซึ่งหากพบ จะมีตลาดใหญ่ในประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส และอิตาลี

และในเดือนธันวาคมนี้อีกเช่นกัน พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่า การกระทรวงพลังงาน มีกำหนดการจะเดินทางไปยังประเทศอิหร่าน เพื่อเจรจาเรื่องการประมูลสัมปทาน ในบล็อก 4 และ 14 ที่ ปตท.สผ.ได้ยื่นขอสัมปทานไปแล้วเมื่อต้นปีนี้

นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังเล็งที่จะเข้าไปขอสัมปทานเพิ่มเติมอีกในอีกหลายประเทศ อาทิ บังกลาเทศ และประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา

"ถ้าถามว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน ผมว่าเราจัดเป็นบริษัทน้ำมันใหญ่ในกลุ่มบริษัทน้ำมันขนาดเล็ก หรือเป็นบริษัทเล็กในกลุ่มบริษัทน้ำมันขนาดกลาง แต่เชื่อว่าในจำนวนบริษัทน้ำมันหลักๆ ของโลก ส่วนใหญ่รู้จักเราหมดแล้ว" มารุตให้ภาพ

วันที่ 20 มิถุนายนปีหน้า เป็นปีที่ ปตท.สผ.มีอายุครบ 20 ปีเต็มถ้าเป็นคน ก็จัดอยู่ในวัยหนุ่มแน่น พร้อมที่จะออกไปเผชิญ กับโลกภายนอก

แต่สำหรับในบทบาทของนายพรานตามล่าน้ำมัน ปตท.สผ. อาจถือเป็นพรานหนุ่มที่กำลังแสวงหาประสบการณ์ เพื่อมาเสริม สร้างความชำนาญในธุรกิจสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us