|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2547
|
|
เมื่อราคาน้ำมันในปีนี้แพงจนทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 21 ปีครั้งแล้วครั้งเล่า ในขณะที่ญี่ปุ่นยังต้องพึ่งการนำเข้าน้ำมันถึง 80% ของน้ำมันที่ใช้ น่าจะทำให้อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น กลายเป็นพลังงานทางเลือกที่โดดเด่น แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ญี่ปุ่นผลิตไฟฟ้าประมาณ 1 ใน 3 ด้วยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่แทนที่ญี่ปุ่นจะเร่งเพิ่มการสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ญี่ปุ่นกลับแช่แข็งแผนสร้างเตาปฏิกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่เอี่ยม ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นมีพลังงานใช้อย่างพอเพียง และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งก็กำลังจะถูกปิดตัวลง
อุบัติเหตุที่เกิดกับโรงงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นครั้งแล้วครั้งเล่า และการพยายามปกปิดเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้ทำลายภาพลักษณ์ของพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นอย่างแสนสาหัส อุบัติเหตุครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อท่อส่งไอร้อนสูงในโรงงานนิวเคลียร์ Mihama ในจังหวัด Fukui เกิดแตก และทำให้คนงานเสียชีวิตถึง 4 คน ซึ่งนับเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่สุดครั้งที่สอง ที่เกิดกับโรงงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นในรอบไม่ถึง 5 ปี
นอกจากนี้ยังทำให้ชื่อเสียงของญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่มีเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ก้าวหน้าที่สุดต้องมัวหมอง บริษัทที่ผลิตอุปกรณ์สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่าง Mitsubishi Heavy Industries, Hitachi และ Toshiba ต่างต้องเผชิญกับความต้องการที่ลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังทำให้ไม่สามารถขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้แก่ชาติยักษ์ใหญ่ในเอเชียอย่างจีนได้สำเร็จ
การก้าวถอยหลังของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ทำให้แผนการของรัฐบาลญี่ปุ่นในการเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็น 41% ภายในปี 2011 ต้องล่าช้าออกไป แผนการนี้ตั้งเป้าที่จะสร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่อีกกว่า 10 เครื่อง จากที่มีอยู่แล้ว 53 เครื่อง และรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ทุ่มทุนไปแล้วหลายพันล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ใหม่ๆ อย่างเช่นการพัฒนาเตาปฏิกรณ์แบบ fast breeder ซึ่งสามารถจะผลิตพลูโตเนียมได้ในจำนวนที่มากกว่าเชื้อเพลิงพลูโตเนียมที่มันได้ใช้ไป
เตาปฏิกรณ์ fast breeder ต้นแบบมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ ที่มีชื่อว่า Monju คือความภาคภูมิใจของญี่ปุ่น ที่หวังว่า Monju จะนำญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่ของพลังงานนิวเคลียร์
แต่แล้วในปี 1995 หรือเพียง 4 เดือนหลังจากที่เพิ่งผลิตไฟฟ้าเป็นครั้งแรก Monju ก็ต้องปิดตัวลง เมื่อเกิดการรั่วของโซเดียมที่ใช้เป็นสารหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ ตามด้วยเรื่องอื้อฉาวเมื่อเจ้าหน้าที่ของโรงงานสารภาพว่า ได้จงใจตัดต่อวิดีโอเทปเพื่อปกปิดความเสียหายที่เกิดกับ Monju ศาลญี่ปุ่นยังมีคำสั่งให้เลื่อนการเปิดเดินเครื่องใหม่ของมอนจูออกไปเป็นปีหน้า แม้ว่านายกรัฐมนตรี จุนอิชิโร่ โคอิซูมิ จะสัญญาว่า จะเดินหน้าเตาปฏิกรณ์แบบ fast breeder ต่อไปก็ตาม
แม้ว่าชาวญี่ปุ่นค่อนข้างจะเปิดใจกว้างรับพลังงานนิวเคลียร์ได้มากกว่าชาวอเมริกันหรือยุโรป แต่อุบัติเหตุและเรื่องอื้อฉาวทางจริยธรรมที่เกิดขึ้น ได้สร้างมลทินให้แก่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ญี่ปุ่นอย่างหนัก และแม้ว่าญี่ปุ่นมีกำหนดจะเปิดเดินเครื่องโรงงานนิวเคลียร์ใหม่ 3 แห่งในปีหน้า แต่ถ้าหากอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นยังคงเดินหนึ่งก้าวแต่ถอยหลังสองก้าวอยู่เช่นนี้ต่อไป ญี่ปุ่นก็ยังคงจะต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันและก๊าซต่อไปอีกหลายปี
|
|
|
|
|