Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2547
บิน 30 ชม. ส่องลู่ทางการค้า "เปรู"             
โดย ธานี ลิ้ม
 





หากพูดถึงดินแดนที่มีอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดในโลกสักแห่ง ต้องมีชื่อ อินคา อยู่ในใจ เพราะชนเผ่าอินคานั้นมีชื่อเสียงในด้านความเจริญรุ่งเรือง มีอารยธรรมก้าวไกลกว่าชนเผ่าอื่นๆ ในยุคนั้น

ใช่แล้ว ผมกำลังพาท่านผู้อ่านไปเยือนประเทศเปรู ประเทศของดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าอินคา (INCA) กับคณะของ ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้า (Thai Trade Representative) และผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี (Special Envoy of the Prime Minister) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเดินทางไปเจรจาข้อตกลงการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-เปรู (FTA) ครั้งที่ 4 โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการจากกระทรวง กรม กอง ต่างๆ อีกประมาณ 30 ชีวิตลัดฟ้าสู่กรุงลิมา เปรู ด้วยระยะเวลาเดินทางร่วม 30 ชั่วโมง

สำหรับผลการเจรจานั้น ดร.กันตธีร์ บอกว่าผลการเจรจาได้คืบหน้าไปกว่า 70% บางส่วนก็เป็นรูปเป็นร่างบางส่วนก็ยังไม่ได้ ซึ่งกรอบที่ได้ก็คือลด 50% ของพิกัดทั้งหมด และต้องมีมูลค่านำเข้าไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งจะเริ่มในวันแรกที่เปิดเขตการค้าเสรี แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับฝ่ายเปรูก็คือ ภาคเกษตร ซึ่งฝ่ายเปรูเป็นห่วงว่าไทยจะได้เปรียบภาคเกษตรเปรู และอาจเข้ามาครอบงำได้ ทำให้เกษตรกรชาวเปรูหวั่นเกรงอย่างมาก

แต่ผู้แทนการค้าพลิกสถานการณ์ก็คือ หากมีการตกลง FTA ไทย-เปรู ไทยก็จะนำเทคโนโลยีมาถ่ายทอดให้กับเปรู เพื่อใช้เปรูเป็นประตูหรือ Gateway ในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอเมริกาเหนือ กลุ่มอียู กลุ่มอเมริกาใต้ ซึ่งให้สิทธิแก่สินค้าจากเปรู

เท่ากับว่า หากไทยร่วมมือกับเปรูก็ใช้เป็นฐานการผลิตลดต้นทุนค่าขนส่งแถมยังได้สิทธิทางภาษีอีกต่างหาก คาดว่าจะได้ข้อสรุป FTA ภายในกลางปีหน้า แม้จะยังไม่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการ แต่การเดินทางครั้งนี้ก็มีอะไรติดไม้ติดมือกลับมา นอกเหนือจากการเซ็นสัญญาร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับสภาอุตฯ ของเปรู

ภายหลังเข้าพบประธานาธิบดี อัลเลอเจนโดร โทเลโด แห่งเปรู และเข้าพบ 3 รัฐมนตรี ได้แก่ กระทรวงเกษตร กระทรวงการค้าต่างประเทศและท่องเที่ยว และกระทรวงคมนาคม ปรากฏว่า ทางการเปรูได้เสนอให้สิทธิการเข้ามาลงทุนสัมปทานป่าอะเมซอนแก่นักธุรกิจไทยเพื่อทำป่าไม้และเฟอร์นิเจอร์ส่งออกถึง 40 ปี

เปรูมีพื้นที่ป่าอะเมซอนกว้างใหญ่กว่า 7.5 แสนตารางกิโลเมตร มีไม้กว่า 2,500 ชนิด ขณะนี้นำมาใช้เพียง 50 ชนิดเท่านั้น ซึ่งการเข้าเยี่ยมชมกิจการค้าเฟอร์นิเจอร์ พบว่า กระทรวงการผลิตของเปรูขะมักเขม้นทำการวิจัยไม้หลากหลายชนิดเพื่อใช้ในเชิงการค้า

"เขาต้องการให้เราไปทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ส่งออก น่าจะเป็นจังหวะที่ดีสำหรับคนไทย ซึ่งขณะนี้มีประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาลงทุนในเปรูก่อนเราแล้ว" ผู้แทนการค้าบอก

ไม่เพียงเท่านั้น พอเข้าพบ มร.โจเซ่ ออทิซ ริเวร่า รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมของเปรู ก็ยื่นโปรเจกต์ก่อสร้างสาธารณูปโภค ได้แก่ ถนนท่าเรือ จำนวน 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณแสนล้านบาท ซึ่งรัฐมนตรีเสนอให้สิทธิแก่ผู้รับเหมาไทยเป็นอันดับต้นๆ

เปรูมีเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง ดีบุก สังกะสี มีปลาจากทะเล มีป่าไม้ สิ่งทอ ปิโตรเลียม รอที่จะนำไปแปรรูปเพื่อส่งขายต่อประเทศที่ 3 แต่ถ้ามองในแง่การตลาดการค้าแล้ว เปรูนั้นมีสินค้าที่แตกต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิง การค้าระหว่างไทยกับเปรูยังมีน้อยมาก เพราะปัญหาเรื่องค่าขนส่งสินค้าจากไทย ได้แก่ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น รถมอเตอร์ไซต์ ยางพารา ขณะที่เปรูส่งเหล็กและเหล็กกล้า ทองคำขึ้นรูป น้ำมันปลา สัตว์ทะเล ทองแดงขึ้นรูป น้ำมัน มายังไทย ในเชิงการค้านั้นไทยยังค้าขายกับเปรูน้อยมาก มีเพียง 50-60 ล้านเหรียญต่อปี หรือ 2,400 ล้านบาทเท่านั้น และไทยก็เสียเปรียบดุลการค้าเปรูเกือบเท่าตัว

ประเทศเปรูนั้น มีพื้นที่ขนาด 1,285,200 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าเมืองไทยกว่า 2 เท่า เวลาช้ากว่าเมืองไทย 12 ชม. เรียกได้ว่าอยู่คนละซีกโลกกับไทย อยู่ติดมหาสมุทรแปซิฟิก พื้นที่ของเปรูแบ่งเป็นที่ราบแนวฝั่งมหาสมุทรความยาว 2.4 พันกม. ถัดมาก็เป็นทะเลทรายและป่าอะเมซอน มีคนอาศัยประมาณ 30 ล้าน คนเป็นคนจีนอยู่ถึง 3 ล้านคนหรือ 10% ซึ่งมีอิทธิพลทางการค้ามาก เมืองหลวงคือกรุงลิมา ใช้ภาษาสเปน อัตราแลกเปลี่ยน 1 โซเรต (S/.) เท่ากับ 11-12 บาท หรือประมาณ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐ

ตามประวัติศาสตร์เก่าแก่ของเปรูนั้น ขึ้นชื่อด้วยชนเผ่าอินคา สมัยคริสต์ศตวรรษ 1200-1400 ขณะที่ก่อนคริสต์กาล 100 ปีก็มีเผ่า MOCHICA อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ เป็นชนเผ่าที่มีความศิวิไลซ์สามารถก่อสร้างระบบชลประทาน ผลิตภาชนะเซรามิก ไม่เพียงเท่านั้นเมือง CUZCO หรือเมืองมายา ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม มี Machu Picchu หรือป้อมปราการบนภูเขาที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเปรูกว่า 933,643 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกาเหนือ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากเมืองไทยไปเปรูเพียง 225 คนเท่านั้น คงเป็นเพราะความห่างไกลร่วมหมื่นกิโลเมตร

ถ้าถามถึงคนไทยที่ทำมาหากินในเปรู มีแค่คนเดียวจากจำนวน 10 คนที่อาศัยในเปรู ตามคำบอกของ สุพัฒน์ จิตรา นุเคราะห์ เอกอัครราชทูตไทยประจำบราซิล ซึ่งดูแลเปรูบอกว่า คนไทย 8 คนติดคุกในเปรู 3 คน ออกมาเพราะประพฤติดีแต่ต้องรายงานตัว อีก 5 คนยังติดอยู่ ที่น่าสังเกตคือ ทุกคนต่างเป็นผู้หญิงติดคุกด้วยข้อหาขนยาเสพติด

สรุปได้ว่า เปรูถือเป็นประเทศใหม่ที่มีทรัพยากรและกำลังเปิดตัวสู่โลกภายนอก ด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับอีกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ อียู กลุ่มอเมริกาใต้ นักธุรกิจไทยจึงไม่ควรมองข้ามประเทศนี้เสียแล้ว...   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us