เชื่อหรือไม่ว่า เครื่องเอทีเอ็มของธนาคารที่ให้บริการอยู่ทุกวันนี้ กำลังจะถูกยกไปให้บริการถึงบ้าน
!!
แต่ไม่ใช่ตู้เอทีเอ็มขนาดใหญ่ ที่เห็นคุ้นหน้าคุ้นตาอยู่ตามหน้าธนาคารต่างๆ
หรือห้างสรรพสินค้า แต่กลับเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) เครื่องเล็กๆ
บริการเอทีเอ็มที่ว่านี้ คือบริการ SCB Video Banking ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์
และบริษัทไลนส์เทคโนโลยี เซอร์วิส ในเครือเทเลคอมเอเชีย ซึ่งเป็นผู้ให้บริการออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์
ภายใต้ชื่อคอมไลน์
แบงก์ไทยพาณิชย์นั้นจะอาศัยคอมไลน์เป็น "สื่อ" หรือ "ทางด่วน"
ในการออนไลน์ข้อมูลของธนาคาร ให้ไปถึงเครื่องพีซีของบรรดาลูกค้า ในขณะที่คอมไลน์
จะมีบริการทางด้านธนาคารอยู่บนเครือข่ายของตัวเอง
ผลจากการร่วมมือของสองหน่วยงานในครั้งนี้ ทำให้ลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์สามารถใช้บริการด้านการเงินต่างๆ
ของธนาคาร เช่น การโอนเงินระหว่างบัญชี การสอบถามยอดเงินคงเหลือในบัญชี การเรียกดูรายการเดินบัญชี
การเปลี่ยนแปลงรหัสประจำตัวลูกค้า รวมทั้งข้อมูลทางธนาคารทั่วไป อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ราคาพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (ราคาปิด) อัตราดอกเบี้ยในและต่างประเทศ
เพียงแค่ใช้เครื่องพีซีเครื่องเดียว โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปธนาคาร
หรือโอนเงินทางโทรศัพท์ ซึ่งข้อมูลอาจผิดพลาดได้
ลูกค้าที่เป็นสมาชิกของบริการคอมไลน์อยู่แล้ว เมื่อจะใช้บริการ SCB นี้จะต้องเปิดบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์
หรือหากมีบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์อยู่แล้ว ก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกของคอมไลน์
ซึ่งจะเสียค่าสมัครและค่าซอฟท์แวร์รวม 1,500 บาท และเมื่อเรียกดูข้อมูล ก็จะเสียเป็นอัตรารายนาที
ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของข้อมูลและการเหมาจ่าย แต่ในส่วนของบริการ SCB
นั้น ในช่วงแรกจะเก็บนาทีละ 5 บาท
แต่ข้อจำกัดในเรื่องของความยากในการใช้บริการเป็นปัญหาสำคัญของบริการออนไลน์
สิ่งที่คอมไลน์เน้นคือ ความง่ายในการเรียกดูข้อมูลที่จะมีคำสั่งเพียงแค่
9 ปุ่ม ซึ่งบุญเติบ ตั้นตระกูล ผู้จัดการทั่วไปของคอมไลน์ เรียกบริการนี้ว่า
เป็นการยกเอทีเอ็มไปตั้งไว้ถึงบ้านลูกค้า
ในขณะที่ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ เชื่อว่า
บริการ SCB Video Banking จะเป็นมิติใหม่ของแบงก์ไทยพาณิชย์ ที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินมาที่ธนาคาร
นั่งอยู่ที่ไหนก็สามารถใช้บริการได้
แม้ว่าไทยพาณิชย์จะมีบริการเทเลแบงกิ้ง ที่ให้ลูกค้าสามารถโอนเงิน หรือสอบถามข้อมูลได้ผ่านทางโทรศัพท์
ซึ่งเป็นบริการในลักษณะคล้ายคลึงกับบริการนี้ และค่าบริการยังถูกกว่า แต่
ดร.โอฬาร เชื่อว่าบริการ SCB Video Banking จะมีข้อได้เปรียบในเรื่องของความชัดเจน
"ข้อมูล" ที่จะปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวก
และความถูกต้องในการเรียกดูข้อมูลมากกว่าบริการของเทเลแบงกิ้ง ที่ให้บริการข้อมูลในรูปของ
"เสียง" และที่สำคัญจะให้บริการข้อมูลได้มากกว่า
"ผมเชื่อว่าลูกค้าจะค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้บริการ SCB Video Banking แน่"
ดร.โอฬารกล่าว
ขณะเดียวกัน ดร.วัลลภ วิมลวณิชย์ กรรมการผู้การของเทเลคอมโฮลดิ้ง ตอกย้ำคือ
ระบบนี้จะมีความปลอดภัยของข้อมูล เนื่องจากเป็นบริการบนเครือข่ายเฉพาะ ผู้ใช้จะต้องเป็นลูกค้าของธนาคารเท่านั้น
ซึ่งจะต้องมีรหัสลับจึงจะมาใช้บริการได้ ที่สำคัญเครือข่ายของคอมไลน์เปิด
เปรียบเสมือนทางด่วน หรือซูปเปอร์ไฮเวย์ ที่เปิดโอกาสให้คนมาใช้เครือข่าย
"บริการนี้ไม่ได้ให้บริการเฉพาะการดูบัญชีเท่านั้น แต่ยังเป็นการโอนเงินต่างบัญชีได้ด้วย
ผมเชื่อว่าระบบนี้จะเป็นการเปิดศักราชการโอนเงินข้ามบัญชีระหว่างธนาคารได้ด้วย"
ดร.วัลลภกล่าว
การเปิดตัวบริการ SCB Video Banking ในครั้งนี้ จึงเป็นความหวังของคอมไลน์และไทยพาณิชย์
เพียงแต่ต่างวัตถุประสงค์เท่านั้น
ธนาคารไทยพาณิชย์นั้นได้ชื่อว่า เป็นธนาคารที่ให้ความสนใจในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศมาโดยตลอด
และต้องการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำในเรื่องนี้ รูปธรรมที่เกิดขึ้นคือ
การนำเครื่องฝาก-ถอนเงินสดอัตโนมัติ หรือ เอทีเอ็ม มาให้บริการแก่ลูกค้าเป็นแห่งแรก
ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศของไทยพาณิชย์ แม้กระทั่งความเคลื่อนไหวล่าสุด
คือ การจัดตั้งกลุ่มสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ซึ่งมีไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
โดยมีธุรกิจครอบคลุมสื่อทุกประเภท และโทรคมนาคม แม้จะยังไม่รู้ว่าผลลัพธ์ในแง่ความสำเร็จของรายได้จะยังดูเลือนลาง
แต่นับเป็นการตอกย้ำในเรื่องเจตนารมณ์ของแบงก์ไทยพาณิชย์ในเส้นทางสายไอทีได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แบงก์ไทยพาณิชย์จะต้องรุกคืบไปอีกขั้น เพื่อต้องการสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำในเรื่องเทคโนโลยีของธนาคาร
เพราะทุกวันนี้แทบทุกธนาคารก็ให้บริการเทเลแบงกิ้งได้อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีบริการออนไลน์
ผู้บริหารคนหนึ่งของไทยพาณิชย์เล่าว่า บริการ SCB Video Banking นั้น คงยากที่จะพูดถึงในเรื่องของรายได้ที่จะคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ลงไป
เพราะเครื่องพีซียังมีคนใช้จำกัดมากกว่าโทรศัพท์ แต่สิ่งที่แบงก์จะได้รับคือ
ภาพลักษณ์ในเรื่องของความเป็นผู้นำในเรื่องของเทคโนโลยี
แม้แต่ ดร.โอฬารเองก็ยอมรับว่า ไม่ได้หวังในเรื่องของรายได้จากการให้บริการ
เพียงต้องการให้มีบริการใหม่ๆ ของแบงก์เกิดขึ้นเท่านั้น
แต่วัตถุประสงค์นี้ คงจะตรงกันข้ามกับคอมไลน์ ซึ่งได้รับสัมปทานวิดิโอเท็กซ์มาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
(ทศท.) ตั้งแต่ต้นปี 2537 ให้เกิดในตลาดออนไลน์ เพราะจนแล้วจนรอดคอมไลน์ก็ยังไม่สามารถเก็บสตางค์จากผู้ใช้บริการได้อย่างเป็นทางการ
อย่างมากทำได้แค่ทดลองให้บริการฟรี เพราะสาเหตุสำคัญมาจากความยากลำบากในการหาผู้ให้บริการข้อมูล
หรืออินฟอร์เมชั่น โพรไวเดอร์ (ไอพี) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของธุรกิจให้บริการออนไลน์ข้อมูล
แม้ว่าจะเริ่มมีไอพีทยอยมาเข้าสู่เครือข่าย 2-3 ราย คือ บริษัทบริการข้อมูลผู้จัดการ
และแบงก์ไทยพาณิชย์แล้วก็ตาม แต่อุปสรรคยังไม่หมด เพราะการเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์
(ทรานแซคชั่น) ระหว่างฐานข้อมูลของไอพี มายังเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์คนละระบบกัน
ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เช่น บริการ SCB Video Banking ที่ทั้งไทยพาณิชย์และคอมไลน์ต้องใช้เวลาพัฒนาระบบร่วมกันนานเป็นปี
กว่าระบบจะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดให้บริการแก่ลูกค้าได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้เอง
หากบริการนี้ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี เท่ากับว่า ก็เป็นใบเบิกทางให้กับคอมไลน์
เพื่อให้บริการในลักษณะนี้บ้าง เนื่องจากธนาคารต่างๆ ในเวลานี้เองต่างแข่งขันกันในเรื่องของบริการอยู่แล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปิดเสรี ใครมีบริการเหนือกว่าย่อมได้เปรียบ และแน่นอนจะเป็นผลดีของคอมไลน์ที่จะมีไอพีเพิ่มมากขึ้น
อีกไม่ช้าคงจะรู้ว่าบริการ SCB Video Banking จะทำให้ทั้งคอมไลน์และไทยพาณิชย์ไปถึงเป้าหมายที่บรรลุไว้หรือไม่