เป็นธรรมดาเมื่อเปิดสำนักงานแห่งใหม่ หรือดำเนินกิจการจนมีอายุครบหลายสิบปี
ก็ต้องมีการเฉลิมฉลอง ยิ่งเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อได้โอกาสเปิดสำนักงานแห่งใหม่ริมถนนรัชโยธิน
บนเนื้อที่ 52 ไร่ แถมยังดำเนินกิจการมาจนครบ 90 ปี งานนี้ย่อมไม่ธรรมดา
ตั้งแต่เช้าจรดค่ำวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา ภายในโครงการไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่าจึงกลายเป็นแหล่งชุมนุมของบรรดาบุคคลชั้นนำของไทย
ทั้งในภาครัฐบาลและธุรกิจเกือบทุกแขนง ที่มาร่วมแสดงความยินดีกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
ไฮไลต์ของงานในวันนั้นคือ การเปิดสถานีโทรทัศน์เสรีภายใต้ชื่อ ไอทีวี ที่มีแบงก์ไทยพาณิชย์เป็นแกนนำ
แต่จะด้วยเหตุขัดข้องทางเทคนิคหรือปัญหาที่รุมเร้าอยู่ในเวลานี้ ทำให้โปรแกรมดังกล่าวถูกงดไปกะทันหัน
จุดเด่นของงานจึงไปอยู่ที่ตัวอาคาร โดยเฉพาะระบบอาคารอัจฉริยะที่กลายเป็นจุดเด่นของงานไปแทน
นอกเหนือจากระบบอาคารอัจฉริยะ สิ่งที่ "ผู้จัดการ" สนใจเป็นพิเศษก็เห็นจะเป็นจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่
ประดับบนผนังอาคารบริเวณห้องโถง ซึ่งดึงดูดความสนใจให้กับบรรดาผู้เข้ามาเยี่ยมชมได้ไม่น้อย
แม้กระทั่งลูกค้ามาใช้บริการในวันปกติยังอดไม่ได้ที่จ้องชักรูปเป็นที่ระลึก
ภาพเขียนชิ้นนี้เป็นฝีมือของปัญญา วิจินธนสาร อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
ซึ่งเคยฝากผลงานที่วัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน พร้อมทีมงานอีก 10 คน ที่ใช้เวลาเกือบ
1 ปีเต็ม กินอยู่หลับนอนในแบงก์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวลงบนผืนผ้าใบขนาด 21
คูณ 7.5 เมตร
จุดแตกต่างของภาพเขียนชิ้นนี้กับงานเขียนชิ้นอื่นๆ คือ เป็นงานเขียนผนังถาวรขนาดใหญ่ที่เหล่าจิตรกรต้องไปเขียนกันในสถานที่จริง
ซึ่งต้องใช้ทั้งระยะเวลา และศึกษาถึงสภาพแวดล้อมอันเป็นที่ตั้งของภาพด้วย
อ.ปัญญาเล่าว่า แนวคิดของภาพจึงต้องเริ่มตั้งแต่การศึกษาสภาพแวดล้อมทั้งหมดของอาคาร
ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารรูปทรงเรขาคณิต ลดหลั่นกันเป็น 7 ระดับ มีอาคารหลักสูง
37 ชั้นเป็นศูนย์กลาง รายล้อมไปด้วยอาคารรูปทรงต่างๆ
ในสายตาของศิลปินอย่าง อ.ปัญญา พบว่าโครงสร้างเหล่านี้มีลักษณะคล้ายกับวังในสมัยโบราณ
ดังเช่นเดียวกับไตรภูมิพระร่วงที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางโอบล้อมไปด้วยปราสาท
อันเป็นสถาปัตยกรรมไทยโบราณ
เนื้อหาของจิตรกรรมชิ้นนี้จึงเป็นการผสมผสานระหว่างเนื้อหาของไตรภูมิพระร่วง
ซึ่งเป็นเรื่องทางจิตใจ เกี่ยวพันกับโครงสร้างของอาคาร และวิวัฒนาการของโลกมนุษย์
ตั้งแต่อดีตกาลจนมาถึงในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องราวของสังคมไทย
ความน่าสนใจของ "อาณาจักรวาล" อันเป็นชื่อภาพเขียนชิ้นนี้ ไม่ได้ถ่ายทอดแต่เพียงเรื่องราวในหนหลัง
แต่ยังสอดแทรกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2538 ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์โป๊ะล่ม
ปรากฏการณ์สุริยคราส ดาวเทียมไทยคม รวมไปถึงการทดลองยิงระเบิดนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส
เรือดำน้ำค็อกคูมส์ กระทั่งเรื่องราวในอดีตของแบงก์ไทยพาณิชย์สอดแทรกอยู่ในภาพอย่างลงตัว
"ผู้บริหารของแบงก์ให้อิสระเต็มที่ ไม่ได้กำหนดอะไร ผมก็เพียงแต่ไปเสนอแนวคิดว่าภาพจะมีคอนเซ็ปต์อย่างไรเท่านั้น"
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นและเป็นจุดที่ไม่น่าพลาดมากๆ ก็คือ หากสังเกตให้ดี
ทางซ้ายมือของภาพจะมีบรรดาผู้บริหารสำคัญๆ ของแบงก์ ประกอบด้วย ประจิตร ยศสุนทร,
ดร.โอฬาร ไชยประวัติ, ประเกิด ประทีปเสน, ชฎา วัฒนศิริธรรม และบรรณวิทย์
บุญญรัตน์ แต่งกายสมัยรัชกาลที่ 5 นั่งอยู่ในรถโบราณ เคียงคู่อาคารสำนักงานเก่าของแบงก์
บริเวณตลาดน้อย และที่ขาดไม่ได้ คือ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งยืนโผล่อยู่ตรงหน้าต่างของตัวอาคาร
แม้กระทั่งโรเบิร์ต จีบุย สถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบอาคาร ก็ยังได้รับการแต่งแต้มลงบนภาพเขียนชิ้นนี้
บุคคลเหล่านี้ จึงกลายเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของแบงก์ ที่อยู่บนจิตรกรรมชิ้นนี้ไปโดยปริยาย
และเป็นรสชาติของภาพศิลปะที่ผิดแผกแตกต่างจากงานศิลปะอื่นๆ อย่างชัดเจน
ที่ลืมไม่ได้คือ เครื่องเอทีเอ็ม อันเป็นผลงานอันโดดเด่นสร้างชื่อให้กับแบงก์ไทยพาณิชย์ในฐานะผู้ริเริ่ม
ยังถูกถ่ายทอดลงไปบนผนังตึกของอาคารสำนักงานที่ตลาดน้อยอย่างไม่ขัดเขิน แม้จะมีผู้เล่าว่า
มีคำสั่งให้แต่งเติมในภายหลังก็ตาม
ภาพเขียนชิ้นนี้ จึงเป็น "อาณาจักรวาล" ของไทยพาณิชย์สมชื่อที่ตั้งไว้อย่างแท้จริง