ธนาคารไทยพาณิชย์ถือว่าเป็นธนาคารอันดับหนึ่งที่ทุ่มเทงบประมาณ เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย
เท่าทันกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีการสื่อสารอิเล็คทรอนิกส์สมัยใหม่มาใช้
ที่เราเรียกว่า "อินเตอร์เน็ต" หรือระบบที่ใช้งานแคบลงมาหน่อยก็คือ
"อินทราเน็ต" แต่การจะปรับปรุงให้ทันสมัยเพียงใดคงต้องขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารด้วย
ว่าให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด
แต่สำหรับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารไทยพาณิชย์แล้ว ล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก
หนึ่งในคณะผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลสายงานทางด้านนี้ก็คือ วิชิต อมรวิรัตนสกุล
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานเทคโนโลยี (First Executive Vice President
Technology Group) ซึ่งอาจถือว่าเป็นCIO ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ดูแลรับผิดชอบงานใน
4 หน่วยด้วยกันคือ 1.ฝ่ายวิศวกรรมและสารสนเทศ 2.ฝ่ายประมวลผลและเทคโนโลยี
3.ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 4.ฝ่ายสำนักงานเทคโนโลยีประยุกต์
วิชิตเล่าว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาธนาคารไทยพาณิชย์มีการปรับปรุงทางด้านเทคโนโลยีเยอะมาก
ซึ่งถือว่าเป็นการรีเอ็นจิเนียริ่งอย่างหนึ่งเช่นกัน พร้อมทั้งเล่าว่า
"โครงสร้างของเราที่น่าสนใจก็คือ เราพยายามให้เทคโนโลยีไอทีได้อยู่ใกล้ชิดกับพนักงานทุกๆ
คน ไม่ใช่ฝ่ายเทคโนโลยีเท่านั้นที่รู้เรื่องไอทีเป็นอย่างดี"
เดิมฝ่ายเทคโนโลยีมีพนักงานอยู่กว่า 400 คน แต่เมื่อปีที่แล้วทางผู้บริหารเห็นว่าควรเกลี่ยฝ่ายเทคโนโลยีไปอยู่ฝ่ายอื่นๆ
บ้าง เช่น ไปอยู่ฝ่ายธุรกิจเพื่อที่ฝ่ายธุรกิจจะได้รู้เรื่องเทคนิค ขณะที่ฝ่ายเทคนิคก็รู้เรื่องธุรกิจและใช้มันได้อย่างดี
ปัจจุบันนี้สายงานเทคโนโลยีมีอยู่เพียง 200 คนเท่านั้น และจากการประเมินผลออกมาก็เป็นเรื่องที่น่าพอใจ
และเมื่อความเจริญก้าวหน้าพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว วิชิตเชื่อว่าในอนาคตไทยพาณิชย์น่าจะมีสาขาธนาคารเปิดผ่านอินเตอร์เน็ตได้
ซึ่งขณะนี้ไทยพาณิชย์กำลังอยู่ในขั้นทดลองและคาดว่าจะมีความเป็นไปได้ประมาณปลายปีนี้
หรืออย่างช้าต้นปี 2540 ซึ่งขณะนี้ทางธนาคารมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่อยากให้มั่นใจกว่านี้
โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย
"อย่างการบริการแบบ SCB Trade ที่เรามีอยู่ก็ถือว่าเป็นการให้บริการแบบอินเตอร์เน็ตอย่างหนึ่ง
เพียงแต่ว่าไม่ครอบคลุมเท่านั้น เชื่อว่าอีกสักระยะหนึ่งคงทำได้แบบครบวงจร"
สำหรับปัญหาที่มีอยู่ขณะนี้มี 3 ประการคือ ความพร้อมของลูกค้า ว่ามีความพร้อมเพียงพอหรือยัง
ตอนนี้ลูกค้ายังถือว่าเป็นกลุ่มที่แคบมาก ประการต่อมาคือ เรื่องการ License
ซึ่งทางธนาคารต้องช่วยกันผลักดันให้มีการแก้กฎหมายบางอย่างที่เกี่ยวกับเรื่อง
License เพื่อให้มีความสอดคล้องและคล่องตัวในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยกฎหมายจะต้องปรับตามให้ทันด้วย
ซึ่งในต่างประเทศได้มีการแก้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวนี้แล้ว
ประการสุดท้ายคือ เรื่องของความปลอดภัย หากมีการใช้บริการผ่านอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งแล้วจะมีความปลอดภัยเพียงไร
มีการรั่วไหลหรือไม่
"ซึ่งทางแบงก์เองจะต้องป้องกันไว้อย่างรัดกุม ไม่ให้มีพวกอาชญากรทางคอมพิวเตอร์หรือพวก
Hacker หลุดเข้ามากได้ ระยะแรกที่เราจะทำได้ก็คือ การโอนเงินจะต้องเป็นบัญชีเดียวกัน
โอนไปมาระหว่างกัน ห้ามโอนข้ามบัญชีเพื่อป้องกันความเสี่ยงในระยะแรก ซึ่งการทำแบบนี้ลูกค้าจะไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร
ดังนั้นหากจะให้บริการแบบนี้อย่างจริงจัง คงต้องพัฒนากันไปอีกสักพัก แต่เรามี
Homepage ของเราอยู่ในอินเตอร์เน็ตแล้ว ส่วนอินทราเน็ตกำลังศึกษาคงเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ในปีหน้า"
วิชิตเล่าต่อไปว่า ถึงแม้การเปิดบริการผ่านอินเตอร์เน็ตยังไม่สมบูรณ์แบบในขณะนี้
แต่ไทยพาณิชย์ก็ได้พัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีไปไม่น้อยแล้ว เช่น การบริการด้วยระบบ
EDI หรือการบริการสื่อสารข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นเทเลแบงกิ้ง
หรือ อินโฟร์แบงกิ้ง หรือวีดิโอแบงกิ้ง
สำหรับการพัฒนาทางด้านนี้ วิชิตบอกว่า ยังคงมีมีต่อไปเรื่อยๆ ทั้งเรื่องใกล้ตัวและไกลตัว
รวมทั้งพยายามที่จะนำเอาไอทีมาใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด และให้เห็นว่าเป็นการใช้งานง่ายๆ
ไม่ซับซ้อน พร้อมทั้งกล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า อินเตอร์เน็ตยังต้องพัฒนาไปอีกไกล
และต่อไปจะตองนำมาใช้กับเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นทีวีหรือวีดีโอ
จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น อินเตอร์เน็ตจะไม่ได้หยุดอยู่ที่เครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ซึ่งพัฒนาการพวกนี้ไปเร็วมาก
เช่น ธนาคารมีบริษัทลูกที่ชื่อว่า ซิบโก้ ที่รับจองตั๋วเครื่องบินและชำระค่าตั๋วผ่านธนาคาร
ใช้ระบบคล้ายอินเตอร์เน็ต เป็นบริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งมีข้อมูลอื่นๆ
ประกอบ เรียกดูได้ตลอดเวลา
อีกบริษัทหนึ่งคือ แซมโก้ ที่ตั้งมาเพื่อรองรับงานในเครือของไทยพาณิชย์ทั้งหมด
ซึ่งเป็นบริษัทที่รับจัดการเรื่องการจัดชากาแฟเพื่อการประชุม
"เรามีบริษัทในเครือเยอะ มีประชุมกันทุกวัน ดังนั้นจึงตั้งบริษัทมารองรับ
ดูความพร้อมเรื่องชากาแฟ เค้ก ผลไม้ เมื่อก่อนยุ่งยาก สิ้นเดือนมีบิลใบเสร็จต่างๆ
มาเคลียร์เงินเป็นจำนวนมาก ตอนนี้เรา set เข้าคอมพิวเตอร์เป็นราคามาตรฐานไว้เลย
ประชุมกี่ที่ เอาเค้กกี่ชิ้น ราคาเท่าไหร่ สิ้นเดือนคิดเงินไม่ต้องใช้กระดาษมากมายเหมือนที่ผ่านมา
เราพยายามใช้ไอทีในทุกๆ ส่วนของงาน"
ทางด้านประวัติส่วนตัวนั้น วิชิตถือเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการไอทีมาเกือบ
20 ปี โดยจบด้านสถิติ จากจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย เริ่มงานครั้งแรกที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ
หลังจากนั้นได้ทุน ADI ขอสหรัฐอเมริกาไปต่อทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ไอโอวา จนสำเร็จปริญญาโท
กลับมารับราชการที่สำนักงานสถิติต่ออีกกว่า 10 ปี จึงออกมาอยู่ที่ภาคเอกชน
โดยทำงานที่บริษัทน้ำมันบางจากในสมัยที่ยังเป็นบริษัทน้ำซัมมิท จนรัฐบาลเอาโรงกลั่นคืนจึงย้ายไปอยู่บริษัทเชลส์
ต่อมาเจอคุณบรรณวิทย์ บุญญรัตน์ ก็ได้ชักชวนมาอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ในตำแหน่งแรกคือ
รองผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นฝ่ายสารสนเทศและคอมพิวเตอร์
จนปัจจุบันรวมเวลากว่า 12 ปีในตำแหน่งล่าสุดคือผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส