แม้ว่าการรวมกิจการระหว่างคอมแพคและเอชพีอยู่ระหว่างการรอมติของผู้ถือหุ้นระหว่างสองฝ่ายที่จะเกิดขึ้นในวันที่
19-20 มีนาคม 2545 นี้ แต่ประเด็นดังกล่าวไม่มีผลต่อการดำเนินงานที่ต้องเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งบริษัทคอมแพค (ประเทศไทย) นำทีมโดย ก้องเกียรติ หวังวีระมิตร กรรมการผู้จัดการและคณะผู้บริหารบริษัท
ร่วมกันเปิดนโยบายตามวิสัยสู่การเป็นผู้นำการให้บริการโซลูชั่นทางด้านไอทีในประเทศไทย
“เรามีหน้าที่ที่จะต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด
ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันให้คอมแพค สามารถครอบครองความเป็นผู้นำตลาดไอที และผู้นำผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านไอทีที่ครอบวงจรในปี
2545” ก้องเกียรติกล่าว
กลยุทธ์ทางธุรกิจของคอมแพคประเทศไทยมีนโยบายการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของบริษัทแม่
ในการที่จะเป็นผู้นำการให้บริการโซลูชั่นทางด้านไอทีในประเทศไทย ด้วยกลยุทธ์
3 ประการหลัก คือ
1. การมุ่งผลักดันระบบโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้สมบูรณ์
2. เพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการ ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
3. นำเสนอโซลูชั่นที่แตกต่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจและแก้ปัญหาเฉพาะสำหรับแต่ละภาคธุรกิจ
โดยกลุ่มเป้าหมายที่มุ่งเน้น ครอบคลุมตั้งแต่ กลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคการเงินการธนาคาร,
สื่อสาร โทรคมนาคม, อุตสาหกรรมการผลิต, องค์กรรัฐบาล, องค์กรการศึกษา รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจข้ามชาติ,
กลุ่มธุรกิจ SME ไปจนถึงผู้บริโภคทั่วไป
และเพื่อรองรับกลยุทธ์ดังกล่าว คอมแพคมุ่งเน้นการทำตลาดในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการออกเป็น
3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐาน งานบริการและโซลูชั่น และกลุ่มผลิตภัณฑ์เชื่อมต่อต่างๆ
ซึ่งจะเน้นการดำเนินงานร่วมกันพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ พัฒนานำเสนอเป็นโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม
ในกลุ่มของ “ผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐานสำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่” (Enterprise
Business Group) คอมแพคจะยังคงเน้นโซลูชั่นเพื่อการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
ไม่มีวันหยุด (Business Critical Solution) ด้วยผลิตภัณฑ์หลัก เช่น NonStop
Himalaya, AlphaServer
พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีภายใต้กลยุทธ์ “Adaptive Infrastructure” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ต้นแบบ
ที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ของตลาดและธุรกิจโลกได้อย่างรวดเร็ว
พร้อมเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์ ที่ทำงานด้วยหน่วยประมวลผลตระกูลไอเทเนียมของอินเทล
ให้เป็นแพลตฟอร์มมาตรฐานแก่ลูกค้า
นอกจากนี้ ในปี 2545 คอมแพควางแผนการตลาดด้านการจัดเก็บข้อมูล (Storage)
อย่างจริงจัง ซึ่งคอมแพคมั่นใจถึงโอกาสและเทคโนโลยีของคอมแพคในตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากในปีที่แล้ว คอมแพคมีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกสูงถึง 45%
“ด้วยเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ทรงประสิทธิภาพ จะทำให้คอมแพคประสบความสำเร็จในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและอินเทอร์เน็ตของลูกค้าได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ประกอบกับคอมแพคมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งในการร่วมกันนำเสนอโซลูชั่นที่หลากหลายแก่ลูกค้า
เช่น ไมโครซอฟท์, อินเทล, ซิสโก้, ออราเคิล, เอสเอพี, ซีเบล, คอมเมิร์ซวัน,
บริษัทที่ปรึกษาและวางระบบไอทีชั้นนำ รวมไปถึงผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต”
ก้องเกียรติกล่าว
ส่วนงาน “ด้านบริการและการวางระบบโซลูชั่น” (Global Services) คอมแพคจะใช้จุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญ,
บุคลากร และเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก จับมือกับพันธมิตรธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นที่หลากหลายแก่ลูกค้า
มุ่งเน้นจุดเด่นด้านศักยภาพที่สามารถให้บริการได้โดยไม่จำกัดแพลตฟอร์ม หรือเทคโนโลยี
ซึ่งแบ่งการให้บริการออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
1. กลุ่ม Managed Services หรือการให้บริการเอาท์ซอร์ส
2. กลุ่มให้บริการติดตั้งระบบและโซลูชั่น (System Intergration)
3. กลุ่มให้บริการหลังการขาย (Customer Service)
4. กลุ่มการให้บริการระบบการเช่าซื้อ (Compaq Financial Services)
โดยจะมุ่งเน้นการบริการ และโซลูชั่นด้านการจัดการบริหารระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
(IT Managed Services หรือ Outsourcing Services), บริการเครือข่ายยุคหน้า
(Next Generation Network), Enterprise Ready Microsoft, ระบบบริหารการจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า
(Customer Relationship Management), Business Critical Services, การฝึกอบรมซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์
ให้บริการลูกค้าครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ
ทั้งนี้ยังมีโซลูชั่นเฉพาะสำหรับกลุ่มธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม และธุรกิจการเงินการธนาคาร
และในขณะเดียวกันก็จะวางเป้าหมายการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อรองรับเทคโนโลยี 3G
เทคโนโลยี GPRS และโซลูชั่นการจัดการร้านอาหาร การแพทย์ และการขาย บนเครื่อง
iPAQ Pocket PC นอกจากนี้คอมแพคยังมีบริการเช่าซื้อระบบคอมพิวเตอร์ให้กับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่อีกด้วย
สำหรับ ”กลุ่มผลิตภัณฑ์เชื่อมต่อต่างๆ” (Access Business Group) คอมแพคพร้อมทำการตลาดผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นด้านไร้สาย
เพื่อตอบสนองทั้งกลุ่มลูกค้าองค์กรและผู้ใช้ตามบ้าน โดยมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
สู่ตลาด เช่น ผลิตภัณฑ์เฮนด์เฮลด์พีซี, Thin Clients สำหรับรองรับการใช้งานแบบเครือข่าย,
ผลิตภัณฑ์เครือข่ายไร้สายและบรอดแบนด์ เพื่อการรับส่งทั้งข้อมูลภาพและเสียง
และผลิตภัณฑ์เพื่อความบันเทิง iPAQ Audio Players นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์พีซีแบบตั้งโต๊ะและพกพา
เพื่อการใช้งานสำหรับธุรกิจและผู้ใช้ตามบ้านโดยเฉพาะด้วย
ตามการคาดการณ์ของไอดีซีระบุว่า ในปีนี้ตลาดพีซีโดยรวมจะโตขึ้นไม่เกิน 10%
โดยผลิตภัณฑ์ที่มีตัวเลขโตกว่าตลาดพีซีประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่ม คือ แฮนด์เฮลด์พีซี
มีตัวเลขโต 46%, เครื่องเวิร์กสเตชัน มีตัวเลขโต 16%, คอมพิวเตอร์พกพา มีตัวเลขโต
19% และเครื่องธินไคลเอนต์ มีตัวเลขการเติบโตประมาณ 69% โดยคอมแพคมีแผนการผลักดันผลิตภัณฑ์ทินไคลเอนต์ออกสู่ตลาด
ซึ่งนำเสนอไปพร้อมกับโซลูชั่น อาทิ โซลูชั่นทางด้านการบริหารลูกค้าสัมพันธ์
หรือ ซีอาร์เอ็ม
เหตุที่คอมแพคให้ความสำคัญกับกลุ่มผลิตภัณฑ์เชื่อมต่อต่างๆ เนื่องจากข้อมูลของบริษัทวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า
สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์พีซีทั่วโลกในปี 2544 ถือได้ว่าเป็นปีที่ตลาดตกต่ำที่สุดในรอบ
15 ปี รวมทั้งมีการแข่งขันทางด้านราคาที่สูงมาก และแนวโน้มของผลิตภัณฑ์ต่างๆ
มีการปรับเปลี่ยนทางนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งคอมแพคเล็งเห็นว่ายังมีโอกาสที่ดีในตลาดในปีนี้
ก้องเกียรติกล่าวถึงผลประกอบการของปี 2544 ที่ผ่านมาว่า คอมแพค ประเทศไทย
มีรายได้รวมของบริษัทฯเพิ่มขึ้นกว่า 30% เปรียบเทียบกับปี 2543 ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลประกอบการของคอมแพคประเทศไทยที่เป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน
โดยในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมแพคสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในด้านส่วนแบ่งการตลาดประเทศไทยในปี
2544 ได้
“เราสามารถครองแชมป์ในส่วนแบ่งการตลาดของทุกผลิตภัณฑ์ ทั้งตลาดพีซีรวม เดสก์ท็อป
โน้ตบุ๊ค และอินเทลเซิร์ฟเวอร์ มาจากการทำงานอย่างหนักและมีประสิทธิภาพของทีมงานทุกคนในคอมแพคประเทศไทย
นอกจากนี้ผลประกอบการในประเทศไทยยังมีส่วนผลักดันให้คอมแพคภูมิภาคอาเซียนขึ้นสู่อันดับหนึ่งด้วย”
ก้องเกียรติกล่าว
คอมแพค ประเทศไทย มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2543 โดยมีส่วนแบ่งการตลาดตัวเลขรวมปีที่ผ่านมา
14.8% หรือมีอัตราการเติบโตราว 18.38% ส่วนแบ่งการตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ
(เดสก์ท็อป) 12.7% หรือเติบโตจากปี 2543 ราว 10.27% ขณะที่ตลาดโน้ตบุ๊กมีส่วนแบ่งการตลาด
27.8% หรือเติบโตจากปี 2543 ราว 22.33% ตลาดเซิร์ฟเวอร์ มีส่วนแบ่งตลาด 27.2%
เติบโตขึ้น 10.07%
ในส่วนการทำตลาดพีซีคอมแพคปี 2545 ส่วนของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ปีนี้เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าบ้าน
จากปีที่ผ่านมาบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดราว 12% ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดโตมากกว่าเท่าตัว
ส่วนตลาดโน้ตบุ๊กคอมแพคมีส่วนแบ่งการตลาดรวมในประเทศไทย 28% โดยกลุ่มเป้าหมายหลักๆ
จะอยู่ที่กลุ่มโฮมรีเทล 50% โดยจะขายความเป็นคอมแพคในเรื่องของคุณภาพสินค้า
ซึ่งจะไม่ลงไปแข่งขันทางด้านราคากับตลาดประกอบเครื่องและผู้ประกอบการโลคัลแบรนด์
“ถึงแม้ว่าในปีที่แล้วเป็นปีที่ท้าท้ายสำหรับอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทย
อันเป็นผลมาจากวิกฤติการณ์ต่างๆ แต่สำหรับคอมแพค ประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นปีที่ดีที่สุดของบริษัทฯ
ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมาในประเทศไทย โดยผลิตภัณฑ์, การบริการ และโซลูชั่น ที่เรานำเสนอกับลูกค้าทุกๆ
กลุ่ม ทำให้มีการผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ จากรากฐานที่แข็งแกร่งในปีที่ผ่านมา
พร้อมกลยุทธ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในปี 2545 นี้ ทางบริษัทคอมแพคตั้งเป้าที่จะครอบครองความเป็นผู้นำตลาดไอทีและผู้นำด้านผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านไอทีที่ครบวงจรในปี
2545 รวมทั้งยังมุ่งมั่นที่จะตอบแทนคืนสู่สังคมด้วยกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องอีกด้วย”
ก้องเกียรติกล่าวทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ