Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2531
กรณีศึกษา : อันเนื่องมาจากสวนป่าวนาธรของ "เชลล์" หยิกเล็กฤาเจ็บเนื้อเป็นธรรมดา             
โดย นพ นรนารถ
 

 
Charts & Figures

ตารางแสดงการตลาดไม้ยูคาลิปตัสที่ประเทศญี่ปุ่นนำเข้า

   
related stories

เชลล์ "เพียวร่า ดีเซล" จ่ายเพิ่มลิตรละ 1 บาท เพื่ออากาศสะอาดขึ้น

   
www resources

โฮมเพจ เชลล์แห่งประเทศไทย

   
search resources

เชลล์แห่งประเทศไทย, บจก.
Environment




โครงการสวนป่าวนาธรของบริษัทเชลส์ ไม่ใช่เป็นเพียงโครงการใหญ่ ลงทุนหลายพันล้านบาทของบรรษัทข้ามชาติที่ควรจับตามมองเป็นพิเศษ ในหลายแง่มุมเท่านั้น หากโครงการนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นบรรทัดฐานของการนำประเทศไปสู่การเป็น "ประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรใหม่" ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก "น้ำผึ้งหยดเดียว" ของการคัดค้านที่ดังกระหึ่มออกมาเป็นระยะๆ ต่อโครงการนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความสุขุมรอบคอบต่อการตัดสินใจ!!

ท่ามกลางการตื่นตัวของการลงทุนปลูกป่าภาคเอกชน โครงการลงทุนปลูกป่ายูคาลิปตัสของบริษัทเชลส์ที่ยื่นขอสัมปทานปลูกป่าจำนวน 282,500 ไร่ในบริเวณ "ป่าสงวนแห่งชาติขุนซ่อง" เขตอ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ดูเหมือนจะเป็นโครงการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด

เป็นคราวซวยอย่างช่วยไม่ได้ของเชลส์ที่ไม่ดูทิศทางลมให้ดีเสียก่อน เพราะการเสนอแผนการนี้ให้รัฐบาลพิจารณากระทำ ในช่วงที่กระแสการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมของฝ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติได้ถึงจุดแตกหักกับกรณี "เขื่อนน้ำโจน" พอดิบพอดี

ดังนั้นเมื่อต้องมารับรู้ข่าวที่คิดว่าเป็น "ความอัปมงคล" อันมีเชลส์เป็นต้นเหตุเข้าอีก จึงเสมือนกับเป็นการสาดน้ำมันใส่กองไฟให้ลุกลามโหมไหม้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้ามากยิ่งขึ้น

กอปรกับฐานะของเชลส์ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เท่าที่ผ่านมานั้น นอกจากไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับรากฐานวัฒนธรรมสังคมไทยแล้ว ยังถูกมองมากด้วยว่า บริษัทนี้เล่ห์เหลี่ยมถึงขนาดเป็นบริษัท ที่คิดแต่กอบโกยผลประโยชน์ของประเทศไทยไปอย่างไร้ยางอาย ซึ่งเชลส์มีปัญหากรณีนี้มากกับโครงการด้านพลังงาน

มาจนถึงปัจจุบันที่เชลส์หันมาจับธุรกิจปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส หลายฝ่ายก็ยังคงคลางแคลงใจอยู่ไม่น้อยว่า "ที่สุดของที่สุดของระบบการผลิตก็คงผันเข้าสู่ระบบการผลิตในอีหรอบเดิม" และสิ่งที่เชลส์โหมทุ่มลงไปต่างๆ นานานั้น สุดท้ายจะกลายเป็น "ปีศาจในคราบนักบุญกันบ้างหรือเปล่า"

สำหรับฝ่ายที่คัดค้านการปลูกป่าฯ นั้น คนบางกลุ่มถึงกับเสนอรูปแบบการตัดสินชนิดไม่ต้องยื่นอุธรณ์กันอีกเลยว่า "การไม่อนุมัติให้เชลส์ทำป่าเป็นทางเลือกดีที่สุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต" และจากที่เคยวิเคราะห์กันว่า การปลูกสวนป่านั้นเป็นการยกระดับประเทศให้กลายเป็น "ประเทศอุตสาหกรรมการเกษตร" ทว่าปรากฏการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่กลับเป็นภาพสะท้อนที่ต้องขบคิดกันมากว่า "แล้วนี่เราจะเดินไปในทิศทางไหนกัน"???

"เชลส์กำหนดทิศทางบริษัทไว้แล้วว่าจะให้ความสนใจเกี่ยวกับการลงทุนเรื่องสวนป่า มากเป็นอันดับหนึ่ง และเราได้ใช้จ่ายเงินเพื่อการศึกษาเรื่องนี้ไปแล้วหลายร้อยล้านบาท" ธำรง ตยางคนนท์ ผู้รับผิดชอบโครงการสวนป่าของเชลส์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ความสนใจของเชลส์เกี่ยวกับการป่าไม้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1975 โดยเชลส์ไปลงทุนทำป่าไม้อยู่ในประเทศบราซิล ชิลี แอฟริกาใต้ และนิวซีแลนด์ เชื่อกันว่าพื้นที่ปลูกปาของเชลส์ที่ได้ดำเนินการไปแล้วมีไม่น้อยกว่า 250,000-300,000 เฮกเตอร์

โครงการสวนป่าของเชลส์นี้ส่วนหนึ่งเป็นการวางรากฐานของบริษัท ในการเตรียมตัวเผชิญกับปัญหาวิกฤติการณ์ขาดแคลนน้ำมันของโลก ที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นในระยะ 30-40 ปีข้างหน้านี้ และอีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนาธุรกิจไปสู่สาขาอื่น โดยเฉพาะกิจการเยื่อกระดาษที่ปริมาณความต้องการในอนาคตพุ่งขยายตัวไม่หยุดหย่อน

พื้นที่ที่เชลส์มีอยู่แล้ว 300,000 เฮกเตอร์ย่อมไม่พอเพียงกับงานใหญ่ๆ ที่หวังฟันเงินมหาศาลในอนาคตอย่างนี้แน่นอน!!!

เมื่อความต้องการเป็นเช่นนี้ เชลส์จึงจำต้องเสาะแสวงหาแหล่งพื้นที่ ที่คิดว่าสามารถลงทุนปลูกสวนป่าที่ให้ผลผลิตได้ตามเป้าหมาย จนที่สุดพบว่า "ประเทศไทย" นั้นมีความเหมาะสมในทุกด้านที่จะลงทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่มีเหลือเฟือ แรงงานราคาถูก และการเอื้ออำนวยช่วยเหลือจากภาครัฐบาล ที่กำลังต้องการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาช่วยปลูกป่าเสริม หลังจากที่ป่าทั้งประเทศได้ถูกทำลายไปแล้วไปน้อยกว่า 10 ล้านไร่

ไฟเขียวอย่างนี้มีหรือที่เชลส์จะไม่สนใจ!!!

เชลส์จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อทำการศึกษาพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยว่า แหล่งไหนจะมีความเหมาะสมที่สุด โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานใหญ่ ประเทศอังกฤษเป็นผู้ให้คำแนะนำ และมี ม.ร.ว.สฤษดิคุณ กิติยากร กรรกการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทเชลส์ (ประเทศไทย) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการในขั้นแรก

โครงการของเชลส์มีชื่อเต็มว่า "โครงการปลูกสร้างสวนป่าไม้โตเร็วภาคเอกชน" แต่ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ไพเราะขึ้นกว่าเดิมเป็น "โครงการสวนป่าวนาธร" ทั้งนี้ได้ทำการศึกษาพื้นที่สำคัญๆ หลายจังหวัด เช่น ปราจีนบุรี กาญจนบุรี จันทบุรี

กระทั่งในที่สุดเชลส์ก็ได้ตัดสินใจเลือกพื้นที่ในเขต จ.จันทบุรี เป็นสมรภูมิในการลงทุน ซึ่งธำรง ตยางคนนท์ได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมถึงการตัดสินใจนี้ว่าเป็นเพราะเชลส์เห็นว่า พื้นที่นี้อยู่ใกล้เคียงกับโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ที่เป็นโครงการใหญ่ต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ "ประเทศอุตสาหกรรมใหม่" มากที่สุด ดังนั้นเพื่อเชื่อมประสานการติดต่อให้ง่ายเข้า จึงต้องเลือกพื้นที่เขต จ.จันทบุรี

แต่ข่าววงในแจ้งกับ "ผู้จัดการ" ว่า เชลส์เลือกพื้นที่นี้เพราะมี "ไฟเขียว" จากผู้ใหญ่ในกรมป่าไม้บางคนบอกว่า "เอาพื้นที่เขต จ.จันทบุรี ไปเถอะเพราะที่นี่ส่วนหนึ่งมันเป็นป่าเสื่อมโทรม ขณะที่ข้าราชการตัวเล็กๆ ในพื้นที่กลับบอกว่า มันโทรมกันเสียเมื่อไรล่ะ"

สำหรับพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในบริเวณ "ป่าสงวนแห่งชาติขุนซ่อง" เขต ต.สามพี่น้อง ต.แก่งหางแมว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี มีพื้นที่ขอสัมปทานในระยะเวลา 30 ปี ประมาณ 125,000 ไร่กับพื้นที่บ้านบางรัก อ.ท่าใหม่ที่ยื่นขอสัมปทานสมทบครั้งหลังอีกประมาณ 157,000 ไร่

นับเป็นโครงการปลูกสวนป่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย!!!

"เชลส์จริงๆ แล้วไม่สนใจพื้นที่บ้างบางรักมากเท่าใด เพราะที่ตรงนั้นมันโทรมจริงๆ ผิดกับบ้านสามพี่น้องและบ้างแก่งหางแมวที่ยังสมบูรณ์ แต่เมื่อได้รับเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายจึงจำต้องขอสัมปทานแก้เกี้ยวแสดงความบริสุทธิ์ใจ" แหล่งข่าวใน จ.จันทบุรีกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

โครงการสวนป่าวนาธรของเชลส์นี้มีรายละเอียดดังนี้

ปี 2531 ปลูกป่ายูคาลิปตัสในเนื้อที่ 11,000 ไร่ ประมาณ 2,750,000 ต้น และตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นไปจะปลูกปีละ 22,000 ไปหรือประมาณ 5,500,000 ต้น จนกว่าจะครบ 110,000 ไร่ เมื่อปลูกเต็มโครงการจะมีต้นยูคาลิปตัสไม่น้อยกว่า 27,500,000 ต้น

ปี 2537 จะทยอยตัดไม้จากที่เริ่มปลูกและปลูกป่าทดแทนกับการตัดทันที่ และเมื่อทยอยตัดไม้ในโครงการปีละ 22,000 ไร่หรือประมาณ 5,500,500 ต้น จะยังมีพื้นที่เป็นป่าตามโครงการอีก 88,000 ไร่ ซึ่งจะมีต้นไม้ประมาณ 22,000,000 ต้น เพื่อทำเป็นกล้าไม้ในอนาคต

ตามรายละเอียดโครงการ ทางเชลส์ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอด้วย โดยจะจัดตั้งบริษัทเพื่อการนี้ขึ้นมาทั้งนี้ในระยะ 5 ปีแรกจะเป็นเงินลงทุนจากต่างประเทศ 100% แต่หลังจากนั้นจะกระจายหุ้นสู่มือคนไทยไม่น้อยกว่า 40%

คิดเป็นเงินลงทุนของโครงการปลูกป่ายูคาลิปตัสนี้ต้องใช้เงินประมาณ 1,200 ล้านบาท!!!

แม้เม็ดเงินจะสูงมากมายเพียงใด หากเชลส์เชื่อว่าถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนงานที่ได้จัดวางไง้อย่างพร้อมเพรียงแล้วนั้น "งานนี้ไม่มีทางขาดทุนแน่นอน" !!!!

และยาหอมที่เชลส์ให้กับรัฐบาลไทยก็คือว่า จะช่วยประหยัดเงินตราในการนำผลผลิตไม้นำเข้าจากต่างประเทศได้ถึงปีละ 1,800 ล้านบาท และเมื่อมองไปในอนาคตโครงการนี้คือ รากฐานสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ…

เชลส์แม้จะไม่ยอมทำตัวผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมไทย แต่ก็รู้ดีว่าการจะเกิดการยอมรับขึ้นได้นั้น ลำเพียงแค่โครงการสวยหรูที่บอกว่า บริษัทจะสามารถทำกำไรได้ถึง 375 ล้านบาทในปีที่ 5 อันจะเป็นการช่วยเพิ่มการว่าจ้างแรงงานคนไทยอีกไม่น้อยกว่า 1,400 คนนั้น ย่อมไม่พอเพียงที่จะกล่อมให้ภาครัฐบาลยอมรับได้ง่ายๆ

ดังนั้นเพื่อเป็นการตอกย้ำความมั่นใจว่า เชลส์จะไม่โกหกปลิ้นปล้อน จึงได้เสนอโครงการ "หมู่บ้านป่าไม้" ประกอบเข้าไปกับการยื่นขอสัมปทานพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขุนซ่อง ซึ่งหมู่บ้านป่าไม้นี้เชลส์คุยว่า จะเนรมิตให้เป็นเมืองใหม่ที่มีความพร้อมทุกๆ ด้าน

เชลส์เชื่อมั่นถึงเหตุการณ์ที่ไม่มีทางพลิกล็อคเป็นอันขาด!?

………………………………………

แล้วยักษ์ใหญ่อย่างเชลส์ถึงได้รู้ว่า อะไรๆ มันไม่ง่ายไปเสียทีเดียว!!!

ภายหลังจากเชลส์ได้ยื่นหนังสือถึงบีโอไอและกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม และ 24 สิงหาคม 2530 ก็ได้รับการท้วงติงทันควันจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ออกไปสำรวจพื้นที่แล้วแสดงความคิดคัดค้านไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง โดยให้เหตุผลว่า

1. พื้นที่ขอสัมปทานของเชลส์ในเขตป่าขุนซ่องเป็นที่ดินดีเกินไป ไม่คุ้มกับการเอามาเสี่ยงปลูกไม้ที่มีปัญหาอย่างยูคาลิปตัส ควรนำไปปลูกยางพารามากกว่า

2. หากจะมีการลงทุนควรที่จะสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูก 70% และเชลส์ปลูก 30% ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นในทรัพยากระรรมชาติขแงประเทศชาติได้มากกว่า

เมื่อเกิดความคิดสวนทางกันระหว่างกรมป่าไม้ที่ "ไฟเขียว" กับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่เปิด "ไฟแดง" ขัดขวาง จึงทำให้ไม่สามารยื่นหนังสือให้บีโอไอพิจารณาสนับสนุนโครงการนี้ได้ เป็นเหตุให้คนใหญ่บางคนถึงกับเกิด "อารมณ์หงุดหงิด"

นั่นยังไม่เท่าไร กระแสคัดค้านที่หนักหนาเอาการสำหรับเชลส์เห็นจะเป็นการรวมตัวกันของชาว จ.จันทบุรี กลุ่มที่มีนายวโรทัย ภิญญสาสน์ สส.จันทบุรี เป็นผู้นำซึ่งออกมาคัดค้านในหลักการที่ว่า "เชลส์จะไปแย่งที่ทำมาหากินของราษฎร และการปลูกสวนป่าที่ป่าขุนซ่องจะต้องมีการตัดไม้ในตอนแรก ซึ่งจะเป็นการทำลายแหล่งต้นน้ำลำธารสำคัญๆ ให้วอดวาย"

การคัดค้านดังกล่าวนี้ถึงกับมีกระแสบอกว่า ได้ใช้กำลังเข้าหักหาญกันโดยไม่รู้ว่าเป็นฝีมือของใครเป็นผู้กระทำ???

"เราบินสำรวจป่าแล้ว เห็นว่าพื้นที่บ้านแก่งหางแมวตรงกลางยังเป็นป่าสมบูรณ์จริงๆ อีกอย่างพื้นที่เป็นรอยตะเข็บของ 5 จังหวัดภาคตะวันออก หากอนุญาให้เข้าไปทำไม่ได้ ใครล่ะจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสูญเสียแหล่งน้ำลำธารอันเป็นเส้นเลือดของชาวบ้าน" พ่อค้าใหญ่เมืองจันทบุรีรายหนึ่งร่วมคัดค้านกล่าวกัน "ผู้จัดการ"

เสียงโต้ตอบจากฝ่ายเชลส์ในกรณีนี้จึงมีเพียงแค่ว่า "คงเกิดความไม่เข้าใจขึ้นในหมู่ชาวบ้าน และมีการยั่วยุจากนักการเมืองกับพ่อค้าท้องถิ่นที่จะต้องสูญเสียผลประโยชน์ ซึ่งเชลส์จะดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน"…

นอกจากพลังมวลชนที่ไม่เอาด้วยเป็นส่วนมากแล้วนั้น ด้านฝ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติก็ออกโรงคัดค้านสมทบสร้างกระแสกดดันหนักเข้าไปอีก โดยยกเหตุผลที่น่ารับฟังว่า การอนุญาตให้ทำไม้ในเขตป่าขุนซ่องมีแต่ทางเสีย เป็นการทำลายสมบัติผืนสุดท้ายในภาคตะวันออกอย่างน่าเวทนา

"พื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ป่าชิ้นสุดท้ายของภาคตะวันออก ซึ่งมีลักษณะพิเศษในเชิงนิเวศวิทยาหลายประการไม่เหมือนกับป่าอื่นๆ รัฐบาลแคนาดาเคยเสนอเงินช่วยเหลือเพื่อสำรวจศึกษาป่านี้มาแล้ว" แหล่งข่าวฝ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติบอกกับ "ผู้จัดการ"

…………………………

และที่เชลส์ถูกกล่าวหาว่ากำลัง "แหกตา" คนไทยทั้งประเทศครั้งใหญ่อีกครั้งก็คือ หลังจากมีการสำรวจสภาพป่าขุนซ่องครั้งหลังสุดพบว่า ยังมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์รวมอยู่ถึง 95,000 ไร่ หรือคิดเป็น 76% ของพื้นที่สัมปทานทั้งหมด

ข้อมูลนี้ผิดกับที่เชลส์บอกว่า พื้นที่นี้เป็นป่าเสื่อมโทรมชนิดยืนอยู่กันคนละฝั่งเลยทีเดียว!!

นอกจากนี้ด้านหนึ่งยังพบความเคลือบแฝงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ พื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้ยังเป็นแหล่งแร่พลวงขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ดังนั้นการที่เชลส์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานอยู่แล้ว ยื่นขอสัมปทานจะแอบแฝงผลประโยชน์ด้านนี้รวมอยู่ด้วยหรือไม่!?

ข้อกล่าวหานี้คงเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป!!!

แต่ความเป็นจริงประการหนึ่งที่ "ผู้จัดการ" พบมากับโครงการสวนป่าวนาธรของเชลส์เห็นจะเป็นเรื่อง "การเคลื่อนไหวขึ้น-ลงของราคาที่ดิน" เนื่องจากได้มีการรับรู้กันว่าเชลส์จะมาลงทุนปลูกสวนป่าที่นี่ ก็ได้มีการกว้านซื้อที่ดินกันอุตลุด บางรายถึงกับยอมโค่นต้นไม้ขายเพื่อให้ที่ดินกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมกันจริงๆ

บุคคลที่อยู่เบื้องหลังการขึ้น-ลงของราคาที่ดิน และทำตัวเป็นนายหน้าวิ่งเต้นซื้อขายที่ให้กับบริษัทนั้นกล่าวกันว่า เป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยผู้หนึ่งชื่อ "ป" (ระดับ 10) ซึ่ง "ป" คนนี้เคยเป็นใหญ่ใน จ.จันทบุรีมาก่อน

"เขามีอิทธิพลในหมู่ข้าราชการสูงเลยทีเดียว จะเห็นได้ว่าฝ่ายราชการแทบจะปิดปากเงียบในเรื่องนี้ แม้จะมีการยื่นกระทู้ถามในที่ประชุมสภาจังหวัดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง" สจ.คนหนึ่งของ จ.จันทบุรีเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

ถ้าจะบอกว่ากรณีพิพาทที่เกิดขึ้นกับเชลส์นั้น ด้านหนึ่งเป็นเพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจ-การเมืองของคน 2 กลุ่มโยงเข้าใส่กัน โดยมีเชลส์เป็นคนกลางซึ่งเป็นพ่อค้ารายหนึ่งต้องคอยรับหมัดที่ถล่มใส่กันก็คงจะไม่ผิดนัก.…

มันก็เป็นกรรมของเชลส์ไป!!!

"เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เราต้องการเพียงให้เรื่องนี้ยุติโดยเร็ว เพื่อที่บริษัทจะได้ลงมือปลูกสวนป่าได้เสียที เพราะยิ่งล่าช้าออกไปนานเท่าใด อนาคตของการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษในบ้านเราก็ล่าช้าตามไปด้วย ธำรง ตยางคนนท์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ใครได้ใครเสีย??

กรณีป่าขุนซ่องของเชลส์ที่ได้รับการคัดค้านอย่างหนัก หากจะแยกพิจารณาประเด็นคัดค้านก็พอจะจำแนกได้ดังนี้

1. การทำลายทรัพยากรป่าไม้ของไทย - ประเด็นนี้ชี้กันตรงจุดที่ว่า พื้นที่ป่าขุนซ่องที่มีทั้งหมดประมาณ 675,000 ไร่นั้น เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสำคัญหลายสายที่ไหลไปหล่อเลี้ยงคนใน 5 จังหวัดภาคตะวันออก การเข้ามาปลูกสวนป่าของเชลส์ แน่นอนว่าขั้นแรกต้องมีการตัดไม้เดิมทิ้ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำลายต้นน้ำลำธาร และปรากฏการณ์หลายครั้งที่ผ่านมาไม่มีการเชื่อใจกันว่า เอกชนจะมีความจริงใจต่อการปลูกป่าทุดแทนจริงๆ หรือ!?

"ทำไมไม่มองกันบ้างล่ะว่า เมื่อเราเข้ามาลงทุนกับป่าก็ต้องถือว่า ป่านั้นเป็นชีวิต ไม่มีป่าแล้วจะมีที่ให้เราทำมาหากินกันหรือไม่ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ปลูกป่า และเราหวังมากกว่านั้นก็คือ เทคนิคการปลูกป่าที่ถูกต้องของเรานั้นจะช่วยให้ชาวบ้านได้เข้าใจอะไรมากขึ้น" ธำรงกล่าวถึงกระแสคัดค้านข้อนี้ให้ฟัง

2. ความเหมาะสมต่อการใช้พื้นที่ - พื้นที่ภาคตะวันออกของไทยนั้นเป็นพื้นที่เขตป่าร้อนชื้น (Tropical Rainforest) ซึ่งในโลกมีเพียงไม่กี่แห่ง ความอุดมสมบูรณ์ของดิน สภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศวิทยาที่มีลักษณะเฉพาะ ทำให้พื้นที่เป็นแหล่งกสิกรรมปลูกผลไม้เมืองร้อนที่ได้ผลที่สุด ซึ่งการลงทุนปลูกผลไม้เมืองร้อนได้ผลสูงกว่าและต้นทุนต่ำกว่า

นอกจากนี้ยังเห็นว่าพื้นที่นี้หากนำไปพัฒนาเป็นแหล่งปลูกยางพาราแทนการปลูกยูคาลิปตัส ก็จะให้ผลกำไรเฉลี่ยต่อไร่สูงกว่ากันมากมาย โดยที่การปลูกยางพาราทำไรต่อไร่ถึง 1,000-2,000 บาท ขณะที่ยูคาลิปตัสให้ผลกำไรสูงสุดเพียงไร่ละไม่เกิน 500 บาท

ประเด็นนี้ "ผู้จัดการ" ขอยกผลการศึกษาการปลูกยูคาลิปตัสเชิงพาณิชย์ของชัชชัย อัมพรายท์ ป่าไม้จังหวัดฉะเชิงเทราที่ศึกษาเรื่องนี้เป็นพิเศษบอกว่า การปลูกป่ายูคาลิปตัสที่ได้เกรดมาตรฐานโลกจะทำกำไรสุทธิได้ถึงไร่ละ 1,449 (ดูกราฟต้นทุนการผลิตต่อคิวบิตเมตร) และจากพื้นที่ปลูกป่ายูคาลิปตัสทั้งประเทศที่มีอยู่ในเวลานี้ 588,739 ไร่นั้นยังไม่พอเพียงกับความต้องการของตลาด ซึ่งคาดว่าในระยะ 15ปีข้างหน้า ความต้องการใช้ไม้ภายในประเทศจะสูงถึง 5 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี นั่นหมายถึงว่าจะต้องมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 6 ล้านไร่ และถ้าจะปลูกเพื่อส่งออกด้วยแล้วยิ่งต้องเพิ่มเนื้อที่เพิ่มมากกว่าเท่าตัว

ก็เป็นเพียงแนวทางการศึกษาของคนๆ หนึ่งที่ "ผู้จัดการ" อยากนำขึ้นมาเปรียบเทียบ ส่วนใครจะตัดสินใจเช่นไรนั้นย่อมเป็นเอกสิทธิ์ส่วนบุคคล ที่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ได้-เสียของประเทศเป็นหลักเกณฑ์พิจารณา!!!

3. ความเหลื่อมล้ำในการใช้ที่ดิน - ประเด็นน่าพูดถึงมาก และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ภาครัฐบาลควรให้ความสนใจพร้อมกับวางมาตรการรุก-รับอย่างทันเกม เนื่องจากการเปิดโอกาสให้บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เข้ามาถือครองกรรมสิทธิที่ดินในรูปแบบต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่น่า "ห่วงใย" ไม่น้อย เพราะปัจจุบันนี้เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า กรรมสิทธิการถือครองที่ดินส่วนใหญ่ภายในประเทศนั้น ได้ตกไปอยู่ในอุ้งมือของคนต่างชาติจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ

เชลส์ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่จริงๆ ใยมิน่าหวาดหวั่นเกรงกลัวมากยิ่งขึ้นหรือ!? และไม่ว่าเจตนาของเชลส์จะเต็มไปด้วยความจริงใจเพียงไร การป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง….

ไม่มีใครปรารถนาความก้าวหน้าเยี่ยงการตกเป็น "ทาส" ให้คนอื่นขุนอย่างเด็ดขาด !!!

4. การถ่ายทอดเทคโนโลยี - คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องถกเถียงกันเป็นพิเศษ เพราะความจำเป็นนี้ เป็นการรองรับการเปิดประตูประเทศไทยไปสู่การเป็น "ประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรใหม่" ดังที่ใฝ่ฝัน….

จุดที่ต้องคำนึงถือว่า การเข้ามาลงทุนของเชลส์นั้นจะยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ ให้เหมือนอย่างที่โฆษณาไว้หรือเปล่า!? ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) ซึ่งใช้ในการคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่ให้ผลผลิตสูงแล้วขยายพันธุ์ออกไปได้เป็นจำนวนมาก หรือการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ

ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตสำคัญๆ บางอย่างเป็นเรื่อง "เก็บลับ" ของทางบริษัทไม่อาจเปิดเผยได้ โดยเฉพาะกับแนวทางของเชลส์ที่มีข่าวยืนยันว่า นอกจากการปลูกป่ายูคาลิปตัสแล้ว เชลส์กำลังทุ่มงบจำนวนหนึ่งวิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมที่จะนำมาแพร่พันธุ์ในเมืองไทย โดยที่เมล็ดพันธุ์นี้จะต้องใช้กับยาของเชลส์เพียงบริษัทเดียว

เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมนี้ แม้ว่าฝ่ายไทยจะพยายามเลียบเคียงสอบถามหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่เคยประสบผลสำเร็จเลยสักที!?

การเปิดใจกว้างกับการยอมรับการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็น "ประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรใหม่" จำต้องตระหนักกันให้ดีว่า เราจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบบริษัทข้ามชาติต่างๆ ไม่ได้ เพราะอดีตที่ผ่านมา ไทยได้สูญเสียผลประโยชน์ที่ควรได้รับมามากต่อมากแล้ว... และขณะเดียวกันการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวของตัวเองก็เป็นเรื่องที่ควรเร่งรีบกระทำกันโดยเร็ว

มันสมองของคนไทยนั้นไม่เคยเป็นรองใคร อยู่ที่ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะให้การสนับสนุนอย่างจริงจังกันหรือไม่เท่านั้นเอง!!!

บทสรุป

เรากำลังมุ่งพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็น "ประเทศอุตสาหกรรมใหม่" (NICs) โดยผ่านบันไดขั้นแรกของการเป็น "ประเทศอุตสาหกรรมการเกษตร" (NACs) ซึ่งเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายเห็นชอบด้วย ทว่าเนื้อหาการพัฒนาที่ยังต้องพึ่งพาต่างชาติเป็นปัจจัยหลักนั้น ควรระแวดระวังการตกเป็น "ทาส" โดยไม่รู้ตัวเอาไว้ด้วย มิฉะนั้นแล้วเราอาจกลายเป็น "ประเทศล้มลายใหม่" ไปก็ได้

คงไม่มีใครยินดีแน่แท้ที่จะรับรู้ถึงความเจ็บปวดแบบฆ่าตัวเองเช่นนี้ !!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us