แบงก์เอเซียและเอกธนกิจร่วมกนสร้งประวัติศาสตร์ในธุรกิจการเงินด้วยการลงทุนซื้อเฟิสท์
แปซิฟิคส์โฮลดิ้ง (ไลบีเรีย) มูลค่า 18 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ กล่าวสำหรับแบงก์เอเซีย
การลงทุนครั้งนี้ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เฟิสท์ แปซิฟิคเอเชียที่กรุงเทพฯ
และขยายฐานธุรกิจลูกค้าการเงินและหลักทรัพย์ ให้เชื่อมโยงกันระหว่างตลาดลอนดอน
ฮ่องกง และกรุงเทพฯ การลงทุนครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นบันไดสู่การฟื้นตัวของแบงก์ที่ดีที่สุดหนทางหนึ่ง
แบงก์เอเซียได้ฉลองครบรอบ 50 ปีเมื่อปลายปีที่แล้ว พร้อมกับปรับยุทธศาสตร์ด้านการจัดการภายใน
กล่าวคือ หนึ่ง - ดึงเสนาะ อุนากูล อดีตเลขาสภาพัฒน์มาเป็นประธานกรรมการบริหารเพื่อวางแผนทิศทางการพัฒนาของแบงก์ในอนาคต
พร้อมกันนี้โปรโมทผู้บริหารระดับฝ่ายขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่
เช่น จุลกร สิงหโกวินท์, อภิชาติ เหมะกุล, ศักดิ์ เอื้อชูเกียรติ, เจมส์
สเตนห์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนระดับล่างก้าวขึ้นมาแทนได้ สอง - ปรับระบบสายงานโดยการแยกหน้าที่และความรับผิดชอบให้ชัดเจนระหว่างงานปฏิบัติการกับการตลาด
และให้สายงานตลาดทุกระดับเป็นธงนำการประกอบธุรกิจของแบงก์ ความหมายก็คือ
การจัดการจะ aggressive มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่ง conservative มากๆ สามแบงก์จ้างบริษัทอาเธอร์แอนเดอสันวางระบบและพัฒนาข้อมูล
เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาสินเชื่อและข้อมูลที่บ่งบอกถึงความต้องการใช้บริการของลูกค้า
3 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ได้เงินช่วยเหลือจาก ธปท.ในรูปซอฟ์ทโลน 1,500 ล้านบาท
ผู้บริหารแบงก์เอเซียได้ปรับปรุงทิศทางของแบงก์ให้ชัดเจนขึ้น นั่นคือ การเป็นแบงก์ขนาดเล็กที่มีบริการที่ดีที่สุดด้วยเทคโนโลยีทันสมัยและบริหารแบบมืออาชีพ
เป้าหมายคือ การฟื้นตัวจากปัญหาหนี้เสียและฐานรายได้ที่แคบเกินไป
ยศ เอื้อชูเกียรติ กรรมการผู้จัดการยอมรับว่า ย้อนหลังไปช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
แบงก์มีปัญหาทิศทางไม่แจ่มชัด ว่าต้องการอะไรและจุดยืนที่แท้จริงอยู่ตรงไหน
การบริหารมีปัญหากล่าวคือ ไม่มีวัฒนธรรมแบบมืออาชีพ สิ่งเหล่านี้ทำให้ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อมีปัญหามาก
ก่อนหน้าได้รับความช่วยเหลือซอฟท์โลน แบงก์มีหนี้เสียไม่น้อยกว่า 3,000
ล้านบาทจากการปล่อยสินเชื่อซึ่งส่งผลต่อฐานะการประกอบการ นั่นคือ แบงก์ต้องตั้งสำรองหนี้สูญจำนวนมาก
ปี 2531 ตั้งสำรอง 50 ล้านและเพิ่มขึ้นเป็น 360 ล้านในปี 2532 ส่วนปีนี้คาดว่าไม่น้อยกว่า
262 ล้าน
แม้ว่ากำไรก่อนหักภาษีและสำรองหนี้สูญปี 2531 ถึง 2533 อยู่ในจำนวน 190,
240 และ 487 ล้านบาท แต่เมื่อหักภาษีและรายจ่ายสำรองหนี้แล้วปี 2531 และ
2532 ก็จะเหลือกำไรไม่มากนัก เช่น ปี 2532 มีกำไรสุทธิเพียง 75 ล้านบาท เทียบกับปี
2531 ที่กำไรขึ้นเป็น 284 ล้านบาท เนื่องจากแบงก์ขายทรัพย์สินพวกที่ดินออกไป
อย่างไรก็ตามคาดว่า ในปีนี้คงมีกำไรสุทธิเพียง 190 ล้านบาท หรืออีกนัยหนึ่งผลตอบแทนต่อเงินกองทุนอยู่ในสัดส่วน
8.6% เทียบกับ 4.4% และ 11.4% ของปีก่อนหน้านี้
มันเป็นภารกิจที่หนักมาของยศและเสนาะที่จะต้องนำแบงก์ไปสู่การทำผลตอบแทนต่อเงินกองทุนที่สูงขึ้นๆ
ในแผนงาน 5 ปีข้างหน้า (2533-2537)
แบงก์ได้แถลงว่า สิ้นปี 2537 จะมีสินทรัพย์เป็น 99 พันล้านบาท จาก 44 พันล้านบาทของปี
2532 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยนปีละ 25% เงินกองทุนของส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มจาก
1.6 พันล้านเป็น 2.8 พันล้านบาท รายรับต่อหุ้น (EPS) จาก 4.6 บาทเพิ่มขึ้นเป็น
39.6 บาทตอนสิ้นแผน (2537)
มันเป็นเป้าหมายที่ท้าทายยศและเสนาะมากๆ
หนทางที่จะนำไปสู่เป้า คือการสร้างและพัฒนาฐานรายได้ให้มากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งแบงก์ต้องเพิ่มปริมาณสินเชื่อมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้จากดอกเบี้ย
และโดยเฉพาะค่าธรรมเนียมจากบริการทางการเงินที่ปัจจุบันมีสัดส่วนไม่ถึง 1%
ของรายได้รวม ขณะเดียวกันต้องหารายได้เพิ่มจากผลตอบแทนที่แบงก์เข้าร่วมลงทุนในธุรกิจต่างๆ
ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมลงทุนไปแล้วประมาณ 100 ล้าน เช่น ในบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์
เฟิสท์ แปซิฟิค เอเซียซีเคียวริตี้ (ไทย) หรือ เอฟพีเอส (ไทย)
ยศเคยกล่าวถึงการลงทุนว่า แบงก์ต้องการทำธุรกิจการเงินครบวงจร เพื่อขยายฐานรายได้และบริการลูกค้าให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ซึ่งเป็นกลยุทธ์นำแบงก์ไปสู่การให้บริการที่มีคุณภาพ
นี่คือ เหตุผลสำคัญที่แบงก์ตัดสินใจลงทุนร่วมกับเอกธนกิจและนุกูล ประจวบเหมาะในการซื้อเฟิสท์
แปซิฟิค เอเซียซีเคียวริตี้โฮลดิ้ง (ไลบีเรีย) จำนวน 210 ล้านบาท หรือ 45%
ของ 18 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งเป็นราคาซื้อขายกิจการเมื่อต้นเดือนมีนาคมปีนี้
แม้การลงทุนในธุรกิจต่างๆ ของแบงก์จะเคยมีมาก่อนหน้านี้นับเป็นมูลค่า 100
ล้านบาทก็ตาม แต่การลงทุนในเฟิสท์ แปซิฟิคนับเป็นการลงทุนข้ามชาติครั้งแรกที่ใช้เงินลงทุนสูงสุดทั้งของตัวแบงก์เองและสถาบันการเงินของไทย
"มานูเอล ปังกิลินัน (แมนนี่) บอกกับเราเมื่อต้นพ.ย.ปีที่แล้วว่า ต้องการขายธุรกิจค่าหลักทรัพย์ออกไป
เนื่องจากต้องการ concentrate ในธุรกิจพัฒนาที่ดิน ธนาคารและการตลาด"
จุลกร สิงหโกวินท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์เอเซียเล่าให้ฟัง
เฟิสท์ แปซิฟิค เอเซียซีเคียวริตี้ (เอสพีเอส) ที่ไลบีเรียเป็นโฮลดิ้งคอมปะนีสายลงทุนธุรกิจหลักทรัพย์
ซึ่งมีเครือข่ายในลอนดอน ฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย และสิงค์โปร์
สาขาที่ลอนดอนและฮ่องกงเป็นนายหน้าค้าหุ้นในตลาดหุ้นที่นั่น เอฟพีเอสถือหุ้น
100% ขณะที่มาเลเซียถือหุ้น 30% ในบริษัทนายหน้าค้าหุ้นโมไฮยานี และ 28%
ในเฟิสท์ แปซิฟิค เอเซีย (ไทย)
ในเอกสารรายงานประจำปีของบริษัทเฟิสท์ แปซิฟิคกรุ๊ประบุว่า ปี 2531 ธุรกิจค้าหลักทรัพย์ทำรายได้เพียง
0.3% ของรายได้รวมทั้งกรุ๊ป และผลดำเนินงานปรากฏว่าขาดทุนสะสม ประมาณเกือบ
6 ล้านดอลล่าร์ โดยเฉพาะสาขาที่ฮ่องกงขาดทุน 4 ล้านดอลล่าร์
แต่ในปีที่แล้วเอฟพีเอสสามารถฟื้นตัวกลับมาทำกำไรในจำนวนที่สามารถลบล้างการขาดทุนได้หมด
แถมมีกำไรเหลืออีก 2.9 ล้านดอลล่าร์เป็นตัวเลข กำไรสะสมครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อ
7 ปีก่อน
นักวิเคราะห์หุ้นได้กล่าวว่า ปีที่แล้วเอฟพีเอสโชคดีได้เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายหุ้นอินโดซิเมนต์มูลค่า
335 ล้านดอลล่าร์ และสิ่งนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เอฟพีเอสมีกำไร
อินโดซิเมนต์มีลิมซูเหลียง ผู้ถือหุ้นใหญ่เอฟพีเอสกรุ๊ปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า
35% เป็นบริษัทผู้ผลิตปูนซิเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย
เอฟพีเอสโฮลดิ้งที่ไลบีเรียมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 12.4 ล้านดอลล่าร์ ผลกำไร
2.9 ล้านปีที่แล้ว ทำให้มีเงินกองทุน 15.3 ล้านดอลล่าร์
แหล่งข่าวกล่าวว่า เอฟพีเอสขายกิจการออกไปให้แบงก์เอเซียและเอกธนกิจมีพรีเมียม
2.7 ล้านดอลล่าร์
ราคาเงินสด 18 ล้านดอลล่าร์ที่ซื้อขายกันแบ่งเป็นค่า Goodwill ประมาณ 6
ล้านดอลล่าร์ ที่เหลือ 12 ล้านดอลล่าร์เป็นcash asset
"เราเจรจากับเอฟพีเอสด้วยเวลาสั้นมากเพียงเดือนเศษๆ ก็สามารถทำข้อตกลงซื้อขายเบื้องต้นได้
โดยเฉพาะการซื้อหุ้น 28% ที่เอฟพีเอสเอเซีย (ไทย) ใช้เวลาเพียงวันเดียวก็ตกลงกัน"
ปิ่น จักกะพาก กรรมการผู้จัดการเอกธนกิจเล่าถึงเบื้องหลัง
การเทคโอเวอร์ครั้งนี้ทางฝ่ายเอฟพีเอสมี คริส ยัง เป็นผู้ดำเนินการเจรจา
ขณะที่ฝ่ายแบงก์เอเซียและเอกธนกิจมี ยูยีน ลี ผู้บริหารระดับสูงด้านคอร์เปอเรทไฟแนนซ์ของเอกธนกิจเป็นผู้เจรจา
ส่วนงานด้านกฎหมายทางฝ่ายแบงก์เอเซียและเอกธนกิจแต่งตั้งบริษัทลิงค์เลเธอร์แอนด์เพน
(Linklaters and Pains) และบริษัทพีท มาร์วิค (Peat Mavick) เป็นที่ปรึกษาตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินเอฟพีเอส
มีคำถามเกิดขึ้นว่า เอฟพีเอสมีดีอะไรตรงไหน? แบงก์เอเซียและเอกธนกิจถึงลงทุนซื้อ
ยูยีน ลี บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า หนึ่ง - เอฟพีเอสมีเครือข่ายทั้งในยุโรปและอาเซียน
โดยเฉพาะสาขาลอนดอนมีฐานลูกค้าประเภทสถาบันในยุโรปและฮ่องกงจำนวนมากที่สนใจลงทุนหุ้นอาเซียน
ซึ่งจะป้อนมาให้ที่สาขากรุงเทพฯ และสาขาอื่นๆ ในอาเซียน สองทีมผู้บริหารเอฟพีเอสที่นำโดยริชาร์ด
แบรดเร่ย (Richard Bradley) เป็นที่ยอมรับในความสามารถ เพราะหลังจากเข้ามาได้เพียง
2 ปี ก็พลิกฟื้นกำไรได้สำเร็จ "ตัวริชาร์ดมีประสบการณ์ในธุรกิจหลักทรัพย์มาตั้งแต่ปี
1971 เคยเป็นประธานบริหาร W.I.Carr มาตั้งแต่ปี 1986" เรียกได้ว่าคร่ำหวอดในธุรกิจหลักทรัพย์มาตลอดชีวิต
ที่สำคัญทีมของริชาร์ดซึ่งมี 7 คนตกลงทำสัญญาบริหารเอฟพีเอสต่อไปอีก 3 ปี
และถือว่าสิ่งนี้เป็น hidden asset สาม - เอฟพีเอสในเครือข่ายที่มาเลย์ ฟิลิปปินส์
ไทย ต่างมีที่นั่งโบรคเกอร์ในตลาดหุ้นที่เริ่มทำกำไร เช่น ที่เมืองไทย ปีที่แล้วทำกำไรได้ถึงกว่าครึ่งของยอดกำไรรวมและเครือข่ายในอาเซียนเหล่านี้
สามารถเป็นกลไกเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้รวดเร็ว และขณะเดียวกันก็อยู่ในชัยภูมิที่นักลงทุนจากทั่วโลก
สนใจลงทุนในปริมาณที่มากพอจะทำให้เอฟพีเอสสามารถทำกำไรได้ สี่ - แบงก์เอเซียจะได้ฐานลูกค้าคัสโตเดียนและ
Foreign Exchange มากขึ้นจากเครือข่ายที่ลอนดอนและฮ่องกงป้อนมาให้
จุดเด่นทั้ง 4 ข้อนี้เพียงพอสำหรับประโยชน์ในแง่ธุรกิจที่จะเกิดแก่เอฟพีเอสเอเชีย
(ไทย) แบงก์และเอกธนกิจ
ผู้บริหารแบงก์พาณิชย์ชั้นนำระดับโลกที่มีสาขาที่กรุงเทพฯ รายหนึ่งได้กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่าการซื้อเอฟพีเอสเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง"
ซึ่งสอดคล้องกับการตัดสินใจพิจารณาให้ความเห็นชอบของ ธปท. ดังที่ จรุง หนูขวัญ
ผอ.ฝ่ายกำกับสถาบันการเงินได้กล่าวว่า "เราเห็นชอบด้วยเหตุผลเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนระยะยาว
นำผลตอบแทนเข้าประเทศ มิใช่เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น"
ธปท.ที่พิจารณาเรื่องนี้มี 3 คนคือ จรุง, ชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์ ผอ.ฝ่ายกำกับแบงก์พาณิชย์และกำจร
สถิรกุล ผู้ว่าการฯ ว่ากันว่าใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ก็อนุมัติเรียบร้อยเมื่อต้นเดือนมกราคม
นับเป็นการซื้อกิจการข้ามประเทศครั้งแรกของวงการธุรกิจการเงินไทย! แม้จะสำเร็จลง
แต่ดูเหมือนแบงก์เอเซียจะตกเป็นเป้าจับตาในแง่ที่กำลังอยู่ในช่วงการฟื้นฟูปรับปรุงระบบบริหาร
หลังจากย่ำแย่ในปัญหาหนี้เสียและฐานะเงินกองทุนง่อนแง่น ว่าจะมีกำลังของเงินกองทุนที่จะมีเพียงพอในการพยุงฐานะความเสียหายจากการลงทุนที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่
โดยเฉพาะเวลานี้แบงก์เอเซียกำลังใช้ประโยชน์จากเงินซอฟท์โลนอยู่!
จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่า แบงก์เอเซียอาจจะนำรายได้จากผลกำไรบางส่วนของซอฟท์โลนมาลงทุนซื้อเอฟพีเอส
ซึ่งไม่เป็นการยุติธรรมต่อแบงก์อื่น
"ผมว่าทางที่เหมาะสมที่สุดน่าจะเอามาจาก Equity" แหล่งข่าวกล่าว
ต่อข้อสงสัยนี้ จุลกรแห่งแบงก์เอเซียได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "ไม่เป็นเช่นนั้นแน่ ความจริงแบงก์ใช้ cash flow ปรกติมาเป็นเงินทุนในการซื้อ
cash flow ประกอบด้วยแหล่งที่มาจากกำไรสุทธิ เงินฝาก และเงินกู้ยืม รายได้จากการขายทรัพย์สิน
และดอกเบี้ยรับจากบัญชีระหว่างธนาคาร ซึ่งแยกไม่ออกว่า เอามาจากรายการไหน"
ต้นมีนาคม แบงก์เอเซียได้เพิ่มทุนอีก 400 ล้านบาทเป็นเงินทุนส่วนของผู้ถือหุ้น
2000 ล้านและคาดว่าจะมีพรีเมียมประมาณ 110 ล้านจากการขายแก่บุคคลภายนอกในราคา
150 บาทจำนวน 2 ล้านหุ้น รวมเป็นเงินกองทุนประมาณ 2110 ล้านบาท
มองจากฐานเงินกองทุนแล้วแบงก์เอเซียใช้เงินลงทุนในเอฟพีเอสเพียง 10% ของเงินกองทุนเท่านั้น
และเมื่อเทียบกับวงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านก็แค่ 9%
จุดประเด็นนี้ ธปท.ก็เห็นเช่นกันว่า กำลังเงินทุนของแบงก์เอเซีย โดยเฉพาะเงินสำรองลับที่ลงทุนแฝงในสินทรัพย์ตัวตึกสนญ
ที่สาธร ซึ่งถ้าหากขายทิ้งไปก็จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1500 ล้านนั้น สามารถรับได้กับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
เมื่อแบงก์ชาติยืนยันออกมาเช่นนี้ ประตูการทำธุรกิจของแบงก์เอเซียก็เปิดออกอย่างไม่มีพรมแดน
และสิ่งนี้ก็หมายถึงบันไดสู่การฟื้นตัวของแบงก์ได้เริ่มขึ้นแล้ว
ส่วนจะปืนป่ายไปถึงที่หมายได้แค่ไหน ก็อยู่ที่เอฟพีเอสภายใต้การบริหารของริชาร์ด
และประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของยศและเสนาะ