ฉัตรชัย บุนนาค ได้รับการยอมรับจากคนหลายวงการในความเป็นนักบริหารมืออาชีพ
ดังนั้น เมื่อเขาได้เข้ามารับบทเป็นประธานของฟอร์ดในประเทศ ไทย เส้นทางของยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของอเมริกาในช่วงหลังจากนี้
จึงเป็นเรื่อง ที่น่าติดตาม
หากมีใครถามฉัตรชัย บุนนาค ถึงชีวิตหลังเกษียนตัวเองจากอาชีพนักบริหารแล้วจะไปทำอะไร
คำตอบ ที่ทุกคน ได้รับคือ "ผมอยากจะกลับไปสอนหนังสือ"
อาชีพสอนหนังสือเป็นอีกอาชีพหนึ่ง ที่ฉัตรชัยรักมาก นอกเหนือจากการ เป็นนักบริหาร
เพราะเขามีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ทุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิต ให้กับคนรุ่นใหม่ได้ศึกษา
ชีวิตของฉัตรชัยได้ผ่านองค์กรธุรกิจต่างๆ มาหลายแห่ง ทั้ง ที่เป็นระบบครอบครัว
และองค์กรระดับชาติ
เขาเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานบริษัทฟอร์ด โอเปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย)
ซึ่งถือเป็นประธานคนไทยคนแรกของ 1 ในบิ๊กทรีด้านอุตสาห-กรรมยานยนต์จากสหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา
และเป็นความเคลื่อนไหว ที่ทุกคนในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ต้องจับตาดูอย่างไม่กะพริบว่า
ฟอร์ดภายใต้การบริหารงานของฉัตรชัย จะสามารถเบียดแซงค่าย รถยนต์จากญี่ปุ่น
ที่ครองตลาดในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานได้หรือไม่ ในช่วงหลังจากนี้
ฉัตรชัยเริ่มต้นการทำงาน โดยการเป็นอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมืองกรีนเบย์
สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกันกับ ที่เขาได้เข้าไปศึกษา จนจบปริญญาตรีทางด้านเศรษฐศาสตร์
เมื่อปี 2523
ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ที่เจมส์ เมอเรย์ แอนด์ แอสโซซิเอท
ไปพร้อมกันด้วย
เขาผันแปรตัวเองเข้าสู่วงการธุรกิจอย่างเต็มตัวเมื่อกลับมาเมืองไทย โดยเริ่มงานในกลุ่มโอเชียนประกันภัย
ก่อน ที่จะเข้ามาอยู่ในธุรกิจของครอบครัว "วิไลลักษณ์" ที่สามารถ คอร์ปอเรชั่น
"ผมเป็นมืออาชีพคนแรกในกลุ่มสามารถ" เขากล้ายืนยัน
ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทสามารถเทลคอม 1 ใน 4 บริษัท ที่ได้รับสัมปทานทำธุรกิจสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียมจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย
คือ ตำแหน่งล่าสุดของเขาในปี 2537 แสดงถึงความไว้วางใจในความสามารถ ที่ตระกูล
"วิไลลักษณ์" มอบให้กับเขา
นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้สามารถคอร์ปอเรชั่น
ได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีเดียวกันอีกด้วย
ที่สามารถเทลคอม ฉัตรชัยมีส่วนสำคัญในการติดตั้งระบบสื่อสารข้อมูลผ่าน
ดาวเทียมวีแซทให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ ทำให้เขาได้รู้จักกับบรรณวิทย์ บุญญรัตน์
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ดูแลสายงานเทคโนโลยีของธนาคาร
เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ได้มอบหมายงานให้บรรณวิทย์เป็นหัวหอกในการเข้ามาบุกเบิกธุรกิจด้านสื่อ
โดยการร่วมทุนกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งบริษัทสยามทีวี
แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ฉัตรชัยคือ บุคคล ที่บรรณวิทย์มองเห็นถึงความสามารถ
จึงถูกดึงตัวให้เข้ามาเป็นกรรมการผู้อำนวยการ มีบทบาทในการดูแลกิจการทุกอย่างของบริษัท
ในช่วงปลายปี 2537
"บทบาทของฉัตรชัย จะเป็นรองก็แค่คุณบรรณวิทย์เพียงคนเดียวเท่า นั้น " คนใกล้ชิดฉัตรชัยเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
ประสบการณ์ในสยามทีวีฯ มีทั้งความหวานชื่น และขมขื่น เพราะในยุคนั้น สยามทีวีฯ
จัดได้ว่าเป็นบริษัท ที่ทำธุรกิจด้านสื่อ ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุด
หลังจากได้รับสัมปทานสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ ที่กลายมาเป็นไอทีวีใน ปัจจุบัน
สยามทีวีฯ ยังสยายปีกตั้งบริษัท ลูกเป็นเครือข่ายเพิ่มขึ้นมาถึงเกือบ 50
บริษัท ครอบคลุมกิจการด้านสื่อ และโทร คมนาคมถึง 8 กลุ่มธุรกิจประกอบด้วย
1.ทีวี 2.วิทยุ 3.ข่าว และสำนักพิมพ์ 4.โทรคมนาคม และไอที 5.โฆษณา และประชาสัมพันธ์
6.บันเทิง 7.โปรดักชั่นเฮาส์ และ 8.การศึกษา
มีฉัตรชัยเป็นผู้ดูแลการปฏิบัติงานทั้ง 8 กลุ่ม ให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท
ทำให้ฉัตรชัย จำเป็นต้องเรียนรู้งานเพิ่มขึ้น จาก ที่มีความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นทุนเดิม
ขยายเข้าไปสู่งานด้านข่าวสาร และบันเทิงเข้ามาด้วย
ชีวิตของฉัตรชัยในสยามทีวีฯ น่าจะเป็นชีวิต ที่มีความสุข เพราะได้ดูแลกิจการที่หลากหลาย
มีงาน ที่ต้องให้เรียนรู้ใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน
แต่ทุกอย่างต้องสลายลงไป ภายหลังเกิดวิกฤติจากฟองสบู่แตกในปี 2540
แม้สยามทีวีฯ จะมีบรรณวิทย์เป็นหัวเรือใหญ่ และฉัตรชัยก็เป็นคนที่บรรณวิทย์ไว้เนื้อเชื่อใจมากที่สุด
แต่สยามทีวีฯ ก็ไม่ใช่ของบรรณวิทย์ เพราะมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
และวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ธนาคารทุกแห่งจำเป็นต้องตัดธุรกิจ
ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการธนาคารโดยตรงลงให้หมด เพื่อลดต้นทุน
อาณาจักรสยามทีวีฯ เป็นธุรกิจใหม่ ที่ธนาคารไม่มีความชำนาญ จึงต้องถูกบังคับให้หดเล็กลง
มืออาชีพ ที่ถูกดึงตัวเข้ามาดูแลงานในสายต่างๆ หลายคนต้องแตกฉานซ่านเซ็น
รวมถึงตัวฉัตรชัยเองด้วย
แต่เขาค่อนข้างโชคดี เพราะความ ที่มีฝีมือเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยอมรับในความเป็นมืออาชีพจากคนส่วนใหญ่
เขาจึงได้ถูกเชิญตัวไปเป็นผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operation
Officer : COO) ของบริษัทลูเซนท์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) บริษัทลูกของลูเซนท์
เทคโนโลยี ยักษ์ใหญ่ทางด้านสื่อสาร ที่แตกตัวออกมาจากเอทีแอนด์ทีจากสหรัฐอเมริกา
ช่วง 2 ปีเศษ ที่อยู่ลูเซนท์ ฉัตรชัยไม่ตกเป็นข่าวมากนัก จนคนเริ่มกลับมาฮือฮากันอีกครั้ง
เมื่อเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานของฟอร์ด โอเปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย)
เพราะนอกจากจะเป็นการดำรงตำแหน่งสูงสุดของคนไทยคนแรกในฟอร์ดแล้ว ยังถือเป็นการกระโดดข้ามธุรกิจ
จากเทคโนโลยีสารสนเทศมาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์
"ตำแหน่งนี้มีความหมาย และมีความท้าทายในตัวของมันเอง ในฐานะผู้บริหาร มืออาชีพ
ผมต้องบริหารให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไอที หรือรถยนต์" ฉัตรชัยยืนยันความมั่นใจ
ในงานแถลงข่าวเปิดตัวเขากับตำแหน่งใหม่ในฟอร์ด เมื่อกลางเดือนมิถุนายน
คนในวงการรถยนต์ต่างรู้ดีว่าเป้าหมายการลงทุนของฟอร์ดในประเทศไทย ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการใช้เป็นฐานการผลิต
เพื่อส่งรถยนต์ออกไปในตลาดการค้าเสรีอาเซียนในอนาคตเท่านั้น แต่ฟอร์ดยังต้องการเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศอีกด้วย
การทำให้ยอดขายของฟอร์ดแซงหน้าค่ายรถจากญี่ปุ่นในอนาคต ถือเป็นงาน ที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหารอย่างฉัตรชัย
บุนนาค
และหากเขาทำสำเร็จ เขาจะกลายเป็นอาจารย์ทางด้านบริหารธุรกิจคนสำคัญอีกผู้หนึ่ง
ที่จะมีนักศึกษาจำนวนมาก ต้องการซึมซับความรู้จากประสบการณ์ของเขาเป็นอย่างยิ่ง