ไม่น่าเชื่อว่า แบงก์ที่ได้รับคำชมจากทางการเมื่อต้นปี 2537 ว่ามีการบริหารเป็นเยี่ยม
เพราะสามารถคืนซอฟท์โลนจำนวน 1,500 ล้านบาทแก่แบงก์ชาติตามกำหนด หรือการเป็นแบงก์ขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจในศูนย์วิเทศธนกิจ
(BIBFs) อย่างแบงก์เอเชีย จะมีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่นั่งทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม
เพียงรอคอยเวลาตอนสิ้นปีที่จะมีอายุงานครบ 15 ปี แล้วลาออกทันทีเมื่อได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบของแบงก์
เกิดอะไรขึ้นกับลูกหม้อของแบงก์??
หากย้อนไปในช่วงประมาณปี 2530 ที่แบงก์เริ่มนำระบบ M&O (Marketing and
Operation) มาใช้ ความสับสนในอำนาจหน้าที่ที่ไม่มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะผู้จัดการสาขาแต่ละแห่งจะมีถึง 2 คน เพื่อแยกกันคุมด้านการตลาดและการปฏิบัติออกจากกัน
แม้ในทางทฤษฎีจะเป็นสิ่งดีที่แต่ละฝ่ายจะสามารถทำงานในความรับผิดชอบของตนได้อย่างเต็มที่
แต่ความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้น การไม่ลงรอยกันของผู้จัดการแต่ละสายงานส่งผลกระทบให้ผลการดำเนินงานตกต่ำลงอย่างช่วยไม่ได้
และสำหรับพนักงานปฏิบัติการก็ถูกโยกย้ายตำแหน่งโดยไม่ได้รับความสนใจว่ามีความสามารถในด้านใด
"เปรียบเหมือนการจัดคนให้เข้ากับงาน บางคนก็ถูกลดตำแหน่งเพียงเหตุผลว่า
เพื่อความเหมาะสม โดยเฉพาะฝ่ายสินเชื่อแทบไม่มีบทบาทเลย หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อและผู้จัดการสาขาหลายท่านถูกเรียกตัวให้ช่วยงานที่สำนักใหญ่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิม
และหลายคนก็ถูกแช่แข็ง ทำให้อัตราการ turn over สูงมากในช่วงนั้น" พงษ์ศักดิ์
นาวงษ์ประธานสหภาพคนปัจจุบัน ซึ่งทำงานเป็นนักกฎหมายของธนาคารเอเชียย้อนอดีตความเป็นมาให้ฟัง
ในที่สุดการยกเลิกระบบ M&O แล้วมาใช้ระบบเดิม ทำให้แบงก์ประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในหลายฝ่าย
โดยเฉพาะสินเชื่อและผู้จัดการสาขาที่มีความชำนาญทุกด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง
"น่าแปลกที่แบงก์มักใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยการซื้อตัวพนักงานมาจากที่อื่น
โดยเฉพาะจากแบงก์กรุงเทพ จนก่อให้เกิดปัญหาการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันมากมายในปัจจุบัน
และนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมในการเลื่อนตำแหน่ง พวกใครพวกมัน ใครแบ็คดีก็ได้เลื่อนตำแหน่งเร็ว
พร้อมๆ กับการละเลยไม่ให้โอกาสลูกหม้อเก่าได้แสดงฝีมือ แถมยังถูกคนนอกมาข้ามหน้าข้ามตาอีก
ทำให้สหภาพเร่งให้แบงก์มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอนในการบรรจุแต่งตั้ง โยกย้ายหรือปรับระดับ
เพื่อสร้างความมั่นใจให้พนักงาน" พงษ์ศักดิ์กล่าวถึงการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน
"คนเราเมื่อมีอายุถึงจุดหนึ่ง ความกระตือรือร้นในการหางานใหม่มันไม่มี
และเราก็มีภาระความรับผิดชอบครอบครัวที่เราต้องคำนึงถึง" พนักงานเก่าแก่เล่าถึงเหตุผลที่เขาจำต้องยอมจำนนเพื่อความอยู่รอด
ทั้งๆ ที่ในอดีตเคยยอมลาออกจากแบงก์กรุงเทพตามคำชักชวนของผู้บริหาร ด้วยหวังว่าอนาคตที่ใหม่ในธนาคารเอเชียแห่งนี้จะสดใสก้าวหน้า
แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เขาถูกลืมและก็มีสภาพที่ไม่ต่างอะไรกับ
deadwood อันเนื่องจากการถูกลดตำแหน่งในเวลาต่อมา
สหภาพธนาคารเอเชีย จึงกำเนิดขึ้นจากความสับสน ความไม่มั่นใจในความก้าวหน้าตำแหน่งงาน
และการถูกโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม เป็นสาเหตุสำคัญ นอกเหนือจากความไม่พอใจในสวัสดิการต่างๆ
ที่สะสมมานานเป็นเชื้อเพลิงช่วยปะทุอย่างดี
10 พฤษภาคม 2533 เป็นวันดีเดย์ที่สหภาพเกิดขึ้นภายใต้การนำของ ชะอ้อน มุสิกพงศ์น้องสาวของวีระ
มุสิกพงศ์ นักการเมืองชื่อดัง ภายใต้แนวร่วมของพนักงานจำนวน 1,357 คนหรือประมาณ
60% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนสูงพอที่จะยืนยีนถึง ความต้องการอันแรงกล้าในการสร้างอำนาจต่อรองกับผู้บริหารอย่างชัดเจน
เพียงแค่ระยะเวลา 3 ปี บทบาทของสหภาพแบงก์เอเชีย ได้ดำเนินการเคลื่อนไหว
ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงโดยการนัดหยุดงาน เนื่องจากแบงก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ให้แบงก์จ่ายภาษีเงินได้ให้พนักงานตามระบบเดิม
หรือการเรียกร้องขอปรับเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง จนมีภาพพจน์ของสหภาพที่แข็งมากที่สุดแห่งหนึ่ง
ในปี 2533 สหภาพประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้เพิ่มเงินเดือนๆ ละ 400
บาท สำหรับผู้ที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 12,000 บาท และทำหน้าที่เป็นตัวแทนพนักงานในการเจรจาขอให้แบงก์ยกเลิกคำสั่งเมื่อวันที่
20 กรกฎาคม 2533 ที่ประกาศเปลี่ยนแปลงระบบการชำระภาษีให้พนักงานเป็นผู้จ่ายเอง
จากเดิมที่แบงก์เป็นผู้จ่ายให้
การเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ เหตุการณ์จึงยืดเยื้อถึงขั้นฟ้องร้องศาลฎีกาในปี
2534 ซึ่งแม้ศาลจะตัดสินให้ประกาศของแบงก์ไม่มีผลบังคับใช้ แต่ในที่สุดสหภาพก็ต้องยอมปฏิบัติตามประกาศภายใต้เงื่อนไขการชดเชยจากแบงก์ในระบบ
4-6-8
"แบงก์ขอเจรจากับสหภาพเมื่อใกล้เวลาบังคับคดีตามคำสั่งศาลในปี 2534
ช่วงนั้นเราถูกกดดันจากหลายฝ่ายทั้งจากแบงก์และโดยข้อกฎหมาย กล่าวคือ มันเป็นช่วงใกล้การพิจารณาขึ้นเงินเดือน
ประกอบกันคำสั่งศาลจะมีผลบังคับเฉพาะพนักงานที่เป็นสมาชิกของสหภาพเท่านั้น
ทำให้เราต้องเปิดเผยรายชื่อสมาชิก ซึ่งพนักงานไม่ต้องการเพราะกลัวจะเสียผลประโยชน์ตามคำขู่ของผู้บริหาร
เราจึงต้องยอมทั้งๆ ที่รู้ว่าเสียเปรียบ แต่มันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนั้น"
พงษ์ศักดิ์กล่าวถึงศักดิ์ศรีของแบงก์ที่ไม่ต้องการคำว่า "แพ้"
ระบบ 4-6-8 (400-600-800) เป็นการชดเชยตามระยะเวลาการทำงานและเป็นจุดเริ่มต้นที่แบงก์ให้ผลตอบแทนในรูปของค่าครองชีพ
กล่าวคือ พนักงานทุกคนจะได้รับการชดเชยในรูปของค่าครองชีพคนละ 400 บาท และหากมีอายุงานนานกว่า
5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี จะได้เงินเดือนเพิ่มอีกคนละ 200 บาท รวมเป็น 600 บาท
และ 400 บาท รวมเป็น 800 บาท หากมีอายุงานนานถึง 10 ปี
หากคิดเพียงผิวเผินแล้ว อาจจะนึกว่าพนักงานบางส่วนเท่านั้นที่เสียประโยชน์
คือ พวกที่ได้เงินชดเชยน้อยกว่าภาษีที่ต้องชำระ แต่หากพิจารณาในระยะยาวแล้วจะพบว่าพนักงานทุกคนเสียเปรียบโดยถ้วนหน้า
จากจำนวนเงินบำเหน็จที่ต้องลดลงเท่ากับจำนวนภาษี หรือในกรณีที่แบงก์ยังคงปรับเงินเดือนเพิ่มในอัตราเดิม
ในปี 2535 ผู้บริหารยอมเพิ่มค่าครองชีพพนักงานอีกคนละ 1,000 รวมเป็น 1,400
บาทต่อเดือน
ล่าสุด 11 ธันวาคม 2535 มีการเปลี่ยนแปลงและปรับค่าครองชีพโดยนำเงิน 1,000
บาทเป็นปีฐาน พร้อมทั้งปรับค่าครองชีพจาก 400 บาทเป็น 500 บาท
แม้เงื่อนไขที่สหภาพเสนอให้แบงก์ปรับเงินเดือนตามอายุการทำงานจะยังไม่ได้รับการตอบสนอง
แต่สหภาพก็พอใจในสวัสดิการและผลตอบแทนในรูปของรายได้ที่ได้ปรับเพิ่มขึ้น
และเป็นสัญญาสุภาพบุรุษที่ตกลงกันระหว่างผู้บริหารธนาคารและสหภาพแล้วว่า
หลังจากที่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องในปีที่แล้ว ในปีนี้ทั้งปีสหภาพจะต้องหยุดเรียกร้องไปหนึ่งปี
อาจเป็นเพราะการเรียกร้องหรือการมีบทบาทอย่างต่อเนื่องของสหภาพ จึงปรากฏข่าวอย่างไม่ทางการในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ว่าจะมีการย้ายสำนักงานกฎหมาย ฝ่ายหนี้สินและหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีประธานและกรรมการสหภาพหลายท่านนั่งทำงานไปอยู่ที่สาขาสามแยก
โดยอ้างว่าเพื่อเพิ่มรายได้จากการนำพื้นที่ดังกล่าวไปให้บริษัทในเครือเช่า
แต่ทางสหภาพไหวตัวก่อนจึงดำเนินการประกาศขอคัดค้านเรื่องดังกล่าวจึงยุติลงชั่วขณะ