Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2536
53 ปี ธนาคารเอเชีย Never Ending Story ของเอื้อชูเกียรติ             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 

 
Charts & Figures

ครอบครัวตระกูล "เอื้อชูเกียรติ"
งบกำไร-ขาดทุนของธนาคารเอเชีย ณ 31 ธันวาคม 2534

   
related stories

นอร์ธปาร์คกับแบงก์เอเชีย กรณีอัฐยายซื้อขนมยาย
ตระกูลภัทรประสิทธิ์ในธนาคารเอเชียกับเข้ามาของเจริญ สิริวัฒนภักดี
เมื่อสหภาพแบงก์เอเชีย ไม่ใช่หุ่นยนต์
Xtra Saving, Extra Savvy

   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารเอเชีย

   
search resources

ธนาคารเอเชีย, บมจ.
จุลกร สิงหโกวินท์
Banking




ตระกูลเอื้อชูเกียรติยกงานบริหารธนาคารยุคใหม่ให้กับจุลกร สิงหโกวินท์ วันนี้ธนาคารเอเชีย (มหาชน) แตกต่างกว่าเมื่อ 5 ปีก่อนโดยสิ้นเชิง ทั้งในแง่ของกำไร วัตถุประสงค์ และยุทธวิธีที่มีความซับซ้อนแนบเนียนมากขึ้น ขยายกิจการสาขาออกไปอย่างกว้างขวาง และกระจายอำนาจการบริหารมากขึ้นกว่าที่ "เอื้อชูเกียรติ" เคยทำมา!!

ยุคสมัยของธนาคารไทยพาณิชย์ในทศวรรษนี้กำลังเปลี่ยนโฉมหน้า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจการเงินที่ซับซ้อนและผันผวนอย่างรวดเร็ว จากระบบธุรกิจครอบครัวที่ผูกขาดตำแหน่งไว้กับคนในครอบครัวเป็นเวลายาวนาน ไปเป็นผู้นำมืออาชีพรุ่นใหม่ เช่น ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัยแห่งธนาคารกรุงเทพ ดร.ทนง พิทยะแห่งธนาคารทหารไทย ดร.โอฬาร ไชยประวัติแห่งธนาคารไทยพาณิชย์ หรือแม้กระทั่งจุลกร สิงหโกวินท์แห่งธนาคารเอเชีย

"ผมได้ทำงานให้กับธนาคารถึง 18 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานมาก เมื่อภารกิจที่ผมได้รับมอบหมายจากพ่อได้บรรลุจุดมุ่งหมาย ผมได้มอบหมายให้คณะจัดการภายใต้การนำของคุณจุลกร สิงหโกวินท์ทำงานต่อไป ผมจึงไม่มีความกังวลใจ" ยศ เอื้อชูเกียรติได้บันทึกสารอำลาไว้ใน "เอเชียปริทรรศน์"

2 ตุลาคม 2535 จุลกร สิงหโกวินท์ นักบริหารหนุ่มชาวนครศรีธรรมราช ก็เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ สืบแทนยศ เอื้อชูเกียรติ ซึ่งเลื่อนขึ้นเป็นรองประธานกรรมการนั่งประจำอยู่ชั้น 17 ของธนาคาร

จุลกรตัดสินใจถูกต้องที่คว้าโอกาสทองนี้ไว้ เพราะในระยะเวลาเพียง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน จุลกรได้ก้าวสู่ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของธนาคารเอเชีย ถ้าเทียบกับการอยู่ธนาคารกรุงเทพ เขาอาจจะไม่เป็นใหญ่เร็วเท่านี้

"ผมคิดว่า หากเราทำได้สำเร็จก็จะถือเป็นผลงานที่เราเก็บเอาไว้ภูมิใจได้ ในเวลาเดียวกันธนาคารกรุงเทพก็ให้ความเอ็นดูผมมาตลอด ตอนไปเรียนปริญญาโท เขาก็อนุญาตให้ไปเรียนได้ จนถึงวันนี้ก็ยังระลึกถึงอยู่" จุลกรเล่าถึงบุญคุณที่ต้องทดแทนในอนาคต

จุลกรเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่พยายามฉายภาพระยะยาวนการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ แต่ในความเป็นจริง จุลกรได้รับแรงกดดันมากพอควรในเชิงปฏิบัติ เพราะเขาต้องเร่งสร้างผลงานที่จับต้องได้คือ ตัวเลขผลกำไร

จากเดิมในยุคของยศ ธนาคารอยู่ในสภาพที่ต้องมุ่งทำกำไรเพื่อสะสางปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ แต่หลังจากที่สามารถคืนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2535 จุลกรจึงมุ่งจะทำกำไรเพื่อผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุด

"Mission ของผมคือ ธนาคารเอเชียจะต้องมีกำไรและมีส่วนแบ่งตลาดที่มั่นคงต่อเนื่อง" นี่คือปณิธานของผู้จัดการใหญ่คนใหม่

"สำหรับยุคผม ธนาคารเอเชียยึดมั่นกำไรเป็นหลัก ถ้าไม่มีกำไร เพิ่มทุนไม่ได้ เมื่อเพิ่มทุนไม่ได้ ก็เติบโตไม่ได้" จุลกรย้ำ

กำไร… คำๆ เดียวที่พูดง่ายแต่กว่าจะทำสำเร็จ ได้มาเป็นตัวเลขสวยๆ จุลกรแทบเลือดตากระเด็น !!

ผลการดำเนินงานปี 2535 ธนาคารเอเชียมีกำไรเพิ่มกว่าปีก่อนถึง 88% หรือคิดเป็นกำไรสุทธิ 326 ล้านบาท เทียบกับปี 2534 กำไรเพียง 172 ล้านบาท ขระที่กำไรต่อหุ้นที่มีราคาพาร์สิบบาทเท่ากับ 1.17 บาท สูงที่สุดในรอบ 5 ปี

ปีที่ผ่านมาธนาคารมีรายได้ ดอกเบี้ย และเงินปันผล 6,242.3 ล้านบาท และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 1,343.7 ล้านบาท เพิ่มกว่าปีก่อนถึง 74% ที่มีรายได้แค่ 673.3 ล้านบาท ทั้งนี้เกิดจากการขายบริษัทหลักทรัพย์เอเชียได้เงินมา 774 ล้านบาท

"เราตั้งเป้าว่า จะขยายการเติบโตเป็น 21% จากนี้ให้ได้" นี่คือเป้าหมายที่จุลกรต้องพิชิตให้สำเร็จในปีนี้ เพื่อสร้างภาพพจน์แห่งธนาคารมืออาชีพ สมดังความฝันของผู้ก่อตั้งอย่าง จรูญ เอื้อชูเกียรติ

"เอื้อชูเกียรติ" เป็นนามสกุลที่จรูญเป็นคนตั้งขึ้นจาก "แซ่อื้อ" ตำนานชีวิตของ จรูญ เอื้อชูเกียรติเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย-จีนที่ต่อเนื่องยาวนาน จรูญเป็นตัวอย่างของพ่อค้าจีนที่ประสบความสำเร็จจากการสานสายสัมพันธ์ ที่อิงกับกลุ่มอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจไทย

ชื่อเดิมของจรูญคือ "อื้อจั๊กล้ง" เกิดเมื่อปี 2452 แต่เขามาอยู่เมืองไทยหลังจากสูญสิ้นแม่และน้องชายทั้งหมดจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในตำบลเถ่งไฮ่ มณฑลกวางตุ้ง โดย "ก้ำเท้ง" หรือ "กำธร" พ่อของจรูญที่เป็นหลงจู๊แพปลาและผู้จัดการบริษัทประมงไทยได้รับตัวมาอยู่เมืองไทยด้วยกัน

จรูญเป็นคนรักการอ่านหนังสือ จากพื้นฐานการเรียนทั้งที่เมืองจีนและเรียนต่อภาษาไทย ที่โรงเรียนมินประพันธ์และโรงเรียนอัสสัมชัญภาคภาษาอังกฤษจากปี 2466-2470

ความสามารถด้านภาษาจีน อังกฤษ และไทย ทำให้จรูญได้ทำงานเป็นลูกจ้างในร้านสรรพสินค้า "ซ่งฮะ" ซึ่งยังคงเปิดดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันนี้ในชื่อว่า "ร้านแฉล้มนิมิต" จรูญทำหน้าที่จ่ายภาษีและทำเอสารนำเข้าสินค้าที่สั่งจากยุโรปและอเมริกา ได้รับเงินเดือน 15 บาท

หลังจากทำงานได้ปีเศษ พ่อก็จัดการหาภรรยาให้ แต่ต้องเลิกไป ในการสมรสครั้งแรกก็เป็นไปทางนิตินัย จนกระทั่งจรูญไปเที่ยวเมืองจีนและพบรักกับสาวชาวจีนชื่อ "เจี่ย หุย เคง" ภายหลังเปลี่ยนเป็นชื่อไทยว่า "มลิวัลย์" มีบุตร 6 คน ได้แก่ วิชัย, ลาวัณย์, เกียรติ, ยศ, วิไลพรรณ และศักดิ์

นอกจากนี้จรูญยังมีภรรยาอีกคนชื่อ "ดีรักษ์" ที่ให้กำเนิดบุตรอีก 5 คน คือ เรวดี, สุดาจันทร์, พอตา, ดัชนี และสำคัญ

ประสบการณ์ชีวิตการทำงานในยุคต้นๆ ของการแสวงหา จรูญได้ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยกัมปะโดบนเรือ เรือลำแรกที่ประจำคือ เรือ "นริศ" ขนส่งสินค้าและผู้โดยสารเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-บ้านดอน ผ่านทางใต้ คือ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และเกาะสมุย ทำได้สัก 5 ปี ก็เปลี่ยนไปวิ่งสายตะวันออกขนสินค้าเลียบฝั่งทะเลระหว่างกรุงเทพฯ-อินโดจีน แวะเกาะสีชัง ระยอง จันทบุรี แหลมงอบ ผ่านเข้าเขมรที่เกาะกง

10 ปีที่จรูญเดินเรือค้าขายตามเส้นทางธุรกิจเป็นลู่ทางการลงทุนการค้า ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในฐานะพ่อค้าส่งออกข้าวรุ่นแรก ผู้มั่งคั่งในยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ระหว่างปี 2498-2512 เป็นช่วงการลงทุนขยายกิจการที่จรูญทำไว้มากมาย เช่นในปี 2512 ผลิตเม็ดพลาสติคแห่งแรกของไทย ในนามบริษัทไทยพลาสติคและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมไม้ อุตสาหกรรมนมกระป๋อง แต่กิจการสำคัญที่จรูญทุ่มเทเงินทุนและเวลามากคือ บริษัท โรงกลั่นน้ำมันไทย หรือ "บริษัทไทยออยล์" ในปัจจุบัน

แปดปีเต็มๆ ที่จรูญนั่งบริหารในตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ในโรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้ ระหว่างปี 2501-2507 โดยให้ลูกชายคนโต คือ วิชัย เอื้อชูเกียรติ เป็นผู้อำนวยการขนส่งน้ำมัน ในที่สุดจรูญก็ต้องขายหุ้นทั้งหมดให้กับเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ผู้ถือหุ้นใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง เพื่องานที่เขาได้ลงทุนยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันในเวลาต่อมา

ปี 2508 วงการธุรกิจตื่นเต้นเร้าใจกับการที่จรูญเข้ามาซื้อหุ้นธนาคารแห่งเอเชียฯ จากทองดุลย์ ธนะรัชต์ น้องชายจอมพลสฤษดิ์

คราใดการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าผู้นำ ครานั้นที่ธนาคารแห่งเอเชียฯ มีอันต้องเจ็บปวดเนื่องจากภาวะเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ผู้บริหารธนาคารนี้ได้โยงอำนาจเงินตรากับอำนาจการเมืองไว้ด้วยกัน

เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2482 จากการรับโอนกิจการสาขาของธนาคารโอเวอร์ซีส์ไชนีส มาดำเนินการ โดยตั้งชื่อใหม่ว่า "ธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม"

เหตุผลสำคัญที่ธนาคารโอเวอร์ซีส์ไชนีสเลิกกิจการ ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบจากสงครามจีนและญี่ปุ่น ทำให้สำนักงานใหญ่ของธนาคารที่สิงคโปร์ต้องการถอนกิจการในไทย หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงได้รับซื้อกิจการมา

นอกจากนี้สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ธนาคารปิดกิจการ ก็เพราะว่าผู้จัดการถูกจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรัฐบาลโดยลักลอบส่งเงินออกไปประเทศจีน จึงถูกปิดกิจการและถอนใบอนุญาต

ในขณะนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ทั้งยังเป็นผู้พยายามผลักดันให้มีการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะมีบุคคลอีกหลายฝ่ายเห็นว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีธนาคารกลาง

ดังนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงได้หันมาตั้งธนาคารพาณิชย์ของคนไทยขึ้น ด้วยเหตุผล 4 ข้อ คือ หนึ่ง - ให้คนไทยได้มีธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อสำหรับธุรกิจคนไทยด้วยกัน โดยเฉพาะสินเชื่อด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นฐานของเศรษฐกิจไทย

สอง - เป็นที่ฝึกงานของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรทางการบัญชีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง โดยหวังจะสร้างคนให้กับวงการธนาคารในอนาคต

สาม - ช่วยเหลือผู้ฝากเงินกับธนาคารโอเวอร์ซีส์ไชนีส

สี่ - เป็นแหล่งเงินทุนของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่มีรายได้อื่นๆ นอกจากงบประมาณแผ่นดิน ขณะที่จุฬาฯ มีรายได้จากการพัฒนาสินทรัพย์และที่ดินมาก

ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ธนาคารแห่งเอเชียฯ เป็นที่เดียวเท่านั้นที่ผู้จัดการเป็นคนไทย และสายสัมพันธ์ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีต่อคณะราษฎร์ซึ่งมีอำนาจในช่วงนั้น ได้ดึงเอาหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น กรมสรรพสามิต สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การรถไฟแห่งประเทศไทย ฯลฯ เข้ามาฝากเงิน ทำให้สถานะของธนาคารมั่นคงมาก

แม้ในภาวะเศรษฐกิจช่วงสงครามโลกจะไม่ดี แต่ธนาคารแห่งเอเชียฯ ก็ไม่กระทบกระเทือนมากนัก และยังได้กำไรจากการตัดสินใจถือสินทรัพย์ในรูปของแร่ดีบุกอีกด้วย โดยเก็บไว้ใต้สนามหน้าตึกโดมของมหาวิทยาลัยและนำออกขายภายหลังสงครามโดยได้กำไรถึง 4 เท่า

ในยุคเฟื่องฟูของธนาคารแห่งเอเชียฯได้ดึงเอาพ่อค้าชาวจีนชั้นนำเข้ามาอยุ่ภายใต้ร่มธงคณะราษฎร์ เช่น ชวน รัตนรักษ์, จุลินทร์ ล่ำซำ และมา บูลกุล แต่เบื้องลึกๆ ก็คือ ธนาคารได้กลายเป็นแหล่งการปล่อยสินเชื่อให้กับพวกพ้องที่นักการเมือง แม้จะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ตามที

จากบันทึกความทรงจำของประเก็บ คล่องตรวจโรค นักธุรกิจคนหนึ่งได้เล่าว่า เขาต้องการเงินทุน แต่ไม่มีหลักทรัพย์เป็นประกัน จึงติดต่อกับเพื่อนเสรีไทยให้แนะนำตัว เพื่อนจึงได้เขียนนามบัตรให้ไปพบกับท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ แต่เนื่องจากเขาไม่มีหลักทรัพย์ จึงได้รับคำแนะนำให้ไปพบ ดร.ทวี ตะเวทิกุล ผู้จัดการธนาคารแห่งเอเชียฯ

"ข้าพเจ้าก็รีบไปพบทวี ตะเวทิกุล ซึ่งเกิดมายังไม่เคยรู้จัก คุณทวีก็ต้องรับข้าพเจ้าอย่างดี พลางหยิบบัญชีลูกหนี้รายชื่อยาวเหยียดมาให้ข้าพเจ้าดูสองสามแผ่น แล้วบอกว่า คุณประเก็บดูนี่ซิครับ พวกผู้แทนราษฎรและนักการเมืองของเราพากันมายืมเงินผม ล้วนแต่ไม่มีหลักทรัพย์ประกันทั้งนั้น นี่ตั้งเกือบร้อยคนแล้ว อ้ายเราไม่ช่วยก็แย่ ล้วนแต่พรรคพวกเพื่อนฝูงกันทั้งนั้น ผมชอบที่คุณเป็นพ่อค้าคนไทยที่มีความอุตสาหะพยายาม" นี่คือบันทึกตอนหนึ่งของประเก็บ คล่องตรวจโรค

ทุกวันนี้ระบบอุปถัมภ์เกื้อกูลพวกเดียวกันก็ยังดำรงอยู่ในกิจการธนาคารทั่วไป !?

แต่ความผันผวนทางการเมืองก็เกิดขึ้นอีกเมื่อมีการรัฐประหารโดยคณะทหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ธนาคารแห่งเอเชียฯ ถูกตรวจสอบโดยกระทรวงการคลัง เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร โดยจุลินทร์ ล่ำซำ (อาของบัญชา ล่ำซำ) ซึ่งทำธุรกิจร่วมกับคณะราษฎร์เป็นผู้จัดการใหญ่แทนทวี ตะเวทิกุล

แต่จุลินทร์เป็นได้เพียงสองวัน กระทรวงการคลังได้ถอนใบอนุญาตธนาคารและตั้งกรรมการควบคุมในเดือนธันวาคม 2490 และให้เปิดดำเนินใหม่ได้ในวันที่ 11 มิถุนายน 2491

การเมืองที่พลิกประวัติศาสตร์ธนาคารแห่งเอเชียฯ ได้เริ่มปรากฏต่อมา เมื่อเกิดกบฏวังหลวง ที่ทำให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ หลายคนในฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯ ถูกจับ เกิดผลกระทบครั้งรุนแรงต่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร จากกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ มาเป็นองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ยุคที่จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เป้าหมายที่ทหารยึดกิจการธนาคาร เพราะต้องการผลประโยชน์และความสะดวกด้านการเงิน ในขณะที่กรรมการที่เป็นนักธุรกิจชาวจีนก็ต้องพึ่งพิงผู้นำการเมืองและการทหารเหล่านี้มาก โดยเฉพาะในบรรยากาศการเมืองที่ถือว่าการเป็นคอมมิวนิสต์เป็นอาชญกรรมร้ายแรงอย่างหนึ่ง พ่อค้าจีนจึงต้องสร้างสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นต่อข้าราชการผู้มีอำนาจทางการเมืองไว้ตลอด

ดังนั้น การแทรกแซงของกลุ่มทหารที่มีบทบาทสูงในปี 2494-2495 เป็นต้นมา ส่วนมากมักจะอยู่ในกลุ่มจอมพลผิน ชุณหะวัณ บิดาของพลเอกชาติชาย ทำให้สายสัมพันธ์ของกลุ่มซอยราชครูกับพ่อค้าจีนต่อเนื่องจนถึงรุ่นพลเอกชาติชาย อดีตนายกรัฐมนตรี และพลเอกประมาณ อดิเรกสาร บุตรเขยจอมพลผิน

ขณะที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีแนวความคิดที่จะตั้งสถาบันการเงินสำหรับกองทัพไทยได้เริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทครั้งแรกในธนาคารแห่งเอเชียฯ ในปี 2494 องค์การทหารผ่านศึกขายหุ้นต่อให้กับบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นบริษัทของจอมพลสฤษดิ์ ที่ตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ การขนส่งและรับเหมาก่อสร้าง

จอมพลสฤษดิ์ได้เป็นประธานธนาคารนี้ตั้งแต่ปี 2494 จนถึงแก่อสัญกรรม โดยมีสัญญา ยมะสมิต กรรมการคนหนึ่งของบริษัทข้าวไทยของรัฐบาลเป็นกรรมการผู้จัดการในปี 2492-2501 และทองดุลย์ ธนะรัชต์ น้องชายจอมพลสฤษดิ์เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารในปี 2501-2507

จอมพลสฤษดิ์ได้อาศัยธนาคารนี้เป็นที่หมุนเวียนเงินของรัฐ ขณะที่ตนเองเป็นประธานกรรมการ ต่อมาเมื่อสิ้นชีวิต หุ้นของจอมพลสฤษดิ์ก็ถูกอายัดโดยคณะกรรมการสอบสวนเงินของรัฐ

ต้นปี 2508 "จรูญ เอื้อชูเกียรติ" ที่มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจการค้าเกี่ยวข้องกับกลุ่มจอมพลผิน ชุณหะวัณในบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ของธนาคารแห่งเอเชียฯ โดยซื้อหุ้นจากทองดุลย์ ธนะรัชต์ น้องจอมพลสฤษดิ์

จากนั้นได้มีการเพิ่มทุนธนาคารขึ้นจาก 20 ล้านบาทเป็น 30 ล้านบาท โดยมีนโยบายจะปรับปรุงให้มีสาขาเพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นได้รับอนุญาตจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้เปิดสาขาที่กรุงโตเกียวได้ แต่ต่อมาใบอนุญาตนี้ได้โอนไปให้ธนาคารกรุงเทพ เพราะความไม่พร้อมของธนาคารแห่งเอเชียฯ

ในระยะแรกๆ บุคคลสำคัญที่เอื้อชูเกียรติดึงเข้ามาร่วมในธนาคาร ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าที่มีอิทธิพลในกิจการโรงเหล้าโรงเบียร์ ซึ่งเป็นธุรกิจผูกขาดสัมปทานของคนไม่กี่ตระกูล

คณะกรรมการของธนาคารแห่งเอเชียฯ ขณะนั้นได้แก่ พลเอกสนิทยุทธการ ไทยานนท์ เป็นประธานกรรมการ, จรูญ เอื้อชูเกียรติเป็นรองประธานฯ, ศุภสิทธิ์ มหาคุณ ผู้จัดการโรงงานสุราบางยี่ขันเป็นกรรมการอำนวยการธนาคาร, วิชัย เอื้อชูเกียรติ ลูกชายคนโตของจรูญ เป็นกรรมการรองผู้อำนวยการ, ชะนะ สมิทธิอนันต์ (ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทบางกอกเบียร์) เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคาร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นและกรรมการธนาคารแห่งนี้ด้วย

จรูญ เอื้อชูเกียรติ ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้พยายามสร้างความเป็นปึกแผ่นทางการเงิน โดยหาพันธมิตรทางธุรกิจอีกสองตระกูลมหาเศรษฐี คือ ตระกูลเตชะไพบูลย์ และตระกูล "คัณธามานนท์" ของเจียม คัณธามานนท์ เจ้าสัวผู้ร่ำรวยจากการขายขวดเบียร์ป้อนบุญรอดบริวเวอรี่ เข้ามาถือหุ้นด้วย แต่ต่อมาเกิดศึกล้างตระกูลระหว่างเอื้อชูเกียรติและคัณธามานนท์ ถึงขั้นอื้อฉาวเป็นข่าวการฟ้องร้องเป็นคดีใหญ่โต

ในปี 2519 ธนาคารได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ธนาคารเอเชีย" ท่ามกลางความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเมืองไทยหลัง 6 ตุลา 2519 เศรษฐกิจที่ทรุดลงตั้งแต่น้ำมันขึ้นราคาในปี 2516-2517 ก็ยิ่งเลวร้ายต่อเนื่องถึงปี 2522-2524 ราคาน้ำมันดับในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างมาก มีผลต่อระดับราคาต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเอาตัวรอดขนานใหญ่ในปี 2524

ตลอดระยะเวลา 22 ปี ค่าเงินบาทไม่เคยเปลี่ยนแปลงจาก 20.80 บาทเมื่อเทียบกับหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ แต่เงินบาทได้ลดค่าลงสองครั้งในปี 2524 ครั้งแรก 1.07% ครั้งที่สอง 8.7% ทำให้ค่าเงินบาทเท่ากับ 23.00 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ และปี 2527 ลดเหลือ 14.7% หรือ 27.00 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารเอเชียก็ตกอยู่ในภาวะที่ต้องประคับประคองตนเอง ภายหลังจากที่มีการลดค่าเงินบาทในปี 2524 ซึ่งเป็นปีแห่งความทรงจำอันเจ็บปวดของผู้ถือหุ้นใหญ่ทุกฝ่าย ที่ต้องผจญกับศึกทั้งภายในระหว่าง เอื้อชูเกียรติกับคัณธามานนท์ และศึกภายนอกจากเศรษฐกิจตกต่ำรุมเร้า เสถียร เตชะไพบูลย์ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่

ธนาคารเอเชียได้ตกอยู่ในมือบริหารของเอื้อชูเกียรติรุ่นที่สอง จรูญได้แต่งตั้ง "ยศ เอื้อชูเกียรติ" บุตรชายที่จบวิศวโยธาจากอังกฤษ เข้ารับภารกิจโรมรันพันตูกับศึกระหว่างตระกูล "คัณธามานนท์" และปัญหาวิกฤตของธนาคารต่อไป

ยุคแรกของยศ ต้องใช้เวลา 5 ปีเต็มๆ เพื่อสะสางปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น นอกจากปัญหาการบริหารหนี้เสีย กลุ่มเอื้อชูเกียรติได้แสวงหาพันธมิตรใหม่ "ตระกูลภัทรประสิทธิ์" เจ้าพ่อน้ำเมาแห่งภาคเหนือเข้ามาเสริมฐานะธนาคาร

สายสัมพันธ์ของภัทรประสิทธิ์กับเอื้อชูเกียรติ ส่วนหนึ่งอยู่ที่นงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์ ภรรยาวิศาล มีความนับถือจรูญเสมือนอา เนื่องจากสัมพันธ์เก่าแก่สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่เคยอยู่หมู่บ้านเดียวกันในเมืองจีน

โดยส่วนตัว ยศ เป็นคนที่มีสายสัมพันธ์ธุรกิจมาก เฉกเช่นจรูญ ผู้เป็นพ่อ เช่น เพื่อนเก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนที่รักกันมากๆ เช่น ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สิน ยศได้เรียนเชิญองค์มนตรีจรูญพันธ์ บิดาของจิรายุเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแทนจรูญ เอื้อชูเกียรติที่ถึงแก่กรรมด้วยโรงมะเร็งปอด

เมื่อจรูญพันธ์ถึงแก่อนิจกรรม ดร.เสนาะ อุนากูลได้เข้ามารับตำแหน่งประธานแทนด้วยเงื่อนไขที่ช่วยปรับปรุงภาพพจน์มืออาชีพของธนาคาร ไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ สำหรับคนที่เป็นถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยและเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ที่มาเป็นประธานธนาคารขนาดกลางนี้ โดยเฉพาะสายสัมพันธ์กับ IFC สถาบันการเงินกู้เงินภาคเอกชนของธนาคารโลกที่ถือหุ้น 5% ในธนาคารเอเชีย

โดยพื้นฐานยศได้เล่าเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาเมืองไทย ทำงานเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยชิปบอร์ด และบริษัทไทยพลาสติคและเคมีภัณฑ์ ก่อนจะเข้าช่วยกิจการธนาคารเอเชีย โดยเรียนรู้เป็นผู้ช่วย เสถียร เตชะไพบูลย์ พี่เขยเป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่จะขึ้นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ในปี 2524

มีคำกล่าวว่า "มรสุมมันไม่มาลูกเดียว แต่จะกระหน่ำซ้ำเติมอีกเป็นระลอกๆ" ระหว่างปี 2524-2530 ธนาคารเอเชียเพิ่มสาขาเพียง 7 แห่งจากเดิมปี 2524 มีเพียง 40 เป็น 47 แห่ง ในปี 2530 ยศต้องประคับประคองธนาคารเอเชียให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤตการณ์สถาบันการเงินล้ม ซึ่งสั่นสะเทือนขวัญของคนไทยที่ว่า "แบงก์ไม่มีวันล้ม"

ธนาคารล้มระลอกแรกเริ่มปรากฏกับธนาคารเอเชียทรัสต์ของ วัลลภ ธารวณิชกุลในปี 2527 และในปี 2530 ถูกรวมกิจการเข้ากับธนาคารกรุงไทย มรสุมระลอกที่สอง ธนาคารมหานครเกิดเหตุวิกฤตอีกในปี 2529 ขณะที่ระลอกที่สาม ธนาคารนครหลวงไทยมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ในปี 2530 เช่นเดียวกับธนาคารแหลมทองและธนาคารสหธนาคาร

แต่ละเหตุการณ์เหล่านี้มีการแทรกแซงของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เข้าไปเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร มีการโอนหุ้นจากเอกชน รวมทั้งอัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปพยุงสภาพคล่อง

ปัญหาที่ทางการพบมากที่สุดในแต่ละแห่งคือ การปล่อยสินเชื่อที่ขาดคุณภาพและการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในบางธนาคาร

ยามวิกฤตเช่นนี้ ยศรู้ดีว่า ถ้าหากเขาจะแก้ปัญหาเลวร้ายที่รุมเร้าทั้งศึกภายในและภายนอกได้นั้น เขาต้องพยายามหามืออาชีพเก่งๆ เข้าร่วมงานและใช้กลยุทธ์สร้างภาพพจน์ธนาคารมืออาชีพยุคใหม่ให้เกิดขึ้น

ในปี 2528 ยศทาบทามผู้บริหารใหม่อย่าง จุลกร สิงหโกวินท์ จากธนาคารกรุงเทพเข้ามาเสริม เพื่อฝ่ามรสุมวิกฤตแห่งธนาคารพาณิชย์ไทยในยุคนั้น

จุลกรรู้จักกับยศเป็นครั้งแรกที่งานเลี้ยงบ้านเจมส์ สแตนท์ ประมาณปลายปี 2527 ขณะนั้นจุลกรยังทำงานเป็นรองผู้จัดการสายกิจการต่างประเทศ 3 ของธนาคารกรุงเทพอยู่ หลังจากนั้นได้มีการทาบทามให้เข้ามาทำงานที่ธนาคารเอเชียในตำแหน่งผู้อำนวยการสายงานการเงินและธุรกิจ และสานต่องานเดิมของศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ที่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่และอำนวยการสินเชื่อของธนาคารเอเชีย ก่อนจะลาออกไปอยู่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)

ธนาคารเอเชียในช่วงปี 2529 ได้ชื่อว่าเป็นแบงก์ขนาดเล็กที่มีภาพพจน์แห่งความทันสมัยด้วยสถาปัตยกรรมอาคารหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นฝีมือของสุเมธ ชุมสาย ความแปลกใหม่เช่นนี้ได้หันเหความสนใจของประชาชนไปจากปัญหาวิกฤตของธนาคาร เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 1,500 ล้านบาท ระยะเวลาชำระคืน 5 ปี

แต่เงื่อนไขของแบงก์ชาติคือ ให้ธนาคารเอเชียเร่งเพิ่มทุน ตั้งแต่ปี 2529 มีการเพิ่มทุนทุกปีจาก 900-1,200-1,600-2,400-2,800 ล้านบาท ซึ่งแต่ละครั้งจะต้องขายหุ้นในราคาพาร์แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จนกระทั่งปัจจุบัน กองทุนฯ ได้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารเอเชียอยู่จำนวน 15.72%

การให้ความช่วยเหลือธนาคารเอเชียคร้งนั้นเกิดขึ้นโดยธนาคารยังไม่ประสบปัญหาถึงขั้นที่ทางการสั่งให้ลดทุน หรือประสบปัญหามีผู้ถอนเงินฝากแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะภาพพจน์ของมืออาชีพ ที่ยศและทีมบริหารได้พยายามแก้ไขปัญหาวิกฤต โดยแจ้งข้อมูลแห่งปัญหาต่อผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนจะสายเกินการณ์ ท่ามกลางมรสุมข่าวร้ายเกี่ยวกับการล้มของสถาบันการเงินที่มีปัญหารุนแรงกว่า

นอกจากการเพิ่มทุนแล้ว ยศ เอื้อชูเกียรติได้ใช้กลยุทธ์หลักในการแก้ไขปัญหาช่วงนั้น 2 อย่างคือ หนึ่ง - การเร่งขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะ 5 ปี เพื่อทำให้น้ำหนักของปัญหาลดลง ปัจจุบันธนาคารเอเชียมีสาขาไม่ต่ำกว่า 85 สาขา (รวมสาขาเกาะเคลย์แมนด้วย) จากปี 2531 ที่มีแค่ 47 สาขา ด้านสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 24,858 ล้านบาทเป็น 54,601 ล้านบาทในปี 2534

เคยมีคำกล่าวว่า "หลังพายุมรสุม ฟ้าจะสดใสสวยงาม" ในปี 2531 การพลิกฟื้นของตลาดหุ้น ทำให้ปีนั้นเป็นปีแรกที่ธนาคารเอเชียได้จ่ายเงินปันผล 3 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้นพุ่งไปกว่า 200 บาท

นอกจากนี้ ราคาที่ดินที่บูมสุดขีด ได้ส่งผลให้หนี้ที่ดินที่ยึดมาจากลูกหนี้ที่มีปัญหากลายเป็นขุมทรัพย์มูลค่ามหาศาลที่พลิกฟื้นสถานะจากร้ายเป็นดี ผลจากการลุยขายที่ดินทำให้ธนาคารเอเชียมีรายได้ที่มิใช่เกิดจากดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

หนึ่งในลูกหี้รายใหญ่ที่มีที่ดินผืนงามติดถนนวิภาวดีเป็นหลักทรัพย์ค่ำประกันเงินกู้ก็คือ กลุ่มบริษัทในเครือบริษัทชินเขตของ อรลา ธัญญะกิจ

ภายในระยะเวลาหกปี ตั้งแต่ปี 2530-2535 ยศ เอื้อชูเกียรติ ในฐานะผู้บริหารธนาคารแห่งหนึ่งก็ได้คืนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 1,500 ล้านบาทแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยสำเร็จเมื่อต้นปี 2535 ปัจจุบันกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้เข้าถือหุ้นในแบงก์เอเชีย 15.72% ของทุนจดทะเบียน 2,800 ล้านบาท

รวมทั้งได้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมหลายคน เช่น จรัส ชูโต อดีตผู้บริหารปูนใหญ่, อัศวิน คงศิริ, ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล และนำสายสัมพันธ์ของ ดร.เสนาะ อุนากูล เชื่อมโยงถึง IFC สถาบันเงินกู้ภาคเอกชนของธนาคารโลกมาสร้างประโยชน์ต่อธนาคาร โดยกู้เงินเป็นกรณีพิเศษจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ และ IFC ถือหุ้น 5% ในธนาคารด้วย จนเป็นข่าวฮือฮาตอนประชุมเวิร์ลแบงก์ที่กรุงเทพฯ

ภายใต้การบริหารธนาคารยุคใหม่ ที่กำไรมิใช่หาได้ง่ายๆ จากการบริการส่วนต่างดอกเบี้ย แต่ต้องแข่งขันอย่างเข้มข้นทุกรูปแบบ การวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ ของมืออาชีพอย่างจุลกรและขุนพลของเขาจะต้องพิชิตชัยชนะนี้ได้ พวกเขาต้องทำงานอย่างหนักด้วยความรู้สึกที่เชื่อมั่นและท้าทายความสามารถ เพื่อให้ได้มาซึ่ง "กำไรสูงสุด"


กลยุทธ์หาพันธมิตรธุรกิจ (Strategic Alliance) กรณีของบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม Mutual Fund ปรากฏว่า ธนาคารเอเชีย กับ ไทยทนุ บงล.พัฒนสิน เอ็มซีซี และ บงล.เกียรตินาคิน ได้ร่วมกับแบงก์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Barclay Bank ที่ชำนาญการบริหารกองทุนเข้าร่วม

ต่างคนต่างได้ประโยชน์ เขาก็รู้ตลาดไทยและดัดแปลงโปรดักส์ให้เข้ากัน และเราก็เรียนรู้การโปรดักส์และการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพจากเขา ทุกคนแฮปปี้" นี่คือวิธีการบริหารธนาคารยุคใหม่ของจุลกร

นอกจากนี้การหาพันธมิตรลงทุนขยายกิจการใหม่ๆ ของธนาคารในทศวรรษหน้า เช่น บริษัทประกันภัย ประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งเป็น sub broker ลิสซิ่ง แฟคเตอริ่ง ยังเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของเจมส์ สเตนท์ หรือ "จิม" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ซึ่งดูแลกลุ่มระบบงานและเป็น corporate planner ด้วย

"เราตั้งหลักไว้ว่า การลงทุนของเราจะมุ่งไปสู่การที่มีบริษัทในรูปแบบจอยน์เวนเจอร์ หรือบริษัทร่วมทุนกับธนาคาร ให้ครบวงจรของการเงินการธนาคาร ภายในระยะเวลาไม่นานนี้" จุลกรกล่าวอย่างมุ่งมั่น


กลยุทธ์การเพิ่มทุน หลังจากธนาคารเอเชียมีกำไรต่อเนื่อง แผนการเพิ่มทุนเป็น 3,360 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียน 2,800 ล้านบาท จะทำให้ฐานะการเงินของธนาคารไม่มีปัญหาจนถึงปี 2540 โดยเฉพาะการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐาน BIS ซึ่งธนาคารเอเชียถือเกินกว่ากำหนดเป็น 7.5%

จุดเริ่มต้นแผนการเพิ่มทุนนี้ เจมส์ สเตนท์ได้วางแผนแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน โดยครั้งแรกจะเพิ่มทุนให้กับผู้ลงทุนแบบ Private Placement จำนวน 14 ล้านหุ้นๆ ละ 22 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 308 ล้านบาท โดยให้ บงล.นครหลวงเครดิตเป็น underwriter การเพิ่มทุนนี้ทำในปลายปี 2535 ส่งผลให้สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับ 7%

การเพิ่มทุนครั้งที่สอง เตรียมไว้ขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิม 28 ล้านหุ้นๆ ละ 10 บาท ได้เงิน 280 ล้านบาท ตามแผนนี้จะทำในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

ขั้นตอนที่สาม ออกหุ้นกู้แปลงสภาพมูลค่า 140 ล้านบาท จำนวน 14 ล้านหุ้นๆ ละ 10 บาท กำหนดระยะเวลา 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 8% โดยมีเงื่อนไขการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ต่อเมื่อครบ 2 ปี และปีที่สามจะสามารถแปลงสภาพได้ 50% แตกต่างจากของธนาคารนครธนและสหธนาคาร ซึ่งออกตราสารหุ้นกู้แปลงสภาพด้อยสิทธิ์ระยะยาว ซึ่งไม่สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้

ตามแผนการเพิ่มทุนของเจมส์ สเตนท์จะมีการออกหุ้นกู้แปลงสภาพเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทในปี 2537 ซึ่งจะส่งผลให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึง 12%

การเพิ่มทุนนี้ ธนาคารเอเชียได้วางแผนนำเงินที่ได้ไปปล่อยสินเชื่อ ซึ่งในปี 2536 ตั้งเป้าเติบโตไว้ 21% และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 458 ล้านบาท

เป็นที่คาดหมายของผู้บริหารธนาคารเอเชียถึงสถานะที่มั่นคงขึ้น ที่ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2537 ธนาคารจะมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (return of equity) เท่ากับ 15% ซึ่งนับว่าสูงและสะท้อนถึงการพัฒนาหนี้และประสิทธิภาพธนาคารอยู่ในขั้นดี


กลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพของรายได้ นับตั้งแต่แบงก์ชาติเปิดนโยบายการเงินเสรีขึ้น และ BIS เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.ปีนี้และ BIBF (ศูนย์กลางการเงินของไทย) ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินงานของธนาคารเอเชีย

ปัจจัยนี้ได้กดดันรายได้ที่มาจากส่วนต่างของดอกเบี้ย (spread) ให้ค่อยๆ ลดลง ทำให้มีการแข่งขันกันสูง โดยที่ธนาคารขนาดเล็กอย่างธนาคารเอเชียสู้ไม่ไหว ภายใต้ภาวะผันผวนเช่นในปี 2534 ที่อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินลดลงจาก 16.5% ต้นปีเหลือเพียง 7% ในปลายปี ทำให้ผลดำเนินงานไม่เน้นเงินฝาก ปี 34 เงินฝาก 39,417 เกือบเท่าปี 2535 ที่ทำได้เพียง 39,470 ล้านบาท

ท่ามกลางสภาพคล่องสูงในปี 2535 ปริมาณเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศที่ยังคงสูงขึ้น ที่เกิดจากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศ แม้จะมีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และทางการก็อัดฉีดผ่านตลาดซื้อคืนพันธบัตรและ Loan Window

จากงบกำไรขาดทุนของธนาคารเอเชีย ปี 2535 รายได้ที่เกิดจากดอกเบี้ยและเงินปันผลสูง 6,242.3 ล้านบาท ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสูงถึง 1,343 ล้านบาท หรือสูงกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2534 รายได้ส่วนนี้เพียง 673 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะการขายหุ้นบริษัทหลักทรัพย์เอกเอเชียแก่ บงล.เจ.เอฟ. ธนาคม

ธนาคารเอเชียจึงได้พยายามหารายได้อื่นที่มิใช่ดอกเบี้ยอันเกิดจาค่าธรรมเนียมจากการออก letter of credit การอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน ค่าที่ปรึกษาทางการเงิน หรือขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ

โครงสร้างการหารายได้ของธนาคารเอเชียมาจากการให้สินเชื่อที่มีจุลกรเป็นประธานคณะกรรมการผู้อำนวยสินเชื่อ โดยจะพิจารณาผ่านช่องทางสองสาย คือ หนึ่ง - ทางสายงานบรรษัทธนกิจดูแลลูกค้ารายใหญ่ที่กู้ตั้งแต่ 50 ล้านขึ้นไป สายงานนี้จุลกรดูแลอยู่ตั้งแต่เข้ามาทำงานที่ธนาคารนี้แทนศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ โดยมีขุนพลหญิงอย่าง จิตราพร แตงสุวรรณ ลูกหม้อเก่าที่ทำงานมา 15 ปี เป็นผู้อำนวยการสายงานนี้ (ดู โครงสร้างการบริหารธนาคาร)

"เป้าหมายของสายสินเชื่อที่ดูแล Corporate นี้จะต้องเป็นครึ่งหนึ่งของเงินให้สินเชื่อปีนี้ เช่น ปีที่แล้วสินเชื่อทำได้ 9,000 ล้านบาท ฝ่ายของเราจะทำได้ประมาณ 4,500 ล้านบาท" จิตราพรเล่าให้ฟังถึงเป้าหมาย

ฝ่ายงานใหม่ของจิตราพรที่เพิ่งแยกตั้งชัดเจนตั้งแต่กรกฎาคมปีที่แล้ว เพื่อปรับตัวรับกับ BIS และ BIBF คือฝ่ายธุรกิจอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ฝ่ายธุรกิจพาณิชย์และอสังหาริมทรัพย์ และฝ่ายธุรกิจโครงการและวานิชธนกิจ

การรุกด้านวานิชธนกิจ หรือ merchant banking ของธนาคารเอเชีย ได้ปรากฏในรูป pool ระหว่างฝ่ายธุรกิจโครงการและวานิชธนกิจของจิตราพร มือขวาของจุลกรจะทำงานร่วมมือกับสายางานบริหารการเงินของเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ ซึ่งเป็นมือขวาของศักดิ์ เอื้อชูเกียรติ โดยฝ่ายตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งเพิ่งจัดตั้งต้นปีนี้จะคิดโปรดักส์ทางการเงินใหม่ๆ มาเสนอลูกค้ารายใหญ่ผ่านฝ่ายของจิตราพร

"เราถือว่าในการ Pool resource อย่างนี้ ลูกค้าจะได้มากกว่า ทั้งด้านมาร์เกตติ้งและด้านการเงิน ซึ่งเขาสามารถเอาเงินกู้จากแหล่งเงินทุนราคาถูก เช่น IFC โดยทางเราเป็นตัวเชื่อมโยงให้" ผอ.บรรษัทธนกิจเล่าให้ฟัง

สอง - สายงานการตลาดพาณิชย์ธนกิจหรือด้านสาขา จำนวน 84 แห่ง ไม่รวมสาขาเกาะเคลย์แมน (ซึ่งเพิ่งแต่งตั้งปริยเนตร มโนวิชรสวรรค์เป็นผู้จัดการสาขา) สาขาทั้ง 85 แห่งอยู่ภายใต้การบริหารสาขาของอภัย อัศวานันท์ อดีตผู้จัดการสาขาสิงค์โปร์และฮ่องกงของธนาคากรุงเทพ ที่ลาออกมาอยู่กับธนาคารเอเชียตั้งแต่ปี 2529 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายหนี้สินและหลักทรัพย์ก่อนจะมาดูแลสาขา

"การเติบโตของสาขาที่เพิ่มมากมายเป็นไปตามเงื่อนไขของแบงก์ชาติ ผลการดำเนินงานของเราดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งประสิทธิภาพก็เพิ่มขึ้น ทำให้เราลดพนักงานสาขาจากเดิม 31 คน เหลือเพียง 27 คน เราตั้งเป้าหมายว่า สาขาของเราจะต้องแย่งส่วนแบ่งตลาดแต่ละท้องถิ่นอย่างจริงจัง" อภัย อัศวานันท์กล่าว

การปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยระบบ reengineering ซึ่งนพพร พิชา ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและบริหารการธนาคาร ได้เล่าให้ฟังว่า ระบบ reengineering นี้เน้นต้นทุน ความคล่องตัว และระบบงานที่ปรับตัวยืดหยุ่นมีประสิทธิภาพให้บริการของพนักงาน โดยมีการนำเสนอปัญหาและการแก้ไขปัญหาจากผู้ปฏิบัติงานสาขาที่รู้จริงทำจริง

ครั้งหนึ่งในอดีต ได้เกิดความล้มเหลวของระบบการบริหารสาขาแบบ Operation & Management หรือ O&M ซึ่งแยกความรับผิดชอบในหน้าที่ระหว่างผู้จัดการสาขาซึ่งทำงาน day to day ในสาขาออกจากงานด้านการตลาด ซึ่งจะมีผู้จัดการฝ่ายการตลาด คอยติดตามงานบริการลูกค้า คอนเซปท์ที่ต้องการแยกงานแยกคนได้ก่อให้เกิดปัญหา จนในที่สุดได้ล้มเลิกระบบนี้ไป แล้วหันมาใช้ผู้จัดการสาขาเดิม

ปัจจุบันภาระความรับผิดชอบดูแลสาขามีเพิ่มขึ้นระหว่างพรวดี ธรรมาณิชานนท์ และพิพัฒน์ พรสุวรรณ หลังจากที่อนิวรรตน์ อารมย์สุข ลูกหม้อที่ทำงานร่วมกับธนาคารเอเชีย 15 ปี ล่าสุดเป็นผู้อำนวยการสายงานพาณิชย์วานิชธนกิจ 1 ลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัวที่ต้องการพักผ่อนและเลือกทำธุรกิจส่วนตัวอื่นๆ

เป้าหมายการขยายสาขาในปีนี้ คาดว่าสาขาจะเพิ่มเป็น 90 แห่งและปี 2537 จะเพิ่มถึง 100 สาขา ขณะที่แผนการขยายสาขาไปยังตางประเทศเป็นเรื่องที่ยังพิจารณาถึงจุดคุ้มทุนอยู่ ที่จุลกรให้ความเห็นว่า

"Mission ของผมคือ ธนาคารต้องมีกำไรและส่วนแบ่งการตลาดมั่นคงก่อน เรื่องบุกต่างประเทศยังเป็นกลยุทธ์รอง เราจะไปเปิดต่อเมื่อมีกำไรหรือมีฐานลูกค้าพอควรรองรับอยู่" ผู้จัดการใหญ่คนใหม่ให้ทิศทาง

ความจริงความเป็นมืออาชีพทางด้านต่างประเทศในระดับบริหารธนาคารนี้ มีตั้งแต่ระดับผู้จัดการใหญ่ จุลกรซึ่งเคยทำงานสายต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ เช่นเดียวกับอภัย อัศวาทนันท์ ที่ผ่านงานต่างประเทศถึง 17 ปี เคยเป็นผู้จัดการสาขาฮ่องกงและสิงคโปร์มาก่อน เกียรติชัยก็เคยอยู่ Asian Development Bank เจมส์ สเตนท์เคยมีประสบการณ์จากซิตี้แบงก์สาขามนิลาและฮ่องกง หรือศักดิ์ เอื้อชูเกียรติ ก็เคยเป็นหัวหน้ากองการต่งประเทศในยุคแรกๆ


กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี เพื่อการบริหารข้อมูลอันเป็น infrastructure สำคัญของธนาคาร อันจะช่วยลดต้นทุนและให้บริการลูกค้าอย่างรวดเร็ว เจมส์ สเตนท์ได้ใช้เวลาสองปีในการพัฒนาใช้ระบบ FIS (Financial Information System) ที่เปลี่ยนระบบบัญชีทั้งหมดเพื่อรับโปรดักส์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ฝ่ายเกียรติชัยคิดขึ้นมาหารายได้ และออนไลน์ระบบส่งข้อมูลไปยังสาขาต่างๆ (Branch Delivery System) และระบบข้อมูลลูกค้า (Customer Information System) เข้ามาใช้

"ยุคสมัยสมัครเล่นหมดไปแล้ว เมื่อก่อนดอกเบี้ยสองปีถึงจะเปลี่ยนครั้งหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเดือนละกี่ครั้ง เราจึงต้องมีฐานข้อมูล แต่ถ้าเราไม่ลงทุนด้านนี้ เราก็แข่งขันกับเขาไม่ได้แน่ เราจึงลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทในระยะเวลาสองปีที่ทำระบบข้อมูลขึ้นมาใช้ต้นปีนี้" จุลกรเล่าให้ฟัง

วันนี้ธนาคารเอเชียแตกต่างกว่าเมื่อ 5 ปีก่อนโดยสิ้นเชิง ทั้งในแง่ของกำไร วัตถุประสงค์ และยุทธวิธีที่มีความซับซ้อนแนบเนียนมากขึ้น ขยายกิจการสาขาออกไปอย่างกว้างขวาง และกระจายอำนาจการบริหารมากขึ้นกว่าที่ "เอื้อชูเกียรติ" เคยทำมา

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us