นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด
(มหาชน) เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจของแกรมมี่มาจนขยายกิจการได้เติบใหญ่
แต่ในช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมาได้คลุกคลีอยู่ในวงการสินค้าอุปโภคบริโภคมาตั้งแต่เริ่มแรก
จากที่เป็นผู้บุกเบิกมาม่าในตลาดเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ตนทำงานอยู่ที่บริษัท
ฟาร์อีสต์ แอดเวอร์ไทซิ่งและในช่วงนี้ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้กลับมาทำธุรกิจที่ถนัดอีกครั้ง
ด้วยเงินทุนส่วนตัว
ในเบื้องต้นนายไพบูลย์ จะใช้เงินลงทุนส่วนตัวประมาณ 200 ล้านบาท ในการลงทุนขยายธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค
โดยธุรกิจแรกคือ การจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 4ME โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง
นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม 40% บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) 13%
สหพัฒนพิบูล 13% ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล 14% ส่วนที่เหลืออีก 20% จะแบ่งให้ศิลปินนักร้องในค่ายแกรมมี่
และบุคคลที่สนใจเข้าร่วมถือหุ้น ซึ่งจะจำหน่ายในราคาหุ้นละ 100 บาท กำหนดการซื้อขั้นต่ำ
100 หุ้นขึ้นไป หรือคิดเป็นยอดซื้อหุ้นขั้นต่ำ 10,000 บาท ซึ่งปัจจุบันหุ้นได้จำหน่ายไปหมดแล้ว
นายไพบูลย์ กล่าวว่า บริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ จะใช้ชื่อว่า บริษัท
4พีเพิล ฟู้ด จำกัด มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท แต่จะเรียกเก็บในเบื้องต้น
25% ในปีแรก และหากต้องขยายธุรกิจเพิ่มก็จะเรียกเพิ่มทุนตามความเหมาะสม
ด้านการจัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 4ME นั้น จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่
27 เมษายน 2545 ประกอบด้วย 3 รสชาติ คือ รสต้มยำกุ้ง รสหมูสับ และรสต้มยำหมูสับ
โดยผู้รับผิดชอบด้านการจัดจำหน่ายนั้น มี 2 บริษัท คือสหพัฒนพิบูล จะกระจายสินค้าผ่านยี่ปั๊ว
ซาปั๊ว ส่วนไอ.ซี.ซี. จะรับผิดชอบด้านการจำหน่ายเข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรด
ซึ่งในปีแรกบริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 500 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด
5-7% จากมูลค่าตลาดรวม 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถคืนทุนได้ในปีแรกนี้ด้วย
“จุดเด่นของ 4 ME ก็คือ การเป็นสินค้าที่ผลิตจากผู้นำตลาด คือ มาม่า มีรสชาติที่เข้มข้น
ขายในราคาที่เท่ากับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วๆไป คือซองละ 5 บาทเท่านั้น และมีศิลปินที่อาจจะเป็นผู้ที่ชื่นชอบของผู้บริโภคเป็นเจ้าของอยู่ด้วย
นอกจากนี้ด้วยศักยภาพของกลุ่มแกรมมี่ ที่มีทั้งความชำนาญด้านการตลาด และมีสื่ออยู่ในมือ
จึงเชื่อว่า 4ME น่าจะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคได้ในระยะเวลาไม่นานนัก”
นอกเหนือจาก 4ME แล้ว นายไพบูลย์ ยังได้ลงทุนในธุรกิจอื่นๆอีก ได้แก่ ธุรกิจเครื่องสำอาง
เสื้อผ้า รวมทั้งร้านอาหาร โดยจะเป็นการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดูแลกิจการแต่ละประเภทโดยเฉพาะ
ซึ่งธุรกิจเครื่องสำอาง และเสื้อผ้าคาดว่าจะใช้เงินลงทุนธุรกิจละ 100 ล้านบาท
และจะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 50% ส่วนที่เหลือได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจ
ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งศิลปินทั้งของค่ายแกรมมี่ และค่ายอื่นๆเข้าร่วมถือหุ้นด้วย
นายไพบูลย์ กล่าวว่า การที่สนใจธุรกิจเครื่องสำอางเป็นเพราะคลุกคลีอยู่กับการสร้างแบรนด์มาตลอดชีวิตของการทำธุรกิจ
แต่การสร้างแบรนด์ของแกรมมี่ แตกต่างจากการสร้างแบรนด์เครื่องสำอาง เพราะแม้ว่าทุกวันนี้จะทำให้คนชื่นชอบในแบรนด์ของแกรมมี่
แต่ก็มิได้หมายความว่าเทปทุกชุดลูกค้าจะซื้อทุกคน ในขณะที่แบรนด์ของเครื่องสำอาง
ลูกค้าจะซื้อเพราะแบรนด์ ไม่ว่าจะผลิตชนิดใดออกมาจำหน่ายก็ยังขายได้ เช่น
แบรนด์ของคริสเตียน ดิออร์
ส่วนธุรกิจด้านเสื้อผ้านั้น จะเน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ แต่ราคาที่ไม่แพงมากนัก
เพื่อเน้นตลาดลูกค้าทั่วไป ที่สามารถซื้อไว้ใส่ได้ง่าย ซึ่งเสื้อผ้าส่วนหนึ่งอาจต้องซื้อลิขสิทธิ์จากจีเอ็มเอ็มแกรมมี่
มาใช้ในการผลิตหรือเชิงการค้าบ้าง และจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่จีเอ็มเอ็มแกรมมี่
ไป
ด้านธุรกิจอาหารนั้น จะร่วมทุนกับกลุ่มเชฟของร้านอาหารญี่ปุ่นในโซโก้ และนายตัน
ภาสกรนที เจ้าของร้านโออิชิ เปิดร้านอาหารญี่ปุ่น ในอาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
ถ.อโศก โดยใช้เงินลงทุน 15 ล้านบาท และอีกร้านอาหารจะเปิดเป็นสุกี้ฮ่องกง
ซึ่งร่วมทุนกับกลุ่มผู้ประกอบการจากฮ่องกง ใช้เงินลงทุน 10 ล้านบาท เปิดที่อาคารจีเอ็มเอ็ม
แกรมมี่เช่นเดียวกัน
“ในทุกธุรกิจที่ผมเข้าไปลงทุน จะใช้แนวคิดเดียวกันคือ การเป็นสินค้าของพวกเรา
ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่ 4ME เสื้อผ้า หรือเครื่องสำอาง ก็จะเป็นของพวกเรา ซึ่งไม่ได้คิดจะจริงจังกับธุรกิจมากนัก
ธุรกิจไหนที่พอไปได้ก็ทำต่อไป และขยายออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ แต่หากธุรกิจใดที่ทำแล้วขาดทุนเราก็เลิกไป
แต่อย่างน้อยผมก็ได้ทำในสิ่งที่ผมฝันเอาไว้ให้เป็นความจริง และเป็นสิ่งที่ผมมีความถนัดมากที่สุดด้วย”นายไพบูลย์
กล่าว