|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"เอ็มเอฟซี" แหวกตลาดกองทุนรวม เตรียมออกกองทุน "อิสลามิกฟันด์" จับกลุ่มเป้าหมายนักลงทุนชาวมุสลิมทั่วโลก "พิชิต อัคราทิตย์" เผยเป็นกองทุนแรกของไทยหวังดึงเงินตะวันออกกลางมาลงทุนเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟรางคู่ ประเดิมด้วยมูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท วางนโยบายลงทุนหุ้นทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯตามหลักศาสนาอิสลาม
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) (MFC) เปิดเผยว่า กองทุนสุดท้ายของบริษัทที่จะออกก่อนสิ้นปี 2547 คือ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อิสลามิกฟันด์ ซึ่งการออกกองทุนดังกล่าวถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนแก่นักลงทุนชาวมุสลิมที่ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่รวมถึงชาวมุสลิมทั่วโลก
"ถือว่านี่เป็นกองทุนอิสลามแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่ไม่ใช่ออกมาเพื่อระดมเงิน ไปลงทุนอย่างเดียว เพราะระยะยาวตั้งใจว่าจะให้ประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุนแห่งหนึ่งสำหรับชาวมุสลิมทั่วโลก และดึงเงินจากตะวันออกกลางมาลงทุนในไทย ดังนั้นการออกกองทุนนี้ จึงไม่ได้หวังว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามามากมาย อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นนั้นคาดว่านักลงทุนรายย่อยยัง เข้ามาลงทุนไม่มาก แต่ในส่วนสถาบันก็จะมีธนาคารอิสลามซึ่งจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนประมาณ 200-300 ล้านบาท จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีก 50-100 ล้านบาท และธนาคารออมสิน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเท่าไร" นายพิชิต กล่าว
ทั้งนี้ หากประเทศไทยเป็นแหล่งที่ตะวันออกกลางนำเงินมาลงทุนระยะยาวก็จะเอื้อประโยชน์ต่อโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ ที่มีนโยบายลงทุน 4-6 ปี ทั้งในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟรางคู่ โครงการก่อสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องน้ำ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท
โดยกองทุนอิสลาม ในอนาคตน่าจะผูกพันอยู่กับโครงการลงทุนตามนโยบายภาครัฐ กล่าวคือ กองทุนดังกล่าวจะเป็นแหล่งที่ตะวันออกกลางนำเงินมาลงทุน และเงินทุนนี้จะเป็นแหล่งสำคัญที่จะช่วยในเรื่องการลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ ของภาครัฐ นอกเหนือเงินทุนจากตะวันตก
"กองทุนอิสลามไม่ได้มีประโยชน์ในการเพิ่มช่องทางการลงทุนของชาวมุสลิมเพียงอย่างเดียว แต่อาจมองได้ว่าเป็นกองทุนเพื่อชาติ เพราะเป็นแหล่งทุนที่ภาครัฐจะนำมาลงทุนในโครงการใหญ่ๆ เนื่องจากเม็ดเงินในตะวันออกกลางมีมหาศาล แค่มาลงทุนในไทย 100 ล้านเหรียญก็ถือว่ามากแล้ว ซึ่งตีเป็นเงินไทยประมาณ 4,000 ล้านบาท ในขณะที่ นักลงทุนต่างประเทศมองว่าเม็ดเงินดังกล่าวไม่ได้มากมายอะไร ดังนั้นการออกกองทุนอิสลามจึงเป็นการคาดหวังในระยะยาว" นายพิชิต กล่าว
นายพิชิต กล่าวอีกว่า การออกกองทุนนี้ยังเป็นสัญญาณที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะหมายถึงประเทศไทยจะมีระบบการเงินที่เอื้อต่อชาวมุสลิมที่มีอยู่ประมาณ 10% ของประชากรไทย ซึ่งเห็นได้จากการจัดตั้งธนาคารอิสลาม และกองทุนอิสลาม ซึ่งในส่วนของการจัดตั้งกองทุนทำให้ชาวมุสลิมขยายช่องทางการลงทุนได้มากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะลงทุนในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เป็นหลัก
นอกจากนี้ ในระยะยาวหากกองทุนประเภทนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น ก็จะเอื้อต่อกิจการชาวมุสลิม เพราะเป็นการผลักดัน ให้กิจการซึ่งลงทุนถูกต้องตามหลักศาสนา มีแหล่งระดมทุนได้มากขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของตลาดทุนในประเทศก็ได้ประโยชน์ที่เม็ดเงินชาวมุสลิมไหลเข้าสู่ระบบ
โดยในส่วนของหลักทรัพย์ที่จะลงทุนนั้น ได้ผ่านการคัดเลือกถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเลือกออกมาได้ 80 กว่าตัวที่เป็นไปตามหลักศาสนา คือหุ้นที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขสุรา ยาเสพติด การพนัน อาวุธสงคราม ดอกเบี้ย เป็นต้น ซึ่งหลังจากคัดรอบแรกได้แล้วก็ต้องเข้าไปศึกษาเป็น รายตัวว่ากิจการที่คัดเลือกนั้นจะต้องไม่เป็นหนี้มากเกินกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าสินทรัพย์บริษัท หรือต้องไม่มีเงินได้จากกิจการที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย เกิน 1 ใน 3 เป็นต้น ซึ่งหลักในการคัดเลือกค่อนข้าง จะเข้มงวดจึงเหลือหลักทรัพย์ที่จะเข้าไปลงทุนประมาณ 30 ตัว
"การเข้าไปลงทุนในหลักทรัพย์ไหนก็จะต้องแจ้งกับผู้ลงทุนด้วย ซึ่ง 30 ตัว ที่ได้มาเป็นหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพ ถูกต้องการหลักศาสนา และกระจายตามหมวดอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งการลงทุนในหลักทรัพย์แต่ละตัวนั้นก็อยู่ที่จังหวะและเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การลงทุนก็มีความเสี่ยงสำหรับกองทุนประเภทนี้ผู้ลงทุนจะต้องสามารถรับความเสี่ยงได้ระดับปานกลางถึงสูง" นายพิชิตกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทได้จัดทำอิสลามมิก อินเด็กซ์ ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงผลตอบแทนจากกองทุน และให้ผู้ลงทุนชาวมุสลิมได้ใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจลงทุน ซึ่งอิสลามมิก อินเด็กซ์ จะเลือกหุ้น 30 ตัว ที่บริษัทคัดไว้ ดังนั้นกองทุนอิสลามออกก็จะมีอิสลามมิก อินเด็กซ์ เป็นมาตรฐานอ้างอิงผลตอบแทน
สำหรับกองทุนอิสลามเป็นกองทุนเปิดมีมูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท เป็นกองทุนรวมผสมแบบไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยจะพิจารณาจ่ายเงิน ปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่า 50% ของการเพิ่มขึ้นในสินทรัพย์สุทธิจากการดำเนินงาน มูลค่าเงินขั้นต่ำของการซื้อหน่วยลงทุน อยู่ที่ 5,000 บาทสำหรับการซื้อครั้งแรก และ 1,000 บาทสำหรับการซื้อครั้งแต่ไป มีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งผ่านเกณฑ์การคัดเลือกตามหลักศาสนาอิสลามและเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีสภาพคล่องสูง และมีแนวโน้มผลตอบแทนสูง
นอกจากนี้ กองทุนอาจลงทุนในบริษัทที่ ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงมีผลประกอบการดีและดำเนินธุรกิจ ที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม และหลักทรัพย์ที่กองทุนลงทุนต้องได้ผ่านการหารือจากคณะกรรมการศาสนา ซึ่งคณะกรรมการศาสนาของ กองทุนจะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาในเรื่อง หลักเกณฑ์การลงทุนตามหลักศาสนาอิสลาม ประกอบด้วย นายอรุณ บุญชม นายอิสมาแอ อาลี นายสารกิจ หะซัน นายทองคำ มะหะหมัด นายบรรจง บินกาซัน และนายนภดล เต๊ะหมาน ลงทุนในกิจการที่เสริมผลผลิต สร้างงานและสนับสนุนจริยธรรม คุณธรรมและสิ่งดีงาม แก่สังคมเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่น้องชาวมุสลิมที่ต้องการ ทางเลือกในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดี
|
|
|
|
|