|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ซูซูกิ" เปิดแผนรุกตลาดรถยนต์ไทยในอีก 3 ปีข้างหน้า สยายปีกรุกครบทั้งเรื่องตัวสินค้า เครือข่าย และการสร้างความพึงพอใจลูกค้า กำหนดภายในปี 2550 จะเปิดตัวรถโมเดลใหม่ 6 รุ่น ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ ทั้งรถแวนอเนกประสงค์ "เอพีวี" ที่จะเผยโฉมมอเตอร์เอ็กซ์โปนี้ไปจนถึงปิกอัพ และรถยนต์นั่ง ทั้งแบบ แฮตช์แบ็ก และเก๋งซีดาน 4 ประตู พร้อมขยายเครือข่ายรองรับเป็น 50 แห่ง ช่วยผลักดันยอดขายพุ่ง 10,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก 10 เท่าตัว
นายโยชิอากิ ทามาอิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซูซูกิออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยถือหุ้นใหญ่ 60% ที่เหลือถือหุ้นฝ่ายละ 20% ระหว่างบริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนลคอร์ปอเรชั่น จำกัด และนายพรพงษ์ พรประภา ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ซูซูกิในไทยรายเดิม ส่งผลให้การกำหนดทิศทางต่างๆ ของซูซูกิในไทยมีความชัดเจนมากขึ้น
"ซูซูกิมีเป้าหมายเพิ่มยอดขายในอีก 3 ปีข้างหน้า เป็น 10,000 คัน จากปัจจุบันมียอดขายปีละประมาณ 1,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่าตัว ซึ่งการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นจะต้องมีการวางนโยบายชัดเจน ทั้งเรื่องของเครือข่ายการจำหน่าย การสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า และรถยนต์โมเดลใหม่ที่มี
เป้าหมายเปิดตัวสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 6 รุ่น"
ทั้งนี้ รถยนต์โมเดลใหม่ที่จะแนะนำสู่ตลาด จะมีการเพิ่มเซกเมนต์ให้หลากหลายขึ้น จากปัจจุบันที่มีเพียงซูซูกิ สปอร์ตี้ และแกรนด์ วิทาร่า ซึ่งเป็นกลุ่มรถอเนกประสงค์ขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยในปี 2548 จะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ 2 รุ่น ได้แก่ ซูซูกิ เอพีวี (All Purpose Vehicle) รถยนต์อเนกประสงค์ 8 ที่นั่ง เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ขนาดใกล้เคียงกับ โตโยต้า วิช และฮอนด้า สตรีม รถรุ่นนี้จะนำเข้าจากอินโดนีเซีย เพื่อเปิดตัวในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ต้นเดือนธันวาคมนี้ แต่จะขายอย่างเป็นทางการช่วงเดือนมีนาคม หรือเมษายน ราคาประมาณ 5-8 แสนบาท ส่วนอีกรุ่นเป็นเอพีวีแบบปิกอัพจะเปิดตัวในปีหน้าเช่นกัน แต่ยังไม่กำหนดช่วงเวลาชัดเจน
นายทามาอิ กล่าวว่า ส่วนปี 2549 ซูซูกิมีแผนที่จะรุกตลาดรถยนต์นั่งแฮทช์แบ็ก โดยจะมีทั้งแบบ 3 และ 5 ประตูให้เลือก ขนาดเครื่องยนต์ 1.5-1.6 ลิตร ซึ่งรถรุ่นนี้ในต่างประเทศเรียกว่า ซูซูกิ สวีฟ เพิ่งเปิดตัวไปในตลาดยุโรปเมื่อไม่นาน และกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งเชื่อว่าตลาดเมืองไทยจะให้การตอบรับเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากความนิยมของ ฮอนด้า แจ๊ซ และที่สำคัญตลาดนี้ยังไม่มีคู่แข่งมากนัก
จากนั้นในปี 2550 จะมีการเปิดตัวรถยนต์นั่ง หรือเก๋งซีดานอีก 1 รุ่น เป็นกลุ่มเดียวกับฮอนด้า ซีวิค และโตโยต้าโคโรลล่า เครื่องยนต์ขนาด 1.5-1.6 ลิตร ส่วนสาเหตุที่ซูซูกิเลือกทำตลาดรถประเภทแฮทช์แบ็กก่อน เนื่องจากตลาดเก๋งซีดานมีการแข่งขันที่รุนแรง การที่จะเจาะเข้าไปในตลาดกลุ่มนี้ จำเป็นจะต้องมีความพร้อมเป็นอย่างมาก ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งแบบแฮทช์แบ็ก ยังมีช่องว่างให้ซูซูกิเข้าไปทำตลาดได้ และปัจจุบันก็มีทำตลาดเพียงรายเดียวเท่านั้น
"การขยายเซกเมนต์สินค้ามากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ซูซูกิสามารถบรรลุเป้าหมายการขายที่วางไว้ โดยเฉพาะรถยนต์อเนกประสงค์ และรถยนต์นั่ง จะทำให้ซูซูกิสามารถจับกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย และเป็นตลาดขนาดใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับตลาด รถอเนกประสงค์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม และมีอัตราการเติบโตลดลงเรื่อยๆ ซึ่งในปีนี้ลดลงไปแล้ว 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาประมาณ 20,000 คัน"
นายทามาอิ กล่าวว่า นอกจากรถยนต์โมเดลใหม่แล้ว ซูซูกิจะเร่งสร้างเครือข่ายการจำหน่ายที่เข้มแข็งและครอบคลุมมากขึ้น โดยในปี 2550 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ซูซูกิมีเป้าหมายเพิ่มตัวแทนจำหน่าย หรือดีลเลอร์ ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ทั้งหมด 30 แห่ง และกำลังจะเซ็นสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายในต่างจังหวัดเพิ่มอีก 5 ราย
"การแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะซูซูกิมีนโยบายทำให้ทุกฝ่ายประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นซูซกิ ดีลเลอร์ และลูกค้า ดังนั้นการเลือกตัวแทนแต่ละราย หรือผู้ที่จะมาลงทุนกับซูซูกิ จะต้องมีความมั่นใจต่อกันเสียก่อน จึงจะเกิดการลงทุนและปฏิบัติตามที่เรากำหนดไว้ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า"
ในส่วนของการใช้ไทยเป็นฐานผลิต นายทามาอิ กล่าวว่า ซูซูกิพร้อมที่จะใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ นั่งขนาดเล็ก หรืออีโคคาร์ แต่สิ่งที่ซูซูกิกำลังรออยู่ คือ ความชัดเจนจากรัฐบาล ที่จะสนับสนุนรถประเภทนี้หรือไม่ และหากสนับสนุนต้องกำหนดมาเลยว่า อีโคคาร์มีขนาดหรือสเปกอย่างไร ที่สำคัญจะให้การสนับสนุนกับผู้ลงทุนอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อัตราภาษีต่างๆ เรื่องวัตถุดิบ หรือเครื่องจักร เพราะการที่จะให้บริษัทรถยนต์นำเงินมาลงทุน อันดับแรกจะต้องทำให้เขาเห็นว่า มีความคุ้มค่ากับการลงทุน โดยเฉพาะตลาดภายในประเทศเอง
สำหรับความเห็นของซูซูกิเกี่ยวกับรถอีโคคาร์ ต้องประกอบไปด้วย 5 ปัจจัย ได้แก่ เรื่องของความประหยัดเชื้อเพลิง วัสดุในการผลิตที่จะต้องประหยัด มีความคล่องตัวในการจราจร และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก
|
|
|
|
|