ธปท.ผ่อนผันเกณฑ์บัตรเครดิต เพิ่มวงเงินใช้จ่าย เกิน 5 เท่าของเงินเดือนตามความจำเป็น ระบุจะดูเจตนารมณ์ใช้กรณีฉุกเฉิน เตรียมส่งเรื่องไปให้ชมรมบัตรเครดิตภายในสัปดาห์นี้ ส่วนจำนวนบัตรเครดิต และยอดสินเชื่อคงค้างไตรมาส 3 ยังเพิ่มขึ้น แต่การเบิกเงินสดล่วงหน้าและการใช้จ่ายในต่างประเทศลดลง
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ข้อสรุปเรื่องการพิจารณาวงเงินของผู้ถือบัตรเครดิตเกิน 5 เท่าของเงินเดือนต่อบัตร ที่ทางชมรมบัตรเครดิตได้เสนอมาเรียบร้อยแล้ว ส่วนการที่ทางชมรมบัตรเครดิตเสนอขอให้ลูกค้าสามารถนำเงินฝากประจำหรือพันธบัตรรัฐบาลมาเป็นตัวค้ำประกันทดแทนเงินเดือนนั้น ธปท.จะพิจารณาโดยยึดความสมเหตุสมผลเป็นหลัก ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์มีการอนุมัติวงเงินเกิน 5 เท่าของเงินเดือน ก็จะมีความเสี่ยงต่อธนาคารเองด้วย
"ธปท.จะพิจารณาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือบัตรและผู้ออกบัตร และจะต้องดูความสมเหตุสมผลด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ ธปท.ไม่ต้องการให้มีการกู้หนี้ยืมสินมากเกินไป และคิดว่าวงเงิน 5 เท่าของเงินเดือนก็ถือว่ามากแล้ว ซึ่งในการพิจารณาผ่อนผันคงต้องดูที่เจตนารมณ์ เพราะลูกค้าบางรายมีความจำเป็นต้องใช้บัตรเครดิตเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการชำระเงิน เช่นในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ต้องเข้าโรงพยาบาล หรือต้องการประหยัดเวลาในการเดินทางไปถอนเงิน เป็นต้น" รองผู้ว่าการธปท.กล่าว
นางธาริษา กล่าวต่อถึงตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิต ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ว่า จำนวนบัตรเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ในการพิจารณาอัตราส่วนจะต้องเทียบกับระยะเดียวกันของปีต่อปี ไม่ควรเปรียบเทียบเป็นรายไตรมาส และต้องดูว่าจำนวนบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นมีอัตราการเร่งตัวสูงมากน้อยเพียงใด แต่ที่สำคัญจะต้องดูจำนวนยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมากกว่า เพราะแม้ว่ามีจำนวนบัตรเพิ่มขึ้นแต่การใช้อาจเฉลี่ยกันไปเพราะบางคนถือบัตรเครดิตหลายใบ
"ถ้าจำนวนบัตรเพิ่มขึ้นไม่มากก็ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ควรติดตามดูยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นว่าเป็นอย่างไร แต่เท่าที่ ธปท.ติดตามดูยอดการใช้จ่าย ของบัตรเครดิตล่าสุดไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ส่วนผลของมาตรการที่ธปท.ออกไปช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังไม่เห็นผลอย่างชัดเจน คงต้องรออีก ซักระยะ"
นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน กล่าวว่า ธปท.จะส่งเรื่องการพิจารณาขอวงเงินเกิน 5 เท่าของเงินเดือน ไปให้ทางชมรมบัตรเครดิตภายสัปดาห์นี้ ส่วนการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อบัตรเครดิตนั้น เพิ่มขึ้นเพียง 3-4% เมื่อเทียบกับสินเชื่อทั้งระบบ ซึ่งยังไม่ถือว่าสูงเกินไป
รายงานข่าวจากสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ได้รายงานตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิตแยกตามประเภทบัตรเครดิต ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 ว่า มีจำนวนบัตรทั้งสิ้น 8,232,338 บัตร โดยเป็นบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทย 2,915,245 บัตร บัตรเครดิตที่ออกโดยสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในประเทศไทย 940,277 บัตร และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 4,376,816 ล้านบาท
สำหรับยอดสินเชื่อคงค้างมีจำนวนทั้งสิ้น 108,606 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายรวมมีทั้งสิ้น 130,670 ล้านบาท แยกเป็นปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ 97,241 ล้านบาท การใช้จ่ายในต่างประเทศ 5,946 ล้านบาท การเบิกเงินสดล่วงหน้า 27,482 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ที่มีจำนวนบัตร 8,021,238 บัตร จะพบว่าไตรมาส 3 มีจำนวนบัตรเพิ่มขึ้น 211,100 บัตร และมียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 5,018 ล้านบาท จากไตรมาสที่ 2 ที่มียอดคงค้างสินเชื่อ 103,588 ล้านบาท ส่วนปริมาณการใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 2,472 ล้านบาท จากสิ้นไตรมาสที่ 2 ที่ปริมาณการใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 128,198 ล้านบาท โดยปริมาณการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 6,245 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศมีจำนวนลดลง 354 ล้านบาท เช่นเดียวกับการเบิกเงินสดล่วงหน้าที่ลดลงเช่นกันโดยมีปริมาณลดลง 3,419 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิตในส่วนที่เป็นนอนแบงก์ จะเห็นว่าบัตรเครดิต ที่ออกโดยบัตรเครดิตบริษัท ได้แก่ บริษัทบัตรกรุงไทย และบริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา ณ สิ้นไตรมาส ที่ 3 ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ 338,417 บัตร ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของ ธปท.ที่ออกมากำหนดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำของผู้ถือบัตร ส่งผลให้จำนวนบัตรลดลง ขณะที่บัตรเครดิตที่ออกโดยตัวแทนออกบัตร เช่น บัตรอิออน บัตรอีซี่บาย บัตรเฟิร์สช้อยส์ กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 จำนวน 419,956 บัตร
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาภาพรวมของการให้บริการบัตรเครดิตทั้งระบบจะพบว่าบัตรเครดิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ เช่นเดียวกับยอดสินเชื่อคงค้างที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายในต่างประเทศและการเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตมีอัตราลดลง
|