บริษัทอินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง หรือ ไออีซี ในปี 2545 จะเป็นการฉลองครบรอบ
80 ปีการก่อตั้งบริษัท พร้อมๆ ไปกับการฉลองการกลับมาตั้งหลักในการดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงอีกครั้ง
หลังจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไออีซีต้องก้มหน้าก้มตาปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมๆ
ไปกับการหาจุดยืนที่แท้จริงสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ของบริษัทในการเดินหน้าต่อไปในอนาคต
จเรรัฐ ปิงคลาศัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการบริษัทอินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง
หรือ ไออีซี คือหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ที่เข้ามาบริหารงานไม่ถึง 2 ปี กำลังนำพาไออีซีให้ขึ้นมาผงาดในวงการสื่อสารและธุรกิจวิศวกรรมซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของไออีซีอีกครั้ง
รวมทั้งวางแผนยาวถึงอนาคตในธุรกิจอีบิซิเนสแบบครบวงจร ในการพาไออีซีกรุ๊ปขึ้นสู่ดวงดาวอีกครั้ง
“ปีนี้จะเป็นปีที่เราเริ่มสบาย หนี้สินที่มีกว่า 3,000 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือไม่ถึง
200 ล้านบาท ดอกเบี้ยที่เคยจ่ายปีละหลายร้อยล้านบาท เหลือไม่ถึง 20 ล้านบาท
เชื่อว่าภายในปีหน้าไออีซีจะสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อีกครั้ง
หลังจาก 5 ปีที่ผ่านมาไออีซีไม่มีผลกำไรที่สามารถปั่นผลได้” จเรรัฐกล่าว
จเรรัฐกล่าวว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ไออีซีจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจใหม่
ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการทำตลาดของไออีซีอย่างรอบด้าน โดยมีบทเรียนการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์สำคัญ
ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจนั้น ได้เริ่มไปบ้างแล้วในช่วงปีที่ผ่าน
โดยไออีซีขยายเข้าไปสู่ธุรกิจอีบิซิเนส
โครงสร้างธุรกิจใหม่ของไออีซีแบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย กลุ่มโมบายโฟนบิซิเนส,
กลุ่มเอนจีเนียริ่งบิซิเนส, และกลุ่มไอทีและอีบิซิเนส ซึ่งจะมีการแตกบริษัทย่อยเข้าไปดูแลในธุรกิจต่างๆ
ภายใต้ปีกการบริหารของแต่ละกลุ่มธุรกิจ โดยทั้งหมดขึ้นตรงต่อไออีซีกรุ๊ป
ตามแผนโครงการธุรกิจใหม่สัดส่วนรายได้ของไออีซีกรุ๊ป จะเน้นหนักไปที่กลุ่มโมบายโฟนบิซิเนสกว่า
70% ส่วนอีกสองกลุ่มประมาณรายได้กลุ่มละประมาณ 15% เหตุผลสำคัญก็สืบเนื่องจากสภาพตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจุบันมีแนวโน้มการเติบโตที่ขยายสูงอย่างต่อเนื่อง
ยังมีแนวโน้มที่ตลาดจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไออีซีตั้งเป้าที่จะเข้ามากอบโกยรายได้จากการขายมือถือเป็นสำคัญ
“เรามีบทเรียนจากการเป็นโอเปอเรเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัด เราต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นดิสทริบิวเตอร์แทน
ขณะนี้ไออีซีสามารถขายได้ทุกระบบทุกยี่ห้อเพียงรายเดียว” จเรรัฐกล่าว
ทางไอดีซีมีแผนที่จะสร้างแบรนด์ “โมบายอีซี่” เพียงแบรนด์เดียวสำหรับช็อปร้านค้ามือถือของบริษัท
หลังจากที่ผ่านมามีการทำตลาดในชื่อโมบายเซ็นเตอร์, เซอร์วิสเซ็นเตอร์, พีซีและโมบายอีซี่ด้วย
โดยแบ่งแยกตามขนาดและบริการ แต่ทั้งหมดจะมีการรีแบรนด์ดิ้งให้เหลือเพียงโมบายอีซี่เท่านั้น
นอกจากนี้ยังขยายด้วยการขายแฟรนไชส์ โดยเน้นที่ตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก ขณะนี้ได้เปิดไปแล้ว
3 แห่ง
“ปีนี้ทุกร้านทุกช็อปจะถูกเปลี่ยนมาเป็นโมบายอีซี่ รวมทั้งช็อปใหม่ที่จะเกิดขึ้นด้วย
คาดว่าจะใช้งบประมาณในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจมือถือและผู้บริโภคที่จะสามารถเลือกสรรสินค้ามือถือได้ทุกระบบไม่ว่าจะเป็นจีเอสเอ็ม,
ดีแทค, ออเรนจ์ หรือโทรศัพท์ระบบ1900 และทุกยี่ห้อ รวมทั้งบริการชำระค่าบริการ,
บริการลูกค้า และซ่อมเครื่อง”จเรรัฐกล่าว
นอกจากนี้ในกลุ่มธุรกิจโมบายบิซิเนสจะมีการเปิดบริการ 1369 คอลล์เซ็นเตอร์
ที่บริการสอบถามข้อมูล และรับเป็นเอาต์ซอร์สบริการสำหรับธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการใช้บริการ
ซึ่งบริการในกลุ่มนี้ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตมากธุรกิจหนึ่งในปีนี้
กลุ่มโมบายโฟนบิซิเนสจึงเป็นฐานรายได้ในระยะสั้นที่จะเป็นรายได้หลักของไออีซี
คาดว่าในปีนี้ตลาดรวมการขายมือถือทุกค่ายมียอดรวมประมาณ 8 ล้านเครื่อง และยังเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง
แต่ในอีก 3 ปีข้างหน้า ไออีซีเชื่อว่าตลาดจะค่อยๆ อิ่มตัว จากยอดผู้ใช้ประมาณ
20 ล้านราย
จเรรัฐกล่าวว่า เมื่อธุรกิจโมบายถึงจุดอิ่มตัว ไออีซีได้มองการขยายขอบข่ายธุรกิจเพิ่มขึ้น
เพื่อสร้างความสมดุลในการดำเนินธุรกิจระยะยาว และไม่เกิดผลกระทบต่อรายได้รวมของไออีซีเหมือนดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา
กลุ่มเอนจีเนียริ่งบิซิเนสนับเป็นการหวนกลับมาลงทุนในธุรกิจด้านระบบวิศวกรรม
ซึ่งเป็นธุรกิจหลักดั้งเดิมของกลุ่มอีกครั้ง หลังจากหยุดนิ่งไปในช่วงกว่า
4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประสบปัญหาด้านการเงินจากภาวะเศรษฐกิจ และธุรกิจนี้จำเป็นต้องลงทุนสูง
จึงหันไปให้ความสำคัญกับตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งอยู่ในช่วงตลาดขยายตัวมากกว่า
โดยจะเน้นเข้าไปประมูลโครงการใหญ่ๆ ต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งโครงการโทรศัพท์มือถือ
1900 ขององค์การโทรศัพท์ และโครงการ CDMA ซึ่งทั้งสองโครงการจะเข้าไปประมูลงานการวางเน็ตเวิร์ก
และทำตลาดให้กับสินค้าทั้งสองตัวนี้ด้วย
เป้าหมายในการทำธุรกิจด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท จะครอบคลุมทั้งการเป็นผู้ทำตลาด
หรือผู้ขายเครื่องให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบในประเทศไทย
ตลอดจนการเข้าไปประมูลเพื่อเป็นผู้ติดตั้งโครงข่ายให้กับระบบใหม่ๆ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ
1900 เมกะเฮิรตซ์ ในเฟส 2 และเฟสต่อเนื่อง, ระบบซีดีเอ็มเอของการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.)
โดยปีนี้ไออีซีจะทำตลาดทุกระบบ ทั้งจีเอสเอ็ม, ดีแทค, ทีเอ ออเร้นจ์ และ
1900 เมกะเฮิรตซ์ ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และ กสท. ซึ่งบริษัทได้รับสิทธิเป็นตัวแทนทางการตลาดร่วมกับสามารถคอร์ป
เขาเชื่อว่า จากประสบการณ์การดำเนินธุรกิจของไออีซีและศักยภาพทางด้านช่องทาง
ในส่วนโมบายอีซี่ในปีนี้จะมีสาขาถึง 169 แห่ง จากปี 2544 ที่มีเพียง 69 แห่ง
ดีลเลอร์กรุงเทพเพิ่มจาก 202 รายเป็น 402 ราย ดีลเลอร์ต่างจังหวัดจาก 213
รายเป็น 373 ราย นับได้ว่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จะสามารถรองรับการทำงานให้กับทั้งสองโครงการได้เป็นอย่างดี
ไออีซีวางแผนกระจายสินค้าผ่าน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่
1.ช่องทางขายและบริการของไออีซีเอง คือ “โมบาย อีซี่”
2.จุดขายที่ร่วมกับผู้ให้บริการเจ้าของระบบ โดยไออีซีจะเป็นเจ้าของพื้นที่และทำหน้าที่บริหาร
ขณะที่เจ้าของระบบดูแลเรื่องการตกแต่งร้าน
ขณะที่ด้านการเป็นผู้ติดตั้งระบบนั้น บริษัทมีความพร้อมจากความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท
แซดทีอี (ZTE) จากประเทศจีน ที่มีเทคโนโลยีทั้งระบบ 1900 เมกะเฮิรตซ์ และซีดีเอ็มเอ
ซึ่งทันทีที่มีการเปิดประมูลก็จะเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ประมูลทันที
เขามองว่า ในส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 1900 เมกะเฮิรตซ์นั้น มีแผนงานที่จะเปิดประมูลเฟส
2 อยู่แล้ว โดยน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท และแบ่งพื้นที่ติดตั้งเป็นโซน
เพื่อความรวดเร็วและป้องกันความเสี่ยงจากการผูกขาดกับซัพพลายเออร์รายหนึ่งรายใด
โดยบริษัทเองก็มั่นใจว่า จากจุดแข็งของพันธมิตร และราคา น่าจะทำให้บริษัทได้รับเลือกร่วมโครงการไม่น้อยกว่า
1 โซน
นอกจากนี้ในกลุ่มเอนจีเนียริ่ง มีการตั้งบริษัทขึ้นมาดูแลงานในส่วนงานเกี่ยวกับรถไฟ
หรือบริการซ่อมบำรุงรถไฟ โดยอาศัยกลุ่มคนที่เกษียณและพนักงานที่ขอออกจากการรถไฟมาเป็นพนักงาน
ซึ่งในแต่ละปีการรถไฟมีงบประมาณสำหรับซ่อมบำรุงกว่า 3,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรถไฟในส่วนของบริษัทเอกชนที่รอการซ่อมบำรุงจากการรถไฟเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไออีซีจะเข้าไป
ถือเป็นตลาดที่ใหญ่และมีความต้องการสูงมาก
สำหรับกลุ่มสุดท้ายที่ไออีซีได้มีการปรับโครงสร้าง คือกลุ่มธุรกิจไอทีอีบิซิเนส
ไออีซีได้แบ่งระดับออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่หนึ่งซิสเต็มส์เลย์เยอร์ ประกอบด้วย ไออีซีอินเทอร์เน็ตดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
และบริษัทแมกโคเนติกส์ทำธุรกิจติดตั้งระบบและขายระบบเครือข่าย
กลุ่มที่สองแอพพลิเคชั่นเซอร์วิสเลย์เยอร์ มีธุรกิจรับจ้างเขียนเว็บ, ดูแลเว็บ,
โฮสต์ติ้ง และอินเทอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์
กลุ่มที่สามโซลูชั่นโพรไวส์เดอร์ ล่าสุดได้ร่วมทุนกับการนิคมอุตสาหกรรมในการบริการอีบิซิเนสครบวงจร
การที่ไออีซีประกาศตัวเข้าสู่อีบิซิเนสเมื่อช่วงปีที่ผ่าน เพราะเห็นว่าเป็นเวลาที่ดีและเหมาะสม
และมองเห็นภาพธุรกิจที่ชัดเจน รวมถึงการสร้างงานในอนาคตด้วย เนื่องจากธุรกิจอีบิซิเนสในประเทศไทยเริ่มมีอัตราการโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จึงต้องยกระดับงานด้านนี้ขึ้นเป็นบริษัทไออีซีเทคโนโลยี
ล่าสุดไออีซีได้ร่วมทุนกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการบริการอีบิซิเนสครบวงจรภายใต้บริษัทไออีซีเทคโนโลยี
วางแผนที่จะใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาทในเวลา 3 ปี และคาดว่าจะคืนทุนหลังจากนั้น
2 ปี ซึ่งรายได้หลักจะมาจากค่าธรรมเนียนในแต่ละทรานแซ็กชั่นในการติดต่อซื้อขาย
และค่าบริหารค่าพัฒนาเว็บไซต์ต่างๆ ลูกค้าเป้าหมายในช่วงแรกคือโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ
2,000 โรงงานภายใต้กนอ.
และจากจุดเริ่มต้นกับกนอ.จะกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ซึ่งลูกค้าเป้าหมายในระยะยาว
ไออีซีเทคโนโลยีวางเป้าไว้ที่หน่วยงานองค์กรภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมทั้งหมด
ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จนถึงระดับเอสเอ็มอีต่างๆ
จเรรัฐกล่าวว่าภายใต้แผนโครงสร้างทางธุรกิจใหม่ ไออีซีตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้ไว้
4,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2544 เกือบ 100% และเขาเชื่อมั่นว่ารายได้ของไออีซีจะก้าวกระโดดนับจากปีนี้เป็นต้นไป