|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ประเสริฐ" บิ๊กปตท.ชี้การเข้าไปถือหุ้นทีพีไอ ถือเป็นโอกาสให้ปตท.ขยายสู่ธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายได้เร็วขึ้น แต่การตัดสินใจเข้าเป็นพันธมิตรร่วมทุนขึ้นอยู่กับกำลังเงิน-ราคาหุ้น ยอมรับหวั่นปตท.อาจถูกลดเกรดหลังเข้าถือหุ้นทีพีไอ "สมคิด" เซ็นตั้งปลัดคลังเป็นประธานคณะทำงานสรรหาผู้ร่วมทุนทีพีไอ ระบุคงบอร์ดทีพีไอเดิมไม่เป็นอุปสรรคต่อการหาพันธมิตรร่วมทุน ย้ำปตท. อยากเข้าร่วมทุนอยู่แล้ว
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าในการเข้าเป็นพันธมิตรของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (ทีพีไอ) ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อเจรจาพันธมิตรร่วมทุน โดยมีปตท.เข้าไปอยู่ในกลุ่มพันธมิตรด้วย สุดท้ายแล้ว ปตท.จะต้องมีการเจรจาหารือกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องราคาหุ้นที่จะเข้าไปซื้อมีความเหมาะสมแค่ไหน กำลังเงินที่จะต้องเข้าไปซื้อหุ้น และเมื่อเข้าไปร่วมทุนแล้วจะเกิดประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพราะจะต้องชี้แจงและตอบคำถามของนักลงทุนได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้
การเข้าไปถือหุ้นทีพีไอนั้นถือเป็นโอกาสที่บริษัทฯจะเข้าสู่ปิโตรเคมีขั้นปลายได้เร็วขึ้นสอดคล้อง กับนโยบายของบริษัทฯ แต่หากไม่เข้าไปร่วมทุนในทีพีไอ ปตท.ก็ยังมีบริษัทในเครือที่ขยายธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายเช่นกัน อาทิ บมจ.ปิโตรเคมีแห่งชาติ (NPC) ลงทุนโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก HDPE, การเข้าไปซื้อกิจการบ.บางกอกโพลีเอทิลีน (BPE) และบมจ.ไทยโอเลฟินส์ลงทุนสู่การผลิต EO/EG เป็นต้น
ทั้งนี้ ตัวแทนกระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนฯทีพีไอจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการทีพีไอในปัจจุบัน แต่หลังจากออกกระบวนฟื้นฟูกิจการแล้วคงขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นใหญ่ที่จะเข้าดูแลทีพีไอต่อไป
"กรณีทีพีไอถือเป็นโอกาสที่เราควรเข้าไปดู ของซื้อของขาย แต่จะเข้าร่วมทุนหรือไม่ขึ้นอยู่กับกำลังเงินและเงื่อนไขอื่นๆ และที่สำคัญ โครงสร้างสุดท้ายใครเป็นผู้ถือหุ้น ส่วนประเด็นที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ จะยังเป็นกรรมการบริษัทอยู่นั้น เป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง กับนายประชัย เพราะบริษัทฯจะพิจารณาจากเงื่อนไขการค้าและธุรกิจเป็นหลัก" นายประเสริฐกล่าว
ทั้งนี้ ปตท.ต้องการรักษาสัดส่วนของหนี้สินต่อทุน(D/E) ในอัตราไม่เกิน 1 ต่อ 1 เท่า เพื่อรักษาสัดส่วนฐานะการเงินให้เข้มแข็งจากที่มี D/E อยู่ 0.5 - 0.6 เท่า ซึ่งทีพีไอมีภาระหนี้สูงถึง 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น การลงทุนก็ต้องคำนึงและสร้างความเข้าใจต่อนักลงทุนด้วย เพราะสถาบันจัดอันดับ เครดิตทั้ง มูดี้ส์ และ S&P ได้ให้เรตติ้ง ปตท.ด้วย หากนักลงทุนไม่เข้าใจก็จะส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทได้
ปลัดคลังนั่งปธ.คณะสรรหาผู้ร่วมทุน TPI
นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากได้ส่งหนังสือแต่งตั้งคณะทำงานในการสรรหาผู้ร่วมทุนการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอ และการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนในส่วนของบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ในส่วนที่ทีพีไอถืออยู่ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามอนุมัติแต่งตั้งให้ตนดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ, นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายอุตตม สาวยานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน
ส่วนคณะทำงาน อาทิ นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้ (สบน.) นางพันธ์ทิพย์ สุรทิณฑ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.เป็นต้นไป
สำหรับกรณีที่ศาลล้มละลายกลางไม่เห็นชอบในการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการทีพีไอนั้น นายศุภรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนของคณะกรรมการตามแผนฟื้นฟูนั้น สามารถเพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการ ได้ถึง 25 คน ซึ่งเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการสรรหาผู้ร่วมทุนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนที่ผ่านมา ได้มีการหารือกันเป็นการภายในแล้ว ซึ่งขณะนี้มีอยู่ด้วยกันประมาณ 2 รายด้วยกันที่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรในครั้งนี้ คือ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งหลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าวแล้วจะมีการหารือกันในรายละเอียดอีกครั้งอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า เพื่อให้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูของคณะกรรมการจะดำเนินการแล้วเสร็จและมีผลชัดเจนภายในเดือนพฤศจิกายน 2547 นี้อย่างแน่นอน
ส่วนความเชื่อมั่นของพันธมิตรร่วมทุนรายใหม่ที่จะเข้ามานั้น ผู้ที่จะเข้ามาก็คงจะต้องดูว่าเข้ามาในฐานะอะไร หากเป็นพันธมิตรร่วมทุนแล้วก็จะต้องมีบทบาทในการบริหารในทีพีไอ ผ่านช่องทางของคณะกรรมการ ซึ่งจะต้องดูแลในเรื่องนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีใครกล้าเข้ามา และในขณะเดียวกันผู้ที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรก็จะต้องรู้บทบาทรวมถึงรู้ด้วยตัวเองอยู่แล้วว่าหากเข้ามาในสัดส่วนผู้ร่วมทุนขนาดใหญ่ก็คงจะได้เข้ามาร่วมในฝ่ายบริหารด้วยอยู่แล้ว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเรื่องการเข้ามาร่วมทุนของพันธมิตรในทีพีไอนั้น เรื่องนี้ไม่ควรที่จะกล่าวถึง ซึ่งอยากที่จะให้คณะทำงานที่มีนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานได้ดำเนินการตามแผนที่ได้รับผิดชอบให้แล้วเสร็จเสียก่อน เชื่อว่าพันธมิตรที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร โดยขณะนี้คณะทำงานก็ได้เริ่มเข้าไปเจรจากับพันธมิตรร่วมทุนแล้ว ซึ่งคณะทำงานจะมีประมาณ 4-5 คนด้วยกัน โดยคุณสมบัติจะต้องเป็นบุคคลในกระทรวงการคลังเท่านั้น
"คิดว่าเรื่องต่างๆ ไม่น่ามีปัญหาอะไร ส่วนในเรื่องของนายประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. นั้น ก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหาเช่นกัน เพราะเขาก็อยากที่จะเข้ามาร่วมทุนในทีพีไออยู่แล้ว" นายสมคิดกล่าว
|
|
|
|
|