"โตโยต้า" เดินเครื่องโปรเจกต์ IMV ส่งออกปิกอัพ "ไฮลักซ์ วีโก้" เป็นครั้งแรกสู่ภูมิภาคอาเซียน ตั้งเป้าปี 2548 ส่งออกทั่วโลก 100,000 คัน ไปยัง 99 ประเทศ และส่งชิ้นส่วนอีกกว่า 140 ประเทศ รวมมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท เผยกำลังศึกษาแผนใช้ไทยเป็นฐานผลิตเก๋งต่อ เชื่อเป็นไปได้สูงที่ทีเอ็มซีจะเลือกไทยเป็นฐานผลิตส่งออกรถเพิ่มอีกประเภท ส่งผลให้ไทยจะมีกำลังผลิตทะลุ 5 แสนคัน สูงสุดเป็นรองแค่ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
วานนี้ (11 พ.ย.) บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด หรือทีเอ็มทีได้ทำพิธีส่งออกรถปิกอัพโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ จากประเทศไทยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดตัวสู่ตลาดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมีนายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นประธาน พร้อมด้วยนายโยชิโอะ อิชิซากะ รองประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และนายเรียวอิจิ ซาซากิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีเอ็มที ร่วมพิธีส่งออกที่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
ส่งออกพุ่งแสนล้านบาท
นายเรียวอิจิ ซาซากิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) เปิดเผยว่า หลังจากโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น หรือทีเอ็มซี ได้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตปิกอัพและชิ้นส่วนอะไหล่ในโครงการ IMV (Innovative International Multi Purpose Vehicle) และได้แนะนำรถยนต์รุ่นแรกภายใต้โครงการนี้ ปิกอัพโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ สู่ตลาดไทยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างมาก มียอดจองสูงสุดถึงปัจุบันกว่า 70,000 คัน
การเริ่มส่งออกปิกอัพวีโก้ไปทั่วโลกครั้งนี้ ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญอีกครั้งของโครงการ IMV เพราะเป็นส่งออกรถที่ผลิตและใช้ชิ้นส่วนในไทยเกือบ 100% โดยมีเป้าหมายในการส่งออกสำหรับปี 2548 จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 140,000 คัน แบ่งเป็นปิกอัพไฮลักซ์ วีโก้ 100,000 คัน และรถยนต์ นั่ง 40,000 คัน ซึ่งเมื่อรวมกับการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ล้านบาท และในปี 2549 จะเพิ่มเป้าหมายการส่งออกเป็น 200,000 คัน เป็นรถไฮลักซ์ 140,000 คัน และรถยนต์นั่ง 60,000 คัน
โดยเป้าหมายการส่งออกของโตโยต้า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป แบ่งเป็นรถยนต์สำเร็จรูป (CBU : Complete Build Up Unit) ไปจำหน่ายยัง 90 ประเทศ และชิ้นส่วนอะไหล่ที่ใช้ในการประกอบรถยนต์ (Assembly Parts) ไปจำหน่าย ยัง 140 ประเทศทั่วโลก ในทวีปเอเชีย ตะวันออกกลาง โอเชียเนีย ยุโรป อเมริกาใต้ และแอฟริกา
สำหรับการส่งออกรถยนต์ของโตโยต้า เริ่มส่งออกรถยนต์ เครื่องยนต์ดีเซล เครื่องยนต์เบนซิน แม่พิมพ์ ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ ไปจำหน่ายยังต่างประเทศในปี 2529 ด้วยมูลค่าการส่งออกในระยะเริ่มต้น 12 ล้านบาท จนกระทั้งในปี 2546 ที่ผ่านมา ส่งออกทั้งสิ้นกว่า 27,000 คัน และในปี 2547 นี้คาดว่าจะส่งออกทั้งสิ้นกว่า 43,000 คัน หรือมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท
เล็งยกไทยฐานผลิตเก๋ง
นายไพบูลย์ ไวความดี รองกรรมการผู้จัดการ ใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า การที่ไทยเป็นฐานการผลิตปิกอัพและรถอเนกประสงค์ภายใต้โครงการ IMV ทำให้ต้องปรับเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิมสูงสุดปีละ 140,000 คัน เพิ่มเป็นกว่า 280,000 คันต่อปี ส่วนรถยนต์นั่งหรือเก๋ง มีกำลังการผลิตปีละประมาณ 100,000 คัน และขณะนี้กำลังศึกษาแผนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งเช่นเดียวกับปิกอัพอยู่ ซึ่งหากโตโยต้าเลือกไทยก็ต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของรถยนต์นั่งอีกเช่นกัน
"เรามีความมั่นใจค่อนข้างมากที่โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น จะเลือกไทยให้เป็นฐานการผลิตทั้งปิกอัพและรถยนต์นั่ง ซึ่งไทยมีศักยภาพเพียงพอในการผลิต และหากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่ง จะทำให้ทีเอ็มทีมีจำนวนการผลิตในแต่ละปีมากถึง 500,000 คัน นับว่าเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่มาก รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น"
อย่างไรก็ตาม การผลิตรถยนต์นั่งเพื่อส่งออก จำเป็นจะต้องศึกษาให้ดี เพราะรถยนต์นั่งมีรายละเอียดมากกว่าปิกอัพมาก ที่สำคัญแต่ละตลาดมีความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้น การผลิตรถยนต์ที่เป็นสากล และมีปริมาณในการส่งออกที่เพียงพอ จึงต้องศึกษารายละเอียดมากกว่ารถปิกอัพ ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้นจึงไม่สามารถกำหนดได้ขณะนี้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ เนื่องจากขณะนี้เพิ่งอยู่ระหว่างการศึกษาเท่านั้น
|