"การดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จของไนเน็กซ์กับกลุ่มซีพีในเมืองไทย
ซึ่งร่วมกันพัฒนาสร้างโครงข่ายสื่อสารขนาดใหญ่ที่จะมีบริการเสริมหลากหลายรูปแบบ
ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาล่าสุด เป็นตัวอย่างที่ดีของความสัมพันธ์ที่เราต้องการขยายความร่วมมือในลักษณะนี้มากขึ้นในประเทศอื่นๆ"
ในการแถลงข่าวเพื่อประกาศนโยบายของไนเน็กซ์ ท่ามกลางผู้สื่อข่าวในประเทศกลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกราว
50 คน ที่ถูกเชิญเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ไนเน็กซ์ได้ประกาศนโยบายการรุกภูมิภาคนี้
ด้วยการขยายความร่วมมือกับกลุ่มซีพี และกล่าวว่ากลุ่มซีพี คือกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพมากที่สุด
ไมเคิล ฮีท กรรมการผู้จัดการกลุ่มพัฒนาธุรกิจ ผู้รับผิดชอบการขยายธุรกิจของไนเน็กซ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
กล่าวถึงความสัมพันธ์ของยักษ์ใหญ่ระดับโลก ไนเน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น กับกลุ่มซีพี
จะไม่มีทางยุติอยู่เพียงแค่โครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย ในเมืองไทยเท่านั้น
เพราะการที่ได้เล็งเห็นพ้องกันถึงศักยภาพในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ซึ่งจะมีมูลค่ามากมายมหาศาล ทำให้ไนเน็กซ์และซีพี วางแผนขยายกิจกรรมและความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง
โดยมีเป้าหมายในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่ใหญ่รองลงมาจากตลาดยุโรป ซึ่งกำลังเริ่มถดถอย
แต่การขยายไปยังขุมข่ายธุรกิจแห่งใหม่ ซึ่งไม่ใช่แหล่งกำเนิดของตน ผู้ประกอบการจำต้องหาพันธมิตรที่มีศักยภาพและควมแข็งแกร่งเพื่อเป็นแขนขาช่วยในการขยายธุรกิจ
เช่นเดียวกับไนเน็กซ์ที่เลือกซีพี ยักษ์ทางด้านเกษตรกรรม และได้ก้าวขึ้นมาสู่ยักษ์ในธุรกิจโทรคมนาคมในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี
ศักยภาพของซีพีเป็นที่รู้จักและยอมรับเป็นอย่างดี เพราะนอกเหนือขุมข่ายธุรกิจทางด้านเกษตรกรรมที่มีอยู่แทบทุกมุมในภูมิภาคนี้แล้ว
ซีพียังวางแผนขยายธุรกิจในกลุ่มโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเป้าหมายต้องการ ความร่วมมืออย่างเหนียวแน่นจึงเกิดขึ้น และขณะนี้ทั้งสองฝ่ายได้มีความร่วมมือเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศและหลายโครงการด้วยกัน
โครงการสร้างเครือข่ายเคเบิลใยแก้วเชื่อมทวีปยุโรปกับเอเชีย หรือโครงการ
FLAG (Fiber optic Link Around the Globe) เป็นโครงการถัดจาก 2 ล้านเลขหมายที่ซีพี
โดยบริษัทเทเลคอมโฮลดิ้งเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 18% กับกลุ่มไนเน็กซ์ และประเทศที่เครือข่ายเคเบิลดังกล่าวจะพาดผ่านอีกจำนวน
12 ประเทศ เริ่มจากสหราชอาณาจักร ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มหาสมุทรอินเดีย
และไปสิ้นสุดที่ประเทศญี่ปุ่น รวมระยะทางกว่า 30,000 กิโลเมตร
พร้อมกันนี้กลุ่มซีพียังได้ผลักดันให้มีการตั้งสถานีเชื่อมต่อภาคพื้นดินขึ้นในประเทศไทยอีกด้วย
ซึ่งยังไม่เป็นที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ ว่าหากโครงการเสร็จสิ้นสมบูรณ์แบบแล้ว
เครือข่ายดังกล่าวจะเชื่อมกับเครือข่ายโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายอย่างไร และซีพีจะสร้างมูลค่าเพิ่มภายในเครือข่ายดังกล่าวได้อย่างไร
แต่ที่แน่ๆ ไนเน็กซ์กล่าวว่า หากเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งสองเข้าด้วยกัน ก็จะกลายเป็นขุมข่ายในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของกลุ่มซีพี
ที่ชาตินี้ก็หาเงินได้ไม่จบสิ้น และจะพลิกโฉมหน้าซีพีให้ก้าวขึ้นเป็นยักษ์โทรคมนาคมในแถบนี้ได้อย่างไม่มีใครกล้าปฏิเสธ
และด้วยเหตุนี้นี่เอง ที่ทำให้ไนเน็กซ์เชื่อมั่นในศักยภาพของซีพี และเกาะติดเพื่อร่วมขยายธุรกิจกันในประเทศอื่นอีกหลายแห่ง
จีน ตลาดใหญ่แห่งใหม่ของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ถิ่นฐานของกลุ่มซีพี กลายเป็นเป้าหมายแรกของไนเน็กซ์ที่จะร่วมกันขยายธุรกิจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการโทรศัพท์พื้นฐาน ที่มีสัดส่วนต่อประชากรเพียง 3:100
ทำให้ไนเน็กซ์และซีพี ซึ่งเล็งเห็นถึงแนวโน้มความต้องการในอนาคต
จึงได้ร่วมลงทุนกันตั้งบริษัทโอเรียน เทเลคอม แอนด์เทคโนโลยี โฮลดิ้ง หรือ
โอทีที โดยไนเน็กซ์ถือหุ้นจำนวน 23.1% ส่วนซีพีถือหุ้นในนามเทเลคอม โฮลดิ้ง
22.5% รวมทั้งได้ชักชวนนักลงทุนรายย่อยภายในประเทศจีนเข้าร่วมด้วยอีกส่วนหนึ่ง
ในเวียดนามเป็นเป้าหมายรองจากประเทศจีน และเป็นตลาดแห่งใหม่ที่ผู้ประกอบการหลายรายหมายปอง
แต่เนื่องจากเวียดนามยังไม่เปิดกว้างสำหรับนักลงทุนต่างชาติ สำหรับกิจการโทรคมนาคมมากนัก
แต่ไนเน็กซ์ก็ยังมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของกลุ่มซีพี ซึ่งได้หยั่งรากธุรกิจทางด้านเกษตรกรรมและอาหารสัตว์ที่นั่นอยู่แล้ว
และขณะนี้ซีพียังได้มีการเข้าไปเจรจากับระดับผู้นำประเทศ เพื่อขอเป็นผู้ร่วมพัฒนาโครงการระบบสื่อสาร
สำหรับการวางรากฐานทางด้านความพร้อมในการขยายธุรกิจร่วมกันนั้น ขณะนี้ไนเน็กซ์ได้ทำการขยายศูนย์วิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี
ซึ่งได้ตั้งขึ้นในเมืองไทยเมื่อครั้งเริ่มติดตั้งโครงการ 2 ล้านเลขหมาย เพื่อให้กลายเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี
ซึ่งจะนำไปขยายในประเทศอื่นในภูมิภาคนี้
และขณะนี้ศูนย์ดังกล่าวได้เริ่มทำงานอย่างขะมักเขม้น เพื่อพัฒนาบริการเสริมรูปแบบต่างๆ
ที่จะนำมาให้บริการในเครือข่าย 2 ล้านเลขหมาย และที่เริ่มขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็คือ
บริการเคเบิลทีวี
ยังไม่รวมบริการเสริมอีกหลายร้อยรูปแบบที่กำลังจะเปิดขึ้นมา อาทิ บริการสมุดโทรศัพท์อิเล็กทรอนิกส์
บริการซื้อสินค้าผ่านสาย ฯลฯ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะเริ่มในเมืองไทย ก่อนที่จะถ่ายทอดไปสู่ประเทศอื่น
ภายหลังที่ทั้งคู่ได้โครงการร่วมกัน
สุดท้ายของการประกาศนโยบาย นายฮีทกล่าวสรุปว่า ทั้งซีพีและไนเน็กซ์ต่างก็มีที่มาที่ต่างกัน
ไนเน็กซ์แตกออกมาจากเอทีแอนด์ที ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทางด้าน โทรคมนาคมมานานแสนนาน
ในขณะที่ซีพีคือ ยักษ์ทางด้านเกษตรกรรมในโลกซีกตะวันออก ที่ใครๆ ก็รู้จัก
และทั้งสองฝ่ายก็จำเป็นต้องพึ่งพากันและกัน
เมื่อรวมความต่างกันและเป้าหมายที่พ้องกันของทั้งสองเข้าด้วยกันแล้ว จึงเกิดเป็นความร่วมมือย่างต่อเนื่องและจะไม่หยุดยั้ง
"เพราะแม้เราจะต่างที่มา แต่ก็มีเป้าหมายเดียวกัน"