Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2534
เบื้องหลังการหาทุนสร้างโทรศัพท์ของซีพี             
โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
 

 
Charts & Figures

รายชื่อซัพพลายเออร์ที่ร่วมเสนออุปกรณ์ในโครงการโทรศัพท์

   
related stories

ศุภชัย เจียรวนนท์ Sky is Opening

   
www resources

โฮมเพจ เครือเจริญโภคภัณฑ์

   
search resources

เครือเจริญโภคภัณฑ์
Telephone




กลุ่มซีพีเดินหน้าโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายประกาศแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินภายในประเทศ 4 แบงก์ใหญ่นำโดยธนาคารกสิกรไทย ส่วนที่ปรึกษาฯ ต่างประเทศคือ มอร์แกน สแตนเลย์ และตั้งบริษัทซีพีเทเลคอมด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท มีการใช้เงินสกุลบาท 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด รูปแบบการไฟแนนซ์ใช้ทั้ง Export Loan, Syndicate Loan รวมทั้งการออกตราสารทางการเงินต่างๆ งานนี้ที่ปรึกษาทางการเงินในประเทศได้ค่าธรรมเนียมรายละ 110 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการทำ Project Finance ที่ใหญ่และใหม่ล่าสุดในประเทศไทย !!

ในภาวะที่ตลาดทุนทั่วโลกซบเซาลง เนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในอ่าวเปอร์เซีย โครงการระดมทุนเพื่อกิจการใหญ่ๆ ทั้งหลายพลอยชะงักงัน แผนการระดมทุนที่ตระเตรียมไว้ตั้งแต่ปลายปี 2533 ต้องเปลี่ยนแปลงรื้อทิ้งกันใหม่หมด

บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เตรียมเพิ่มทุนและบริษัทที่แต่งตัวเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องชะลอแผนการออกไปอีก รอจนกว่าทิศทางของสงครามและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสงครามจะมีแนวโน้มที่แจ่มชัด ประมาณ 3-6 เดือนข้างหน้า

แต่สำหรับโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายที่กลุ่มซีพีได้รับสัมปทานหรือภาษาราชการเรียกว่า การร่วมลงทุนเป็นเวลา 25 ปีจากองค์การโทรศัพท์ ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2533 เป็นโครงการที่ไม่ได้รับผลกระเทือนจากความซบเซาของตลาดทุน แม้ว่าแผนการระดมโดยเฉพาะในส่วนของหนี้สิน 65% จะเป็นการระดมจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในและนอกประเทศเป็นแผนการหลักก็ตาม

"โครงการนี้เป็น domestic project 100% ผมคิดว่าผลของสงครามไม่มีส่วนเกี่ยวเนื่องอะไรด้วยเลย" ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รองผู้จัดการอาวุโส ด้านกิจการวานิชธนกิจ ธนาคารกรุงเทพ ให้ความเห็นถึงความเป็นไปได้ในการระดมทุน

กว่าที่จะเริ่มแผนการระดมทุน ซึ่งเป็นแผนการเงินขั้นตอนที่ 2 นั้นคาดว่าจะเป็นหลังเดือนมิถุนายนศกนี้ และเมื่อถึงเวลานั้น สงครามในอ่าวเปอร์เซียน่าจะจบสิ้นลงแล้ว พร้อมกับชัยชนะของฝ่ายพันธมิตร

ความคืบหน้าของงานที่ปรึกษาทางการเงินอขงโครงการโทรศัพท์ขั้นตอนแรกคืบหน้าไปบ้างแล้ว โดยแผนการขั้นตอนแรกเป็นการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของภายในประเทศนั้นได้แต่งตั้ง 4 แบงก์ใหญ่คือ กสิกรไทย กรุงเทพ กรุงไทย และไทยพาณิชย์ และที่ปรึกษาฯ ต่างประเทศคาดว่าเป็น มอร์แกน สแตนเลย์ ซึ่งเป็นเต็งหนึ่งในสถาบันการเงินต่างประเทศ 3 รายที่เสนอตัวเข้าคัดเลือกกับซีพี อีก 2 รายคือ โซโลมอน บราเธอร์ส และโซซิเอเต้ เจเนราล

ภาณุศักดิ์ อัศวอินทรา ผู้บริหารระดับสูงด้านการเงิน บริษัทซีพีโภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างมากในเรื่องไฟแนนซ์โครงการนี้กล่าวว่า "ที่ปรึกษาฯ ต่างชาติมีเพียง 1 รายก็พอ ทำหน้าที่หลายอย่าง นอกเหนือจากเรื่องในเมืองไทย คือ ช่วยดู Export Loan เจรจากับ Exim Bank ทำโครงสร้างของหนี้สินและทุน ทำ Syndication กู้เงินจากธนาคารต่างประเทศ ผมคิดว่าคงจะเพิ่มทำงานหลังจากที่ทางซีพีทำ Concession Agreement เรียบร้อยแล้ว"

ส่วนของการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในขั้นตอนแรกนั้น ณรงค์ ศรีสะอ้าน กรรมการรองผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความสนับสนุนโครงการโทรศัพท์มาตั้งแต่ต้น ด้วยการออกหนังสือสนับสนุน (Support Letter) ให้โครงการฯ เมื่อทางซีพีจัดทำรายละเอียดโครงการฯ เสนอให้องค์การโทรศัพท์ฯ (ทศท.) เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "แบงก์ไทยทั้งหมด 4 แบงก์ที่เข้าไปจะแบ่งงานกันทำ โดยมีการแบ่งข้อมูลกันศึกษาและร่วมกันตัดสินใจ ซึ่งเราก็ดูจากความชำนาญและความพร้อมของแต่ละแบงก์ แม้ว่าแต่เดิมทางกสิกรฯ จะเข้าไปก่อน แต่เราก็ถือว่า เราเป็นแบงก์ใหญ่ด้วยกัน การที่เราเข้าไปก่อนนั้นเราก็มักจะถูกเขาเรียกไปปรึกษาหารือ แต่เราไม่ได้ถือว่าเราเป็น lead"

วิธีการทำงานของที่ปรึกษาทั้งสี่ในขั้นตอนแรก เริ่มด้วยการตั้งคณะทำงานหรือ working group โดยทางกสิกรไทยมีณรงค์ ศรีสะอ้าน เป็นหัวหน้าทีม รองลงมาเป็นประภัศร์ ศรีสัตยากุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจและสต๊าฟงานในฝ่ายนี้ รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ภาษีและงานเอกสารต่างๆ

ส่วนทางธนาคารกรุงเทพมี ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รองผู้จัดการอาวุโส คุมทีมร่วมกับประณิต ตุลย์วัฒนจิต ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายตลาดเงินทุนต่างประเทศ ดูแลงานหนักไปทางด้านเทคนิคและงานที่ปรึกษาวิศวกรรม

ทางธนาคารไทยพาณิชย์นำโดย ดร.โอฬาร ไชยประวัติ เน้นความรับผิดชอบหนักไปทางเรื่องตัวเลขและการคาดหมาย และ อมร อัศวนนท์เป็นคนทำงานประสานกับแบงก์ต่างๆ

ธนาคารกรุงไทยนำโดย ฐานรัตน์ ภูมิพาณิชย์พงษ์ ผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ ซึ่งจะมีขอบข่ายงานที่เหลื่อมล้ำกับทางกสิกรไทย โดยดูในเรื่องของเอกสารและการติดต่อกับหน่วยงานราชการบางส่วนที่จำเป็น เช่น กรมอัยการและกระทรวงคมนาคม

ประภัศร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "คณะทำงานจะไปทำงานพร้อมกันที่ซีพี เราไม่ได้มีการแยกเป็น 4 ทีม แต่มีทีมเดียว เส้นแบ่งระหว่างคณะที่ปรึกษาฯ อาจจะไม่ชัดเจน การจะขีดเส้นลงไปนี่เป็นเรื่องลำบาก เพราะโดยสัญญาที่ปรึกษาทางการเงินทั้งหมดมีความรับผิดชอบร่วมกัน"

เส้นแบ่งระหว่างคณะที่ปรึกษาฯ กับกลุ่มซีพีค่อนข้างชัดเจน ประภัศร์กล่าวว่า "ในส่วนของการติดต่อเสนอตัวเลขต่างๆ กับหน่วยงานราชการนั้น ซีพีเป็นผู้เสนอ เราเป็นคนให้คำปรึกษาในเรื่องตัวเลข การหาข้อมูล วิธีการนำเสนอ หากเขาต้องการผู้ช่วย เราก็จะไป"

ระยะเวลาการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในขั้นตอนแรกของธนาคารทั้งสี่รวมประมาณ 10-12 เดือน โดยเริ่มนับเดือนแรกตั้งแต่พฤศจิกายน 2533 และกาเป็นไปตามตารางก็น่าจะเสร็จในเดือนสิงหาคม 2534

ณรงค์กล่าวถึงขอบเขตงานขั้นแรกของการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินว่า "เราต้องให้คำแนะนำ จนทางซีพีได้เงินกู้ และได้ทุนเรียบร้อย แต่ไม่จำเป็นว่าที่ปรึกษาฯ จะต้องทำ Private Placement เราอาจจะอยู่ข้างหลังเขาเพื่อให้เขาไปเจรจาให้ได้จนครบ ซึ่งถึงตอนนั้นซีพีอาจจะให้เราเป็นที่ปรึกษาฯ ต่อก็ได้ แต่ทางซีพีก็ต้องจ่าย Retaining Fee เพื่อให้เราช่วยแนะนำต่อ ซึ่งอันนี้ยังไม่มีการตกลงกัน"

ส่วนค่าธรรมเนียมที่ปรึกษาฯ ในช่วง 10 เดือนนี้ตกแบงก์ละ 110 กว่าล้านบาท ไม่รวม Retaining Fee ณรงค์กล่าวว่า "ค่าธรรมเนียมนี้ไม่ได้คิดจาก Project Cost นะ แต่เป็นแบบเหมากัน ไม่มีอัตราคิด"

ธุรกิจให้คำปรึกษาทางการเงินโครงการมักจะตามมาด้วยการจัดหาเงินกู้ โดยแบงก์ที่รับทำหน้าที่ที่ปรึกษา เพราะงานบริการทั้งสองส่วนเป้นที่มาของรายได้จากค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยมหาศาล

ณรงค์เปิดเผยเรื่องการให้คำปรึกษาในขั้นตอนแรกของ 4 แบงก์ใหญ่ไทยต่อไปว่า "ในช่วงแรกนี้ทาง 4 แบงก์ใหญ่ไม่ได้มีพันธะเรื่องการปล่อยสินเชื่อหรือการร่วมลงทุน อันนั้นเป็นขั้นตอนที่ 2 ซึ่งถ้าซีพีจะเอาก็ต้องคุยกันอีก เราเป็นแต่ทำตัวเลขคาดหมายว่าควรจะลงทุนเท่าไหร่ อย่างไร ซึ่งเราก็พยายามยึดหลักให้โครงการนี้มีลักษณะ Bankable มากที่สุด คือ จัดโครงการแล้วสามารถให้กู้ได้"

ในส่วนของเงินลงทุนโครงการฯ 150,000 ล้านบาท ตามที่ประกาศในโครงการนั้น เมื่อต้องลงเงินจริงๆ อาจจะไม่ถึง "ผมคิดว่าไม่น่าจะถึงเพราะดูเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนราคาของชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้ง credit line ที่จะได้จาก supplier ด้วย ซึ่งส่วนมากจะมาจาก Exim Bank แต่ไม่รู้ว่าอัตราดอกเบี้ย Exim Bank จะเปลี่ยนไปอย่างไร ณ วันเจรจา แต่ผมคิดว่าน่าจะอยู่ในราวๆ 100,000-110,000 ล้านบาทเท่านั้น" ณรงค์ประมาณการ

อย่างไรก็ดีโครงสร้างของเงินทุนในโครงการ ยังคงตัวเลขตามที่ระบุไว้ในโครงการที่ยื่นเสนอต่อองค์การโทรศัพท์ฯ ประภัศร์กล่าวว่า "สัดส่วนของหนี้สินต่อทุนยังเป็น 65:35 หรือประมาณ 1.86 เท่าของทุน" (ดูตารางโครงสร้างแหล่งเงินทุนของโครงการโทรศัพท์)

สำหรับทุนของส่วนผู้ถือหุ้น 35 % นั้น ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล ที่ปรึกษาอาวุโสทางการเงินของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (กลุ่มซีพี) กล่าวถึงขั้นตอนการไฟแนนซ์โครงการโทรศัพท์ว่า "เริ่มด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาทจากกลุ่มซีพี และเพิ่มทุนเป็น 4,000 ล้านบาท โดยเครือข่ายของซีพี จากนั้นทำ Private Placement ภายในประเทศเป็นวงเงินประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาท"

การทำ Private Placement จำนวน 15,000-20,000 ล้านบาท ไม่ใช่เป็นเม็ดเงินทุนในราคาพาร์ล้วน ที่ซีพีลง แต่เป็นทุนที่ชำระแล้ว บวกพรีเมียม บวกกำไรสะสะหรือในทางบัญชี เรียกว่า ส่วนของผู้ถือหุ้น" ประภัศร์ ที่ปรึกษาคนหนึ่งจากกสิกรไทยเล่าถึงที่มาของทุน

อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เป็นการดำเนินการจริงมีความแตกต่างจากส่วนที่ทำการประมาณการไว้ เมื่อตอนยื่นรายละเอียดโครงการฯ ให้ ทศท.

ตอนยื่นรายละเอียดมีการประมาณว่า การระดมเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเริ่มในปี พ.ศ.2536 ประมาณ 9,000 ล้านบาท และจะระดมได้เพิ่มขึ้นเป็น 18,000 และ 24,500 ล้านบาทในปี พ.ศ.2537 และ 2538 ตามลำดับ และหลังจากปี 2538 เงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะคงไง้ที่ 24,500 ล้านบาทจนจบโครงการ

เงินทุนจากนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีแรกมี 7,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 19,000 ล้านบาทในปี 2535 และ 20,000 ล้านบาทในปี 2536 และหยุดอยู่ที่ตัวเลขนี้จนจบโครงการ

ส่วนของผู้ถือหุ้นที่กลุ่มซีพีประมาณการไว้ เมื่อตอนยื่นรายละเอียดโครงการให้ ทศท.ปรากฏว่า มีส่วนของผู้ถือหุ้นในปี 2534 รวม 6,951 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 17,374 และ 24,038 ล้านบาทในปี 2535 และ 2536 ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ได้หักการขาดทุนในระหว่างการดำเนินการออกแล้ว (ดูตารางตัวเลขการเงินของโครงการ)

ทั้งนี้ตัวเลขขาดทุนในช่วงดำเนินงาน 5 ปีแรกมีดังนี้ ปี 2534 ขาดทุน 49 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1,577 ล้านบาทในปี 2535, 3,336 ล้านบาทในปี 2536, 3,628 ล้านบาทในปี 2537 และ 2,366 ล้านบาทในปี 2538

ครั้นปี 2539 จึงเริ่มประมาณการกำไรสุทธิหลังหักภาษี 197 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2550 จึงเริ่มชะลอตัวเลขกำไรสุทธิ

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ในส่วนของผู้ถือหุ้นนั้น ตัวเลขจะต่ำกว่าเงินทุนรวมในช่วง 7 ปีแรก เพราะการคาดหมายเรื่องขาดทุน โดยเฉพาะในเขตนครหลวงคาดหมายว่าจะขาดทุนในช่วง 6 ปีแรก ส่วนต่างจังหวัดคาดหมายไว้เพียง 4 ปีแรกเท่านั้น (ดูตารางรายได้และผลประโยชน์)

ส่วนของผู้ถือหุ้นเมื่อสิ้นโครงการในปี 2558 จะเพิ่มพูนขึ้นเป็น 211.569 ล้านบาท

หมายความว่า หลังปีสุดท้ายของสัญญาสัมปทานปีที่ 25 กลุ่มซีพีคาดหมายว่า จะสร้างเงินกองทุนเพิ่มขึ้นจากปีแรกที่ดำเนินการจำนวนเกือบ 40 เท่า แต่นั่นหมายความว่า กลุ่มซีพีได้คาดหมายการเคลื่อนไหวของกระแสเงินสดหรือ cash flow จากการดำเนินงานตลอด 25 ปีบนสมมติฐานที่ไม่มีปัญหาใด

แต่ข้อเท็จจริงคือมีปัญหา กล่าวคือ ตารางรายได้และผลประโยชน์ หรือนัยหนึ่งคือ ตัว cash flow นั้นเป็นเพียงการประมาณการตัวเลขรายได้ของโครงการแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีตัวเลขรายจ่ายของโครงการฯ โดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ การประมาณตัวเลข cash flow ที่ยื่นเสนอ ทศท.ยังได้รวมตัวเลขเงินประกันหนี้สิน 9,000 ล้านบาท ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงในผู้บริหาร ทศท.และสหภาพแรงงาน ทศท. ว่าควรจะเป็นเงินประกันที่เก็บไว้กับ ทศท. มากกว่าที่กลุ่มซีพีจะเอาไป (ดูล้อมกรอบเงินประกันหนี้สิน 9,000 ล้านบาท)

ถ้ากลุ่มซีพีไม่ได้เงิน 9,000 ล้านบาทนี้ไว้ ก็ต้องลงทุนใน equity เพิ่มมากขึ้น

สำหรับหนี้สิน 65% แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการส่งออก หรือ supplier credit ที่บริษัทอุปกรณ์ต่างชาติจะได้รับจาก Exim Bank ในประเทศของตนเพื่อการสนับสนุนการส่งออกสินค้าประมาณ 10% และที่เหลือเป็นเงินกู้สกุลบาทจากธนาคารไทยพาณิชย์ 30% และเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ 25% (ดูตารางโครงสร้างแหล่งเงินทุนของโครงการโทรศัพท์)

คาดหมายว่า สินเชื่อเพื่อการส่งออก หรือที่เรียกว่าสินเชื่อจากบริษัทผู้ขายอุปกรณ์ คือ เงินกู้จากสถาบันการเงินและเงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออก จำนวนรวม 62,436 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2539 ซึ่งเป็นปีที่มีการก่อสร้างเครือข่าย 3 ล้านเลขหมายเสร็จสิ้น

ในปีนั้น เงินลงทุนของผู้ถือหุ้น หรือที่ภาษาบัญชีเรียกว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นจะเหลือ 33,641 ล้านบาท โดยหักการขาดทุนสะสมในช่วงการก่อสร้างออกจากเงินลงทุนจำนน 44,500 ล้านบาทที่กลุ่มซีพีระดมมาลงทุนในโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2534-2538

ทั้งนี้ตัวเลขหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่คาดหมายว่าจะเป็น 1.86 เท่า เป็นอัตราสูงสุดที่เกิดในปี 2539 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมีกำไรสุทธิหลังภาษีด้วย

ประภัศร์ยอมรับว่า "Debt ส่วนนี้ยังไม่ได้มีแผนการละเอียดว่าจะ float อย่างไร เพราะเวลานี้กำลังติดตามเรื่อง supplier credit ให้จบก่อน และทำ Concession Agreement ซึ่งคาดว่าคงจะเสร็จประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นอย่างช้า เสร็จแล้วอีก 2-3 เดือนถัดไปก็ทำ supplier contract เมื่อหมดด้านนี้แล้วก็เป็นเรื่องของ syndicate เรื่องของการอันเดอไรต์ทุนซึ่งคงจะเริ่มได้ในราวเดือนมิถุนายน"

Concession Agreement เป็นสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ระหว่างกลุ่มซีพี กับ ทศท. รายละเอียดของสัญญานี้มาจากเนื้อหาใจความหลักๆ ในหนังสือเงื่อนไขที่กำหนด หรือ TOR ที่กลุ่มซีพียอมรับหลักการเหล่านั้นไปแล้ว

ในสัญญานี้จะมีเอกสารแนบท้ายเกี่ยวกับขอบเขตการทำงาน รายละเอียดประมาณการลงทุน แผนการติดตั้งและแผนการเปิดบริการ รวมทั้งกำหนดการติดตั้งเลขหมายในแต่ละปี และระบุค่าปรับรายวันหากกลุ่มซีพีไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้

เมื่อเซ็นสัญญาฉบับนี้ กลุ่มซีพีจะต้องนำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันจากธนาคารวงเงิน 1,000 ล้านบาทมามอบให้ ทศท.เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาด้วย

หลักประกันจำนวนนี้จะลดลงเหลือ 200 ล้านบาท เมื่อกลุ่มซีพีดำเนินการติดตั้งและส่งมอบอุปกรณ์ 2 ส่วนแรกเสร็จเรียบร้อยตามที่ระบุในสัญญา

แหล่งข่าวใน ทศท.คาดหมายว่าอาจจะมีการเซ็นสัญญาในวันครบรอบการก่อตั้ง ทศท.ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

ประภัศร์ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า "ในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อนั้น 4 แบงก์ใหญ่ยังไม่ได้มีการคุยกัน ใครจะ commit ได้เพราะยังไม่เห็น feasibility study หากกสิกรไทยจะเป็น syndicate leader ก็ต้องดูผลการศึกษาโครงการว่ามันง่ายแค่ไหนที่จะทำอะไรต่อมิอะไร ตอนนี้ไม่มีใครเห็นภาพแท้ตรงนี้ มันต้องใช้เวลาสักเดือนหรือสองเดือน"

สำหรับแบงก์กรุงเทพนั้นตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ ดร.ศิริกล่าวถึงท่าทีการปล่อยสินเชื่อของแบงก์กรุงเทพว่า "ในขั้นของการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินเวลานี้ แบงก์ฯ ยังไม่ได้เป็นคนจัดหาเงินกู้ให้ซีพี เราเป็นคนเสนอแนะแผนการจัดหาเงินให้ แต่เราก็ไม่ปฏิเสธและไม่ commit ในเรื่องนี้เมื่อถึงเวลานั้น"

ในส่วนของอุปกรณ์ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับเรื่องการจัดหาเงินด้วยคือ ซีพีมีความจำเป็นต้องซื้อวัสดุอุปกรณ์จากบริษัทผู้ขายอุปกรณ์ที่สามารถหาสินเชื่อสนับสนุนได้ หรือหากบริษัทนั้นๆ ไม่มีก็อาจจะต้องไปเจรจากับ Exim Bank เพื่อให้ช่วยไฟแนนซ์แก่บริษัทนั้น

สินเชื่อส่วนนี้มีจำนวน 10% ของหนี้สินทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 62.436 ล้านบาทเมื่อก่อสร้างเครือข่าย 3 ล้านเลขหมายเสร็จเรียบร้อยในปี 2539

ทั้งนี้ในบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างองค์การโทรศัพท์ฯ กับซีพี มีรายละเอียดที่น่าสนใจในเรื่องอุปกรณ์คือ ซีพีจะใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 50% ทั้งในส่วนที่เป็นอุปกรณ์เครื่องชุมสายและเคเบิล

ส่วนอุปกรณ์เครื่องชุมสายนั้น ปรากฏว่า ทศท.มีพันธะที่จะต้องสั่งซื้อจากบริษัท NEC Communication System (Thailand) จำกัด

เงื่อนไขข้อนี้จำกัดให้ซีพีได้รับสินเชื่อ Exim Bank น้อยลง เพราะต้องสั่งซื้ออุปกรณ์ในประเทศ ซึ่งไม่มีสินเชื่อประเภทนี้

ดร.ศิริให้ความเห็นว่า "เรื่องซื้ออุปกรณ์ภายใน 50% นั้น ผมคิดว่ามันยังมีความยืดหยุ่นอะไรหลายอย่าง เช่น หากมีการผลิตในประเทศ ซัพพลายเออร์บางรายอาจสามารถหาเครดิตสำหรับการตั้งโรงงานที่นี่ เพื่อขายของที่ผลิตโดยบริษัทที่นี่ก็ได้ อันนั้นอาจจะได้บีโอไอหรืออาจจะไม่ได้ก็ได้"

ทั้งนี้บริษัทอีริคสัน เทเลโฟน คอร์ปอเรชั่น ฟาร์อีสท์ จำกัด เพิ่งได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในการสร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ switching เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2532 ที่ผ่านมานี่เอง และ ทศท.ยังใช้อุปกรณ์ระบบชุมสายของอีริคสันติดตั้งที่ชุมสายกรุงเกษม ซึ่งเป็นชุมสายเพียงแห่งเดียวที่ ทศท.ติดตั้งอุปกรณ์ของอีริคสันในเขตนครหลวง

ส่วนชุมสายอื่นๆ ในเขตนครหลวงล้วนติดตั้งอุปกรณ์ของ NEC ทั้งสิ้น

ระบบชุมสายที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันมี 2 ระบบ คือ ระบบเก่าแบบ cross-bar หรือ analogue และระบบใหม่เป็นแบบ digital หรือ store program control (SPC) ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงาน ซึ่งซีพีจะต้องติดตั้งตามระบบใหม่นี้

กิตติ เพียรธรรม หัวหน้าศูนย์ระบบชุมสายนครหลวงให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมเข้าใจว่า ซีพีจะเพิ่มในเรื่องตัวควบคุมการทำงานและเลขหมาย ซึ่งในกรณีนี้ก็อาจจะใช้อุปกรณ์ยี่ห้อเดียวกันสำหรับชุมสายแต่ละที่ เป็นแบบยี่ห้อใครยี่ห้อมัน เว้นเสียแต่ว่าจะสร้างเพิ่มขึ้นมาใหม่ ก็อาจจะเปลี่ยนเอาอุปกรณ์ยี่ห้อใหม่เข้ามาได้"

เท่ากับว่าซีพีต้องซื้ออุปกรณ์จาก NEC แน่นอน แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อ 50% เพราะมีอีกหลายบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น switching, transmission, outside plant และอุปกรณ์ต่างๆ ของระบบ customer service system (CSS) ซึ่งซีพีต้องใช้ในการสร้างเครือข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย

เป็นไปได้ที่ซีพีจะมีบริษัทผลิตอุปกรณ์เอง เรื่องนี้มีการยืนยันทั้งจากเฉลียว สุวรรณกิตติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ทำหน้าที่รับผิดชอบโครงการโทรคมนาคมของซีพี

ส่วนภาณุศักดิ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "การซื้อจาก NEC เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดของ 50% ภายในประเทศ เราจะตั้งบริษัทผลิตอุปกรณ์เอง แต่คงไม่ตั้งเยอะ เพราะมันเป็นโครงการเดียว อาจจะมีทำ switching เป็นต้น"

โครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย ว่าไปแล้วเพิ่งมีความริเริ่มเมื่อปลายปี 2532 โดยบริติชเทเลคอมเป็นผู้เสนอขอลงทุนขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายเมื่อ 15 กันยายน 2532 และบริษัทอื่นๆ ก็เริ่มทยอยเสนอขอลงทุนเข้ามามากขึ้น เป็นเหตุให้กระทรวงคมนาคมคิดเชิญชวนภาคเอกชนร่วมลงทุนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2533

ครั้น 15 มีนาคมปีเดียวกันก็มีบริษัท 5 รายยื่นข้อเสนอเบื้องต้น พร้อมวางเงินค้ำประกันข้อเสนอจำนวน 1,000 ล้านบาท หลังจากนั้น 2 เดือนเต็ม บริษัทเหล่านี้ก็จัดทำข้อเสนอทางเทคนิค การบริหารงานและการแบ่งผลประโยชน์ยื่นให้ ทศท.พิจารณา

18 กันยายน 2533 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กลุ่มซีพีได้รับการคัดเลือกร่วมลงทุนขยายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย

6 เดือนเต็มที่กระบวนการจัดทำข้อมูล คัดเลือกและตัดสินได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

เป็นโครงการที่เป็นรูปเป็นร่างได้ในเวลาอันสั้นกระชับ

เทียบกับโครงการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรถลอยฟ้า "ลาวาลิน" รถไฟฟ้า "โฮปเวลล์" รถไฟฟ้า "กทม." ที่รายละเอียดโครงการยังอยู่ในหัวของคนบางคนเท่านั้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us