|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์ทหารไทยขอเป็นแกนนำปล่อยกู้เอกชนในโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางมักกะสัน-หนองงูเห่า มูลค่าโครงการ 2.6 หมื่นล้าน เล็งปล่อยกู้โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินอีก 5 สาย ชี้ความเสี่ยงต่ำ "สมใจนึก" เผยแผนสร้างรายได้แบงก์ต้องครบ วงจรทั้งรายใหญ่-รายย่อย เดินหน้าตั้งบริษัทบัตรเครดิต ตั้งเป้ารายได้ปีหน้ากำไรเกินหมื่นล้าน
แหล่งข่าวธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) เปิดเผยว่าธนาคารฯกำลังเจรจากับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เพื่อปล่อยกู้ร่วม (ซินดิเคท โลน) ให้บริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง เส้นมักกะสัน-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตลิงก์ มูลค่าโครงการ 2.6 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารพร้อมที่จะเป็นแกนนำในการปล่อยกู้
"เรามีลูกค้าบริษัทรับเหมาก่อสร้างหลายบริษัทรวมทั้งช.การช่างและอิตัลไทยซึ่งเข้าร่วมประมูล ดังนั้นแม้จะยังไม่มีการคัดเลือกผู้ประมูล แต่เชื่อว่าเรามีโอกาสสูงที่จะสนับสนุนทางการเงิน ทั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ขยายฐานไปยังสินเชื่อสาธารณูปโภค สินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) รองรับแผนการขยายเศรษฐกิจของรัฐบาล"
สำหรับบริษัทที่ซื้อเอกสารประกวดราคาโครงการจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และจะยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 18 พ.ย.นี้ ประกอบด้วย 1.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท มิตซุย 4.บริษัท บีกริม 5.บริษัท นามประเสริฐก่อสร้าง 6. บริษัท พาวเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง และ7.บริษัท เอเอส แอสโซซิเอทส์ จำกัด
ก่อนหน้านี้ ธนาคารทหารไทยได้สนับสนุนสินเชื่อให้กับการก่อสร้างโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ (หนองงูเห่า) ไปแล้ว 1,700 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน 5 สาย ธนาคารทหารไทยสนใจเป็นแกนนำปล่อยกู้เช่นกัน ทั้งนี้มองว่าการเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อโครงการของรัฐมีความเสี่ยงที่ต่ำ
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางมักกะสัน-สุวรรณภูมิ มูลค่าโครงการ 26,000 ล้านบาท มีระยะทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 28 กิโลเมตร ประกอบด้วย 8 สถานี ได้แก่ สถานีพญาไท ราชปรารภ มักกะสัน/อโศก รามคำแหง หัวหมาก บ้านทับช้าง ลาดกระบัง และสุวรรณภูมิ โดยจะมีรูปแบบให้บริการ 2 รูปแบบ คือ 1.รถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้บริการระหว่างสถานีมักกะสัน-อโศก และสุวรรณภูมิ ไม่จอดตามสถานีระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางรวมไม่เกิน 15 นาที ค่าบริการ 100 บาทต่อเที่ยว และ 2.รถไฟฟ้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้บริการระหว่างสถานีพญาไท และสถานีสุวรรณภูมิ โดยจอดตามสถานีระหว่างทาง ระยะทาง 28 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 30 นาที ค่าโดยสารเก็บตามอัตราใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน
รุกบัตรเครดิต-ค่าธรรมเนียม
ด้านนายสมใจนึก เองตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมการธนาคารทหารไทย กล่าวว่าการทำกำไรของธนาคาร ต้องให้ความสำคัญและสร้างรายได้ครอบคลุมธุรกิจทั้งระดับบนและล่าง ดังนั้นนอกจากสินเชื่อรายใหญ่แล้วต้องเร่งสร้างฐานลูกค้ารายย่อย นอกจากนี้จะต้องสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมให้กว้างขึ้น ไม่ใช่พึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยอย่างเดียว
"โครงสร้างฐานลูกค้าหลังการควบรวมกิจการพบว่าธนาคารทหารไทยมีศักยภาพทั้งลูกค้าบริษัท สินเชื่อเอสเอ็มอีและรายย่อย เราจึงต้องบุกตลาดทั้งระบบ คิดว่าปี 2548 จะเห็นภาพที่ชัดเจน"
นายสมใจนึกเปิดเผยว่าขณะนี้กำลังศึกษาการแยกธุรกิจบัตรเครดิตออกมาจากธนาคาร เพื่อความคล่องตัว แต่ธนาคารยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เหมือนกับบริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) ของธนาคารกรุงไทย เชื่อว่าจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในธุรกิจบัตรเครดิตในอนาคต
รายงานข่าวในที่ประชุมผู้บริหารที่ผ่านมา นายสมใจนึก ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารว่าปี 2548 ธนาคารทหารไทยต้องมีกำไรประมาณ 10,000 ล้านบาท
"ท่านประธานฯบอกว่าเราต้องเป็นแบงก์พาณิชย์อันดับที่ 3 ให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันต้องปันผลให้กับผู้ถือหุ้น" แหล่งข่าวกล่าว
ก่อนหน้านี้ นายสุภัค ศิวะรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่าปี 2548 ธนาคารตั้งเป้าขายสินเชื่อเพิ่มขึ้น 25,000-26,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต ประมาณ 5-6% จากสินเชื่อในพอร์ตประมาณ 550,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเน้นกลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีความต้องการของตลาด เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ สิ่งทอ นอกจากนี้ยังขยายสินเชื่อในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตสูง
โดยโครงสร้างสินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีสัดส่วน 26-27% ของสินเชื่อทั้งหมด สินเชื่อพาณิชย์ 18-19% สินเชื่อ สาธารณูปโภค 10% สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ 3% ซึ่งในปีหน้ารัฐบาลได้ประกาศที่จะลงทุนด้านสาธารณูปโภคเพิ่มมากขึ้นทำให้ธนาคารมีเป้าหมาย ที่จะขยายสินเชื่อสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นเป็น 15% ของสินเชื่อทั้งหมด
|
|
|
|
|