กลุ่มสหยูเนี่ยนอาศัยจังหวะเศรษฐกิจจีนบูม รุกคืบลงทุนทั้งขยายธุรกิจเดิมและบุกเบิกใหม่ เผยเงินลงทุนในเมืองจีนรวม 2.35 หมื่นล้านบาท แซงหน้าเงินลงทุนในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ชี้มีโอกาสโตแบบก้าวกระโดด เน้นธุรกิจพลังงาน โดยการขยายกำลังการผลิตและเปิดโรงไฟฟ้าใหม่ เตรียมเทกโอเวอร์เหมืองถ่านหินลดต้นทุนวัตถุดิบที่ยังราคาแพง เล็งตั้งโรงงานผลิตด้ายคุณภาพสูง พร้อมจับมือดัลลิชคอลเลจเปิดโรงเรียนนานาชาติในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้และซูโจว หวังกวาดรายได้ระยะยาว
นางสาวศรีวารินทร์ จิระพรรคคณา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทสหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) (SUC) เปิดเผยทิศทางการทำธุรกิจของสหยูเนี่ยนว่าจะขยายการลงทุนทั้งธุรกิจเดิม และบุกเบิกธุรกิจใหม่ในประเทศจีนมากขึ้น เนื่องจากมองเห็นโอกาสการเติบโตแบบก้าวกระโดดจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังขยายตัว โดยปี 2547 สินทรัพย์หรือเงินลงทุนรวมในจีนอยู่ที่ 4,700 ล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทย 23,500 ล้านบาท แซงหน้าสินทรัพย์ในประเทศไทยที่มีประมาณ 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธุรกิจที่สหยูเนี่ยนจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนคือการขยายกำลังการผลิตและสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ขณะที่ธุรกิจที่บุกเบิกใหม่ ประกอบด้วยตั้งโรงงานผลิตด้าย เปิดโรงเรียนนานาชาติและทำธุรกิจส่งออกนำเข้า
"เราเข้ามาในจีนนานพอสมควร แต่วันนี้ในไทยโอกาสที่ธุรกิจจะโตแบบก้าวกระโดดมีน้อย ขณะที่จีนมีโอกาส เราจึงส่งคนมาดูลู่ทางจริงจังอีกครั้งก่อนมีมติมุ่งธุรกิจพลังงานที่เราถนัดและมีฐานที่แข็งแกร่งในเมืองจีน"
สำหรับธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ นายกมล คูสุวรรณ ที่ปรึกษาอาวุโส ในฐานะผู้รับผิดชอบเปิดเผยว่า สหยูเนี่ยนมีความถนัดในการบุกเบิกธุรกิจใหม่ เพราะบุคลากรที่มีวิสัยทัศน์และประสบการณ์ ดังนั้นเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน สหยูเนี่ยนจึงใช้จังหวะที่เห็นว่าแนวโน้มธุรกิจการศึกษาในเมืองจีนจะขยายตัวสูง เข้าขออนุญาตเปิดโรงเรียนนานาชาติ
"สหยูเนี่ยนตื่นตัวในการมองไปข้างหน้า ดังนั้นเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน สหยูเนี่ยนสามารถเข้าไปลงทุนโดยไม่จำเป็นต้องปิดกั้นว่าต้องทำธุรกิจเดิม เห็นได้จากสหยูเนี่ยนโตมาจากการขายซิปวีนัส แต่วันนี้ประสบความสำเร็จในการทำโรงไฟฟ้า เชื่อว่าอนาคตก็ต้องมีรายได้จากโรงเรียนอินเตอร์"
นางสาวศรีวารินทร์กล่าวว่านโยบายการทำธุรกิจของสหยูเนี่ยน จะไม่จำกัดขอบเขตธุรกิจ ขอให้มีโอกาสและผลตอบแทน หากจะเสี่ยง ก็ประเมินแล้วว่ายอมรับได้ นอกจากไม่มีพรมแดนแล้ว จะยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เช่น ขณะนี้สหยูเนี่ยนวางแผนตั้งโรงงานหรือย้ายฐานการผลิตมาจีนแล้วส่งสินค้าไปขายในไทย แต่ในอนาคตถ้าไทยเหมาะสมกว่าก็อาจย้ายกลับหรืออาจย้ายไปประเทศอื่นก็ได้
โดยระหว่างวันที่ 26 ต.ค.-4 พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทฯนำคณะผู้บริหารบริษัทในเครือระดับกรรมการผู้จัดการขึ้นไปกว่า 20 คน เดินทางไปดูงานที่เมืองจีน นางสาวศรีวารินทร์กล่าวว่าเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ให้ผู้บริหารด้วยการไปเมืองจีน จะได้ประโยชน์มากกว่าการดูข้อมูลเอกสารและการรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่เมืองจีน
"เราอยากให้ผู้บริหารได้สัมผัสโดยตรง ได้รู้ถึงความยากง่ายในการทำธุรกิจเมืองจีน เช่น มาเห็นด้วยตัวเองว่าถ้าจะตั้งโรงงานผลิตขายน่าจะดีกว่าผลิตในเมืองไทยแล้วส่งมาขาย"
สำหรับเมืองไทย นางสาวศรีวารินทร์กล่าวว่า ยังคงขยายธุรกิจที่ยังเติบโต ได้แก่ พลาสติกที่รองรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการผลิตและขายกระติกน้ำที่เพิ่งร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น ขณะที่ธุรกิจในเครือที่จะไม่เน้นการขยายตัว ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เป็นต้น
เทกโอเวอร์เหมืองถ่านหิน
นายฐิติวัฒน์ สืบแสง กรรมการผู้จัดการ บริษัทสหยูเนี่ยน อินเวสเม้นท์ (ประเทศจีน) จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจของสหยูเนี่ยนในเมืองจีนในปัจจุบันแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มพลังงาน ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานร่วม 2) กลุ่มการผลิต ผลิตกรดมะนาวและผลิตด้าย 3) กลุ่มการศึกษา ทำโรงเรียนนานาชาติ และ 4) กลุ่มการค้า ทำธุรกิจส่งออก ทั้งนี้ กลุ่มพลังงาน เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งแต่ปี 2534 ถือเป็นกลุ่มธุรกิจเก่าที่บริษัทมีพื้นฐานแข็งแกร่ง ส่วนอีก 3 กลุ่มหลังเพิ่งบุกเบิกใหม่ ขณะนี้มีพนักงานแล้ว 3,000 คน
สำหรับโรงไฟฟ้าของสหยูเนี่ยนถือเป็นโรงไฟฟ้าขนาดกลาง ส่วนใหญ่ป้อนไฟให้ย่านชุมชนเมืองเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม ปัจจุบันมี 11 โรง ครอบคลุม 4 มณฑล 11 เมือง กำลังการผลิตรวม 869 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 4,340 ล้านหยวน (ดูตาราง หน้า 1 "โรงไฟฟ้าของสหยูเนี่ยนในจีน" ประกอบข่าว) โดยปีที่ผ่านมาได้ขยายกำลังการผลิตใน 4 โรง ได้แก่ Wuxi-Union Cogeneration,Yixing-Union Cogeneration,Zhejiang Jiashan-Union Cogeneration และ Zhangjiagang Shenzhou-Union Cogeneration และกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 1 โรงที่เมืองเจียส้าง
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะสนับสนุนแต่ยังไม่ยอมให้ขึ้นค่าไฟ นายฐิติวัฒน์ยอมรับว่าโรงไฟฟ้าได้รับผลกระทบจากราคาถ่านหินในเมืองจีนยังคงราคาแพงอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงเตรียมซื้อกิจการ (เทกโอเวอร์) เหมืองถ่านหิน เพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบหลักที่เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟ้ฟ้าอีกทางหนึ่งแทนที่จะรอรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว
"การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ผ่านมาทำให้ถ่านหินขาดตลาด ประกอบกับเกิดอุบัติเหตุคนงานตายในเหมืองถ่านหินบ่อย ทางการจึงสั่งปิด เราจึงต้องการเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินไว้รองรับกรณีที่การขาดแคลนถ่านหินเป็นปัญหาระยะยาว"
ขณะที่นายจง เหว่ยกัง ผู้จัดการ Yixing-Union Cogeneration หรือ โรงไฟฟ้าอี้ซิงซึ่งร่วมทุนระหว่างสหยูเนี่ยนกับรัฐบาลจีนในสัดส่วน 50:50 เปิดเผยว่าปัญหาถ่านหินราคาแพงทำ ให้โรงไฟฟ้าในเมืองจีนปิดกิจการไปหลายแห่ง ส่วนแก้ปัญหาของอี้ซิง จะใช้วิธีผสมกันระหว่างถ่านหินคุณภาพสูงกับถ่านหินคุณภาพต่ำโดยการปรับแต่งอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อเฉลี่ยต้นทุนช่วยให้ประหยัด 200 หยวนต่อตัน นอกจากนี้ยังใช้สายสัมพันธ์ที่ดีกับเหมืองถ่านหินทำให้สามารถซื้อถ่านหินราคาถูกกว่าตลาด
"เราซื้อได้ราคาต่ำกว่าตลาดประมาณ 50 หยวนต่อตัน โดยปัจจุบันราคาถ่านหินราคา 500 หยวนต่อตัน ดังนั้นถ้าเราซื้อปีละ 8 แสนตัน ผมสามารถประหยัดได้ 40 ล้านหยวนต่อปี" นายจงคุยถึงสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับเหมืองถ่านหิน
ส่วนการผลิตด้ายและผ้าลูกไม้ สหยูเนี่ยนยังอยู่การก่อตั้งโรงงานปั่นแห่งแรกในจีนที่เมืองเซี่ยงไฮ้ เพราะที่ผ่านมาเป็นโรงงานที่อยู่ในไทย ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายย้ายฐานการผลิตตามสถานการณ์แวดล้อม
ร่วมดัลลิชลุยธุรกิจ ร.ร.อินเตอร์
นายกมลมองว่า จีนมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจการศึกษาในเอเชีย โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติ สหยูเนี่ยนจึงศึกษาความเป็นไปได้ในการบุกเบิกเป็นธุรกิจใหม่มาระยะหนึ่งก่อนจะดำเนินการได้แล้ว 2 สาขา คือที่เมืองปักกิ่งซึ่งเป็นการเทกโอเวอร์ ส่วนอีกแห่งที่เมืองเซี่ยงไฮ้ เปิดเทอมแรกเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ดัลลิชคอลเลจเป็นโรงเรียนสำหรับเยาวชนในระดับ 1 ถึง 9 ตามมาตรฐานสากล บริษัทยังมีแผนเปิดอีก 1 สาขาที่เมืองซูโจว ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าใช้ระยะเวลาไม่นานก็สามารถดำเนินการได้
"เราเลือกที่จะร่วมมือกับดัลลิชคอลเลจ เพราะเห็นว่าเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงระดับโลกของอังกฤษ เชื่อว่าสหยูเนี่ยนจะประสบความสำเร็จในธุรกิจการศึกษาในไม่ช้า เพราะปัจจุบันไม่เฉพาะชาวต่างชาติในเมืองจีนที่เพิ่มขึ้น แต่ลูกหลานคนจีนที่มีสัญชาติต่างประเทศได้ทยอยกลับภูมิลำเนามากขึ้น"
นายกมลกล่าวว่า เป้าหมายในปี 2007 จะมีนักเรียนเข้าเรียนในดัลลิชคอลเลจที่สาขาปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้มากกว่า 1,200 คน และภายใน 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจโรงเรียนจะสร้างรายได้มหาศาลให้สหยูเนี่ยน สำหรับค่าเล่าเรียนของนักเรียนต่อปีขณะนี้คิดหัวละ 1 ล้านบาท หรือกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ และในอนาคตคาดว่ารัฐบาลจีนจะแก้กฎหมายให้เด็กจีนมีสิทธิ์เรียนในโรงเรียนนานาชาติ โดยไม่จำกัดเฉพาะผู้มีสัญชาติต่างประเทศเหมือนปัจจุบัน ทั้งนี้ สหยูเนี่ยนได้ใบอนุญาตเปิดโรงเรียนนานาชาติในจีนเป็นรายสุดท้ายก่อนรัฐบาลจะปิดรับการขออนุญาต
นายกมลเปิดเผยว่า ความสำเร็จในการเจรจาธุรกิจกับดัลลิชคอลเลจ ส่วนหนึ่งอาศัยสายสัมพันธ์ส่วนตัวของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตประธานกรรมการสหยูเนี่ยน เนื่องจากนายอานันท์เคยเป็นศิษย์เก่าดัลลิชคอลเลจ ทั้งนี้ สหยูเนี่ยนลงทุนธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในนาม Union Education Index Ltd., Union Education Management) ซึ่งจดทะเบียนในฮ่องกง
ปัจจุบัน กลุ่มสหยูเนี่ยนมีนายอำนวย วีรวรรณ เป็นประธานกรรมการ ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกอบด้วยบริษัท ยูเนี่ยนอุตสาหกรรมด้าย จำนวน 9.65% บริษัท ยูเนี่ยนแคปปิทอล 6.25% บริษัท ยูเนี่ยนบริหารธุรกิจ 6.22% บริษัท โรงงานรวมอุตสาหกรรม 5.96% และธนาคารกรุงเทพ 4.11%
สำหรับภาพรวมการทำธุรกิจในเมืองจีน ผู้บริหารสหยูเนี่ยนระบุว่าน่าลงทุนมากกว่าเมืองไทย โดยสายสัมพันธ์ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการติดต่อกับหน่วยงานรัฐ อย่างไรก็ตามการที่จีนเซ็นสัญญาปกป้องนักลงทุนไทยเมื่อ ปี 1995 ทำให้ธุรกิจไทยได้รับการคุ้มครองอย่างดี นอกจากนี้คนไทยถือเป็นญาติพี่น้องของคนจีน ผู้บริหารสหยูเนี่ยนเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในระดับสูงต่อไป
|