กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาอันได้แก่ บริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft
Corp.), บริษัทอินเทล (Intel Corp.) และบริษัทเท็กซัสอินสตูเมนต์ส (Texas
Instruments Inc.) ร่วมกันเปิดตัวบลูพรินต์สำหรับโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์แฮนด์เฮลด์ในอนาคต
ทั้งสามจะร่วมกันพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า แบบอ้างอิง (Reference Design) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานสำหรับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือทุกๆราย
ซึ่งหากได้รับการยอมรับในวงกว้างแล้ว บลูพรินต์นี้อาจกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมในอนาคตได้
พวกเขาย้ำในสิ่งที่เคยทำเพื่ออุตสาหกรรมพีซี อุตสาหกรรมที่ทั้งบริษัทไมโครซอฟท์และบริษัทอินเทลต่างเป็นเจ้าของกุญแจสำคัญในมาตรฐานซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์
นั่นคือ ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์และโปรเซสเซอร์เพนเทียม ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์มีส่วนแบ่งตลาดเป็นของตนเองมากกว่า
80% ทั่วโลก
การเปิดตัวในครั้งนี้มีขึ้นที่งาน "3GSM World Congress" งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสื่อสารไร้สายที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
แน่นอนว่าบริษัทชาวยุโรปอย่างบริษัทอีริคสัน (Ericsson) และบริษัทโนเกีย
(Nokia) ยังคงเป็นผู้นำ
นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า บริษัทไมโครซอฟท์เริ่มต้นได้ไม่ดีนักสำหรับก้าวแรกในวงการสื่อสารไร้สายในงาน
"GSM Conference" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์มีทีท่าว่าจะรุกเข้าวงการอุตสาหกรรมสื่อสารไร้สายมานานแล้ว
ดูได้จากการที่พวกเขาเคยพัฒนาดีไซน์เช่นเดียวกันนี้มาก่อน ทั้งเครื่องแฮนด์เฮลด์และอุปกรณ์ที่เรียกว่า
แท็บเล็ตพีซี (Tablet PC)
"ไมโครซอฟท์ยังคงไม่มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถโชว์ได้" เบ็น วู้ด (Ben
Wood) นักวิเคราะห์จากการ์ตเนอร์กล่าว
โดยลำพังผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ บริษัทอินเทลและเท็กซัสอินสตรูเมนต์สจะร่วมกันพัฒนาชิพและซอฟต์แวร์
ซึ่งทำให้เครื่องแฮนด์เฮลด์มีความสามารถเช่นเครื่องโทรศัพท์มือถือ ที่ทำได้ทั้งการโทรออกและรับส่งอีเมล
โฆษกของบริษัทอินเทลกล่าวว่า อินเทลและไมโครซอฟท์อาจมีผลงานการดีไซน์ออกมาปลายปีนี้
ขณะที่เท็กซัสอินสตรูเมนต์สมีผลิตภัณฑ์พร้อมอยู่แล้ว
ส่วนหนึ่งในข้อตกลงระบุว่า บริษัทไมโครซอฟท์จะสนับสนุนเทคโนโลยีพีซีเอส
(PCS) ของอินเทล อันเป็นบลูพรินต์ที่บรรดาผู้ผลิตชิพกำลังผลักดันให้กลายเป็นมาตรฐานสำหรับโทรศัพท์มือถือ
และเครื่องแฮนด์เฮลด์ยุคถัดไป ที่ทำงานบนโปรเซสเซอร์เอ็กซ์สเกล (XScale)
ของอินเทล
และในทางกลับกัน อินเทลก็จะสนับสนุนระบบปฏิบัติการพ็อคเก็ตพีซีโฟนเอดิชั่น
(PocketPC Phone Edition) ของไมโครซอฟท์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเบียดระบบปฏิบัติการของปาล์มขึ้นมาเรื่อยๆ
ทั้งนี้ เครื่องสมาร์ทโฟน และ เครื่องพีดีเอโฟน เป็นผลิตภัณฑ์คนละประเภทกัน
กล่าวคือ พีดีเอโฟนจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์แฮนด์เฮลด์ ซึ่งเน้นการใช้งานด้านการสื่อสารข้อมูลเป็นหลัก
ส่วนฟังก์ชั่นโทรศัพท์อื่นๆ จะเป็นความสามารถรองลงไป สำหรับสมาร์ทโฟน คือเครื่องโทรศัพท์ที่เน้นเรื่องคุณภาพของการสื่อสารข้อมูลเสียงมาเป็นอันดับแรก
และความสามารถอื่นๆ เช่น รับส่งอีเมล หรือเล่นเพลง MP3 จะเป็นเรื่องรองลงมา
ไมโครซอฟท์เชื่อว่า ผู้บริโภคจะชอบอ่านข้อความหรืออีเมลในฟอร์แมตที่คล้ายกับอีเมลบนเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่า
การชนกันของสมาร์ทโฟน
บริษัทไมโครซอฟท์กำลังรุกเข้าอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ อันเป็นอุตสาหกรรมที่การแข่งขันกำลังรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากการบุกของผู้ผลิตชาวเอเชียในตลาดระดับโลว์เอนด์ อย่างไรก็ตามบรรดาผู้ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมนี้คาดว่า
สมาร์ทโฟนจะยังคงเป็นตลาดเฉพาะสำหรับธุรกิจระดับไฮเอนด์ในระยะ 2-3 ปีนี้
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังต้องต่อสู้อย่างหนักกับผู้ผลิตมือถือหน้าเดิม ที่ส่วนใหญ่จะลงหลักปักฐานในบริษัทซิมเบียน
(Symbian) ของอังกฤษ ปัจจุบันบริษัทซิมเบียนได้ปล่อยซอฟต์แวร์สมาร์ทโฟนของตัวเองออกสู่ตลาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ซอฟต์แวร์ตัวนี้สามารถจัดการกับอีเมล, ตารางนัดหมาย และข้อความได้เช่นเดียวกัน
บริษัทซิมเบียนมีผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ระดับโลก 5 รายเป็นผู้หนุนหลัง
ผลิตภัณฑ์ของทั้ง 5 บริษัทรวมกันได้ประมาณ 70% ของผลิตภัณฑ์มือถือทั่วโลก
ขณะที่บริษัทโซนี่อีริคสัน (SonyEricsson) และบริษัทโนเกีย (nokia) ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนเครื่องแรกของตนออกมาแล้ว
และแน่นอน มันรันบนซิมเบียน
ในบรรดาผู้ผลิตมือถือยักษ์ใหญ่ 5 อันดับแรกของโลก มีบริษัทซัมซุง (Samsung)
เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น ที่ยืนยันว่าจะใช้ซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์วินโดวส์เพาเวอร์สมาร์ทโฟน
2002 (Microsoft Windows Powered Smartphone 2002) บริษัทจากเกาหลีใต้ยักษ์ใหญ่อันดับ
4 ของโลกรายนี้ มีแผนปล่อยผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ออกสู่ตลาดปลายปีนี้
บริษัทมิตซูบิชิ (Mitsubishi) ของญี่ปุ่นและบริษัทเซ็นโด (Sendo) ของอังกฤษ
คืออีก 2 บริษัทที่เลือกใช้ซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์สมาร์ทโฟน ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้
ก็ใกล้เวลาที่บริษัทเซ็นโดจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของตนเต็มที
พีดีเอโฟน
สิ่งที่น่าจับตามองอีกอันหนึ่งก็คือ เครื่องพีดีเอที่สนับสนุนฟังก์ชั่นโทรศัพท์มือถือ
ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่บริษัทไมโครซอฟท์ต้องพบกับคู่แข่งอย่างบริษัทแฮนด์สปริง
(Handspring), บริษัทโนเกีย และบริษัทรีเสิร์ชอินโมชั่น (Research In Motion)
จากแคนาดา
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทไมโครซอฟท์ได้อวด 2 ผลิตภัณฑ์พีดีเอโฟนที่ใช้ซอฟต์แวร์พ็อคเก็ตพีซีโฟนเอดิชั่นของตน
และหนึ่งในนั้นคือพีดีเอโฟนจากฮิวเลตต์แพคการ์ด (Hewlett-Packard) ซึ่งจะลงสู่ตลาดในเดือนมิถุนายนนี้
เครื่องรุ่นดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นบนทีไอ-ไมโครซอฟท์แพลตฟอร์ม (TI-Microsoft)
บริษัทคอมพัล (Compal) จากไต้หวัน ผู้ผลิตเครื่องไอแพ็คพ็อคเก็ตพีซี (iPAQ
Pocket PC) ของบริษัทคอมแพ็ค (Compaq) กล่าวว่า เครื่องไอแพ็คก็จะใช้ซอฟต์แวร์จากไมโครซอฟท์ด้วยเช่นกัน
พ็อคเก็ตพีซีโฟนเครื่องแรกจะออกสู่ตลาดพร้อมๆกับเครื่องทรีโอ (Treo) ของแฮนด์สปริง
เครื่องทรีโอจะใช้ซอฟต์แวร์จากบริษัทปาล์ม (Palm) ทั้งยังเบาและเล็กกว่าของคู่แข่งอย่างไมโครซอฟท์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การร่วมมือกับอินเทล และเท็กซัสอินสตรูเมนต์สจะช่วยส่งให้ไมโครซอฟท
์สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทนี้และก้าวขึ้นสู่ระดับผู้นำได้อย่างรวดเร็ว
เห็นได้จากอุตสาหกรรมพีซีเป็นตัวอย่าง วู้ดกล่าว