ใครๆ ก็กล่าวว่า Arthur Andersen กำลังอาการหนัก ถึงจะเสริมภาพลักษณ์ด้วยการโหมประชาสัมพันธ์มากเพียงใด
วงการธุรกิจเชื่อว่า อาการของ Arthur Andersen เข้าขั้นโคม่า ผู้คนกำลังจับตามองธุรกิจการบัญชีระหว่างประเทศ
ซึ่งมียักษ์ใหญ่เพียง 5 บริษัท ที่เรียกกันว่า The Big Five โดยที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง
จนเหลือเพียง The Big Four
Arthur Andersen ถือกำเนิดในปี พ.ศ.2456 ในนาม Andersen Delany and Co.
โดยมีสำนักงานใหญ่ ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เป็นผลจากการตกลงกันเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาร์เธอร์
แอนเดอร์เซน (Arthur Andersen) กับ แคลเรนส์ เดอลานี (Clarence Delany)
เมื่อแคลเรนส์ เดอลานี ถอนตัวจากการเป็นหุ้นส่วนในปีพ.ศ.2461 Andersen
Delany and Co. เปลี่ยนชื่อเป็น Arthur Andersen and Co. อาร์เธอร์ แอนเดอร์เซน
เป็นผู้จัดการบริษัทยาวนานถึง 30 ปีเศษ จวบจนถึงแก่กรรมในปี 2490 อำนาจการบริหารตกแก่เลียวนาร์ด
สปาเช็ค (Leonard Spacek) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งต่อมาอีก 16 ปี จวบจนถึงแก่กรรมในปี
2503
Arthur Andersen and Co. เริ่มขยายสาขาภายในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ทศวรรษ
2460 และเริ่มขยายสาขาสู่ต่างประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มต้นด้วย
Mexico City ในปี 2498 และขยายตัวสู่อาเซียแปซิฟิก โดยลงนามในสัญญาความร่วมมือกับ
SGV Group ในฟิลิปปินส์ ไทย และมาเลเซีย ในปี 2515 โดยที่ SGV Group กลายมาเป็นสมาชิกของ
Arthur Andersen ในปี 2528 อาเซียตะวันออกเป็นฐานธุรกิจสำคัญของ Arthur Andersen
นอกจากการขยายสาขาในกลุ่ม Asian NICs และอุษาคเนย์แล้ว Arthur Andersen รุกเข้ากับทำสัญญาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับ
Asahi and Co. แห่งประเทศญี่ปุ่นในปี 2536 ด้วย
Arthur Andersen บุกนครมอสโคว ประเทศสหภาพโซเวียตรัสเซีย ตั้งแต่ปี 2517
การขยายฐานธุรกิจในยุโรปตะวันออกมีมากยิ่งขึ้นอีกภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรโซเวียตในปี
2534 ก่อนหน้านั้นในปี 2530 Arthur Andersen เข้าไปยึดหัวหาดในสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในปัจจุบัน Arthur Andersen มีสาขาในประเทศต่างๆ รวม 84 ประเทศ มีพนักงานประมาณ
85,000 คน มีสำนักงานทั่วโลกไม่น้อยกว่า 382 แห่ง และมีหุ้นส่วนการบัญชีจำนวนไม่น้อยกว่า
3,504 ราย
นับตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา Arthur Andersen เริ่มให้บริการให้คำปรึกษา
(Consulting Services) ธุรกิจด้านนี้ให้รายได้งาม ในขณะที่ธุรกิจการตรวจสอบบัญชีก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ความผิดพลาดในการตรวจบัญชีทำให้ Arthur Andersen ต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจำนวนมากทั้งแก่ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้บริษัทที่
Arthur Andersen รับรองงบดุลและรายงานการเงินอย่างไม่ถูกต้อง การเติบโตของธุรกิจการให้บริการ
การให้คำปรึกษาก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในบริษัทที่รุนแรงมากขึ้นตามลำดับ
อำนาจการบริหารจัดการบริษัทตกแก่ผู้นำสายการบัญชี การจัดสรรทรัพยากรภายในบริษัทให้ความสำคัญแก่สายการบัญชีเกินกว่าสัดส่วนอันพึงได้
ทั้งๆ ที่รายได้จากการตรวจสอบบัญชีลดความสำคัญลงในโครงสร้างรายได้ของบริษัท
แต่พนักงงานสายการบัญชีได้รับเงินเดือน ผลตอบแทน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโบนัสสูงกว่าพนักงานสายบริการการให้คำปรึกษา
ความขัดแย้งและความไม่พอใจภายในบริษัทจึงคุกรุ่น และรอวันระเบิด
ในปี 2532 Arthur Andersen ตัดสินใจปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยแยกธุรกิจการบัญชีและธุรกิจการให้คำปรึกษาออกจากกัน
บริษัทแม่มีชื่อใหม่ว่า Andersen Worldwide ส่วนบริษัทลูกประกอบด้วย Arthur
Andersen กับ Andersen Consulting ธุรกิจหลักของ Arthur Andersen คือ บริการการบัญชี
ส่วนธุรกิจหลักของ Andersen Consulting คือ บริการการให้คำปรึกษา ภายใต้โครงสร้างใหม่ดังกล่าวนี้
Andersen Consulting มีภาระในการส่งมอบรายได้ขั้นต่ำระดับหนึ่งแก่ Andersen
Worldwide
ภายหลังการปรับโครงสร้างการบริหาร รายได้ของ Andersen Worldwide เพิ่มขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
แต่ความขัดแย้งภายในบริษัทยังไม่หมดสิ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรุ่งเรืองของธุรกิจการให้คำปรึกษา
ในขณะที่ธุรกิจการบัญชีเผชิญภาวะตกต่ำ ผู้นำ Andersen Consulting พากันรู้สึกว่า
Andersen Consulting เป็นฝ่ายเกื้อหนุน Arthur Andersen ทางการเงิน โดยมีรายได้ที่
Andersen Consulting ต้องส่งมอบให้ Andersen Worldwide เป็นกลไกการเกื้อหนุนที่สำคัญ
เมื่อผู้นำ Andesen Consulting มิอาจยึดกุมการบริหาร Andersen Worldwide
ได้ ทั้งๆ ที่รายได้จากธุรกิจการให้คำปรึกษาแซงหน้าธุรกิจการบัญชีแล้ว สายใยแห่งความอดทนก็ขาดผึง
ในปี 2540 Andersen Consulting ยื่นฟ้อง Andersen Worldwide ขอแยกตัวเป็นวิสาหกิจอิสระ
ทั้งนี้โดยอ้างว่า Arthur Andersen ละเมิดสัญญา จัดตั้งแผนกบริการการให้คำปรึกษาแย่งชิงลูกค้ากับ
Andersen Consulting ต่อมา อนุญาโตตุลาการของ International Chamber of Commerce
มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 เห็นชอบให้ Andersen Consulting
แยกตัวเป็นอิสระได้ เพราะโดยข้อเท็จจริง Andersen Consulting มิได้มีการบริหารจัดการร่วมกับ
Arthur Andersen ตั้งแต่ต้น โดยที่ Andersen Worldwide มีแต่ชื่อเท่านั้น
คณะอนุญาโตตุลาการห้าม Andersen Consulting ใช้ชื่อ Andersen อีกต่อไป เพราะ
Andersen เป็นยี่ห้อของ Arthur Andersen ขณะเดียวกัน Andersen Consulting
ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 30 เดือน (ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน)
แก่ Arthur Andersen ตามข้อตกลงเดิม ซึ่งถือเป็นค่าธรรมเนียมค้างจ่ายในระหว่างที่คดีขึ้นสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ
Arthur Andersen ประกาศชัยชนะในการทำสงครามทางกฎหมาย เพราะได้เป็นเจ้าของยี่ห้อ
Andesen ข้างฝ่าย Andersen Consulting ก็ประกาศชัยชนะ เพราะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพียงประมาณ
1,000 ล้านดอลลาร์อเมริกันแก่ Arthur Andersen แทนที่จะเป็น 14,500 ล้านดอลลาร์อเมริกันตามที่
Arthur Andersen เรียกร้อง
Andersen Consulting เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Accenture นับตั้งแต่วันที่
1 มกราคม 2544 เป็นต้นมา เพราะมิอาจใช้ชื่อ Andersen ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอีกต่อไป
ภายหลังการแยกตัว Accenture มิได้มีธุรกิจรุ่งเรืองดังที่วาดฝัน
ส่วน Arthur Andersen ก็ต้องสูญโอกาสในการหารายได้จากบริการการให้คำปรึกษา
และเกือบต้องเริ่มต้นธุรกิจนี้ใหม่ทั้งๆ ที่ Arthur Andersen เห็นความสำคัญของบริการการให้คำปรึกษาก่อนยักษ์ใหญ่อื่นๆ
ในธุรกิจการบัญชีระหว่างประเทศ การห้ำหั่นกันระหว่าง Andersen Consulting
กับ Arthur Andersen มีผลในการทอนกำลัง Arthur Andersen อย่างสำคัญ
การสูญเสียศักยภาพในการหารายได้ของ Arthur Andersen ถูกซ้ำเติมด้วยภาระการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายอันเกิดจากความผิดพลาดในการตรวจสอบบัญชี
* ในทศวรรษ 2530 Arthur Andersen ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากวิกฤติการณ์สถาบันการเงิน
Saving and Loan (S&L) ในสหรัฐอเมริกา จนต้องยอมจ่ายเงินชดเชย 65 ล้านดอลลาร์อเมริกันเพื่อยุติคดีในปี
2536
* ในเดือนพฤษภาคม 2544 Arthur Andersen ตกลงจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจำนวน
110 ล้านดอลลาร์อเมริกัน แก่ผู้ถือหุ้น Sunbeam Corp ในฐานที่รับรองงบดุลและรายงานการเงินที่แสดงกำไรเกินกว่าความเป็นจริง
* ในเดือนมิถุนายน 2544 Arthur Andersen ยอมจ่ายค่าปรับจำนวน 7 ล้านดอลลาร์อเมริกันแก่
U.S.Securities and Exchange Commission ในฐานที่รับรองงบดุลและรายงานการเงินของ
Waste Management Inc. อย่างไม่ถูกต้อง โดยที่มีรายได้ระหว่างปี 2535-2539
สูงกว่าความเป็นจริงนับพันล้านดอลลาร์อเมริกัน ขณะเดียวกันผู้ถือหุ้น Waste
Management Inc. ฟ้อง Arthur Andersen เรียกค่าเสียหายจำนวน 229 ล้านดอลลาร์อเมริกัน
Arthur Andersen ยินยอมจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย แต่ไม่เปิดเผยจำนวนเงิน
การล้มละลายของ Enron Corp ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจพลังงานและแก๊สธรรมชาติในเดือนธันวาคม
2544 ฉุด Arthur Andersen ร่วงหล่นสู่หลุมฝังศพ เพราะ Arthur Andersen มิเพียงแต่รับรองงบดุลและรายงานการเงินของ
Enron เท่านั้น หากยังเป็นผู้ตรวจสอบภายในของ Enron ด้วย พนักงาน Arthur
Andersen จำนวนไม่น้อยแปรสภาพเป็นพนักงาน Enron ด้วยเหตุที่ Enron เป็นยักษ์ใหญ่ระดับหมื่นล้าน
ความเสียหายอันเกิดจากความผิดพลาดในการตรวจสอบบัญชีอาจเหลือคณานับ
Arthur Andersen เคยครองอันดับหนึ่งในธุรกิจการบัญชีระหว่างประเทศในปี
2522 กระบวนการควบและครอบกิจการ (Merger and Acquisition) ในธุรกิจนี้นับตั้งแต่ทศวรรษ
2530 เป็นต้นมา ยังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอันดับยักษ์ใหญ่ในธุรกิจการบัญชีระหว่างประเทศ
KPMG International ยึดครองอันดับหนึ่งในปี 2534 Pricewaterhouse Coopers
ถีบตัวขึ้นมาแทนที่ในปี 2541 เมื่อ Price Waterhouse ควบรวมกิจการกับ Coopers
and Lybrand
การทำสงครามระหว่าง Arthur Andersen กับ Andersen Consulting นับตั้งแต่ปี
2540 ทำให้ Arthur Andersen รั้งท้ายใน The Big Five
ความผิดพลาดในการตรวจสอบบัญชี Enron Corp กำลังทำให้ Arthur Andersen ไม่มีอันดับในธุรกิจบริการวิชาชีพระหว่างประเทศ
หมายเหตุ
1. ข้อมูลพื้นฐานของ Arthur Andersen โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลด้านการประกอบธุรกรรมข้อมูลการเงิน
และประวัติบริษัท ดู www.arthurandersen.com
2. ความไม่พอใจของผู้นำสายบริการการให้คำปรึกษาที่มีต่อสายบริการการบัญชี
ดู
(ก) David Whitford,
"Arthur, Arthur", Fortune, Vol.136, Issue 9 (November 10, 1997)
(ข) รายงานข่าวใน The Economist
"Civil War At Arthur Andersen", The Economist (July 17, 1991)
"Spouse Trouble", The Economist (June 7,1997)
3. ข้อตกลงการแยกตัว Andersen Consulting ออกจาก Andersen Worldwide ดูรายงานข่าว
"Andersen's Android's War," The Economist (August 12, 2000)
4. รายงานข่าวเกี่ยวกับ Accenture ชื่อใหม่ของ Andersen Consulting โปรดอ่าน
""Accenture to Float", BBC News (April 19, 2001)
"Cuts 1,400 Jobs", BBC News (June 8, 2001)
www.bbc.co.uk