จากนี้เกมการแข่งขันของผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์ไร้สายในบ้านเรา จะต้องมองกว้างขึ้น
สำหรับผู้วิเคราะห์ความเป็นไป
เพราะไม่ช้าไม่นานจากนี้ (ผมคาดว่าไม่เกิน 2 ปี) การลงทุนเครือข่ายของสองรายเก่า
(AIS , DTAC) และใหม่ (Orange) ก็จะทัดเทียมกัน ระบบ Contact Center มีการซื้อระบบและพัฒนาคนทัดเทียมกัน
อุปกรณ์หรือตัวเครื่องโทรศัพท์มาจากผู้ผลิตรายเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ธุรกิจที่ดีที่สุดธุรกิจหนึ่งในขณะนี้ของสังคมไทยเหล่านี้จะสู้กันตรงไหน
ผมจำได้ว่า ผมเคยเขียนไว้เมื่อกลางปีที่แล้ว จากการตีความของ "ผู้จัดการ
100" (ธุรกิจยอดขายสูงสุดใน 100 อันดับแรกในตลาดหุ้นไทย) ว่า ธุรกิจหนึ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าเศรษฐกิจไทยจะตกต่ำอย่างไรก็คือธุรกิจที่สัมพันธ์กับความทันสมัยของชีวิตในเมือง
ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือดูจากผลประกอบการผู้ให้บริหารระบบสื่อสารไร้สายที่ว่านี้
ในปีธนาคารไทยที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ในการปล่อยสินเชื่อยังมั่นใจว่าเป็นธุรกิจรายใหญ่สุดก็ว่าได้
พวกเขายินดีปล่อยสินเชื่อให้ยังมีอีก คาดการณ์กันว่างบโฆษณาสินค้าก้อนใหญ่ที่สุดในสื่อต่างๆ
จากนี้ไปจะคงอยู่ที่กิจการนี้อีกเช่นกัน
การต่อสู้ของธุรกิจนี้จึงน่าสนใจ เพราะคนไทยย่อมวิเคราะห์เกมต่อสู้กันอยู่แล้ว
โดยเฉพาะการเมือง แต่ผมไม่นิยม ผมจึงขอวิเคราะห์เกมนี้แทน ซึ่งมันอาจนำไปใช้วิเคราะห์การเมืองก็ได้
ใครจะไปรู้
นักการตลาดบางคนที่อ่านเกมอย่างผิวเผินมักจะมองว่าธุรกิจที่เกี่ยวพันระบบสมาชิก
(Subscriber) ผู้ที่มีสมาชิกมากกว่า ย่อมเป็นฐานของความได้เปรียบในการแข่งขัน
ในเกมก็คือมั่นใจว่า AIS ซึ่งมีฐานลูกค้ามากมากว่าทุกราย และยังอัตราการเติบโตที่มากกว่าอยู่ขณะนี้
ย่อมมีความสามารถในการแข่งขันในอนาคตจากนี้ต่อไป
AIS เป็นรายแรกที่โปรโมตระบบจ่ายก่อนใช้ทีหลัง (Prepaid System) ซึ่งที่เรียกว่าบริการ
0ne 2 call ซึ่งผู้ใช้สามารถเช่ามือถือและซื้อบัตรเวลาเท่าที่ต้องการไปใช้ได้
โดยไม่มีระบบลงทะเบียน ตามร้านโชวห่วยแบบฝรั่งทั่วไป ล่าสุดนำเอาครูเคท ที่นับว่าเป็น
"แม่เหล็ก" มาเป็นตัวละครในโฆษณาชิ้นที่ตั้งใจมากด้วย นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญเกี่ยวกับ
Subscriber เกิดขึ้น มีผู้ใช้บริการกว่า 90% หันมาใช้บริการที่สะดวกเช่นนี้
ว่าไปแล้ว ก็คือการบริการที่ง่ายและสะดวก เข้าถึงผู้บริโภคได้เสมอ แม้บางคนจะมองว่านี่เป็นสัญญาณเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีขึ้นก็ตาม
ความมหัศจรรย์เกิดจากการใช้เทคโนโลยีที่ว่าด้วยการจัดการระบบสมาชิกเดิมนี้
มีข้อสังเกตอันยิ่งใหญ่ประการหนึ่งที่ AIS อาจจะไม่มองแต่แรกคือ ผู้ใช้บริการสามารถเปลี่ยนไปใช้บริการกับรายอื่นได้อย่างง่ายดาย
นี่คือจุดสำคัญของแนวโน้มว่าเกมการต่อสู้ของธุรกิจกำลังจะเปลี่ยน Chapter
ใหม่
วันนี้ความเข้าใจของผู้บริหารบริการสื่อสารไร้สาย ตระหนักแล้วว่า หัวใจของความสำเร็จในอนาคตของพวกเขาอยู่ที่การพัฒนาบริการใหม่ๆ
ที่ดีเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่ากัน
โมเดลการบริการแบบ Prepaid System จึงน่านำมาวิเคราะห์ประกอบแนวคิดใหม่ด้วย
บริการนี้เกิดขึ้นจากส่วนผสมใหญ่ที่สุด คือการพัฒนาระบบเทคโนโลยีว่าด้วยสารสนเทศ
หรือการค้นคิดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทย หากเป็นบริการทั่วไปของผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ระดับโลกซึ่งมีขายทั่วไป
เกมจากนี้ จึงอยู่ที่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า
Content & Application Development และจากนี้คงมิใช่จะมีขายในท้องตลาดทั่วไป
หากจะต้องเกิดจากการค้นคิดของOperator แต่ละราย ซึ่งไม่อาจจะมองเฉพาะเจ้าของคนไทยอีกต่อไป
จำเป็นต้องมองไปที่ Partner ของพวกเขา จึงมีกันทุกราย
ปัจจุบัน ทั้ง DTAC และ Orange การบริหารหลักอยู่ที่ Partner ต่างชาติแล้วส่วนใหญ่
จะด้วยเหตุผลเริ่มแรกต่างกันอย่างไร แต่ ณ วันนี้พวกเขายอมรับแล้วว่าธุรกิจนี้ต้องการผู้คนเข้าใจการตลาดยุคใหม่เฉพาะมากขึ้น
บุญชัย เบญจรงคกุล นักเจรจาต่อรอง และ Deal maker ก็คงมุ่งทำงานที่มูลนิธิรักบ้านเกิดมากขึ้น
เพื่อสนับสนุนอีกทางหนึ่ง ขณะที่ TA เข้าใจความหมายธุรกิจสมัยใหม่ที่ต้องบริหาร
Brand เพราะ Orange ไม่เพียงร่วมลงทุนเท่านั้น ยังให้เช่า Brand ด้วย
แม้แต่ AIS ซึ่งมี Singapore Telecom ถือหุ้นมายาวนานในฐานะ Investor โดยไม่มีบทบาทมากนัก
ก็พยายามใช้ศักยภาพของสิงคโปร์มากขึ้น ในเรื่องวิวัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ๆ
นี่คือเกมที่ใหญ่ขึ้นกว่าที่คิด
หากวัดความใหญ่ของ Orage Telenor และ Singtel แล้ว Singtel เล็กที่สุด
มียอดขาย (ปี 2000) เพียงครึ่งหนึ่งของ Telenor และประมาณ 5 เท่าของ Orange
ถ้าวัดแรงบันดาลใจในย่านนี้ Singtel น่าจะมีมากกว่า ในฐานะที่ประกาศตัวเองว่าเป็นเจ้าของธุรกจสื่อสารในระดับโลกในย่านเอเชีย
แต่สำหรับประเทศที่เขาพยายามหลายครั้งจะเข้าไปดูไม่มีความสำเร็จมากนัก และหน่วยงานลงทุนเจ้าของ
Singtel ทั่วไปการลงทุน คือการลงทุนที่ไม่ได้มาพร้อม Mission ต่างๆ ที่ชัดเจน
เช่น Orange และ telenor
ทั้งสองรายที่มาจากยุโรปมีแรงบันดาลใจมากเช่นกันในการมองธุรกิจระดับโลก
Telenor หลังจากการเข้าถือหุ้นใน TAC กับ UCOM แล้วก็เข้าตลาดหุ้น Nasdaq
ที่นิวยอร์ก ระดมทุนมากทีเดียว ที่นอร์เวย์ Telenor มีหน่วยงานR&D ใหญ่ที่สุด
ส่วนOrange นั้นใหญ่เป็นรายที่สามของโลกได้ริเริ่มบริการใหม่มามาก
Singtel นั้นไม่เบาเหมือนกันในเรื่องงานวิจัย ที่University of Singapore
มีหน่วยงานวิจัยว่าด้วย Wireless Communication โดยเฉพาะ ตามเป้าหมายที่ประเทศจะวางโครงข่ายไร้สายทั่วเกาะ
Singtel จะน่าจะนำความรู้นี้มาใช้ได้
มองข้างหน้า Orange กับ Telenor ดูน่าสนใจมากกว่า AIS ที่ดูเหมือนจะเป็น
Operator ท้องถิ่นมากที่สุด โดยมี Singtel ให้กำลังใจห่างๆ แต่ในมุมหนึ่ง
AIS ก็ยังมีเวลาแสวงหา Partner ที่ดีในอนาคตได้เช่นกัน
ที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อขยายความว่าหากดูเรื่องนี้ให้ตื่นเต้นในขณะนี้ คงจะมองตัวละครระดับโลกประกอบด้วย
ไม่ช้าไม่นานจากนี้ ธุรกิจนี้ในเมืองไทยจะกลายเป็นธุรกิจระดับโลก ไม่เพียงเพราะเบื้องหลังทุนและเทคโนโลยีเท่านั้น
หากเครือข่ายบริการและเชื่อมทั้งโลกมากขึ้น ที่สำคัญจะเป็นธุรกิจเข้าถึงระดับรากฐานของคนไทยมากทีเดียว