คุณผู้อ่านคงจะคุ้นเคยกับคำว่า First impression กันมาบ้างนะครับ ถ้าจะแปลเป็นไทยก็คงจะต้องใช้คำว่า
ความรู้สึกประทับใจเมื่อแรกพบ ความรู้สึกประทับใจในที่นี้อาจจะเป็นแง่บวก
หรือ ความประทับใจในด้านลบก็ได้ ความประทับใจที่เราแต่ละคนมีต่อเหตุการณ์
หรือบุคคลก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับเราในตอนนั้น ขณะนั้นเราได้ข้อมูลครั้งแรกอย่างไร
หรือในกรณีเรื่องเดียวกันความรู้สึกของคนสองคนต่อสิ่งเดียวกัน ก็อาจจะต่างกันเป็นหน้ามือกับหลังมือได้เช่นกัน
ตัวอย่างที่ดีก็เห็นจะเป็น ความรู้สึกประทับใจที่คนจำนวนหนึ่งมีต่ออดีตนายกท่านที่แล้วว่า
เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ในขณะที่ถ้าไปถามคนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะบอกว่า สำหรับพวกเขา
คุณชวนเป็นคนไม่ค่อยจะยอมตัดสินใจ
ความประทับใจเมื่อแรกพบนั้นเราอาจจะไม่ค่อยทราบกันนักว่า มันมีความสำคัญอย่างไรต่อพฤติกรรมของคนเรา
และเหตุการณ์ภายหลังจากนั้น แต่ก็ยังมีคนสงสัยและทำการทดลองเพื่อดูว่าเจ้าความรู้สึก
first impression นี้มีผลอย่างไรต่อความคิดความเห็นที่คนเรามีต่อกัน นักจิตวิทยาได้ทำการทดลองโดยแบ่งผู้ทดลองออกเป็นสองกลุ่ม
ทั้งสองกลุ่มนี้ถูกแนะนำให้รู้จัก บุคคลสมมุติคนหนึ่ง เอาเป็นว่าชื่อสมชายก็แล้วกันนะครับ
โดยในกลุ่มแรกจะได้รับการแนะนำว่าคุณสมชายเป็นคน ขี้อิจฉา รั้น ชอบการวิพากษ์วิจารณ์
อารมณ์ร้อน แต่มีความมุ่งมั่นและเฉลียวฉลาด
ส่วนกลุ่มที่สองได้รู้จักคุณสมชายในความเป็นคน เฉลียวฉลาด มีความมุ่งมั่น
อารมณ์ร้อน ชอบการวิพากษ์วิจารณ์ รั้น และขี้อิจฉา
คงจะพอสังเกตเห็นนะครับว่า คนทั้งสองกลุ่มรู้จักคุณสมชายในลักษณะที่กลับกัน
โดยกลุ่มแรกรู้จักคุณสมชายในด้านลบไปหาบวก ในขณะที่กลุ่มที่สองรู้จักคุณสมชายในด้านบวกไปหาด้านลบ
หลังจากนั้นเมื่อลองถามความเห็นของคนทั้งสองกลุ่มที่มีต่อคุณสมชาย ปรากฏว่าได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจมากครับ
โดยคนในกลุ่มแรกมองว่า จากการที่คุณสมชายน่าจะมีปัญหาในการปรับตัวอยู่ร่วมกับคนอื่นเนื่องจากความเป็นคนขี้อิจฉา
อารมณ์ร้อน และชอบวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น
ส่วนความเห็นในกลุ่มที่สองกลับเป็นตรงข้ามครับ คุณสมชายถูกมองว่า ความเป็นคนมีสติปัญญา
และมีความมุ่งมั่นจะทำให้เขาประสบความสำเร็จในการทำงาน สวนที่เขาอารมณ์ร้อนและชอบโต้เถียงก็เพราะ
เขาต้องการให้คนอื่นยอมรับในความคิดของเขา
จากการทดลองอันนี้ทำให้นักจิตวิทยาได้ข้อสรุปว่า ความประทับใจที่เกิดขึ้นในครั้งต้น
มีผลต่อทัศนคติที่เรามีต่อคนคนนั้นในครั้งต่อๆ ไป และในคนคนเดียวกันก็อาจจะก่อให้เกิดภาพประทับใจที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มคนที่ได้รู้จักเขา
นี่คงจะเป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่ว่า ทำไมคนเราต้องพยายามให้ภาพภายนอกดูดีสำหรับคนที่รู้จักเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพบกันครั้งแรก
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อว่า ภาพประทับใจที่ดีในครั้งแรก จะมีผลต่อเนื่องไปถึงทัศนคติที่ดีในครั้งต่อๆ
ไปที่คนอื่นมีต่อเขา
เหตุผลอีกสองสามประการที่คนเราสนใจในการสร้างภาพลักษณ์ในแง่ดีให้ปรากฏ
ก็เพื่อว่า ความประทับใจที่ดีที่ผู้อื่นมีต่อเรา จะช่วยให้เราได้ในสิ่งที่ต้องการจากผู้อื่น
เหตุผลนี้คงจะเห็นได้ดีในชีวิตประจำวัน เช่น การสมัครงาน หรือสอบสัมภาษณ์
ผู้ถูกสอบจะต้องพยายามเตรียมตัวอย่างดีเพื่อสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นในใจของกรรมการ
โดยหวังว่าตัวเองจะได้รับเลือก
เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ การที่เรามีภาพลักษณ์ที่ดี ย่อมส่งผลให้คนรอบข้างมีความรู้สึกที่ดี
และกระทำดีตอบกลับมา ผลที่ตามมาก็คือ ความรู้สึกภาคภูมิใจ และความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองสูงขึ้น
ส่วนเหตุผลประการสุดท้าย คือ สิ่งที่เราประพฤติ ปฏิบัตินั้นก็เพื่อทำให้คนอื่นเกิดความประทับใจ
และเชื่อว่า เราเป็นคนเช่นนั้นจริง พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นการสร้างเอกลักษณ์ในตัวขึ้น
เช่น เวลา คนกล่าวถึง มีดโกนอาบน้ำผึ้ง คนทั่วไปก็รู้ได้ทันทีว่าหมายถึงใคร
ถ้าจะว่ากันไปแล้ว การสร้างภาพลักษณ์นั้น ผู้สร้างทำไปก็เพื่อประโยชน์ของตน
คือทำให้เกิดการยอมรับจากคนรอบข้างนั่นเอง
สำหรับวิธีการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีนั้น มีได้หลายวิธี เช่น การกล่าวถึงตัวเองในด้านบวกให้คู่สนทนาฟัง
การจัดวางท่าทางในอิริยาบถต่างๆ การแต่งตัวให้ดูดี ดูเหมาะสมกับสภาพการ หรือการพยายามเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนให้เป็นที่รู้จัก
เหตุการณ์เหล่านี้ที่จะเห็นได้ชัดเจน ก็คงจะช่วงเลือกตั้ง คนบางคนที่เราอาจจะไม่เคยคิดฝันว่าจะได้มีโอกาสพูดคุยด้วย
ก็เดินมาหามาสวัสดีถึงบ้าน อันนี้ก็เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี ดูติดดิน
เข้าถึงความทุกข์ร้อนของประชาชน เพื่อว่าอาจจะได้คะแนนเสียง แต่พอเลือกตั้งเสร็จสิ้นก็ไม่ได้เจอหน้าค่าตากันอีก
ทำไมความประทับใจที่เรามีต่อใครสักคนหนึ่งในครั้งแรก จึงไม่เลือนหายไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป
ในเรื่องนี้ก็มีการพยายามที่จะอธิบายไว้ คือ เมื่อมนุษย์เรามีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการสรุปความประทับใจที่มีต่อคนอื่น
หลังจากนั้นเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลเดิมที่มีอยู่ โดยการเลือกรับรู้ข้อมูลใหม่ที่สอดคล้องกับข้อสรุปเดิมที่มีอยู่
และเลือกที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับรู้ข้อมูลใหม่ที่ขัดแย้งกับความคิดเดิมที่มีอยู่
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คงจะเป็นเรื่องของการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ไม่ว่าชาวบ้านจะเอาข้อมูลอะไรมายัน
การไฟฟ้าและนักการเมืองก็จะยืนยันอย่างเดียวว่าจำเป็น ถึงตอนนี้ปริมาณไฟสำรองเหลือเกินความจำเป็น
(45% จากที่ต้องสำรองปกติประมาณ 20%) คนที่เชียร์ให้สร้างก็ยังอุตส่าห์พูดออกมาได้ว่า
อีกหน่อยเศรษฐกิจดีก็จะไม่พอ ไหนๆทำสัญญาไปแล้ว ค่าพร้อมจ่ายก็พร้อมจ่าย
จะยกเลิกไปทำไม หรือถ่านหินที่ทำให้เกิดมลภาวะก็จะไม่ใช้ แต่จะไปซื้อมาจากออสเตรเลีย
ประเภทนี้ก็เพราะเชื่อฝังหัวในสิ่งที่เชื่อแต่แรก
อาจจะเป็นไปได้ ในแง่ที่ว่า การปฏิเสธไม่รับรู้ข้อมูลใหม่ ดูจะง่ายกว่าการเปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติดั้งเดิม
อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อเรามีข้อสรุปว่าเขาเป็นคนอย่างไรแล้ว
มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะปฏิบัติไปตามข้อสรุปที่มีอยู่ ซึ่งส่งผลให้คนผู้นั้นมีปฏิกริยาตอบสนองไปในทิศทางที่เราคาดการณ์ไว้
ทำให้เรายิ่งมั่นใจว่าทัศนะที่เรามีต่อเขาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
เช่น ถ้าหากเราคิดว่าคู่สนทนาที่กำลังคุยด้วยเป็นคนไม่ค่อยเรียบร้อย ขาดกริยามารยาท
จากนั้นเราก็มีแนวโน้มจะปฏิบัติต่อเขาในลักษณะที่ไม่ให้เกียรติ สิ่งที่ตามมาก็คือ
เขาอาจไม่พอใจและมีปฏิกริยากลับมาในลักษณะที่รุนแรง ซึ่งพอมาถึงจุดนี้เราก็อาจจะสรุปกับตัวเองว่า
เขาเป็นจริงอย่างที่เราคิดไว้แต่แรก
ดังนั้นถ้าหากมีใครสักคนมาปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมกับคุณผู้อ่าน อย่าเพิ่งรีบไปนึกโกรธ
และหาทางตอบโต้ เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เขาเชื่อว่า คุณผู้ฟังเป็นอย่างที่เขาคิดจริงๆ
ลองสงบอารมณ์แล้วใคร่ครวญดูว่า ในครั้งแรกที่รู้จักกัน เกิดอะไรขึ้นระหว่างเรากับ
เขา จนทำให้เกิดความประทับใจที่ไม่น่าประทับใจ
แต่ภาพประทับใจนั้นแท้ที่จริงก็คือ บางสิ่งในตัวคนคนนั้นที่สะดุดตาเรา
มันไม่ได้หมายความว่าเขาจะสามารถทำให้เรารู้สึกว่าเขาเป็นคนดีอย่างที่เขาต้องการให้เราเห็น
ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะเป็นคนที่แย่มากจนปิดบังความไม่ดีไว้ไม่ได้
และถึงที่สุดแล้ว เวลายังเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความดี หรือความเลวของคนเราอยู่นั่นเอง
ผมมักจะนึกแย้งคำที่ผู้ใหญ่ หรือนักวิชาการทั้งหลายในบ้านเราชอบพูดกันเสมอเวลาวิจารณ์ใครบางคนที่อยู่ในอำนาจว่า
เมื่อก่อนเขาไม่ใช่คนอย่างนี้ แต่เป็นเพราะอำนาจทำให้เขาเสียผู้เสียคน หากใครสักคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงนิสัยตนเองไปในทางแย่ลงหลังจากได้ดิบได้ดี
หรือมีอำนาจวาสนา สิ่งที่น่าจะบอกกับตัวเราเองได้ดีกว่าการโทษอำนาจ คือ เรามองเขาผิดไปในครั้งแรก