|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ศาลล้มละลายกลางนัดชี้ชะตาทีพีไอ 10 พ.ย.นี้ หลังยกคำร้องลูกหนี้ที่อ้างข้อเสนอขอแก้ไขแผนฯขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญและขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด "ทนง" ยันหากศาลมีคำสั่งเห็นชอบการแก้ไขแผนฯทีพีไอจะพลิกมามีกำไรและออกจากกระบวนการฟื้นฟูฯได้ภายใน 1 ปี ส่วน "ประชัย" ครวญหลงเชื่อคลังเป็นตัวกลางเข้ามาแก้ปัญหาทีพีไอ สุดท้ายเป็นตาอยู่ยึดทีพีไอเสียเอง
วานนี้ (1 พ.ย.) ศาลล้มละลาย กลางได้นัดพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฯในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง และคณะนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารลูกหนี้ และพนักงานทีพีไอจากโรงงานที่ระยองประมาณ 150 คนที่ให้การสนับสนุนการแก้ไขแผนฯของตัวแทนกระทรวงการคลังเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ได้มีพนักงานทีพีไอโพลีนประมาณ 300 คน ได้ถือป้ายประท้วงการแก้ไขแผนฯ รวมทั้งมีม็อบที่ประท้วงรัฐบาล จากสนามหลวงอีกร่วมร้อย ได้เข้าร่วมคัดค้านที่หน้าตึกของกรุงเทพประกันภัยที่ศาลล้มละลายกลางเช่าตึกอยู่
ในการพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผนฯครั้งนี้ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด นครธน เจ้าหนี้ทีพีไอได้ยื่นคัดค้านการแก้ไขแผนฯ รวมทั้งผู้บริหาร ลูกหนี้ได้ยื่นคำร้อง 2 ฉบับ ลงวันที่ 28 ต.ค. 2547 คัดค้านการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า ขัดต่อกฎหมายขอให้ส่งความเห็นของลูกหนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 264 แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัวแทนผู้บริหารแผนฯได้แถลงคัดค้าน ระบุว่าข้ออ้างของผู้บริหารลูกหนี้ที่ว่าแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น มิได้อ้างว่าพ.ร.บ. ล้มละลายฯขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงไม่จำเป็นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
นายกมล ธีรเวชพลกุล ผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง กล่าวว่า ศาลฯได้พิเคราะห์คำร้องและคำคัดค้านแล้วจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้บริหารลูกหนี้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่ามาตรา 90/58 แห่งพ.ร.บ.ล้มละลาย ไม่ได้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ อีกทั้งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแต่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ เนื่องจากผู้บริหารลูกหนี้เองเป็นผู้เสนอคลังเป็นผู้บริหารแผนฯ และเป็นไปตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ดังนั้นคำร้องของลูกหนี้จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 264 แห่งรัฐธรรมนูญ ไม่อาจงดการพิจารณาข้อเสนอแก้ไข แผนฯได้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารลูกหนี้สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้
ทั้งนี้ ศาลได้กำหนดนัดฟังคำสั่งว่าจะเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนหรือไม่ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. โดยจากนั้นศาลได้เปิดโอกาสให้คู่ความทั้งตัวแทนผู้บริหารลูกหนี้ ผู้บริหารแผนฯ แถลงด้วยวาจาเกี่ยวกับข้อเสนอขอแก้ไขแผนฯ
นายทนง พิทยะ หนึ่งในคณะผู้บริหารแผนฯตัวแทนกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯทีพีไอนี้ ผู้บริหารแผนฯได้ดูจุดอ่อนของแผนเดิมฯและสถานะกิจการว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ภายในกี่ปี ซึ่งผลการศึกษาพบว่าภาระหนี้ทั้งหมดของทีพีไอมีจำนวน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทฯสามารถชำระหนี้ได้ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในระยะเวลา 10 ปี และมีหนี้อีก 900 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทฯจะชำระหนี้โดยการนำหุ้น ทีพีไอโพลีน (TPIPL) ที่บริษัทฯถืออยู่ออกจำหน่าย รวมทั้งออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 1.2 หมื่นล้านหุ้น รวมกับหุ้นที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยค้างจ่ายเป็นทุนจำนวน 6 พันล้านหุ้น มาจัดสรรขายให้กับพันธมิตรใหม่ ซึ่งจะเป็นนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง
ร่างสัญญาแก้ไขแผนฟื้นฟูฯนี้ ทางเจ้าหนี้จะสูญเสียดอกเบี้ยค้างรับและหุ้นที่ได้จากการแปลงดอกเบี้ยค้างจ่ายเป็นทุน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ผู้ถือหุ้นเดิมเองสัดส่วนการถือหุ้นจะถูกไดรูทจากการออกหุ้นใหม่จากเดิมที่ถืออยู่ 25% เหลือเพียง 10%
หากการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของศาลฯ ทีพีไอกลายเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานมีกำไรและออกจากกระบวนการฟื้นฟู กิจการได้ภายใน 1 ปี
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีพีไอ ในฐานะผู้บริหารลูกหนี้กล่าวว่า การแต่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนฯทีพีไอนั้น ทางผู้บริหารลูกหนี้ไม่ได้เป็นผู้เสนอ เพียงแต่ไม่ได้ขัดข้อง เนื่องจากคิดว่าตัวแทนกระทรวงการคลังจะเข้ามาเป็นคนกลาง แต่สุดท้ายคลังก็กลายเป็นตาอยู่ที่จะยึดทีพีไอเสียเอง ซึ่งมันผิดหลักธรรมาภิบาล เพราะเป็นผู้เขียนและอนุมัติแผนฟื้นฟูฯเอง
"ความจริงแล้วรัฐมีอำนาจล้นฟ้าจะยึดทรัพย์ใครก็ได้แต่จะเกิดกลียุค เพราะใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ดังนั้นจึงขอให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อกฎหมายนี้มีความเป็นธรรมหรือไม่ แต่ถ้าท่านเห็นว่าเป็นธรรมก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร"
นายประชัย กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ ขอแก้ไขแผนฯที่ระบุให้มีการลดทุนจดทะเบียนจากเดิมหุ้นละ 10 บาทเหลือหุ้นละ 1 บาท เพื่อนำไปล้าง ขาดทุนสะสม และไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนใหม่เข้ามา เพราะที่ผ่านมา ทีพีไอไม่มีเงินทุนใหม่เข้ามา 7-8 ปีก็สามารถบริหารงานได้ โดยเดือนต.ค. 2547 บริษัทมีรายได้เดือนละเกือบ 2 หมื่นล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) 3,000 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 90% ในกิจการ ที่มีทรัพย์สินถึง 4 หมื่นล้านบาท
นัดไต่สวนคดีปลดคลัง 25 ม.ค. 48
นอกจากนี้ ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งนัดไต่สวนพยานในกรณีที่ผู้บริหารลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ปลดตัวแทนกระทรวงการคลังออกจากการ เป็นผู้บริหารแผนทีพีไอ และกล่าวหาว่าตัวแทนกระทรวงการคลังใช้เงินโดยไม่ชอบ โดยศาลฯ ได้กำหนดวันพิจารณานัดไต่สวนพยานนัดแรกวันที่ 25 ม.ค. 2548
ด้านทนายความของผู้บริหารแผนฯทีพีไอ กล่าวว่า การพิจารณาคดีการขอปลดตัวแทนกระทรวงการคลังออกจากการเป็นผู้บริหารแผนฯนั้นหากศาลมีคำสั่งเห็นชอบตามข้อเสนอของผู้บริหารลูกหนี้โดยสั่งปลดผู้บริหารแผนฯออกนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนฟื้นฟูฯฉบับแก้ไข เนื่องจากแผนฟื้นฟูจะเดินหน้าต่อไป เพราะเจ้าหนี้ได้โหวตเห็นชอบไปแล้ว คงเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารแผนฯเท่านั้น
วันนี้ (2 พ.ย.) ศาลล้มละลายกลางจะนัดอ่านคำสั่งศาลฎีกาคดีที่บริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส อดีตผู้บริหารแผนฯทีพีไอได้ยื่นอุทธรณ์ขอปลดออกจากผู้บริหารลูกหนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่สามารถปลดได้
|
|
 |
|
|