เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรด้วยการปฏิวัติเงียบ
คุณกำลังพยายามจะเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานที่รู้สึกว่า ไม่เป็นผลดีต่อตัวคุณ
แต่ก็ต้องพบกับความติดขัดไปหมดใช่หรือไม่ เพราะไม่มีใครเลยในที่ทำงานของคุณที่คิดจะเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานให้ดีขึ้น
ทุกคนยังคงทำตามๆ กันไป ด้วยวิธีการทำงานแบบเดิมๆ โดยไม่สนใจว่า มันจะล้าสมัยและไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของพวกเขาเองได้
แต่คุณไม่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไปแล้ว เพราะมีหลายคนที่เคยรู้สึกอย่างคุณ
และได้ลุกขึ้นมา 'ปฏิวัติเงียบ' จนสามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรได้สำเร็จมาแล้ว
ดังที่ Debra E. Meyerson ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Tempered Radicals ของเธอ
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า คุณจะต้องลุกขึ้นมาขุดรากถอนโคนวัฒนธรรมองค์กรเป็นการใหญ่
สร้างความขัดแย้งกับใคร ต่อใครไปทั่วแต่อย่างใด แต่คุณสามารถเป็น "นักปฏิวัติผู้อ่อนโยน"
ซึ่งหมายถึงคนที่ยังคงต้องการจะเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของบริษัท และยังคงหวังที่จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานภายในบริษัทนั้นๆ
ต่อไป แต่โดยที่ไม่ต้องแลกกับการสูญเสียคุณค่าที่พวกเขาเห็นว่าดีกว่าคุณค่าเดิมๆ
ที่บริษัทยึดถือ และเป็นคุณค่าที่ทำให้พวกเขาเป็นคนที่มีคุณค่า
เป็นนักปฏิวัติผู้อ่อนโยนโดยไม่สูญเสียงานอาชีพ
Meyerson ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรแห่งมหาวิทยาลัย Stanford
ได้ค้นพบว่า ภายในองค์กรยังมี "ผู้นำซุ่มเงียบ" ที่ได้ค้นพบวิธีใหม่ๆ ในการปฏิวัติวิธีการทำงานของบริษัทอย่างสร้างสรรค์และถึงรากถึงโคน
โดยไม่ต้อง 'เสียเลือดเนื้อ' แต่อย่างใด หนังสือของเธอเล่าถึงคนธรรมดาๆ ในหลายๆ
ระดับขององค์กร ที่ยังคงสามารถเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การเงินได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าพวกเขาจะพยายามเปลี่ยนค่านิยมที่ล้าสมัยของบริษัท อย่างท้าทาย เรื่องจริงของบรรดา
"ผู้นำซุ่มเงียบ" ผู้หาญกล้าและสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในบริษัทและนโยบายของบริษัทได้
สำเร็จอย่างนุ่มนวล โดยที่ยังคงสามารถเติบโตในหน้าที่การงานนี้ ทำให้หนังสือของ
Meyerson เป็นหนังสือที่คุณไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง และเมื่ออ่านแล้วคุณจะได้รับแรงบันดาลใจ
ที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่เข้าท่าเข้าทางภายในบริษัทของคุณเสียที
ท้าทายคนอื่นๆ ให้เปลี่ยนแปลง
คุณสามารถจะทำอะไรได้บ้างถึงจะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้
เพื่อจะตอบคำถามนี้ Meyerson ทำการวิจัยบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก 3 แห่ง และค้นพบคน
8 คนที่จะมาบอกเล่าวิธีการที่พวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงบริษัท และทำให้คนส่วนใหญ่
ซึ่งแต่แรกต่อต้าน กลับหันมาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง จนทำให้บริษัทมีสภาพการทำงานที่ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา
ส่วนแรกของหนังสือเป็นการแนะนำผู้อ่านให้รู้จักกับนักปฏิวัติเงียบแต่ละคน
โดยจะกล่าวถึงแรงจูงใจ ความกดดัน และกลยุทธ์ในการรับมือกับการต่อต้านขัดขวางจากคนอื่นๆ
ส่วนที่สองของหนังสือ จะลงลึกในรายละเอียดของกลยุทธ์ต่างๆ ที่บรรดานักปฏิวัติเงียบใช้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร
รวมถึงกลยุทธ์ในการประท้วงวัฒนธรรมที่ล้าสมัย ส่วนสุดท้ายของหนังสือจะเน้นที่ปัญหาและอุปสรรคที่เหล่านักปฏิวัติเงียบต้องเผชิญ
เมื่อพวกเขาลุกขึ้นมาท้าทายคนอื่นๆ ในบริษัทให้เปลี่ยนแปลง ตลอดจนสภาพการณ์ภายในบริษัทที่พวกเขาต้องเตรียมใจรับมือเมื่อรักจะเป็นนักปฏิวัติเงียบ
บทสรุปของหนังสือเล่มนี้ ผู้ประพันธ์ได้สรุปความหมายของการกระทำแต่ละอย่างที่นักปฏิวัติเงียบแต่ละคนเลือกมาใช้
และชี้ให้เห็นว่า การกระทำเหล่านั้นแท้ที่จริงแล้วคือสิ่งซึ่งแสดงถึงลักษณะของความเป็นผู้นำ
ที่มีอยู่ในตัวของนักปฏิวัติเงียบเหล่านี้ แต่ถูกมองข้ามความสำคัญไป เพราะพวกเขาเป็นผู้นำประเภทซุ่มเงียบและไม่ชอบทำตัวโดดเด่น
นักปฏิวัติผู้ไม่ชอบเป็นข่าว
หนังสือของ Meyerson เสนอเรื่องราวของ "นักปฏิวัติผู้อ่อนโยน" หลายๆ คน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรภายในบริษัทที่พวกเขาทำงานอยู่ได้สำเร็จอย่างเงียบๆ
วิธีการที่พวกเขาใช้บางครั้งเป็นเพียงวิธีการธรรมดาๆ หรือเป็นเพียงการกระทำเล็กๆ
ทว่าให้ผลที่ยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือความมุ่งมั่นและการไม่ชอบทำตัวเด่น
ดังนั้นชื่อของบรรดานักปฏิวัติผู้ไม่ชอบทำตัวเป็นข่าวที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้
จึงล้วนเป็นนามแฝงทั้งสิ้น
- Martha Wiley กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโสของฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง
เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการทำงานภายในแผนกของเธอ ให้เอื้อต่อพนักงานที่มีครอบครัวและบุตรต้องดูแล
และปรับเปลี่ยนชั่วโมงการทำงานของพนักงานสตรีให้ยืดหยุ่น ทำให้ลูกน้องของเธอทำงานด้วยความสบายใจและอบอุ่นยิ่งขึ้น
- Sheila Johnson เป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ของบริษัทข้ามชาติอีกแห่งหนึ่ง
เธอเป็นคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เธอได้เปลี่ยนแปลงวิธีรับสมัครพนักงานให้มีความหลากหลายมากขึ้น
ด้วยการติดประกาศรับสมัครงานไปทั่วชุมชนที่เป็นคนกลุ่มน้อยในสหรัฐฯ
- John Ziwak ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจของบริษัทไฮเทคระดับโลกบริษัทหนึ่ง
ได้ท้าทายความคาดหวังของเจ้านาย ที่คาดหวังให้เขาเห็นงานสำคัญกว่าครอบครัว
ด้วยการเลือกครอบครัวมาเป็นอันดับแรก และทำให้พนักงานคนอื่นๆ ยอมรับค่านิยมดังกล่าว
จนในที่สุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรของบริษัท ที่ครั้งหนึ่งเคยเรียกร้องให้พนักงานเสียสละความรับผิดชอบในฐานะพ่อแม่เพื่อความรับผิดชอบในงาน
ต่อสู้เพื่อปกป้องค่านิยมของตน
ทำไมคนเหล่านั้นจึงเลือกที่จะเป็นนักปฏิวัติผู้อ่อนโยน Meyerson อธิบายว่า
เพราะพวกเขาเชื่อว่า การยอมสละคุณค่าที่พวกเขาเชื่อมั่นว่าดี แล้วยอมทำตามๆ
กันไปอย่างไร้สติ เป็นการกระทำที่ผิด พวกเขาจึงพยายามต่อสู้เพื่อปกป้องคุณค่าที่ทำให้พวกเขาเป็นคนที่มีคุณค่า
แต่ในขณะเดียวกันก็เลือกที่จะไม่หันหลังให้แก่สังคมซึ่งในที่นี้คือบริษัทที่พวกเขาทำงานอยู่
โดยการไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง แต่กลับเลือกใช้วิธีการที่ต้องอาศัยความอดทนอย่างยิ่งยวด
กล่าวคือ แสดงความเชื่อมั่นในค่านิยมที่ตนเห็นว่าดีกว่าอย่างมั่นคง แม้ว่าจะคัดค้านกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในบริษัทกำลังปฏิบัติอยู่
"เมื่อพวกเขาแต่ละคนยืนหยัดเพียงลำพังตัวคนเดียว ที่จะไม่ยอมก้มหัวให้กับการทำตามๆ
กัน กล้าท้าทายค่านิยมล้าสมัยที่ทุกคนเห็นว่าเป็นความ 'ปกติ' และลงมือแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานเสียใหม่
เพื่อให้สามารถสนองตอบความต้องการใหม่ๆ ของตนและพนักงานคนอื่นๆ ให้ดีขึ้น
เท่ากับพวกเขากำลังผลักดันให้คนอื่นๆ เกิดการเรียนรู้ และผลักดันให้ระบบต้องปรับเปลี่ยน
เพื่อสนองตอบความต้องการของคนที่มันรับใช้อยู่" Meyerson กล่าว
Tempered Radicals นับเป็นอาหารสมองอย่างดี สำหรับผู้ที่อยากเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการทำงานและมีความคิดดีๆ
อยู่เต็มสมอง แต่ไม่รู้วิธีและไม่มีกลยุทธ์ดีๆ ที่จะแปรเปลี่ยนความคิดนั้นให้กลายเป็นจริง
และรับมือกับอุปสรรคขัดขวางต่างๆ ด้วยเรื่องราวของบรรดานักปฏิวัติเงียบทั้งหลายในหนังสือเล่มนี้
ที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรในบริษัท ที่พวกเขายังคงทำงานอยู่อย่างเจริญก้าวหน้า
คงจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คุณได้เป็นอย่างดี