ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
"ความรับผิดชอบของบริษัท" มีความหมายแตกต่างกันไปตามจุดยืนที่แตกต่างกันของผู้ให้คำจำกัดความ
เช่น กรณีที่บริษัทปรับโครงสร้าง ลดขนาด และปลดพนักงาน ผู้ที่ยืนอยู่ข้างบริษัทย่อมอ้างว่า
เพราะบริษัทคงอยู่เพื่อรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นจะต้องได้รับผลตอบแทนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ในขณะที่ผู้ที่ยืนอยู่ฟากตรงข้ามกับบริษัทย่อมจะแย้งว่า บริษัทสมควรจะรับผิดชอบต่อพนักงานลูกจ้างและชุมชนเช่นกัน
เพราะพนักงานและชุมชนก็มีสิทธิทางเศรษฐกิจเท่าเทียมกับผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของเงินทุนเหมือนกัน
แนวคิดที่ว่าผู้ถือหุ้นสำคัญที่สุดหรือแนวคิดที่ว่าบริษัทคงอยู่ ก็เพื่อสร้างกำไรสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นดังกล่าวข้างต้นนั้น
เป็นแนวคิดที่ถูกอ้างถึงเป็นประจำว่าเป็นกฎข้อแรกของธุรกิจอเมริกัน หลายคนเชื่ออย่างสนิทใจว่า
แนวคิดนี้คือกฎธรรมชาติของตลาดเสรี แต่ผู้ที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับบริษัทอย่างเช่น
Marjorie Kelly ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กลับเห็นว่า แนวคิดผู้ถือหุ้นสำคัญที่สุดนั้น
หาใช่เป็นหลักการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติไม่ หากแต่เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากชนชั้นสูงผู้เป็นอภิสิทธิ์ชนในอดีต
เพื่อพิสูจน์ความเชื่อของเธอ Kelly จึงเขียนหนังสือชื่อ The Divine Right
of Capital ขึ้น เพื่อชี้ให้เห็นว่า บริษัทเป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดขึ้นจากหลักการ
6 ข้อ ซึ่งให้อภิสิทธิ์แก่คนร่ำรวย อันเป็นที่มาของแนวคิดการให้ความสำคัญแก่ผู้ถือหุ้นสูงสุด
โดยไม่สนใจสิทธิของชุมชนและพนักงานของบริษัท Kelly เห็นว่า หลักการทั้งหกนั้น
นอกจากจะไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและไม่มีเหตุผลรองรับแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตยในปัจจุบันด้วย
เงินกับอำนาจ
ครึ่งแรกของหนังสือ Kelly แจกแจงให้เห็นผลเสียของแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นสูงสุด
หลังจากนำผู้อ่านตรวจสอบหลักการที่เป็นพื้นฐานของการก่อกำเนิดบริษัท ทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างละเอียดแล้ว
Kelly ชี้ให้เห็นว่า คนรวยมีอำนาจมากเกินไปในโลกทุกวันนี้ และมีอำนาจมากเกินไปเหนือบริษัท
ซึ่งเป็นสถาบันทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดของโลกยุคนี้ ที่สำคัญเธอเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า
อำนาจดังกล่าวไม่เพียงทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้น แต่ยังก่อให้เกิดอภิสิทธิ์ของความร่ำรวย
ที่ทำให้คนจนเสียภาษีมากกว่าคนรวยอย่างไม่มีเหตุผล
The Divine Right of Capital จึงเสนอหลักการ 6 ประการที่จะสร้าง "ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ"
ซึ่งให้ความสำคัญแก่สิทธิของพนักงานลูกจ้างและชุมชนเท่าเทียมกับสิทธิของผู้ถือหุ้น
และเสนอแนวคิดให้มองว่า บริษัทก็เป็นชุมชนประเภทหนึ่ง Kelly ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวารสาร
Business Ethics กระตุ้นคนอเมริกันชาติเดียวกับเธอว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ
สามารถต่อต้านความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดจากการให้ความสำคัญแก่ผู้ถือหุ้นเป็นอันดับแรกได้
ด้วยการใช้หลักการทั้งหกที่เธอนำเสนอนี้ ไปทำให้ทุกคนตระหนักถึงการเลือกปฏิบัติทางเศรษฐกิจ
ซึ่งคนร่ำรวยมีอภิสิทธิ์มากกว่า และใช้หลักการเหล่านี้ของเธอส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างภายในบริษัท
Kelly เขียนต่อไปว่า ความไม่เท่าเทียมกันของคนรวยกับคนจน สวัสดิการบริษัท
และมลพิษอุตสาหกรรม คืออาการแสดงของเศรษฐกิจที่กำลังต้องการการดูแลเอาใจใส่
Kelly ไม่เพียงชี้ให้เห็นปัญหาที่บริษัทสร้างขึ้น แต่เธอยังได้พยายามมองหาหนทางแก้ไข
และแสดงความเชื่อมั่นว่า อาการป่วยของเศรษฐกิจนี้จะต้องได้รับการเยียวยาแก้ไข
มากกว่าการละเลยหรือก้มหน้ายอมรับโดยดุษณี
ทฤษฎีของ Thomas Paine
สำหรับทางออกของสถานการณ์เกี่ยวกับบริษัทในปัจจุบัน Kelly คิดว่า คือการเร่งสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจโดยเร็ว
ด้วยการผสมผสานทฤษฎีของ Thomas Paine เข้ากับนักคิดที่ร่วมสมัยกว่าคนอื่นๆ
Kelly ได้สร้างแนวคิดใหม่ที่อาจเป็นพื้นฐานสำหรับการปฏิรูปบริษัทในอนาคต
นอกจากการใช้สำนวนภาษาอย่างมีศิลปะและชั้นเชิงในการกระตุ้นให้คนฟังคิดตาม
และการใช้ศัพท์แสงทางธุรกิจในการเสนออุดมคติทางธุรกิจแบบก้าวหน้าแล้ว Kelly
ยังเสนอ "ก้าวเล็กๆ" หลายก้าวที่บริษัทอาจนำไปใช้เพื่อการเริ่มก้าวไปสู่การเป็นบริษัทที่คำนึงถึงชุมชนมากขึ้น
Kelly ระบุว่า หนังสือของเธอ "ทำการตรวจสอบโลกทัศน์ของบริษัท ว่ายังคงมีรากฐานอยู่ในยุคก่อนประชาธิปไตยจริง
และเสนอแนะว่าเราควรปฏิรูปบริษัทอย่างไร" เธอเป็นผู้ที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการรื้อทำลายความลำเอียงที่เกิดจาก
"อภิสิทธิ์ของความร่ำรวย" ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะรับใช้แต่คนรวยจำนวนน้อยนิด
แต่ไม่สนใจคนจนจำนวนมากกว่า
ตามความเห็นของ Kelly อภิสิทธิ์ของความร่ำรวยเป็นส่วนหนึ่งของการก่อกำเนิดบริษัท
และเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยและอุดมการณ์ตลาดเสรี ซึ่งเธอเรียกมันว่า
"อำนาจสิทธิขาดของเงินตรา" เพื่อทำลายอำนาจสิทธิขาดของเงินที่ครอบงำเรา เธอกระตุ้นให้คนอเมริกันรำลึกถึงบรรพชนผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ
ด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตย พร้อมให้ตัวอย่างมากมายที่พนักงาน นักศึกษาด้านธุรกิจ
นักลงทุน ผู้บริหาร และประชาชน สามารถจะนำไปใช้เป็นแบบอย่างสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับบริษัท
เธอไม่ได้เรียกร้องให้คนอเมริกันลุกขึ้นมาปฏิวัติบริษัท เธอเพียงแต่เสนอวิธีที่บริษัทจะใช้กำจัดอภิสิทธิ์ของเงินตราออกไปจากระบบของตน
โดยไม่แตะต้องให้บริษัทเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น แต่กลับจะทำให้บริษัทมีความมั่นคงมากขึ้น
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ซึ่งทำให้เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่คุณไม่ควรพลาดคือ
งานค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ และการสรุปบทเรียนที่ได้จากประวัติศาสตร์ของ
Kelly เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เธอยังได้คิดคำศัพท์ใหม่ๆ
อย่าง "อภิสิทธิ์ของความร่ำรวย" (wealth discrimination) และกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่เป็นผลตามมา
แน่นอนว่ามุมมองของ Kelly ย่อมจะมีผู้ที่ไม่เห็นพ้องด้วย แต่เธอก็ทำให้คนอเมริกันต้องหยุดคิดว่า
บริษัทอเมริกันทุกวันนี้ได้พาตัวเองถอยห่างออกจากหลักการประชาธิปไตย อันเป็นหลักการของการก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ
มาไกลเพียงใดแล้ว