นอกเหนือไปจากเหตุผลสำคัญทางธุรกิจ ความลงตัวในเรื่องของความเชื่อในบางสิ่งบางอย่างที่ตรงกัน
ก็ส่งผลให้โอเปอเรเตอร์ ที่มาจากคนละฟากของแผ่นดินลงเอยกันได้
"เป็นเพราะ culture และเรามี chemistry หลายสิ่งหลายอย่างที่ตรงกัน" ศุภชัย
เจียรวนนท์ บอกถึงเหตุผลของการตัดสินใจของทีเอ ในการเลือกออเร้นจ์มาเป็นพันธมิตร
แน่นอนว่า ไม่ใช่เป็นเพราะปรัชญาทางธุรกิจ 5 ข้อ ของออเร้นจ์ ที่ว่าด้วย
ตรงไปตรงมา ไม่หยุดนิ่ง ทำสิ่งแปลกใหม่ ซื่อสัตย์ และเป็นมิตรเสมอ ที่ศุภชัยบอกว่า
ใกล้เคียงกับปรัชญาทางธุรกิจของทีเอ ความเป็นเอเชียหลายอย่างที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมองค์กร
และความเชื่อ ทำให้ออเร้นจ์มีบุคลิกที่แตกต่างไปจากโอเปอเรเตอร์รายอื่นๆ
แม้ว่าจะเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า ออเร้นจ์ มีถิ่นฐานมาจากฟากยุโรป แต่เจ้าของผู้ให้กำเนิดกลับเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเอเชีย
และเป็นชาวฮ่องกงที่ประสบความสำเร็จอย่าง ลี กา ชิง เจ้าของอาณาจักรฮัทชิสันวัมเปา
ที่ไปขยายธุรกิจในอังกฤษ ด้วยการเปิดบริการโทรศัพท์มือถือ ออเร้นจ์ ก่อนจะขายกิจการนี้ออกไปให้กับมาเนสมานน์
เจ้าของกิจการสื่อสารจากเยอรมนี
แม้กิจการจะถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ในมือของฟรานซ์เทเลคอมจากฝรั่งเศสแล้วก็ตาม
แต่ลูกหม้อระดับผู้บริหารบางคนของออเร้นจ์ก็ยังอยู่กับออเร้นจ์จนทุกวันนี้
กลิ่นอายของวัฒนธรรม และความเชื่อของฝั่งตะวันออก จึงยังคงฝังรากลึกอยู่ในองค์กรแห่งนี้
ออเร้นจ์เป็นเช่นเดียวกับสำนักงานใหญ่ของธนาคารชั้นนำเกือบทุกแห่งของฮ่องกง
ล้วนแต่เป็นผลงานการออกแบบของซินแสผู้เชี่ยวชาญเรื่องฮวงจุ้ย ที่จัดสภาพแวดล้อมเพื่อดึงเอาประโยชน์สูงสุดออกมาจากแหล่งพลังบวก
ในอังกฤษเองก็เช่นกัน การนำเอาศาสตร์ฮวงจุ้ยเข้าไปประยุกต์กับการทำธุรกิจ
กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ กระทั่งบริษัทผู้รับเหมาในอังกฤษหลายแห่ง
ก็ต้องมีบริการให้คำปรึกษาเรื่องของฮวงจุ้ย
ผลงานตกแต่งสำนักงานของทีเอ ออเร้นจ์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือของนักตกแต่งชั้นดีเท่านั้น
แต่เป็นผลงานการออกแบบที่มีซินแสร่วมอยู่ด้วย เริ่มตั้งแต่การเลือกที่ตั้งสำนักงาน
อาคารอื้อจือเหลียง ไม่ใช่เรื่องของทำเลที่ไปมาสะดวกเพียงอย่างเดียว หากเป็นเพราะชัยภูมิที่เป็นเลิศของอาคารแห่งนี้
นอกจากชื่อของอาคาร "อื้อจือเหลียง" ที่แปลจากจีนเป็นไทยได้ว่า เป็นความสว่างไสว
ความรุ่งเรือง ที่ใกล้เคียงกับสโลแกน อนาคตสดใส อนาคตออเร้นจ์ ชัยภูมิของอาคารนี้ยังถูกต้องตามหลักวิชาฮวงจุ้ย
ที่กำหนดว่า ด้านหลังต้องแน่นเป็นขุนเขาที่สูงสง่า เป็นเสมือนที่มั่นให้ความปลอดภัย
ส่วนด้านหน้าต้องมีน้ำไหลผ่าน เพื่อนำความชุ่มชื่นมาให้ และต้องมีปีกทั้งสองเป็นเนินเขาเตี้ยโอบรอบเอาไว้
เมื่อดูทำเลที่ตั้งของอาคารนี้ จะเห็นได้ว่า ด้านหน้าของอาคาร ตรงกับสวนน้ำของสวนลุมพินีด้านหลังอาคารเป็นตึกสูงของโรงแรมบันยันทรี
ที่เปรียบดั่งขุนเขา ด้านข้างมีอาคารขนาดย่อม ขนาบข้าง ตรงกับหลักฮวงจุ้ยทุกอย่าง
ว่ากันว่า กว่าจะมาลงเอยที่อาคารแห่งนี้ ทีเอ ออเร้นจ์ต้องใช้เวลาเลือกหาอยู่นาน
ด้านหน้าของแผนกต้อนรับของสำนักงานทีเอ ออเร้นจ์ บนชั้น 14 ตึกอื้อจือเหลียง
จะมีตู้ปลาขนาดย่อม บรรจุปลาทอง 8 ตัว ปรากฏต่อสายตาของผู้มาเยือน ตามหลักของฮวงจุ้ยแล้ว
ตู้ปลาถือเป็นสิ่งมงคล ตามหลักฮวงจุ้ยเชื่อว่าบ้านไหนมีแล้วจะเจริญรุ่งเรือง
เพราะถือว่าน้ำและปลาจะนำโชคลางมาให้
สาขาของออเร้นจ์ทุกแห่งทั่วโลกหรือแม้ในเมืองหนาวอย่างอังกฤษ ที่ต้องทำขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ของการเป็น
Global brand ถูกกำหนดไว้ว่า จะต้องมีตู้ปลาบรรจุปลาทองจำนวน 8 ตัว เป็นเลขมงคล
เช่นเดียวกับจำนวนชั้นของทีเอ ออเร้นจ์ ลงด้วยเลข 8
"ในอังกฤษ เขาก็แก้ปัญหาด้วยการใส่ฮีตเตอร์ ไปปรับอุณหภูมิในตู้ปลา สาขาทุกแห่งจะมีเนื้อที่สำหรับใส่ตู้ปลาสำรองไว้คอยใส่เติมให้ครบ
8 ตัวตลอดเวลา"
สำหรับกลุ่มซีพีเองเป็นที่รู้กันดีว่า ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นผู้หนึ่งที่มีความเชื่อในเรื่องของฮวงจุ้ย
และให้ความสำคัญมาตลอด นอกจากมีซินแสผู้เชี่ยวชาญ ที่นั่งประจำอยู่ที่สำนักงานแล้ว
ทุกครั้งที่มีการลงนามในสัญญาการลงทุน กู้เงิน หรือเปิดบริการใหม่ๆจะต้องดูฤกษ์ยามตามที่ซินแสให้มา
ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก สำหรับโอเปอเรเตอร์จากฝั่งตะวันตกที่จะมีความเชื่อเช่นนี้
ดังนั้น วัฒนธรรมความเชื่อหลายอย่างที่ตรงกัน เป็นเรื่องธรรมดาที่ออเร้นจ์จะเป็นโอเปอเรเตอร์ที่
"พูดคุยกันรู้เรื่อง" ได้ มากกว่ารายอื่นๆ