|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2547
|
 |

หากคุณได้เดินทางผ่านไปแถบประเทศในยุโรปในทุกวันนี้ อาจจะมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณแปลกใจว่า ทำไม ผู้คนที่เดินสวนไปมากับเรา ไม่ได้เป็นฝรั่ง (อย่างที่คิด) แต่กลับมีผิวดำบ้าง ผิวเหลืองบ้าง รูปร่างเล็กก็มี รูปร่าง ใหญ่ก็มี บางทีทำให้ไม่แน่ใจว่า คนชาตินี้ประเทศนี้จริงๆ แล้วหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อคุณขึ้นรถ Metro ในปารีส พบว่า 6 ในสิบคน ไม่ได้มีหน้าตาเป็นคนฝรั่งเศส
และเมื่อมาดูใน Metro ของกรุงมาดริด เห็นว่า เป็นคนต่างชาติแค่ 3 ในสิบคนเท่านั้น ตัวเลขนี้บอกให้เราทราบว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ยุคโลกาภิวัตน์ได้เบ่งบานแล้ว ตัวเลขนี้อาจบอกได้อีกว่า ที่ปารีสมีคนต่างชาติมากกว่าที่มาดริด แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ของคนต่างชาติในประเทศต่างๆ เพราะเรายังไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไร มาอยู่นานแค่ไหน หรือจะพูดในอีกลักษณะว่า บางคนเป็นคนเชื้อชาติอื่น แต่เป็นได้สัญชาติใหม่ในประเทศใหม่ บางคนเป็นคนต่างชาติที่เกิดในประเทศใหม่ หรือบางคน เป็นคนต่างชาติที่มาทำงานหรือมาเรียน หรือมาท่องเที่ยว แต่ที่เป็นประเด็นที่ทุกประเทศให้ความสนใจและถือว่าเป็นปัญหาใหญ่คือ คนต่างชาติที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์แล้ว ประเทศสเปนเป็นประเทศหน้าด่านที่เป็นเป้าหมายของผู้หลบหนีเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย เพราะมีชายแดนติดทะเลที่ยาวมาก โดยเฉพาะที่ปลายคาบสมุทรอิเบเรีย มีเพียงช่องแคบยิบรอลตา ที่มีความกว้างเพียง 58 กิโลเมตร กั้นระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปแอฟริกา (เป็นทวีปที่มีความพร้อมเสมอที่จะอพยพมุ่งหน้าสู่ยุโรป)
ระยะทางที่กั้นด้วยผืนน้ำเพียง 58 กิโลเมตรไม่ได้เป็นอุปสรรคใหญ่เลยสำหรับผู้ที่ต้องการแสวงหาชีวิตใหม่ในดินแดนแห่งความเจริญ ด้วยเหตุนี้จึงมีข่าว ผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายทางช่องแคบยิบรอลตาปรากฏให้เห็นตามสื่อต่างๆ อยู่เสมอๆ
แม้ว่าลักษณะทางภูมิศาสตร์จะเป็นใจ แต่ประเทศสเปนก็ไม่ได้เป็นประเทศที่มีชาวต่างชาติมากที่สุดในสหภาพยุโรป ปรากฏการณ์การอพยพเข้าสเปนเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง ด้วยเหตุผลสองประการคือ สเปน เพิ่งเปิดประเทศมาได้ไม่ถึง 30 ปี เริ่มตั้งแต่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยใช้เป็นครั้งแรก ใน ปี ค.ศ.1978 ประการที่สองคือ สถานะทางเศรษฐกิจของสเปนในช่วงต้นยังอยู่ในกลุ่มท้ายแถวของยุโรป
ต่อมาเมื่อยุโรปมีความเป็นปึกแผ่นมากขึ้น ทำให้ สเปนได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินและพัฒนาอย่างมากมาย เป็นผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับ 2-3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ด้วยเหตุนี้อัตราการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและถูกกฎหมายผ่านทางประเทศสเปน จึงมีอัตราสูงขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของสถาบันสถิติแห่งสภาพยุโรประบุว่า 92 เปอร์เซ็นต์ของคนสเปนใหม่เป็นชาวต่างชาติ ยกตัวอย่างในปี 2003 มีคนขึ้นทะเบียนทั้งหมด 647,000 คน ปรากฏว่าเป็นชาวต่างชาติถึง 594,000 คน ติดอันดับสองของสหภาพ ยุโรปในกลุ่มตัวเลขดังกล่าว
ถึงทุกวันนี้มีการเปิดเผยข้อมูลว่า มีคนต่างชาติ อาศัยอยู่ในสเปนทั้งหมด 2.6 ล้านคน และที่เป็นปัญหา ก็คือ กว่าหนึ่งล้านคนในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมาย
สำหรับประชากรกลุ่มดังกล่าว ในสเปนเรียกกันว่า "los sinpaples" แปลแบบตรงไปตรงมา ว่า "ผู้ที่ไม่มีกระดาษ" นั่นเอง
สถานการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมมากมาย เช่น มีอาชญากรรมเพิ่มขึ้น มีการใช้แรงงานเถื่อน มีข้อขัดแย้งทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลต้องหันมาใส่ใจและถือเป็นประเด็นเร่งด่วนระดับชาติ
ถ้าเทียบเป็นประเทศแล้ว จำนวนสูงสุดมาจากประเทศโมร็อกโก ตามด้วยเอกวาดอร์ และโคลัมเบีย แต่ถ้าเทียบเป็นกลุ่มประเทศ อันดับหนึ่งคือมาจากทวีปอเมริกาใต้ ตามด้วยแอฟริกา
รัฐบาลสเปนได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยว ข้องกับชาวต่างชาติเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2000 ภาย ใต้การปกครองของพรรคฝ่ายขวา PP ได้ออกกฎหมาย ฉบับหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ "ผู้ที่ไม่มีกระดาษ" มาทำกระดาษได้ นั่นก็คือมาทำบัตรประชาชนและทำใบอนุญาตทำงานได้ ขอเพียงให้มีแค่สัญญาจ้างงานและมีหลักฐานที่ระบุได้ว่า ได้เข้ามาอยู่ในสเปนเกินหนึ่งปีแล้ว กฎหมายดังกล่าวได้สร้างความยินดีให้กับชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
และล่าสุดในปีนี้ 2004 ภายใต้การนำของพรรค PSOE ฝ่ายซ้ายสังคมนิยม ได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวมาอีกครั้งหนึ่ง โดยจะประกาศใช้ในเดือนตุลาคม ข่าวนี้ได้จุดประกาย ความหวังให้กับ (ประชากร) ผู้อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ข้อแตกต่างของกฎหมายฉบับใหม่นี้คือ มีข้อกำหนดและข้อจำกัดเพิ่มขึ้น อย่างเช่น ผู้ที่จะมายื่นคำร้องขอใบอนุญาตทำงาน จะต้องทำงานมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี และต้องให้ตัวนายจ้างเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ไม่ใช่ผู้ทำงาน เป็นต้น
แม้ว่าการออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวเป็นการทำในกรณีพิเศษ ไม่มีรอบและวาระแน่นอน ไม่มีใครทราบว่าเมื่อไหร่จะมีอีก แต่ก็ได้สร้างความสมหวังให้กับผู้อพยพในปัจจุบัน ยังได้สร้างความหวังให้กับผู้ที่จะอพยพหลบหนีเข้าสเปนในอนาคตอีกด้วย บางทียังได้ยินคำพูดที่ว่า "อยู่ๆ ไปเถอะ เดี๋ยวเขาก็ออก กฎหมายให้ทำกระดาษเอง" นั่นหมายความว่าให้เข้าประเทศให้ได้ ก็ถือว่าสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว ที่เหลือก็ทนๆ อยู่กันไป สักวันหนึ่งก็จะสมหวัง
การให้สัญชาติหรือการให้ทำบัตรประชาชนของสเปนยังเกิดขึ้นในกรณีพิเศษอื่นอีก อย่างเช่นในกรณีเหตุการณ์รถไฟระเบิดเมื่อ 11 พฤษภาคม 2004 รัฐบาลก็ได้ประกาศมอบสัญชาติให้กับผู้บาดเจ็บและครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวต่างชาติทุกคน ปรากฏว่ามีผู้ประสบเคราะห์ที่โชคดีถึง 1,500 คน
สำหรับชาวต่างชาติแล้วการได้ถือครองบัตรประจำตัวประชาชนของประเทศที่ตนไปอาศัยหรือทำงานอยู่ เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะการไม่มี "กระดาษ" ก็หมายถึงไม่มีสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์ใช้บริการทาง สังคม ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงใดๆ และที่แย่ที่สุดคือ (ในบาง ครั้ง) ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเรียกร้องความเป็นธรรม
|
|
 |
|
|