กระแสความนิยมเรียนเอ็มบีเอของไทยฟุบไปเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แล้ว trend นี้ ก็ดีดตัวกลับขึ้นมาอีกเมื่อเศรษฐกิจฟื้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือการที่สถาบันเปิดตัวเข้าหาลูกค้ามากขึ้น และนำเสนอ Positioning ของตนเองอย่างมีความแตกต่างชัดเจน
เดือนกันยายนที่ผ่านมา ในกรุงเทพฯ มีงานใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรเอ็มบีเอ เกิดขึ้นถึง 2 งาน ไม่นับรวมถึงงาน Open House ที่แต่ละสถาบันไม่ว่าจะเป็นศศินทร์ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ หรือหน่วยงานอื่นๆ เช่น บริติช เคาน์ซิล จัดกันเองอีกต่างหาก นอกเหนือจาก World MBA ออร์กาไนเซอร์อีกรายจากอเมริกาที่จะมาจัดงานในเดือนพฤศจิกายนนี้
งานแรกคือ MBA World Forum ที่ไทยธนาคารเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่โรงแรมอโนมา มี 27 สถาบันเข้าร่วม ส่วนอีกงานเป็นของ The MBA Tour ออร์กาไนเซอร์จาก อเมริกาที่ขนโรงเรียนเอ็มบีเอ 35 แห่งทั่วโลก มาแวะโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เป็นทัวร์การตลาดของสถาบัน เพื่อเข้าถึง prospect student ในเอเชียที่ยังคงมีดีมานด์สูง (จำนวนผู้สมัครสูงสุดยังคงเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย) ในขณะที่ดีมานด์ในประเทศตะวันตก เริ่มลดลง สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ Gary Lipkowitz ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด INSEAD ที่ยืนยันว่ามีนโยบายเพิ่มสัดส่วนการรับนักเรียนเอเชีย และพยายาม โปรโมตสิงคโปร์แคมปัส (และในเดือนพฤศจิกายนนี้ก็จะมารีครูตที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยโดยตรงอีกด้วย)
ความเป็นมาของ The MBA Tour นั้น เริ่มจัดทัวร์ ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1993 โดยมีโรงเรียนธุรกิจกลุ่มเล็กๆ ที่เห็นประโยชน์ของการร่วมมือกันออกทัวร์รีครูตนักศึกษาต่างชาติ ถึงปัจจุบันรวมมีการจัดทัวร์กว่า 165 งาน ใน 28 ประเทศ
Sally Pym ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของ The MBA Tour ที่ตระเวนจัดงานเริ่มจากโตเกียว โซล ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ไทเป แล้วแวะมากรุงเทพฯ ก่อนจะไปจบทัวร์ที่สิงคโปร์ (แต่ละเมืองจัดวันเดียว ในเวลาเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง โดยเก็บค่าลงทะเบียนจากสถาบันที่มาร่วมออกบูธรายละ 1,900 เหรียญสหรัฐ/เมือง) มองว่าตลาดหลักสูตร เอ็มบีเอเริ่มกระเตื้องขึ้น มีสถาบันถึง 50 แห่งมาร่วมงาน
"ที่กรุงเทพฯ ปีนี้มีคนมาชมงานกว่า 800 คน สูงสุดในรอบ 2-3 ปีหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ปีที่แล้วยังน้อยกว่านี้คือมีราว 400 คน ที่มีมากในช่วงนี้ เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เมื่อคนมีความมั่นคงทางรายได้มากขึ้น ก็กล้าลงทุนสำหรับอนาคต แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นใน เอเชีย ความนิยมของคนไทยยังไม่สูงเท่าญี่ปุ่นและเกาหลี ส่วนหนึ่งสะท้อนจากมหาวิทยาลัยที่เลือกไปร่วมออกบูธในทัวร์ครั้งนี้ กว่า 10 แห่งเลือกไปโตเกียวและโซล โดยไม่มากรุงเทพฯ ซึ่งเขามองว่าตลาดเล็กกว่า อย่างที่โซล เฉพาะคนลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้าก็ 700 คนแล้ว"
ถึงอย่างนั้นก็มีมหาวิทยาลัยชื่อดังจำนวนไม่น้อยมาออกบูธที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ เช่น INSEAD โรงเรียนเอ็มบีเออันดับหนึ่งของโลก หรือมหาวิทยาลัยจากอเมริกา อย่าง Cornell, Carnegie Mellon, NYU Stern, University of North Carolina at Chapel Hill, Duke University (Fuqua), University of Michigan ส่วน Chicago, UCLA, Columbia เลือกไปที่โซลโดยไม่มากรุงเทพฯ
เมื่อมองทางฝั่งดีมานด์ ประเทศเป้าหมายที่คนให้ความสนใจ อเมริกายังคงนำมาเป็นที่หนึ่ง แต่ก็มี trend ที่น่าสนใจว่าคนมุ่งไปยุโรปและแคนาดามากขึ้น ซึ่ง Sally ให้ความเห็นว่า อาจเป็นเพราะความเข้มงวดเรื่องวีซ่าหลังเหตุการณ์ 911 พีคของดีมานด์อยู่ในยุคปลาย 90s ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ ที่คนมาร่วมงานในกรุงเทพฯ มากถึง 800 คน ตอนนี้ความนิยมกลับมาสูงขึ้นอีก เห็น ได้ชัดว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญต่อดีมานด์ทั้งในแง่ตัวบุคคลและองค์กร
Liz Reisberg ผู้อำนวยการบริหารของ The MBA Tour ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ความนิยมไปเรียนเอ็มบีเอ ในยุโรป แคนาดา และอเมริกา นั้นตกลงไปในช่วงก่อนหน้านี้ แม้แต่ Wharton ก็ยอมรับว่ามีจำนวนผู้สมัครลดลง ซึ่งคาดว่าเพราะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแม้แต่บัณฑิตเอ็มบีเอก็หางานยาก หรือได้ค่าตอบแทนที่ไม่ดึงดูดใจเท่าที่เคย ขณะเดียวกันคนทำงานรุ่นใหม่กังวลถึงความเสี่ยงที่จะลาออกจากงานไปเรียน 1-2 ปี และพิจารณาใน เชิงความคุ้มทุนด้วย
นอกจากนั้น การแข่งขันของเอ็มบีเอซับพลายเออร์ คือสถาบันในประเทศที่เปิดหลักสูตรเอ็มบีเอมากขึ้น ทั้งมีการจับมือกับสถาบันต่างประเทศ เปิดหลักสูตรร่วมและมีบางสถาบันที่เปิดเอเชียแคมปัสเอง จึงเป็นทางเลือก ให้ผู้เรียนไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศก็ยังสามารถได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และสามารถเรียนไปพร้อมกับทำงานได้
อย่างไรก็ตาม สถาบันต่างประเทศจึงต้องพยายาม ชูจุดแข็งในแง่ความเป็นนานาชาติในชั้นเรียน ซึ่งบางมหาวิทยาลัยรับนักศึกษาจากประเทศต่างๆ 14-30 ประเทศ เพื่อสร้างความหลากหลายและมิติทางการเรียน ที่นอกจากให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ธุรกิจนอกตำราแล้ว ยังเป็นรากฐานสัมพันธภาพที่เอื้อต่อธุรกิจของพวกเขาต่อไปหลังเรียนจบ อีกทั้งยังชูจุดแข็งในแง่การออกแบบหลักสูตรที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อดึงดูดผู้เรียน
ประเด็นหลังนี้เห็นได้ชัดในกรณีของ Tepper school of Business แห่งมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ซึ่ง Laurie Stewart ผู้อำนวยการฝ่าย Masters Admissions เล่าให้ฟังว่า ได้นำระบบ MBA Tracks Program มาใช้ โดยเปิดแทร็คความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไว้นอกเหนือจาก General Management คือ Biotechnology, Computational Marketing, E-Business Technologies, Entrepreneurship, Integrated Product Development, International Management, Operations Manage-ment, Operations Research, และ Wealth and Asset Management ให้นักศึกษาเลือก
ซึ่งการเลือกเรียนตามแทร็คเหล่านี้ จะเป็นวิชานอกเหนือไปจากวิชาเลือกเสรีที่เปิดไว้ตามปกติ โดยระบบการเรียนที่แบ่งออกเป็น 4 mini-semester (7.5 สัปดาห์) ในแต่ละปี นักศึกษาจะเริ่มเข้าแทร็คใน mini-semester ที่ 3 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะเข้าแทร็ค ใด นักศึกษาต้องมีคุณสมบัติเพียงพอกับการเรียนแทร็ค นั้นๆ โดยต้องยื่นใบสมัครในช่วงที่เรียนปีหนึ่ง แล้วได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากสถาบัน
ในขณะที่ Hong Kong University of Science and Technology หนึ่งในโรงเรียนเอ็มบีเอทอปเทนของเอเชียเองก็พยายามชูจุดแข็งด้าน Asia Focus โดย Chris Tsang ผู้ช่วยผู้อำนวยการ Postgraduate Programs ให้เหตุผลว่า ในยุคปัจจุบัน trend เศรษฐกิจโลกหันมาให้ความสำคัญกับอิทธิพลของ จีน หลักสูตรเอ็มบีเอฟูลไทม์ของที่นี่จึงดึงดูดนักศึกษาตะวันตกได้มาก
การปรับตัวของโรงเรียนเอ็มบีเอตาม trend ธุรกิจ ในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับบ้านเราเช่นกัน ที่ AIT โดย Dr. Nazrul Islam คณบดีของ School of Management (SOM) มองว่าสถาบันที่มีศักยภาพควรใช้ทรัพยากรของตนให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ในฐานะที่ AIT มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรม SOM ก็วางแผนจะเปิดโปรแกรมใหม่ในอนาคต จากดีมานด์ของหลักสูตรด้านการบริหารจัดการแหล่งพลังงานต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้า ที่กำลังมีโครงการเกิดขึ้นหลายแห่งในภูมิภาคนี้ โดยจะเปิดหลักสูตร Manage-ment of Utility System หรือ Management of Energy System คาดว่าผู้ที่จะมาเรียนคือวิศวกรผู้ควบคุมโครงการ ที่ต้องรับผิดชอบบริหารจัดการการใช้งาน หรือการแจกจ่ายพลังงานหลังการผลิต
"ตอนนี้เรามีเสียงเรียกร้องจากเวียดนามมาแล้ว ที่กำลังจะมีโครงการพัฒนาแหล่งไฟฟ้าพลังน้ำ จุดประสงค์ของเขาคือ ต้องการพัฒนาบุคลากรที่จะส่งไปทำงานในโรงไฟฟ้า เพราะหลัง เขื่อนเสร็จต้องมีคนบริหารจัดการการจัดสรรพลังงานในระยะยาว ซึ่งต้องการความรู้ด้านการบริหารจัดการเข้าไปเสริมวิศวกรรม ขณะที่เอไอทีมีคณะวิศวกรรมอยู่แล้ว เราสามารถจับมือกันสร้างหลักสูตรขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการ differentiate ทำให้เกิด Sector specific knowledge มาผสมรวมกับองค์ความรู้ด้านการจัดการ" เป็นความเห็นจากโรงเรียนเอ็มบีเออันดับหนึ่งของไทย
ทางด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.อรรณพ ตันละมัย ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิเคราะห์ว่า ตอนนี้เป็น trend ของการ Specialization เพื่อจับนิชมาร์เก็ต จากเอ็มบีเอแบบทั่วไป มาเจาะจงเป็นเอ็มบีเอทางการเงิน การตลาด เป็นการเซ็กเมนเตชั่น ให้ชัดเจนขึ้น เช่น MBA in Health Care Management, MBE ด้านเศรษฐศาสตร์ หรือ MIM เป็นการแตกย่อยตลาดเพื่อจับกลุ่มเฉพาะให้มากขึ้น
"เป็นคอนเซ็ปต์การตลาดที่เขาจะไปจับกลุ่มที่เห็นว่ามีดีมานด์ เช่นตอนนี้กลุ่มสาธารณสุข พวกหมอ พยาบาล เป็นกำลังซื้อที่มาก เพราะฉะนั้นจึงมีการ Tailor made หลักสูตรไปจับกลุ่มพวกนี้ ในอนาคตก็อาจจะมี MBA สำหรับ Entertainment Industry หรือ MBA สำหรับพวกค้าปลีก ซึ่งพวกนี้จริงแล้ววิชาหลักเหมือนกันหมด ต่างกันที่วิชาเลือกเท่านั้น แต่วันใดวันหนึ่งที่ธุรกิจอิ่มตัว คอร์สเหล่านี้ก็อาจปิดตัวไปก็ได้ อย่างสมัยก่อนก็มี MBA in Real Estate Management มันเป็น trend ของตลาด"
ความเคลื่อนไหวของเอ็มบีเอจุฬาฯ จึงมองไปที่การเปิดหลักสูตร International โดยมองดีมานด์ที่จะมาจากประเทศใกล้เคียงกับคนไทยที่จบปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติ และชูจุดขายของหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยจะส่งนักศึกษาไปนั่งเรียนที่ต่างประเทศ 1 เทอม และให้ได้รับปริญญาจาก 2 มหาวิทยาลัย
ภาพสะท้อนที่เราเห็นในตลาดเอ็มบีเอวันนี้ การออกหลักสูตรใหม่ จึงเป็นเสมือนการปั้นผลิตภัณฑ์ใหม่ในเชิงธุรกิจ ที่ภายหลังมีการสำรวจความต้องการที่ชัดเจน ในตลาดแล้ว ก็มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายนั้น โดยมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์เป็นตัวผลักดันให้ลูกค้าเข้ามาจับจ่าย
|