|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2547
|
|
"ในเมืองไทยทุกวันนี้คุณพ่อผมรู้จักแค่ที่นี่เมืองทองธานี ธนาซิตี้ กับบ้าน เมื่อวันก่อนผมพาเขาไปที่ดิเอ็มโพเรียม เพิ่งไปมาครั้งแรกมั้ง ได้เสื้อมาตั้งหลายตัว ท่านสนุกมาก"
ปีเตอร์ ลูกชายคนโต วัย 31 ปี ของอนันต์ กาญจนพาสน์ เล่าให้ฟังถึงพ่อของเขาด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความรักและผูกพัน
ในวัย 63 ปี อนันต์ ยังเป็นแฟมิลี่แมนเหมือนเดิม เช้าออกจากบ้านที่สุขุมวิท 43 มาทำงาน 9 โมงเช้ากลับบ้าน 6 โมงเย็น ถึงบ้านดูทีวี วันว่างไปเล่นกอล์ฟกับเพื่อนๆ ทุกวันนี้มีความสุขมากที่มีลูกชาย 2 คน มานั่งทำงานอยู่ในห้องใกล้ๆ กันบนชั้น 10 ในคอนโด อุตสาหกรรมนิวเจนีวา เป็นนักธุกิจอีกคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้พบเจอในงานสังคมของชาวกรุงนัก
ตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) อนันต์คือคนสำคัญที่สุดในเรื่องการกำหนดภาพรวมขององค์กร วางแผนและฟันธงว่าจะสร้างหรือไม่สร้างโครงการใด ในขณะที่ปีเตอร์เป็นผู้สานต่อในเรื่องรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายหลัก
เขาเข้ามาช่วยผู้เป็นพ่อ ตั้งแต่ประมาณปี 2541 ซึ่งก่อนหน้านั้น ตึกกว่า 150 แท่งกว่า 30,000 ยูนิตในเมืองทองธานี ยอดขายไม่สามารถเป็นไปได้ตามเป้าและวิกฤติเศรษฐกิจที่เจอทำให้บริษัทขาดเงินทุนหมุน เวียนอย่างหนัก เกมการสร้างเมืองของผู้เป็นพ่อสะดุดลง และศูนย์กีฬาเมืองทองคือเกมตัวใหม่ ที่หวังว่าจะสามารถช่วยปลุกเมืองแห่งนี้ให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้งหนึ่ง
หลังการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 อนันต์ได้เดินเคาะประตูไปตามกระทรวงต่างๆ เพื่อเสนอขายพื้นที่ของศูนย์แสดงสินค้า โดยมีปีเตอร์เป็นผู้ช่วยในการทำพรีเซ็นเตชั่นให้ลูกค้าเข้าใจเพิ่มยิ่งขึ้น ดังนั้น ทุกการเปลี่ยนแปลง ทุกปัญหาของอิมแพค คือสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ตลอดเวลา
ปีเตอร์เป็นผู้มีส่วนร่วมออกแบบภายในศูนย์ให้หรูหราแตกต่างไปจากศูนย์ประชุมทั่วไป และการให้ความสำคัญในเรื่องการดีไซน์นี้ยังสะท้อนต่อเนื่องไปยังโครงการชาแลนเจอร์แห่งใหม่ด้วย
การเรียนรู้ในเรื่องทำธุรกิจจากผู้เป็นพ่อ ทำให้ปริญญาตรีทางด้านเคมี จาก Imperial Collage ประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้วไม่มีความหมาย ปีเตอร์เป็นคนหนุ่มที่มีบุคลิกเรียบง่าย วันที่นัดเจอกับ "ผู้จัดการ" อยู่ในชุดกางเกงขายาว เสื้อเชิ้ตพับแขน และใส่รองเท้ากีฬา ท่าทางทะมัดทะแมง มีผิวขาว รูปร่างสูง หน้าตาดี ซึ่งน่าจะมีส่วนมาจากคุณแม่ "โซฟี"
ปีเตอร์พูดภาษาไทยได้ค่อนข้างดี แม้สำเนียงไม่ชัดเจนนัก เพราะภาษาหลักของเขาคือกวางตุ้ง และภาษาอังกฤษ เพิ่งได้ใช้ภาษาไทยอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 5-6 ปีมานี่เอง
ในวันว่างบางคนอาจเจอทายาทเศรษฐีคนนี้เดินด้อมๆ มองๆ เลือกซื้อซีดี หรือวีซีดีโอเปร่าจากต่างประเทศที่ไม่มีแผ่นจริงขายตามย่านคลองถม ปีเตอร์ชื่นชอบกับบทเพลงคลาสสิกจนถึงกับไปเรียนร้องเพลงจากอาจารย์ชาวอเมริกันเลยทีเดียว
"ที่ห้องผมมีซีดีและวีซีดีเกือบ 3,000 แผ่น ซื้อจนไม่มีที่เก็บ ตอนนี้กำลังรอน้องเขาแต่งงาน จะได้ทะลุห้องเขาเป็นที่วาง" ปีเตอร์เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่เจือด้วยเสียงหัวเราะ
ในท่าทีที่ดูสบายๆ นั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับภาระและบทบาทของการเป็นผู้บริหารบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด เพียงแต่ว่าวันนี้เขามีพ่อมีน้อง และทีมงานเก่าแก่อีกหลายคนเคียงข้างในการทำงาน
|
|
|
|
|