ข่าวร้ายรุมเร้าตลาดหุ้น ฉุดหุ้น RATCH ร่วง 0.25 บาท สวนทางผลประกอบการที่โชว์ผลกำไรกว่า 1.9 พันล้านบาท ในไตรมาส 3 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 19.65% เนื่องจากค่าซ่อมบำรุงลดลง และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัท ไตร เอนเนอจี้ ขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายลดลงกว่า 36 ล้านบาท
แม้ผลประกอบการของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) จะออกมาสวยในไตรมาส 3 แต่มรสุมที่ยังคงรุมเร้าตลาดหุ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแรงกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นทรุดลงกว่า 21.53 จุด หรือลดลงกว่า 3.32% โดยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ดัชนีปิดที่ 626.85 จุด ส่งผลให้ราคาหุ้น RATCH ร่วงตามดัชนีตลาดหุ้น โดยเปิดตลาดอยู่ที่ 36.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท จากนั้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะที่ 37 บาท ขานรับกับผลประกอบการที่ออกมาดีตามที่คาดหมายก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามดัชนีตลาดหุ้น และราคาต่ำสุดที่ 36 บาท ก่อนที่จะกระเตื้องในช่วงท้ายตลาดปิดที่ 36.25 บาท ลดลง 0.25 บาท หรือลดลง 0.68% มูลค่าการซื้อขาย 114.17 ล้านบาท
นายบุญชู ดิเรกสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัท และบริษัทย่อยตามในไตรมาส 3 ของปี 2547 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน มีกำไรสุทธิ 1,897.52 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.31 บาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,585.83 ล้านบาท กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 311.69 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19.65%
สำหรับสาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาส 3 ของปี 2547 เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทได้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรในกิจการร่วมค้า จำนวน 66.25 ล้านบาท ประกอบด้วย รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัท ไตร เอนเนอจี้ จำกัด จำนวน 84.55 ล้านบาท, รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด จำนวน 18.30 ล้านบาท เนื่องจากอยู่ในระหว่างดำเนินการโครงการ
ส่วนรายได้ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าราชบุรี (Availability Payment : AP) ไตรมาสที่ 3 ปี 2547 จำนวน 3,113 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสที่ 3 ปี 2546 ที่มีรายได้ค่า AP จำนวน 3,282.12 ล้านบาท เป็นจำนวน 169.12 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.15% สาเหตุหลักเนื่องจากอัตราค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนในไตรมาสที่ 3 ปี 2547 ต่ำกว่าไตรมาสที่ 3 ปี 2546 ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ในส่วนค่าซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักร ไตรมาสที่ 3 ปี 2547 ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 346.80 สาเหตุหลักเนื่องจากในไตรมาสที่ 3 ปี 2546 มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ชุดที่ 1-3 เป็นเงินจำนวน 363.38 ล้านบาท แต่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2547 ไม่มีการหยุดซ่อมโรงไฟฟ้า
สำหรับดอกเบี้ยจ่ายในไตรมาสที่ 3 ปี 2547 อยู่ที่ 305.20 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของ ปีก่อนอยู่ที่ 341.59 ล้านบาท ลดลงเป็นจำนวน 36.39 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.65% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวตามสัญญาเงินกู้ฉบับแก้ไข ครั้งที่ 2 เท่ากับ MLR-2.5% ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ปี 2547 อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยเท่ากับ 5.75% ต่ำกว่าไตรมาสที่ 3 ปี 2546 ซึ่งเท่ากับ 5.90% นอกจากนี้ ได้มีการชำระคืนเงินต้นทุกสิ้นไตรมาส
ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า ของ RATCH ในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 10,544.12 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่ 10,206.23 ล้านบาท จากการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง อีกทั้งไม่มีค่าใช้จ่ายด้านซ่อมบำรุงเหมือนในไตรมาส 3 ของปีก่อน จึงทำให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 20.95% เทียบกับปีก่อนที่ 19.36% จึงมีกำไรขั้นต้น 2,209.11 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ 118.69 ล้านบาท ดอกเบี้ยจ่ายลดลงต่อเนื่องมา ที่ 305.20 ล้านบาท เพราะมีการคืนหนี้ตามกำหนด จึงมีกำไรสุทธิ 1,897.52 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.31 บาท
ในปี 2547 นี้ ฝ่ายวิจัยได้ประมาณการรายได้ ที่ 38,445.31 ล้านบาท กำไรขั้นต้นประมาณไว้ที่ 21.05% จากการเจรจาปรับลดอัตราดอกเบี้ยกับ เจ้าหนี้ ดอกเบี้ยจ่ายทั้งปีจึงลดมาอยู่ที่ 1,202.45 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไรทั้งปีที่ 6,875.02 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นที่ 4.74 บาท ราคาเหมาะสม ที่ระดับ P/E 10 เท่า จะอยู่ที่ 47.40 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทยังคงแนะนำให้ซื้อ
ขณะที่ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 บอง RATCH เป็นไปตามคาด และคงประมาณการกำไรทั้งปี 2547 ที่คาดว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิ 6,866 ล้านบาท ซึ่ง 9 เดือนแรก บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,959 ล้านบาท คิดเป็น 72% ของประมาณการของเรา
RATCH เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิต 3,907.5 เมกะวัตต์ ที่สำคัญมีรายได้แน่นอนจากสัญญาซื้อขาย ไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปีกับ กฟผ. และมีแผนขยายกำลังผลิตไฟฟ้าต่อเนื่อง ล่าสุดได้เข้าซื้อหุ้น 37.5% ของโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ส่งผลให้บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น (ตามสัดส่วนการถือหุ้น) 262.5 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้บริษัทรับรู้รายได้เป็นส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ปีละประมาณ 300 ล้านบาท
นอกจากนี้ปี 47 กำไรจะขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าปี 46 เพราะกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งหรือความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าปี 47 จะสูงกว่า บวกกับการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากไตรเอนเนอจี้ สำหรับโครงการในอนาคตที่สำคัญ RATCH เข้าร่วมทุน 25% ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกูดของ Union Power ที่ย้ายมาสร้างในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าราชบุรี โดยมีกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ประมาณไตรมาส 2 ปี 2551 แนะนำ ซื้อ ราคาเหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐาน 45 บาท
|