ศาลฯสั่ง TUNTEX ลดทุน เหลือ 2,780 ล้าน ก่อนเพิ่มอีก 8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ของหุ้นให้แก่เจ้าหนี้ แทนการชำระหนี้ด้วยเงินสด หวังลดภาระหนี้สินของบริษัทที่มีอยู่เกือบ 5 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้โครงสร้างหนี้ของทุนเท็กซ์มีความสอดคล้องกับโครงสร้างรายได้มากขึ้น
นายชีระ ภาณุพงศ์ บริษัท ทุนเท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารแผนของบริษัท ทุนเท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TUNTEX) รายงานคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ลงวันที่ 17 กันยายน 2547 และมติคณะกรรมการผู้บริหารแผนครั้งที่ 6/2547 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 ด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของทุนเท็กซ์ (แผนฯ)
โดยศาลฯ ได้กำหนดให้มีการลด/เพิ่มทุนของTUNTEX คือ ได้มีคำสั่งลงวันที่ 17 กันยายน 2547 และที่ประชุมคณะกรรมการผู้บริหารแผนครั้งที่ 6/2547 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 จึงได้มีมติให้ลดทุน จดทะเบียนที่จำหน่าย ไม่ได้หรือที่ยังมิได้นำออกจำหน่ายจำนวน 180,000,000 บาท โดยยกเลิกหุ้นสามัญที่ยังมิได้ออกจำหน่ายจำนวน 18 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เมื่อลดทุนแล้ว TUNTEX จะมีทุนจดทะเบียนคงเหลือ 2,780 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 278,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท
นอกจากนี้ ศาลฯได้มีคำสั่งในวันดังกล่าว และที่ประชุมคณะกรรมการผู้บริหารแผนครั้งที่ 6/2547 ดังกล่าว ได้มีมติอนุมัติให้ TUNTEX ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนของ TUNTEX อีกจำนวน 8 พันล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 800 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ หุ้นละ 10 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมคือ 2,780 ล้านบาท เป็น 10,780 ล้านบาท การออกหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวข้างต้นเป็นการออกโดยมีเงื่อนไข
สำหรับวัตถุประสงค์และระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนฯ ซึ่งแผนฯ ดังกล่าวศาลฯได้ให้ความเห็นชอบและบริษัทได้เพิ่มทุนตามวัตถุประสงค์ ซึ่งผู้บริหารแผนจะได้ดำเนินการ ออกหุ้นสามัญใหม่และโอนกรรมสิทธิ์ของหุ้นดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ แทนการชำระหนี้ด้วยเงินสดตามวิธีการชำระหนี้
โดยประโยชน์ที่ TUNTEX จะพึงได้รับจากการเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามข้อกำหนดของแผนฯ โดยที่หุ้นเพิ่มทุนที่ออกในครั้งนี้จะนำไปใช้ในการชำระหนี้ต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในแผนฯ อันเป็นการช่วยลดภาระหนี้สินต่างๆ ของ TUNTEX ทั้งสิ้นประมาณ 4,600 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้โครงสร้าง หนี้ของ TUNTEX มีความสอดคล้องกับโครงสร้างรายได้มากขึ้น อีกทั้งเพื่อให้ทุนเท็กซ์กลับมามีความสามารถในการประกอบธุรกิจตามปกติ และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้โดยเร็วที่สุดเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ ของ TUNTEX และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ พนักงาน ลูกจ้าง คู่สัญญาและคู่ค้า ผู้ถือหุ้น
ขณะที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มทุน คือ จะช่วยลดภาระหนี้สินต่างๆ ของบริษัทที่มีอยู่ประมาณ 4,600 ล้านบาท ทำให้สถานะทางการเงินของ TUNTEX มีความมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น ผู้บริหารแผนหวังว่าสถานะทาง การเงินของทุนเท็กซ์ที่มั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้นอาจจะทำให้หุ้นของ TUNTEX สามารถกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อีกครั้ง และมีมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้น นอกจากนี้ TUNTEX ยังอาจสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในอนาคต
|