|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"บิ๊กปตท." ลั่นหลังไทยออยล์เข้าเทรดราคาร้อนดันมาร์เกตแคปกลุ่ม ปตท.ทะลุ 1 ล้านล้าน กวาด 23% ของมาร์เกตแคปตลาดรวม จ้างศึกษาแผนควบธุรกิจในเครือ ด้านบิ๊กไทยออยล์คุยปีนี้ รายได้โต 33% แตะ 2 แสนล้านบาท หลังถือหุ้นใหญ่ในไทยพาราไซลีนและไทยลู้บเบส อวดกระจายหุ้นให้รายย่อยได้เกือบแสนรายมากที่สุด ส่วนอันเดอร์ไรต์ยันไม่ซ้ำรอย ปตทช่วงแรก เหตุสถานการณ์ต่างกัน ภาวะหุ้น-ปิโตรเลียมขาขึ้น ด้านทหารไทยฟันกำไร 1.5 พันล้านหลังนำหุ้นไทยออยล์ขายไอพีโอด้วย
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) เปิดเผยว่า บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปตท.ถือหุ้นใหญ่ จะมีมูลค่าตามราคาตลาด(มาร์เกตแคป) ประมาณ 60,000 ล้านบาท จากการขายหุ้นไอพีโอที่ราคา 32 บาท ซึ่งจากการที่หุ้นได้รับความสนใจจากนักลงทุน อย่างมาก และเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯวันที่ 26 ต.ค. จะทำให้มาร์เกตแคปของกลุ่มมาอยู่ที่ 9 แสนล้านบาท หากภาวะตลาดดีราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้บริษัทในกลุ่มปตท.มี มาร์เกตแคปทะลุ 1 ล้านล้านบาทได้ภายในสิ้นปีนี้ ถือว่าเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าทั้งกลุ่มจะมีมาร์เกตแคปเกิน 1 ล้านล้านบาท ในปี 2548 จากปัจจุบันกลุ่มบริษัทในเครือปตท.มีมาร์เกตแคปรวมกันอยู่ที่ประมาณ 8 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหากกลุ่ม ปตท.มีมาร์เกตแคป 1 ล้านล้านบาท จะคิดเป็น 23.25% ของมาร์เกตแคปรวมของตลาด ณ วันที่ 19 ต.ค. ที่อยู่ที่ 4.3 ล้านล้านบาท กลุ่ม ปตท.ประกอบด้วย PTT PTTEP ATC NPC TOC
นายประเสริฐ กล่าวว่า ปตท. มีลักษณะคอร์ปอเรต คอมปะนี โฮลดิ้ง คือบริษัทแม่มีธุรกิจของตัวเอง แต่ก็ถือหุ้นในบริษัทในเครือ อื่นๆ ในรูปแบบของโฮลดิ้งด้วย ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อศึกษา การควบรวมกิจการระหว่างบริษัทในเครือเช่น NPC กับ TOC รวมถึงการควบรวมกับบริษัทอื่นๆเพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยจะต้องพิจารณาว่ามีผลดีหรือผลเสียอย่างไร
สำหรับกระแสข่าวการควบรวมกิจการระหว่าง TOC กับ VNT นั้น ปตท.ในฐานะบริษัทแม่ได้ให้ สิทธิกับ TOC ที่จะเป็นผู้ไปเจรจาเอง โดยในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ปัจจุบันของ VNT คือ SOLVAY S.A. และ เครือซีพี คาดว่าจะไม่ยอมขายหุ้นให้ ดังนั้นน่าจะเป็นการร่วมเป็นพันธมิตรกันมากกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเข้าไปซื้อหุ้น VNT ในกระดานหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นแนวทางนั้น เพราะจะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในกระดาน ซึ่งคาดว่า VNT น่าจะใช้วิธีการเพิ่มทุนเพื่อขายหุ้นให้มากกว่า อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องรอตรวจสอบกับ TOC ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ
วานนี้ (20 ต.ค.) บริษัทไทยออยล์ (TOP) ได้ทำพิธีเซ็นสัญญาเพื่อเข้าถือหุ้น 100% ในบริษัทไทยพาราไซลีน และบริษัทไทยลู้บเบส เพื่อเกื้อหนุนการประกอบธุรกิจและลดต้นทุนในการดำเนินการ นายปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการอำนวยการ บริษัทไทยออยล์ กล่าวว่า ในเดือน ก.ย. 47 ที่ผ่านมา ได้ใช้เงิน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการเข้าซื้อหุ้นของไทยพาราไซลีน และใช้เงิน 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐซื้อหุ้นของไทยลู้บเบส ทำให้กำลังการผลิตของไทยออยล์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้ทั้งปีของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะมีรายได้ 1.6-1.7 แสนล้านบาท จากปี 46 บริษัทมีราย ได้รวม 1.4-1.5 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 33.33%
นอกจากนั้น ไทยออยล์ยังมีแผนที่จะขยายหน่วยการกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกเป็น 270,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 220,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐและจะแล้วเสร็จในปี 2549
ด้านหุ้นไทยออยล์มีการกระจายให้แก่นักลงทุนรายย่อยเกือบ 1 แสนราย ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยมากที่สุด ส่วนหลังจากเข้าตลาดแล้วจะเป็นอย่างไรนั้นคงไม่สามารถตอบได้ และจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร กรรมการผู้จัดการ บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของหุ้นไทยออยล์หลังจากเข้าซื้อขายในตลาดไม่น่าจะเหมือน กับหุ้นปตท. ที่ราคาปรับตัวลดลงต่ำกว่าจองในช่วงแรก เนื่องจากสถานการณ์มีความแตกต่างกัน ทั้งในส่วนของภาวะตลาดและอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่กำลังอยู่ในขาขึ้น ในขณะที่ไทยออยล์มีค่า P/E ต่ำเพียง 6 เท่า
ด้านแหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ภัทร กล่าวว่า หุ้นไทยออยล์ถึงแม้ว่าจะจัดสรรให้แก่นักลงทุนรายย่อยมากราย แต่ได้จัดสรรให้กับต่างประเทศถึง 48% จึงคาดว่าราคาหุ้นจะไม่ผันผวนมากนักหลังจาก เข้าซื้อขาย เพราะต่างประเทศส่วนใหญ่จะลงทุนระยะยาว
นายสมหมาย ภาษี ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ธนาคารเป็นผู้ถือหุ้นไทยออยล์ 70 ล้านหุ้น ซึ่งเกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้และได้มีการแปลงหนี้เป็นทุน ในราคาหุ้นละ 10 บาท และได้นำหุ้นในส่วนที่ธนาคารออกมาขายกับประชาชน 59.74 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 32 บาท จะทำให้ธนาคารทหารไทยมีกำไรประมาณ 1.5 พันล้านบาท และจะรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้
ส่วนกรณีที่มีนักลงทุนมาร้องเรียนการจองซื้อหุ้นบริษัทไทยออยล์ในส่วนของธนาคารไม่ได้รับความเป็นธรรมปัญหาเกิดจากการประสานและการดำเนินที่ไม่พร้อมเท่าที่ควร แต่เชื่อว่าการดำเนินงานดังกล่าวมีความโปร่งใส ไม่ได้มีการจัดสรรหุ้นให้กับพวกพ้องตามที่มีข่าวลือ
ส่วนหุ้นในพอร์ต IFCT ได้มีการโอนมาอยู่ในพอร์ตธนาคารทหารไทย ซึ่งจำนวนนี้มีหุ้นที่ดีและไม่ดีและมีหุ้นบางบริษัทที่เข้าไปถืออยู่เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เช่นหุ้นบริษัทรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งถือเป็นความจำเป็นแต่จะเกิดผลดีในระยะยาว โดยหุ้นที่มีการโอนดังกล่าวคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 5-6 พันล้านบาท ขณะนี้หุ้นดังกล่าวไม่ได้สร้างภาระขาดทุนแต่ก็ไม่ได้สร้างผลกำไรมากนัก
"คงต้องรอจังหวะที่เหมาะสมจึงจะขายได้ เช่นหุ้น TPI ต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ก่อน ที่ผ่านมาธนาคารมีการเเบ่งเป็นการลงทุนระยะยาวและระยะสั้น ระยะสั้น เช่น การถือตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้ หากจำเป็นก็พร้อมขายเพื่อถือเงินสด"
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส3/47 นั้น จะมีผลประกาศออกมาค่อนข้างดี เพราะต้นทุนของเงินทุนลดลงไปมาก นอกจากนี้มีแผนที่จะดึงผู้บริหาร จากภายนอกเข้ามาดูแลในส่วนของธุรกิจ 2 ด้าน คือ รีเทลแบงกิ้ง และธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจ มีมากขึ้น
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินถือหุ้นในสัดส่วน 31% และธนาคารดีบีเอส สิงคโปร์ ถือหุ้นในสัดส่วน 16% ซึ่งในส่วนนี้ผู้ถือหุ้นสิงคโปร์พอใจกับสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าวว และเข้ามาเสริมรายได้ในด้านที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอีกด้วย ขณะที่ธนาคารอื่นไม่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติจึงอาจจะเสียเปรียบ
|
|
|
|
|