Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน20 ตุลาคม 2547
วิโรจน์ฟ้อง "อุ๋ย-กรุงไทย" เรียก100ล้านพร้อมทวงเก้าอี้เอ็มดีคืน             
 


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
โฮมเพจ ธนาคารกรุงไทย

   
search resources

ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
วิโรจน์ นวลแข
ปรีดิยาธร เทวกุล, ม.ร.ว.




"วิโรจน์ นวลแข" เตรียมฟ้องแบงก์ชาติ-บอร์ดกรุงไทย เรียกค่าเสียหายมากกว่า 100 ล้าน "หม่อมอุ๋ย"จำเลยที่ 1 เผยจะร้องศาลปกครองก่อน 26 ต.ค. ส่วนข้อเรียกร้องในหนังสือขอความเป็นธรรมจาก "สมคิด" ในฐานะผู้กำกับดูแล 2 องค์กร เผยต้องการให้รมว.คลังยุติอำนาจในประกาศเพิ่มเติมของธปท. มาตรา 22 (8) ป้องกันความเสียหายต่อระบบสถาบันการเงิน ชี้ไม่มีกฎหมายรองรับและขัดรัฐธรรมนูญ

นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ได้เดินทางไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกขอความเป็นธรรมต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวานนี้ (19 ต.ค.) มีนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้รับเรื่อง เนื่องจากนายสมคิดเดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จังหวัดตาก

นายวิโรจน์ให้เหตุผลในการยื่นหนังสือครั้งนี้ว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่ในการกำกับดูแลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกรุงไทย โดยหนังสือดังกล่าว มีประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น คือ เรียกร้องให้ตรวจสอบประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ ของธปท. ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ที่ได้อ้างอำนาจตามมาตรา 22(8) และให้กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการตรวจสอบต่อไป

"จดหมายที่ได้รับจากคณะกรรมการ เป็นเพียงจดหมายสั้น ๆ เกี่ยวกับคุณสมบัติของผม แต่ในเนื้อหาไม่ได้ระบุชัดว่าผิดกฎหมายข้อไปไหน ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ให้ความชัดเจนว่าผมขาดคุณสมบัติข้อใดบ้าง นอกจากจะยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ดังนั้นเวลานี้สิ่งที่ต้องทำ คือทำใจให้อภัยกับคน ซึ่งหากเรื่องตอนนั้นบริสุทธิ์แล้ว ก็คงไม่ทำอะไรใครต่อไป"

เผยฟ้อง "หม่อมอุ๋ย" ร้อยล้าน

นายวิโรจน์เปิดเผยว่า ก่อนจะถึงวันที่ 26 ต.ค. เป็นวันสุดท้ายที่จะครบ 3 เดือน นับจากที่ธปท.ออกประกาศเพิ่มเติมมาตรา 22(8) จะเดินทางไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจะมีให้อย่างน้อยในฐานะราษฎรคนหนึ่งที่เกี่ยวกับการที่ผู้ปกครองใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยจะร้องถึงประกาศที่ออกมาของธปท.ว่าไม่น่าจะถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เป็นไปตามครรลองของกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติของผู้บริหาร ไม่เป็นไปตามกฎหมายแรงงานของธนาคารพาณิชย์

นายวิโรจน์กล่าวว่า ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด (ประเทศไทย) ให้เป็นที่ปรึกษากฎหมายเพื่อทำเรื่องร้องถึงศาลปกครองฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากธปท.และบอร์ดธนาคารกรุงไทย

"ผมจะฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญา พร้อมเรียกร้องสิทธิในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แบงก์กรุงไทยคืนโดยจะเรียกค่าเสียหายหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป เพราะได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง และหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก"

"ตอนนี้ผมถูกกระทืบแบนแล้ว จะงอมืองอเท้าอยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้ ต้องลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิ" นายวิโรจน์กล่าวหลังจากหารือกับสำนักงานกฎหมาย ที่อาคารบางกอกซิตี้ ทาวเวอร์ ถนนสาทร ร่วม 3 ชั่วโมง

ที่ปรึกษานายวิโรจน์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า ตอนแรกนายวิโรจน์จะฟ้องร้องบอร์ดธนาคารกรุงไทยก่อนนำไปสู่จำเลยที่ 2 และ 3 แต่ทีมกฎหมายประเมินจากข้อมูลที่มีและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เห็นว่านายวิโรจน์น่าจะฟ้องผู้ว่าฯธปท.เป็นจำเลยที่ 1 เนื่องจากตรงตัวและตรงประเด็นที่สุด โดยจะฟ้องร้องให้ถึงที่สุดทั้งทางแพ่งและอาญา

ด้านม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯธปท. กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่นายวิโรจน์จะฟ้อง เพราะเป็นเรื่องของนายวิโรจน์ และยังไม่มีการชี้แจงจนกว่าจะเกิดการฟ้องร้องเสียก่อน แต่มั่นใจว่าชี้แจงเรื่องดังกล่าวได้

ชี้ประกาศธปท.ไม่มีกม.รองรับ

สำหรับสาระสำคัญในหนังสือขอความเป็นธรรมที่นายวิโรจน์ส่งถึงนายสมคิดมีสาระสำคัญ 6 ข้อ ประกอบด้วย

1.ประกาศธปท.ฉบับนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ธปท.ไม่มีอำนาจออกประกาศดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 (8)

2.ธปท.ไม่มีอำนาจออกประกาศ เพราะคุณสมบัติของกรรมการได้มีบัญญัติไว้แล้วในกฎหมายแม่บท คือ มาตรา 12 จัตวา ซึ่งห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งหรือยอมให้บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติหรือลักษณะต่างๆ ทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการหรือที่ปรึกษาของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว การจะแก้ไขในสิ่งอัน ก่อให้เกิดการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยไม่มีอำนาจตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายเฉพาะรองรับให้กระทำการได้จึงขัดต่อ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 50

3.การดำเนินการออกประกาศและคำสั่งของธปท.ดังกล่าวเป็นการแทรกแซงกระบวนการสรรหาตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543 โดยที่มิได้มีกฎหมายให้อำนาจไว้แต่อย่างใด

4.กระทรวงการคลัง ธนาคารกรุงไทย และธปท. ทราบแต่เบื้องต้นแล้วว่าไม่มีกฎหมายใดที่บัญญัติให้การแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจการจัดการ หรือที่ปรึกษาของธนาคารพาณิชย์ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากธปท.ก่อน และไม่มีข้อความใดที่จะกำหนดคุณสมบัติและลักษณะที่ต้องห้ามหรือใช้อำนาจดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง รวบรัด โดยไม่ผ่านกระบวนการ รัฐสภา ดังจะเห็นได้จากเสนอร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ...... ซึ่งในขณะนี้มิได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เพื่อเพิมเติมอำนาจแก่ธปท.ในการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้บริหารสถาบันการเงิน การใช้อำนาจออกประกาศของธปท. ตามมาตรา 22(8) ก็ดี และการออกคำสั่งธปท.มายัง บมจ.ธนาคารกรุงไทยก็ดี จึงเป็นการลุแก่อำนาจ และเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตและผิดทำนองคลองธรรม

5.หากพิจารณาตามช่วงระยะเวลา จะเห็นได้ว่า การที่ ธปท.ได้ออกประกาศดังกล่าวภายหลังที่กระบวนการสรรหาได้ดำเนินการแล้วเสร็จและก่อนคณะกรรมการธนาคาร บมจ.ธนาคารกรุงไทย ได้มีมติเห็นชอบไม่กี่วันนั้น เป็นการดำเนินออกประกาศอย่างรีบเร่ง โดยพยายามอ้างว่ามีอำนาจ ทั้ง ๆ ที่ทราบอยู่แล้วว่าตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ฉบับปัจจุบันนี้นั้น ธปท.มิได้มีอำนาจแทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการธนาคารพาณิชย์ได้แต่อย่างใด ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ธปท.มีเจตนาใช้ประกาศ ดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการเลือกปฏิบัติ จึงควรที่ท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และพระราชบัญญัติธปท. พ.ศ. 2485 จักต้องตรวจสอบ และสั่งการให้ยุติการปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยพลัน เพื่อมิให้เป็นแบบอย่างต่อไปเพื่อป้องกันความเสียหายต่อระบบการกำกับสถาบันการเงิน ความเชื่อถือของนานาอารยประเทศในความเป็นนิติรัฐของประเทศไทย

6.ธปท.ใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบกล่าวหาว่าข้าพเจ้ากระทำความผิด โดยมิได้มีการแจ้งความผิดก่อนและมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด ตลอดจนมิได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงหรือโต้แย้งข้อกล่าวหานั้น การดำเนินการในลักษณะที่ไม่โปร่งใสดังกล่าวมิใช่การกระทำที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลแต่อย่างใด   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us